logo isranews

logo small 2

ซื้อแจกซ้ำซาก บางบ้านได้กว่า 20 ผืน! สตง.สรุปผลสอบแจกผ้าห่ม จ.กาฬสินธุ์

เขียนวันที่
วันเสาร์ ที่ 16 มกราคม 2559 เวลา 12:28 น.
เขียนโดย
isranews

"..ครอบครัวของผู้ที่ได้รับแจกผ้าห่มกันหนาวส่วนใหญ่มีผ้าห่มกันหนาวที่ทอใช้เอง ซื้อ และรับแจกในปีงบประมาณที่ผ่านมาและปัจจุบัน รวมประมาณ 6-20 ผืน บางครอบครัวมีมากกว่า 50 ผืนขึ้นไป ซึ่งมีมากพอและไม่ขาดแคลนผ้าห่มกันหนาวจริง.."

puueeegggggg

หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : เป็นผลการตรวจสอบการแจกผ้าห่มภัยหนาวจังหวัดกาฬสินธุ์สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดกาฬสินธุ์ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ของ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)

---------------------

สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ได้ตรวจสอบการจัดหาและแจกผ้าห่มภัยหนาวจังหวัดกาฬสินธุ์ในปีงบประมาณ 2558 ซึ่งดำเนินการโดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดกาฬสินธุ์ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ รวมจำนวน 101 หน่วยงาน เป็นเงินงบประมาณ 35 ล้านบาท

จากการตรวจสอบมีประเด็นข้อตรวจพบ ดังนี้

1. มีการแจกผ้าห่มกันหนาวซ้ำครอบครัวจากหลายหน่วยงาน โดยบางครอบครัวได้รับแจกผ้าห่มกันหนาว 2-3 ผืนในปีงบประมาณเดียวกัน

2. ครอบครัวของผู้ที่ได้รับแจกผ้าห่มกันหนาวส่วนใหญ่มีผ้าห่มกันหนาวที่ทอใช้เอง ซื้อ และรับแจกในปีงบประมาณที่ผ่านมาและปัจจุบัน รวมประมาณ 6-20 ผืน บางครอบครัวมีมากกว่า 50 ผืนขึ้นไป ซึ่งมีมากพอและไม่ขาดแคลนผ้าห่มกันหนาวจริง

3. ไม่มีการสำรวจความต้องการเพื่อให้ทราบผู้ที่ขาดแคลนก่อนแจกผ้าห่มกันหนาว โดยครอบครัวของผู้ที่ได้รับแจกจากหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ ส่วนใหญ่มีผ้าห่มที่ทอใช้เอง ซื้อ และรับแจกผ้าห่มกันหนาวในปีงบประมาณที่ผ่านมารวมจำนวนมากกว่าจำนวนสมาชิกที่พักอาศัยอยู่ในครอบครัว

4. ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ไม่ประกาศการยุติการให้ความช่วยเหลือทันทีเมื่อภัยพิบัติหนาวสิ้นสุดลงโดยจังหวัดกาฬสินธุ์มีการประกาศเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2557 ทำการประกาศครอบคลุมทั้งจังหวัด ซึ่งมีทั้งหมด 18 อำเภอ และสภาพอากาศตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม 2558 เป็นต้นไป มีอุณหภูมิเพิ่มสูงกว่า 15 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นระดับอุณหภูมิตามหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556 กรณีภัยหนาว แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ได้ประกาศสิ้นสุดภัยพิบัติเมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2558 ซึ่งล่าช้ากว่าข้อเท็จจริงจำนวน 37 วัน ส่งผลให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่งยังมีการแจกผ้าห่มกันหนาวหลังจากวันดังกล่าวอยู่

5. มีการจัดซื้อผ้าห่มกันหนาวในราคาแพงกว่าราคาตามท้องตลาดจำนวน 83 หน่วย จากทั้งหมด101 หน่วย เป็นเงิน 10.61 ล้านบาท โดยได้นำเงินส่งคืนคลังครบถ้วนแล้วจำนวน 72 หน่วย เป็นเงิน3.85 ล้านบาท ยังไม่ส่งคืนจำนวน 9 หน่วย เป็นเงิน 6.71 ล้านบาท และส่งเงินไม่ครบถ้วนจำนวน 2 หน่วยยังขาดส่งเป็นเงิน 0.05 ล้านบาทรวมเป็นเงินที่ยังไม่ได้ส่งคืนคลัง 6.76 ล้านบาท

6. อุณหภูมิต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส ตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังประกาศ ไม่สอดคล้องกับความหมายของอากาศหนาวจัดผิดปกติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556 ส่งผลให้รัฐต้องใช้จ่ายเงินงบประมาณมากเกินกว่าที่ควร เนื่องจากจำนวนผู้ประสบภัยหนาวตามเกณฑ์อากาศหนาวที่อุณหภูมิต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส จะมีมากกว่ากรณีอากาศหนาวจัดผิดปกติ ทำให้เป็นช่องทางให้หน่วยงานต่างๆของรัฐใช้จ่ายเงินงบประมาณเพื่อจัดหาผ้าห่มให้กับผู้ประสบภัยหนาวมากเกินความจำเป็น

