logo isranews

logo small 2

ละเอียดยิบ! เปิดเหตุผล 'สตง.' ฉบับเต็ม ชง 'รมว.คลัง' ฟื้นคดีคลองด่าน

เขียนวันที่
วันพฤหัสบดี ที่ 12 พฤษภาคม 2559 เวลา 17:20 น.
เขียนโดย
isranews

"...จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญา ประกอบข้อเท็จจริงในคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แสดงให้เห็นว่า สัญญาดังกล่าวเกิดขึ้นจากการทุจริตของอธิบดีและเจ้าหน้าที่กรมควบคุมมลพิษในขณะนั้นสมคบกับกิจการร่วมค้าในทุกขั้นตอน เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มเอกชนดังกล่าวได้เข้ามาเป็นคู่สัญญา จึงเป็นสัญญาขัดต่อความสงบเรียบร้อย ย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ซึ่งมีผลในทางกฎหมายให้สัญญาดังกล่าวเสียเปล่ามาตั้งแต่ต้น .."

picgygddddd12 5 16

หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : เป็นรายละเอียดในหนังสือสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ส่งถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อขอให้กระทรวงการคลัง ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอให้รื้อฟื้นคดีคลองด่านใหม่ 

(อ่านประกอบ : ด่วน!สตง.ชง 'รมว.คลัง' ฟื้นคดีคลองด่านใหม่แล้ว-ชี้ปมทุจริตเหตุสัญญาโมฆะสู้!)

-----------------------

ตามที่ รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) ขอให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) พิจารณาหาแนวทางหรือจุดอ่อนทางข้อกฎหมายเพื่อระงับการชำระเงินตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ในคดีโครงการออกแบบรวมก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียเขตควบคุมมลพิษ คลองด่าน จังหวัดสมุทรปราการ ไว้ก่อน นั้น

สตง. ได้พิจารณาความเป็นมาเกี่ยวกับข้อเท็จจริงในคดีดังกล่าวแล้ว พบว่า กรมควบคุมมลพิษได้ยื่นฟ้อง กิจการร่วมค้า NVPSKG กับบริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด บริษัท ประยูรวิศวการช่าง จำกัด บริษัท สีแสงการโยธา (1997) จำกัด บริษัท กรุงธนเอนจิเนียร์ จำกัด และ บริษัท เกตเวย์ ดีเวลล็อปเมนต์ จำกัด ต่อศาลแพ่ง เป็นคดีหมายเลขดำที่ 732/2547 ขอให้ศาลพิพากษาว่าสัญญาเลขที่ 75/2540 ตกเป็นโมฆะ เนื่องจากโจทก์แสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในตัวคู่สัญญาซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม

โดยโจทก์เข้าใจว่า บริษัท นอร์ธเวสต์ วอเตอร์ อินเตอร์ เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งมีประสบการณ์ในเรื่องรักษาระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสีย ร่วมเป็นกิจการร่วมค้าด้วยจึงตกลงทำสัญญา

แต่จำเลยทั้ง 6 ปฏิเสธว่าโจทก์มิได้สำคัญผิดในตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีอันเป็นสาระสำคัญของสัญญา แต่สำคัญผิดในคุณสมบัติของบุคคล โจทก์จึงไม่อาจกล่าวอ้างให้สัญญาเป็นโมฆะได้ ประกอบกับโจทก์ได้ทราบการถอนตัวของ บริษัท นอร์ธเวสต์ฯ แต่โจทก์ยังให้กิจการร่วมค้าดำเนินการต่อไป และระหว่างพิจารณา จำเลยทั้ง 6 ขอให้ศาลแพ่งจำหน่ายคดีเพื่อไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการ

