logo isranews

logo small 2

อัพเดต!ป.ป.ช.แจงยิบคดีข้าวยุคอภิสิทธิ์-ยกข้อหาแรก"พรทิวา"กีดกันขายข้าว

เขียนวันที่
วันศุกร์ ที่ 19 ธันวาคม 2557 เวลา 17:56 น.
เขียนโดย
isranews

อัพเดต! คดีระบายข้าวยุค “มาร์ค” ปี 52-53 อนุฯไต่สวน ป.ป.ช. ยกข้อกล่าวหา “พรทิวา” ปมขายต่ำราคาตลาด-ไม่ไฟเขียวให้เอกชนซื้อไม่มีมูล – ปัดเอื้อประโยชน์เอกชนบางราย ทำตามกรอบยุทธศาสตร์ข้าว กขช.-ครม. เห็นชอบ ชี้ “มนัส-ไตรรงค์” ขายข้าวทางลับ ป้องผลกระทบต่อราคา

PIC-mark-19-12-57 1

สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่าเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2557 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ออกเอกสารชี้แจง กรณีการทำหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการไต่สวนข้อเท็จจริงตามคำร้องขอให้ถอดถอนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองประธาน กขช. นางพรทิวา นาคาศัย อดีตรมว.พาณิชย์ และประธานอนุกรรมการ กขช. และนายมนัส สร้อยพลอย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะทำงานดำเนินการระบายข้าวสาร ว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา เกี่ยวกับการระบายข้าวสารในสต็อกของรัฐบาล เมื่อปี 2552-2553 ว่าเป็นไปโดยล่าช้า

สำนักงาน ป.ป.ช. ขอชี้แจงถึงความคืบหน้าในการไต่สวนข้อเท็จจริง ดังนี้

1.กรณีกล่าวหา นางพรทิวา อนุมัติจำหน่ายข้าวสารในสต็อกของรัฐบาล เมื่อปี 2552 ในราคาต่ำกว่าราคาตลาด และไม่อนุมัติขายข้าวสารให้กับบริษัท วุฒิกวี จำกัด และบริษัท สิงโตทองไรซ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ทั้งที่อยู่ในกลุ่มผู้เสนอราคาซื้อสูงสุด

จากการไต่สวนข้อเท็จจริง ปรากฏว่า การจำหน่ายข้าวสารในสต็อกของรัฐบาลเป็นการขายส่งข้าวสาร และมีการเสนอซื้อ/ขายตามราคา ณ หน้าคลังสินค้า ซึ่งผู้ซื้อต้องมีภาระค่าใช้จ่ายเป็นค่าขนส่งในการรับมอบข้าวจากคลังสินค้าขององค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อการเกษตร (อ.ต.ก.) โดยที่การจัดเก็บสต็อกข้าวสารของรัฐบาลได้จัดเก็บในต่างสถานที่ และต่างสภาพกันในแต่ละคลังสินค้า

ดังนั้นการกำหนดราคาขายจึงต้องหักค่าขนส่งเฉลี่ยถึงโกดังกลาง และค่าเสื่อมสภาพข้าวสารตามอายุการเก็บรักษา เพื่อนำมาคำนวณเกณฑ์ราคาพื้นฐาน ณ หน้าคลังสินค้าด้วย ทำให้ราคาข้าวสารแต่ละชนิด และแต่ละคลังสินค้ามีการกำหนดราคาขายที่ต่างกัน และมีราคาต่ำกว่าราคาตลาด

ข้อเท็จจริงปรากฏว่า นางพรทิวา ได้อนุมัติจำหน่ายข้าวสารให้กับบริษัท สิงโตทองไรซ์ฯ แล้ว แต่บริษัท วุฒิกวีฯ เคยมีประวัติละทิ้งการเสนอราคา จึงไม่อนุมัติให้จำหน่ายข้าวสารให้แก่บริษัทดังกล่าว ข้อกล่าวหาจึงไม่มีมูล ตามที่กล่าวหาแต่อย่างใด

