logo isranews

logo small 2

เปิดไส้ใน! 2 แนวทางเบื้องต้นนิรโทษกรรมฉบับ “กมธ.ยกร่างรธน.”

เขียนวันที่
วันพฤหัสบดี ที่ 11 ธันวาคม 2557 เวลา 11:46 น.
เขียนโดย
isranews
หมวดหมู่

เปิดไส้ใน กมธ.ยกร่างรธน. ชง 2 แนวทางเบื้องต้น “ปรองดอง-นิรโทษกรรม” นิรโทษประชาชนชุมนุมการเมือง 2548-2557 เว้นคดี 112-ฆ่าคนตาย หรือนิรโทษทุกฝ่าย 2548-2557 ขีดกรอบ 4 อย่าง ต้องจัดเวทีพูดคุย-กำหนดฐานความผิด-เวลาและเหตุการณ์-เงื่อนไขไม่สร้างขัดแย้งซ้ำอีก

PIC-niratod-11-12-57 1

กลายเป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันเกรียวกราวทั้งหน้าสื่อ-หลังม่านในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ภายหลังกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ปลุกประเด็น “ปรองดอง-นิรโทษกรรม” ขึ้นมาอีกครั้ง

ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายพรรคเพื่อไทย-แกนนำคนเสื้อแดง ที่ออกมาหนุนให้มีการนิรโทษกรรมคู่ขัดแย้ง-ประชาชน ด้านฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์-มวลชนนกหวีด ต่างคัดค้านการนิรโทษกรรมดังกล่าวอย่างชัดเจน

ไม่กี่วันที่ผ่านมา กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง หมวด 2 ว่าด้วยการสร้างความปรองดอง ได้สรุปกรอบแนวคิดเบื้องต้นในการยกร่างรัฐธรรมนูญ ผุด “คณะกรรมการเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ” ขึ้นมาแทนที่ “คณะกรรมการเสริมสร้างความสมาฉันท์แห่งชาติ” สมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี โดยมีวาระการดำรงตำแหน่งราว 5-10 ปี

โดยระบุเหตุผลว่า สาเหตุข้อพิพาทระหว่างรัฐกับประชาชน ล้วนมีสาเหตุมาจากความขัดแย้งทางการเมือง รวมทั้งแนวคิดและการดำเนินนโยบายของพรรคการเมืองที่แตกต่างกัน แบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันอย่างชัดเจนจนเกิดการเผชิญหน้า จนกระทั่งเกิดการตอบโต้กันด้วยความรุนแรง

“เพื่อแก้ไข เยียวยา และป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต จำเป็นที่จะต้องแสวงหาแนวทางในการอยู่ร่วมกัน บนความแตกต่างทางความคิด และเพื่อให้เกิดสันติสุขที่ยั่งยืนอย่างแท้จริงในระยะยาว ที่จะส่งผลต่อเสถียรภาพของการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของไทยอย่างแท้จริงต่อไป”

คำถามคือ คณะกรรมการเสริมสร้างความปรองดองฯ ในยุคนี้ จะแก้ไขปัญหาที่ฝังรากลึกมายาวนานกว่า 10 ปีได้อย่างไร และการนิรโทษกรรม ทำ “เพื่อใคร” มี “ใคร”เกี่ยวข้องบ้าง ?

สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำรายงานสรุปกรอบแนวคิดเบื้องต้นในการยกร่างรัฐธรรมนูญ ของ กมธ.ยกร่างฯ ในส่วนของการปรองดอง-นิรโทษกรรม มานำเสนอดังนี้

การนิรโทษกรรม หรือการล้างมลทิน

เหตุผล เป็นการให้อำนาจของรัฐธรรมนูญ เพื่อดำเนินการคลี่คลายและเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยการกำหนดให้มีการออกกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรม หรือล้างมลทิน โดยระบุหลักการ เงื่อนไข วิธีการ ผู้มีอำนาจในทางปฏิบัติ ขอบเขตในการดำเนินการ ขอบเขตของผลการนิรโทษกรรม หรือล้างมลทิน

การนิรโทษกรรม หมายถึง การลืม แต่ในกระบวนการทางกฎหมาย หมายถึง การกระทำของบุคคลบางประการนั้ไม่ถือเป็นความผิด ไม่ต้องรับโทษ ผลสำหรับการนั้นไม่ต้องถูกนำมาบังคับใช้ หรือบางกรณีเป็นการยกโทษให้ทั้งหมด เสมือนหนึ่งว่ามิเคยต้องโทษนั้นเลย ให้ลืมความผิดนั้นเสีย การนิรโทษกรรมจึงเป็นการยกเลิกความผิดของกฎเกณฑ์แห่งกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ ซึ่งต้องกระทำโดยอำนาจนิติบัญญัติ

ลักษณะความผิดที่สามารถนิรโทษกรรมได้นั้น แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ

1) นิรโทษกรรมทางแพ่ง คือ ไม่ต้องรับผิดในการกระทําละเมิดในทางแพ่ง ที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ไม่ต้องชดใช้สินไหมทดแทน