โดยศาลแพ่งพิจารณาแล้ว เห็นว่า “เงื่อนไขของสัญญาโครงการบำบัดน้ำเสียชายฝั่งตะวันออกและชายฝั่งตะวันตกของจังหวัดสมุทรปราการ ตามสัญญาเลขที่ 75/2540 มีข้อตกลงเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทไว้ข้อ 67.1 ถึง 67.3 ว่าในกรณีมีข้อพิพาทเกิดขึ้นระหว่างผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้าง เป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับหรือเกิดขึ้น เนื่องจากสัญญาหรือการปฏิบัติติงาน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นก่อนหรือหลังจากที่งานแล้วเสร็จ และไม่ว่าก่อนหรือหลังที่มีการปฏิเสธหรือบอกเลิกสัญญาในกรณีอื่น ๆ ให้ยุติข้อพิพาทกันด้วยการตัดสินของอนุญาโตตุลาการและคู่สัญญาต่างลงลายมือชื่อไว้ สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งหก จึงเป็นสัญญาที่มีข้อกำหนดให้เสนอข้อพิพาททางแพ่งให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าสัญญาเลขที่ 75/2540 ตกเป็นโมฆะ โดยอ้างว่าโจทก์สำคัญในสาระสำคัญในตัวบุคคลและสาระสำคัญแห่งนิติกรรม ฟ้องโจทก์จึงเป็นกรณีที่มีข้อพิพาทเกิดขึ้นเนื่องจากสัญญาซึ่งโจทก์จะต้องเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดเสียก่อน และตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 24 กำหนดให้คณะอนุญาโตตุลาการมีอำนาจวินิจฉัยถึงความมีอยู่หรือความสมบูรณ์ของสัญญาอนุญาโตตุลาการได้ และให้ถือว่าข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาหลักเป็นข้อสัญญาแยกต่างหากจากสัญญาหลัก

ดังนั้น แม้สัญญาหลักจะตกเป็นโมฆะ ก็มิได้ทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการตกเป็นโมฆะไปด้วย ทั้งไม่ปรากฏว่ามีเหตุใดที่ทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการใช้บังคับไม่ได้หรือไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้ ในชั้นนี้จึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีโจทก์ ให้คู่ความไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการ”

โจทก์จึงอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาใน คดีหมายเลขดำที่ 4895/2547 คดีหมายเลขแดงที่ 948/2550 ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2550 ยืนตามศาลชั้นต้นให้จำหน่ายคดี โจทก์จึงฎีกาต่อศาลฎีกา ที่ 02705/2553 ลงวันที่ 16 ธันวาคม 2553 โดยศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลชั้นอุทธรณ์ให้จำหน่ายคดี และอนุญาตโตตุลาการได้มีคำวินิจฉัยในคดีข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 50/2546 หมายเลขแดงที่ 2/2554 ลงวันที่ 12 มกราคม 2554 ตามประเด็นข้อพิพาท โดยเห็นว่าสัญญาพิพาทไม่เป็นโมฆะเพราะกิจการร่วมค้ามิได้จดทะเบียนพาณิชย์จึงมีลักษณะเป็นหุ้นส่วนบริษัท การที่บริษัท นอร์ธเวสต์ฯ ถอนตัวออกไปจึงไม่ทำให้กรมควบคุมมลพิษเข้าทำสัญญาโดยสำคัญผิดในตัวบุคคล

สำหรับประเด็นว่าใครเป็นฝ่ายผิดสัญญา เนื่องจากกรมควบคุมมลพิษมิได้หักล้างหรือสืบปฏิเสธ ตามข้อกล่าวอ้างของกิจการร่วมค้าฯ จึงต้องฟังว่า กิจการร่วมค้าส่งมอบงานงวดที่ 55 ถึง 58 แก่กรมควบคุมมลพิษแล้ว แต่กรมควบคุมมลพิษไม่จ่ายค่างวดให้กับกิจการร่วมค้าตามที่กิจการร่วมค้ากล่าวอ้าง จึงมีคำวินิจฉัยชี้ขาดให้กรมควบคุมมลพิษต้องชำระเงินค่าจ้าง ค่าเสียหาย รวมดอกเบี้ยตามข้อเรียกร้อง ซึ่งต่อมากิจการการร่วมค้าได้นำคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางขอให้บังคับคดี และศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษา ในคดีหมายเลขดำที่ 791/2554,809/2554 คดีหมายเลขแดงที่ 18/2555,2090/2555 ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2555 ให้กรมควบคุมมลพิษชำระค่าจ้าง ค่าเสียหาย รวมทั้งดอกเบี้ย ให้กิจการร่วมค้า

กรมควบคุมมลพิษ จึงได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด และศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อ.285-286/2556 คดีหมายเลขแดงที่ อ.487-488/2557 ลงวันที่ 10 ตุลาคม 2557 ยืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลางที่รับรองคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ให้กรมควบคุมมลพิษชำระเงินค่าจ้าง ค่าเสียหาย รวมทั้งดอกเบี้ยให้กิจการร่วมค้า รัฐบาลโดยกรมควบคุมมลพิษจึงได้ตกลงชำระหนี้รวม 9,600 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยให้กิจการร่วมค้า โดยแบ่งชำระออกเป็น 3 งวด ซึ่งงวดแรกชำระไปแล้ว 4,000 ล้านบาท เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2558 และในวันที่ 21 พฤษภาคม 2559 จะต้องชำระงวดที่ 2 ต่อไป

