logo isranews

logo small 2

รายชื่อ 17 นักการเมือง-ขรก.ในผลสอบคดีสะพานฯ 200 ปี อยุธยา ถล่ม!

"...จำนวนลวดเหล็กตีเกลียวที่แสดงในแบบก่อสร้าง มีความขัดแย้งและไม่ตรงกัน โดยในแบบแปลนบางจุดกำหนดให้ Main Cable มี 22 เส้น และบางจุดมี 12 เส้น ซึ่งในการก่อสร้างจริงใช้ 14 เส้น ขณะที่ แบบแปลนระบุชนิดลวด ว่า เป็นลวดเหล็กตีเกลียว ชนิด 7 เกลียว แต่ในการก่อสร้างใช้ เชือกลวดเหล็กแกนเส้นใย.."

จากกรณีเมื่อวันที่ 28 เม.ย. 56  สะพานสมโภชน์รัตนโกสินทร์ 200 ปี จ.พระนครศรีอยุธยา ได้พังถล่มลงมา เนื่องจากลวดสลิงแขวนสะพานไม่ได้มาตรฐาน และไม่เป็นไปตามที่แบบกำหนด จึงทำให้ขาดส่งผลทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก

ขณะที่ นายอนุนาท เสือสมิง บิดาเด็กหญิงวัย 10 ปี ผู้เสียชีวิตในเหตุการดังกล่าว ได้ส่งหนังสือร้องต่อศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อขอให้พิจารณาการลงโทษผู้เกี่ยวข้องในคดีนี้ใหม่ แก้ไขเป็นไล่ออก เนื่องจาก กรมโยธาธิการและผังเมือง หน่วยงานต้นสังกัด ลงโทษผู้กระทำผิดเพียงแค่ตัดเงินเดือน 4% เท่านั้น

(อ่านประกอบ : มีคนตายถูกลงโทษแค่ตัดเงินเดือน! พ่อเหยื่อสะพานฯ200ปีถล่ม โวยให้ไล่ออก)

ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้ตรวจสอบรายงานสรุปผลข้อเท็จจริงการหาตัวผู้กระทำผิด กรณีสะพานฯ 200 ปีพังถล่ม ในประเด็น การออกแบบมีความถูกต้องเหมาะสมตามหลักวิศวกรรมหรือไม่? การก่อสร้างเป็นไปตามแบบแปลนและมาตรฐานงานช่างหรือไม่? การใช้สะพานเป็นไปตามวัตถุประสงค์และความสามารถในการรองรับหรือไม่? และมีผลกระทบจากธรรมชาติในด้านต่างๆ หรือไม่ ประการใด?

ผลการตรวจสอบสรุปได้ว่า ในแบบ Main Cable จะประกอบด้วยลวดเหล็กตี     เกลียวหลายๆเส้น สอดไว้ในท่อเดียวกัน

แต่ปรากฏว่า จำนวนลวดเหล็กตีเกลียวที่แสดงในแบบก่อสร้าง มีความขัดแย้งและไม่ตรงกัน โดยในแบบแปลนบางจุดกำหนดให้ Main Cable มีจำนวน 22 เส้น และบางจุดมี 12 เส้น ซึ่งในการก่อสร้างจริงใช้ 14 เส้น ขณะที่ แบบแปลนระบุชนิดลวด ว่า เป็นลวดเหล็กตีเกลียว ชนิด 7 เกลียว แต่ในการก่อสร้างใช้ “เชือกลวดเหล็กแกนเส้นใย”

นอกจากนี้ ชิ้นส่วน HDPE Pipe กำหนดให้มีการเคลือบสาร E-POXY Coated ตามแบบแปลน แต่ในการก่อสร้างกลับไม่ได้เคลือบสารดังกล่าว แต่อย่างใด (ดูเอกสาร)

ส่วนการตรวจสอบข้อเท็จจริงหาตัวผู้กระทำผิด ตามคำสั่งจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ 1142/2556 ลงวันที่ 30 เม.ย. 56 คณะกรรมการได้แยกการตรวจสอบความผิดเป็น 2 กรณี ได้แก่ ความผิดที่เกิดจากการก่อสร้างสะพานฯ ไม่เป็นไปตามแบบรูปแนบท้ายสัญญาจ้างเทศบาลตำบลท่าหลวง และความผิดที่เกิดจากสะพานฯ พังทลายเสียหายโดยสิ้นเชิง เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก ปรากฏรายชื่อพยานบุคคล จำนวน 17 ราย ดังนี้