2) นิรโทษกรรมทางอาญา มีขอบเขตกว้างขวาง ซับซ้อน ซึ่งต้องพิจารณาตามโครงสร้างความรับผิดทางอาญาประกอบด้วย การนิรโทษกรรมมีผลทางอาญาเพียงใด ขึ้นอยู่กับเนื้อหาที่กฎหมายนิรโทษกรรมแต่ละฉบับกําหนดไว้

3) นิรโทษกรรมทางปกครอง เป็นการเพิกถอนคําสั่งทางปกครอง ยกเลิกการใช้อํานาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างผลผูกพันขึ้นระหว่างบุคคลอันกระทบต่อสถานภาพ หรือสิทธิ หรือหน้าที่ของบุคคลนั้นให้สิ้นไป

การล้างมลทิน คือ การล้างความผิดให้แก่ผู้ต้องโทษ หรือเคยต้องโทษ ให้พ้นโทษ ผลในทางกฎหมายให้ถือว่าบุคคลที่ถูกลงโทษ หรือเคยถูกลงโทษเนื่องมาจากการกระทําความผิด ไม่เคยถูกลงโทษ ในความผิดนั้นมาก่อน แต่มิได้เป็นการล้มล้างการกระทําที่เป็นความผิด ยังคงได้ชื่อว่าผู้นั้นเคยกระทําความผิด ซึ่งต้องกระทําโดยอํานาจนิติบัญญัติ ตราเป็นพระราชบัญญัติเนื่องในโอกาสสําคัญของชาติ หรือเนื่องในโอกาสที่เป็นมงคล เช่น พระราชบัญญัติล้างมลทินผู้กระทําผิดทางการเมือง ร.ศ.130 พุทธศักราช 2475 เป็นต้น

ปัจจัยที่ควรคํานึงถึง

1) ก่อนที่จะให้มีการนิรโทษกรรมหรือล้างมลทิน ควรจัดให้มีเวทีพูดคุย เจรจา ทําความเข้าใจร่วมกันต่อแนวทาง การดําเนินการ และเกิดการยอมรับเพื่อนําไปสู่การนิรโทษกรรมหรือการล้างมลทิน โดยเริ่มจาก (1) การรับฟังความคิดเห็นจากผู้ได้รับผลกระทบ (2) ศึกษาข้อเท็จจริงของเหตุการณ์อย่างรอบด้าน (จากที่มีการศึกษามาแล้วและเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย) (3) ดําเนินการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ (4) เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และ (5) นิรโทษกรรมเพื่อนําไปสู่การปรองดอง

2) ฐานความผิดของผู้ได้รับการนิรโทษกรรม หรือล้างมลทินต้องมีความชัดเจน เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยอาจจําแนกผู้ที่ได้รับผลกระทบออกเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย (1) ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต (2) ผู้ที่ได้รับผลกระทบทางคดี (3) ผู้ที่ได้รับผลกระทบความเสียหายทางทรัพย์สิน (4) ชุมชนที่ได้รับผลกระทบ และ (5) ประชาชนที่เข้าร่วมการชุมนุม

3) เวลา และเหตุการณ์ที่ผู้กระทําความผิดจะได้รับการนิรโทษกรรม หรือล้างมลทิน

4) เงื่อนไขเพื่อสร้างหลักประกันต่อสังคมว่าผู้ที่ได้รับการนิรโทษกรรมสนับสนุนดําเนินแผนการเสริมสร้างความปรองดองและจะไม่กระทําการที่ส่งผลให้ความขัดแย้งรุนแรงซ้ำขึ้นอีก เช่น การให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่อกลไกตรวจสอบข้อเท็จจริง การทําบันทึก ขออภัยและแถลงยอมรับการกระทําในอดีตต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการกระทําในอดีต

แนวทางที่ 1 กําหนดขอบเขตการให้นิรโทษกรรมแก่ประชาชนที่ถูกดําเนินคดี ที่มีเหตุจากการเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองด้วยอุดมการณ์ตั้งแต่ พ.ศ. 2548 จนถึง พ.ศ. 2557 โดยยกเว้นผู้กระทําผิดกฎหมายอาญาอย่างร้ายแรง ที่เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และผู้กระทําผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

แนวทางที่ 2 ให้การนิรโทษกรรมทุกกลุ่มทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่ พ.ศ. 2548 จนถึง พ.ศ. 2557

ทั้งหมดนี้คือแผนการเบื้องต้นในการจัดทำนิรโทษกรรม เพื่อสร้างความปรองดอง-สมาฉันท์ ตามที่ กมธ.ยกร่างฯ นำเสนอต่อสาธารณชน ซึ่งจะถูกใจใครหรือไม่ ก็ต้องถกเถียงกันให้แตกในประเด็นเสียก่อน

ส่วนจะนำไปบังคับใช้เป็นกฎหมาย ไม่ว่าจะตราอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือออกเป็น พ.ร.บ.-พ.ร.ก. ก็ต้องให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ไปว่ากันให้ชัดเจนตามกฎหมายต่อไป