กรณีดังกล่าว ในทางอาญาได้มีการดำเนินคดี ดังนี้

1. กรมควบคุมมลพิษ ได้ยื่นฟ้องกิจการร่วมค้าฯ เป็นจำเลยที่ 1 และบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาที่ดิน เป็นจำเลยที่ 2 ถึง จำเลยที่ 19 เป็นคดีอาญา ในความผิดฐานฉ้อโกง ต่อศาลแขวงดุสิต โดยศาลแขวงดุสิตได้มีคำพิพากษาใน คดีหมายเลขดำที่ 254/2547 คดีหมายเลขแดงที่ 3501/2552 โดยพิพากษาว่าจำเลยที่ 2 ถึง 19 มีความผิดฐานฉ้อโกง ซึ่งต่อมากิจการร่วมค้าได้อุทธรณ์ โดยศาลอุทธรณ์ยกฟ้องโจทก์ ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา

2. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติได้ไต่สวนข้อเท็จจริงและชี้มูลความผิดนายวัฒนา อัศวเหม ใช้อำนาจข่มขู่หรือจูงใจเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองและเจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการ สาขาบางพลี จนนำไปสู่คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีหมายเลขดำที่ อม. 2/2550 คดีหมายเลขแดงที่ อม.2/2551 ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2551 พิพากษาลงโทษนายวัฒนา อัศวเหม ในความผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148 ลงโทษจำคุก 10 ปี

อีกทั้งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ยังได้วินิจฉัยในข้อเท็จจริงว่า “กลุ่มจัดหาที่ดินประกอบด้วย บริษัท เหมืองแร่ลานทอง จำกัด บริษัท ปาล์มบีช กอล์ฟ จำกัด บริษัท ปาล์มบีช ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด บริษัท นอร์ทเทอร์นรีซอส จำกัด บริษัท คลองด่านมารีน แอนด์ ฟิชเชอรี่ จำกัด และบริษัท เม ดี เอ็กซ์ จำกัด บริษัทเหล่านี้มีสัมพันธ์โยงใยกับกลุ่มธุรกิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างโครงการจัดการน้ำเสียอันได้แก่ บริษัท นอร์ทเวสต์ วอเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด บริษัท ประยูรวิศว์การช่าง จำกัด บริษัท สี่แสงการโยธา จำกัด บริษัท กรุงธนเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด และบริษัทเกตเวย์ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด การดำเนินการร่วมกันของบริษัทกลุ่มดำเนินการก่อสร้างโดยร่วมกันถือหุ้น บริษัท โอพีซีโอ จำกัด กลุ่มบริษัทจัดหาที่ดินกับกลุ่มบริษัทดำเนินการก่อสร้างเชื่อมโยงกัน โดยกลุ่มของนายอิศราพรถือหุ้นทั้งสองกลุ่ม และเป็นกรรมการบริหารกลุ่มบริษัทจัดหาที่ดินหลายบริษัท ทั้งผู้ถือหุ้นกลุ่มบริษัทดำเนินการก่อสร้าง ถือหุ้นกลุ่มบริษัทจัดหาที่ดินด้วย การถือหุ้นไขว้กันของบุคคลและบริษัทสองกลุ่มดังกล่าว

แสดงให้เห็นว่า กลุ่มบริษัทดำเนินการจัดหาที่ดินกับกลุ่มบริษัทดำเนินการก่อสร้างโครงการจัดการน้ำเสียดำเนินการเป็นการหากำไรร่วมกัน โดยบุคคลและบริษัทผู้ถือหุ้นมความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิด

3. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติได้ไต่สวนข้อเท็จจริงและชี้มูลความผิด นายปกิต กิระวานิช อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ นายศิริธัญญ์ ไพโรจน์บริบูรณ์ อดีตรองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และนางยุวดี อินนา อดีตนักวิชาการสิ่งแวดล้อม 7 กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 จนนำไปสู่คำพิพากษาของศาลอาญา คดีอาญาที่ อ. 4197/2558 ลงวันที่ 17 ธันวาคม 2558 ซึ่งพิพากษาว่า จำเลยทั้งสาม ประกอบด้วย นายปกิต กิระวานิช อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ จำเลยที่ 1 นายศิริธัญญ์ ไพโรจน์บริบูรณ์ อดีตรองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ จำเลยที่ 2 และนางยุวรี อินนา อดีตนักวิชาการสิ่งแวดล้อม 7 จำเลยที่ 3 มีความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 มาตรา 157 ประกอบมาตรา 83