1.นายเชษฐา ปทุมรังสี นายกเทศมนตรีตำบลท่าหลวง, 2.นายบำรุง ม่วงวิจิตร อดีตรองนายกเทศมนตรีตำบลท่าหลวง, 3.นายอนุรักษ์ ลักษณะภู่ ปลัดเทศบาลตำบลท่าหลวง, 4.น.ส.ประเสริฐศรี เทพประสิทธิ์ รองปลัดเทศบาลตำบลท่าหลวง, 5.นายพิลึก ชัชวงษ์ รองปลัดเทศบาลตำบลท่าหลวง, 6.น.ส.กานต์พิชชา งามภัก เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน, 7.นายรชต ชาติพรหม ผู้อำนวยการกองช่าง(ครั้งก่อสร้างสะพานฯ), 8.นายชาญ คงชาตรี ผู้แทนชุมชน, 9.นางศิริพร หวังศิรกร ผู้แทนชุมชน, 10.นายณรงค์เดช ฉิมเล็ก ตัวแทนโยธาธิการและผังเมือง จ.พระนครศรีอยุธยา,

11.นายวรพจน์ นุชิต วิศวกรชำนาญการพิเศษ(สังกัด สนง.โยธาฯ), 12.นายอนุวัติ วิชัยโย หัวหน้าผู้ควบคุมงาน(สังกัด สนง.โยธาฯ), 13.นายมานพ ธูปทอง นายช่างโยธาชำนาญงาน(สังกัด สนง.โยธาฯ), 14.นายชัยยุทธ บุญประเสริฐ กำนันตำบลท่าหลวง, 15.นายสันติธรรม สีนวนสกุลณี นายช่างคุมงานก่อสร้าง(สังกัด ทต.ท่าหลวง), 16.นายสมชาย สันติภิญโญเลิศ ผู้รับมอบอำนาจจากนายมนตรี เคหนาดี กรรมการผู้จัดการบริษัท ที.เอ็ม.ไอ. ดริลฯ และ 17.นางวันเพ็ญ โสรีกุล อดีตผู้อำนวยการกองคลัง

ทั้งนี้ นายอนุวัติ วิชัยโย และนายสันติธรรม สีนวนสกุลณี ปรากฎชื่ออยู่ในหนังสือของสภาวิศวกร ที่วินิจฉัยเกี่ยวกับการควบคุมงานก่อสร้างโครงการสะพานสมโภชน์รัตนโกสินทร์ 200 ปี (เคเบิ้ลคนเดินข้าม) พบว่า "เนื่องจากงานควบคุมการสร้างหรือการผลิตโครงสร้างสะพานที่มีช่วงระหว่างศูนย์กลางตอม่อช่วงใดช่วงหนึ่งยาวตั้งแต่ 10 เมตรขึ้นไป เข้าข่ายงานและประเภทของงานวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมโยธา ตามข้อ 3(4) และข้อ 4(5) ของกฎกระทรวงกำหนดวิชาสาขาวิชาชีพวิศวกรรม และวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม พ.ศ. 2550

และเป็นงานที่ภายในขอบเขตความสามารถของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมโยธา ระดับสามัญวิศวกร ตามข้อ 5 ของข้อบังคับสภาวิศวกร ว่าด้วยหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้ประกอบการวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมแต่ละระดับสาขาวิศวกรรมโยธา พ.ศ. 2551

ดังนั้น นายอนุวัติ วิชัยโย เลขทะเบียน ภย.39132 และนายสันติธรรม สีนวนสกุลณี เลขทะเบียน ภย.26146 ในฐานะผู้ได้รับใบอนุญาตฯ สาขาวิศวกรรมโยธา ระดับภาคีวิศวกร จึงไม่สามารถทำงานควบคุมการสร้างหรือการผลิตโครงการสะพานดังกล่าวได้ เนื่องจาก ภาคีวิศวกรสามารถควบคุมการสร้างสะพานได้แค่ 12 เมตรเท่านั้น ซึ่งสะพานสมโภชน์ฯ 200 ปี จ.อยุธยา มีความยาวประมาณ 111 เมตร"

ชี้ให้เห็นความผิดปกติในขั้นตอนการปฏิบัติก่อสร้างสะพานอย่างชัดเจน!

ขณะที่ นายอนุนาท เสือสมิง บิดาของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าว เผยต่อผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า “กรมโยธาฯ เขาบอกว่าจะให้ผู้ว่าฯ จังหวัดอยุธยา เป็นคนตัดสินลงโทษ เพราะถึงอย่างไรก็เป็นข้าราชการในจังหวัด แต่ทำไมกรมโยธาฯ ถึงรีบตัดสินใจลงโทษซะเอง แถมตัดเงินเดือนแค่ 4 เปอร์เซ็นต์”

น่าสังเกตว่า คำสั่งจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ 1317/2556 ลงวันที่ 30 พ.ค. 56 เรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงหาตัวผู้กระทำผิดฯ ระบุในช่วงท้ายอย่างชัดเจนว่า ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน 

ปัจจุบันเวลาได้ผ่านเลยมาเกือบ 3 ปีแล้ว จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีการจับกุมหรือนำตัวผู้กระทำผิดมารับโทษตามกฎหมาย แต่อย่างใด

ทั้งหมดนี่ คือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น จากกรณีสะพานฯ 200 ปี ถล่ม และมี "คนตาย" ที่หลายคนอาจจะยังไม่เคยรับรู้มาก่อน!