2.กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการทุจริตในการระบายข้าวสารในสต็อกของรัฐบาล เมื่อปี 2553 เกี่ยวกับพฤติกรรมของนายอภิสิทธิ์ นายไตรรงค์ นางพรทิวา และนายมนัส ใน 4 ข้อกล่าวหา ดังนี้

ข้อกล่าวหาที่ 1 ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 4 ราย ปรับเปลี่ยนวิธีการระบายข้าวสารให้ผู้ส่งออกที่มีคำสั่งซื้อข้าวจากต่างประเทศในปริมาณมากเสนอซื้อข้าวในสต็อกของรัฐบาล โดยไม่มีการออกประกาศเชิญชวน เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการบางราย และกีดกันผู้ประกอบการรายอื่นไม่ให้มีการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม

ข้อกล่าวหาที่ 2 ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 4 ราย อนุมัติให้ความเห็นชอบจำหน่ายข้าวสารในสต็อกของรัฐบาลในราคาต่ำกว่าราคาตลาด ทำให้รัฐได้รับความเสียหาย

ข้อกล่าวหาที่ 3 กรณีนายไตรรงค์ และนายมนัส กระทำการระบายข้าวสารในสต็อกของรัฐบาลโดยดำเนินการในทางลับ

ข้อกล่าวหาที่ 4 กรณีนางพรทิวา มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัท เอ็มที เซ็นเตอร์เทรด จำกัด เนื่องจาก นายวีระศักดิ์ จินารัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ ได้นำแคชเชียร์เช็คเงินกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ของวิทยาลัยโปลีเทคนิคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 2.5 หมื่นบาท มาวางค้ำประกันการทำสัญญาของบริษัทฯ กับ อ.ต.ก.

จากการไต่สวนข้อเท็จจริงตามข้อกล่าวหาที่ 1-3 ปรากฏว่า ในการดำเนินการระบายข้าวสารในสต็อกรัฐบาล เมื่อเดือนมกราคม 2553 และเดือนกุมภาพันธ์ 2553 วิธีการระบายข้าวสารโดยการออกประกาศเชิญชวนให้ผู้สนใจเสนอซื้อข้าวในสต็อกของรัฐบาล ได้ก่อให้เกิดกระแสข่าวที่ส่งผลกระทบในเชิงลบต่อราคาข้าวทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ทำให้การระบายข้าวสารในสต็อกของรัฐบาลต้องหยุดชะงัก และเสียโอกาสในการระบายข้าวสารในช่วงเวลาที่เหมาะสม ทำให้มีการปรับเปลี่ยนวิธีการระบายข้าวสารโดยให้ผู้ส่งออกที่มีคำสั่งซื้อข้าวในปริมาณมากเสนอขอซื้อข้าวในสต็อกของรัฐบาล ซึ่งการระบายข้าวสารด้วยวิธีดังกล่าวได้เคยมีการนำมาใช้ตั้งแต่ 2546 ก่อนแล้ว และได้กำหนดให้มีการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้เสนอราคาซื้อและคำสั่งซื้อจากลูกค้าต่างประเทศของผู้เสนอราคาซื้อด้วย และหากผู้เสนอราคาซื้อรายใด มีคำสั่งซื้อข้าวสารจากลูกค้าต่างประเทศก็สามารถยื่นเสนอขอซื้อข้าวสารในสต็อกของรัฐบาลได้

นอกจากนี้การระบายข้าวสารโดยวิธีให้ผู้ส่งออกที่มีคำสั่งซื้อข้าวจากต่างประเทศในปริมาณมากเสนอซื้อข้าวในสต็อกของรัฐบาล เป็นวิธีการระบายข้าวสารที่อยู่ในกรอบของยุทธศาสตร์การระบายข้าวสารที่ได้กำหนดแนวทางไว้ให้สามารถทำได้ และได้รับความเห็นชอบจาก กขช. และคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติแล้ว เป็นวิธีการระบายข้าวสารที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อปริมาณ และราคาข้าวในตลาดภายในประเทศ