ข้อเสนอแนะ

สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ได้แจ้งให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาดำเนินการ ดังนี้

1. ให้นายกรัฐมนตรีสั่งการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณาทบทวนความหมายของคำว่าอากาศหนาวจัดผิดปกติเข้าข่ายเป็นภัยพิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556 ข้อ 5 ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ หากเห็นว่าเหมาะสมเห็นควรให้มีการทบทวนการกำหนดอุณหภูมิต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียสตามหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556 เพื่อให้สอดคล้องกับเกณฑ์อากาศหนาวจัดของกรมอุตุนิยมวิทยา และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยจ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556

2. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พิจารณาดำเนินการดังนี้

2.1) สั่งการให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการจัดหาผ้าห่มเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาวเป็นไปอย่างประหยัด โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของรัฐและประชาชนที่มีปัญหาขาดแคลนผ้าห่มกันหนาวอย่างแท้จริง

2.2) กำชับให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์และจังหวัดอื่น ๆ ปฏิบัติตามหนังสือกระทรวงมหาดไทยด่วนที่สุดที่ มท 0617/ว 406 ลงวันที่ 29 มกราคม 2556 ในการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินเป็นรายพื้นที่ที่เกิดภัยพิบัติตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในช่วงเวลานั้น มิใช่ประกาศครอบคลุมทั้งจังหวัด และหากภัยพิบัติดังกล่าวได้สิ้นสุดลงให้รีบประกาศวัน เดือน ปี ที่สิ้นสุดภัยทันที

ผลการดำเนินการของหน่วยรับตรวจ

1. นายกรัฐมนตรีได้มีบัญชามอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณาความเห็นของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน โดยกระทรวงการคลัง พิจารณาแล้วเห็นด้วยกับข้อเสนอแนะของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินและแก้ไขตามหนังสือที่ กค 0406.3/ว.144 ลงวันที่ 20 พ.ย. 58 โดยแก้ไขหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556 ข้อ 5.1.14 จาก กรณีอากาศหนาวมีอุณหภูมิต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส และมีช่วงเวลาอากาศหนาวยาวนานติดต่อกันเกิน 3 วัน ให้จ่ายค่าจัดซื้อเครื่องกันหนาวสงเคราะห์ราษฎรได้เท่าที่จ่ายจริงคนละไม่เกิน 240 บาท ทั้งนี้จังหวัดหนึ่งไม่เกินงบประมาณปีละ 1,000,000 บาท เป็น กรณีอากาศหนาวจัดผิดปกติมีอุณหภูมิต่ำกว่า 8 องศาเซลเซียสและมีช่วงเวลาอากาศหนาวยาวนานติดต่อกันเกิน 3 วัน ให้จ่ายค่าจัดซื้อเครื่องกันหนาวสงเคราะห์ได้เท่าที่จ่ายจริงคนละไม่เกิน 240 บาท ทั้งนี้จังหวัดหนึ่งไม่เกินงบประมาณปีละ 1,000,000 บาท โดยการกำหนดดังกล่าวให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2558 เป็นต้นไป

2. กระทรวงมหาดไทย ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน โดยได้แจ้งให้ทุกจังหวัดทราบพร้อมทั้งแจ้งส่วนราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ถือปฏิบัติในส่วนที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด (ตามหนังสือที่ มท 0617/14077 ลงวันที่ 23 ก.ค. 58) ดังนี้

2.1) ในการจัดหาผ้าห่มหรือเครื่องกันหนาวเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาวให้จังหวัดอำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถือฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัดและเป็นไปอย่างประหยัด โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของรัฐและประชาชนที่มีปัญหาขาดแคลนผ้าห่มกันหนาวอย่างแท้จริง ทั้งนี้ ให้มีการประสานงานระหว่างส่วนราชการหรือหน่วยงานอื่นของรัฐด้วยกันกับเอกชน และองค์กรการกุศลที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ความช่วยเหลือเป็นไปอย่างทั่วถึงและไม่ซ้ำซ้อนกัน

2.2) ในการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ให้กำหนดพื้นที่ที่เกิดภัยเป็นรายหมู่บ้าน/ชุมชน ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในช่วงเวลานั้น มิใช่การประกาศคลอบคลุมทั้งจังหวัด หากภัยพิบัติส่งผลกระทบเป็นวงกว้างขึ้น ก็ให้ประกาศเป็นรายพื้นที่ตามความเสียหายที่เกิดขึ้น และหากภัยพิบัติดังกล่าวได้สิ้นสุดลงให้รีบประกาศวัน เดือน ปีที่สิ้นสุดภัยทันที

โดยให้ถือปฏิบัติตามหนังสือกระทรวงมหาดไทยด่วนที่สุด ที่ มท 0617/ว 406 ลงวันที่ 29 มกราคม 2556