อีกทั้งศาลอาญายังได้วินิจฉัยในข้อเท็จจริงว่า “กิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี และกลุ่มเอกชนที่เป็นคู่สัญญากับกรมควบคุมมลพิษได้ร่วมกันบิดเบือนข้อเท็จจริงดำเนินการเสนอเข้าประกวดราคาในแต่ละขั้นตอนโดยทุจริต โดยมีจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ร่วมกับผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบ ปฏิบัติหน้าที่โดยเลือกดำเนินการแต่ละขั้นตอนไปในทางที่ขัดต่อระเบียบราชการ มติคณะรัฐมนตรี และไม่ชอบด้วยกฎหมาย สนองรับดำเนินการให้ อันเป็นทุจริตและเอื้อประโยชน์เพื่อช่วยเหลือจนทุก ๆขั้นตอนบรรลุผลสำเร็จ”

จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญา ประกอบข้อเท็จจริงในคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แสดงให้เห็นว่า สัญญาดังกล่าวเกิดขึ้นจากการทุจริตของอธิบดีและเจ้าหน้าที่กรมควบคุมมลพิษในขณะนั้นสมคบกับกิจการร่วมค้าในทุกขั้นตอน เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มเอกชนดังกล่าวได้เข้ามาเป็นคู่สัญญา จึงเป็นสัญญาขัดต่อความสงบเรียบร้อย ย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ซึ่งมีผลในทางกฎหมายให้สัญญาดังกล่าวเสียเปล่ามาตั้งแต่ต้น เสมือนไม่เคยมีการทำสัญญาดังกล่าวเกิดขึ้นเลย และต้องถือเป็นข้อเท็จจริงใหม่ที่มิได้มีการว่ากล่าวกันมาก่อน ทั้งในศาลแพ่ง คณะอนุญาโตตุลาการ และศาลปกครอง

อีกทั้ง หากข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่ศาลอาญาฟังความแล้ว การที่นายปกิต กิระวานิช อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษขณะนั้น ลงนามในสัญญาเลขที่ 75/2550 โดยทุจริต และนายศิริธัญญ์ ไพโรจน์บริบูรณ์ อดีตรองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษขณะนั้นลงนามในหนังสือแจ้งยินยอมให้ บริษัท สมุทรปราการออพเปอร์เรทติ้ง จำกัด เข้ามาแทนที่ บริษัท นอร์ทเวสต์วอเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ที่ถอนตัวออกไป โดยทุจริต การกระทำดังกล่าวของนายปกิต และนายศิริธัญญ์ ในฐานะตัวแทน ย่อมไม่มีผลผูกพันกรมควบคุมมลพิษคู่สัญญา ในฐานะตัวความ

สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน จึงเห็นว่า ในคดีดังกล่าวมีคำพิพากษาในข้อเท็จจริงของศาลขัดแย้งกัน ระหว่างศาลอาญากับศาลปกครองสูงสุด โดยคำพิพากษาของศาลอาญาประกอบคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง วินิจฉัยว่ากิจการร่วมการค้าสมคบกับเจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมืองในทุกขั้นตอนโดยทุจริตเพื่อให้ได้มาซึ่งการทำสัญญา สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ย่อมตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ในขณะที่คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่าสัญญาไม่ตกเป็นโมฆะ เพราะมิใช่กรณีการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสาระสำคัญของคู่สัญญาและทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 156 จึงเป็นข้อเท็จจริงใหม่ที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาทั้งในศาลแพ่ง อนุญาโตตุลาการและศาลปกครอง ในกรณีดังกล่าว

สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินจึงเห็นว่า กระทรวงการคลังซึ่งเป็นเจ้าของเงินงบประมาณของแผ่นดิน จึงเป็นหน่วยงานที่เดือดร้อนเสียหาย หรืออาจเดือดร้อนเสียหาย ที่มีสิทธิ์ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอให้พิจารณาคดีใหม่

ทั้งนี้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ได้มีหนังสือกราบเรียนนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการด้วยแล้ว

จึงเรียนมาเพื่อให้โปรดพิจารณาดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อพิจารณาคดีใหม่ต่อไป