ส่วนกรณีที่จำหน่ายข้าวสารต่ำกว่าราคาตลาด เนื่องจากการจำน่ายข้าวสารในสต็อกของรัฐบาลเป็นการขายส่งข้าวสาร และมีการเสนอซื้อ/ขายตามราคา ณ หน้าคลังสินค้า ซึ่งผู้ซื้อมีภาระค่าใช้จ่ายเป็นค่าขนส่งในการรับมอบข้าวจากคลังสินค้าของ อคส. และ อ.ต.ก. และโดยที่การจัดเก็บสต็อกข้าวของรัฐบาล ได้จัดเก็บในต่างสถานที่และต่างสภาพกันในแต่ละคลังสินค้า

ดังนั้นการกำหนดราคาขายจึงต้องหักค่าขนส่งเฉลี่ยถึงโกดังกลาง และค่าเสื่อมสภาพข้าวสารตามอายุการเก็บรักษา เพื่อนำมาคำนวณเกณฑ์ราคาพื้นฐาน ณ หน้าคลังสินค้า ด้วยทำให้ราคาข้าวสารในแต่ละชนิดของแต่ละคลังสินค้ามีการกำหนดราคาขายที่ต่างกัน และมีราคาต่ำกว่าราคาตลาดซึ่งการจำหน่ายข้าวสารในครั้งนี้ ได้มีการเจรจาต่อรองราคากับบริษัทที่เสนอราคาซื้อที่อยู่ในเกณฑ์ราคาที่ตั้งไว้เท่านั้น และเมื่อพิจารณาราคาขายหลัง การเจรจาต่อรองกับผู้เสนอราคาซื้อทุกรายแล้ว ปรากฏว่าล้วนมีการกำหนดราคาขายที่สูงกว่าเกณฑ์ราคาที่ตั้งไว้ทั้งสิ้น

สำหรับประเด็นที่กล่าวหาว่า นายมนัส มีหนังสือแจ้งให้ อคส. และ อ.ต.ก. ดำเนินการระบายข้าวสารในทางลับ ตามที่นายไตรรงค์ มีบัญชานั้น เป็นเรื่องที่นายมนัส ได้แจ้งให้ อคส. และ อ.ต.ก. ดำเนินการในทางลับเกี่ยวกับการทำสัญญา การส่งมอบ รับมอบ และขนย้ายข้าวสารออกจากคลังสินค้า ตามอำนาจหน้าที่ของ อคส. และ อ.ต.ก. ที่ได้ระบุไว้ในสัญญาซื้อขายข้าวสาร เพื่อไม่ให้ตกเป็นข่าว

โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อมิให้ อคส. และ อ.ต.ก. เปิดเผยในเรื่องของปริมาณข้าวสารและราคาจำหน่ายข้าวสาร เพื่อมิให้เกิดผลกระทบต่อราคาข้าวสารเท่านั้น และเป็นการแจ้งให้ดำเนินการภายหลังจากที่ได้ผ่านขั้นตอนการอนุมัติและให้ความเห็นชอบให้จำหน่ายข้าวสารให้แก่ผู้เสนอราคาซื้อข้าวสารที่ได้รับการคัดเลือกแล้ว มิใช่คำสั่งให้ อคส. และ อ.ต.ก. ระบายข้าวสารโดยวิธีการลับแต่ประการ

ส่วนข้อกล่าวหาที่ 4 จากการไต่สวนข้อเท็จจริง ปรากฏว่า นายวีระศักดิ์ ได้มอบแคชเชียร์เช็คเงิน กยศ. ของวิทยาลัยโปลีเทคนิคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 2.5 หมื่นบาท ให้บริษัท เอ็มทีฯ มาวางค้ำประกันการทำสัญญากับ อ.ต.ก. จริง แต่พยานหลักฐานที่มีอยู่ไม่เพียงพอพิจารณาได้ว่านางพรทิวา มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร ซึ่งจะต้องไต่สวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติมให้ชัดเจนก่อน และหากพบว่านางพรทิวา หรือบุคคลใดมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวก็จะดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาต่อไป

ทั้งนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะได้เร่งรีบดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงให้แล้วเสร็จโดยเร็วต่อไป

 

หมายเหตุ : ภาพประกอบข้าวจาก thairath, ภาพนายอภิสิทธิ์ จาก ASTVmanager