logo isranews

logo small 2

กางระเบียบจ่ายเงินวัด! ขมวดพิรุธปม ผอ.สำนักพุทธฯสงขลาเรียกรับเงิน 3.2 ล.

“…เรื่องนี้ตามข้อเท็จจริงไม่น่าจะเป็นไปได้ที่จะมีการโอนเงินผิดขนาดนั้น รวมถึงหากมีการโอนเงินผิดจริง ทำไมถึงไม่ให้วัดดำเนินการโอนเงินคืนมา หรือโอนคืนเป็นเช็ค ซึ่งตามระเบียบราชการต้องเป็นเช่นนั้น ไม่ใช่ให้ทางวัดถือเงินสดมามอบคืน รวมถึงเป็นการคืนที่ลานจอดรถ ทำไมถึงไม่คืนในสถานที่ราชการ ดังนั้นการที่รอง ผอ.สำนักพระพุทธฯ กล่าวอ้างจึงฟังไม่ขึ้น…”

PIC buddhatemple 6 5 59 1

นับเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่สาธารณชนอาจทราบไปแล้วว่า เมื่อช่วง ส.ค. 2558 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และพนักงานสอบสวน สภ.เมืองสงขลา ร่วมกัน ‘จับสด’ นายเสถียร ดำรงคดีราษฎร์ ผอ.สำนักพระพุทธศาสนา จ.สงขลา ที่ถูกกล่าวหากระทำความผิดฐานเรียกรับเงินจากวัดจำนวน 3.2 ล้านบาท

อย่างไรก็ดีภายหลังสอบสวนกันมาหลายเดือน ล่าสุด อัยการ จ.สงขลา มีความเห็น ‘ไม่สั่งฟ้อง’ คดีดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่า พยานหลักฐานไม่พอฟ้อง

โดยมีนางประนอม คงพิกุล รอง ผอ.สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ให้การสอดคล้องกับ ผอ.สำนักพระพุทธศาสนา จ.ปัตตานี และ ผอ.สำนักพระพุทธศาสนา จ.นราธิวาส ทำนองว่า การเรียกรับเงินคืน 3.2 ล้านบาท ถูกต้องแล้ว เพราะมีการโอนเงินให้กับวัดชลธาราวาส จำนวน 4 ล้านบาท เพื่อเป็นเงินสนับสนุนสำหรับจัดทำโครงการอบรมพระธรรมทูตเผยแผ่พุทธศาสนา ประจำปี 2558 ทั้งที่จริงต้องโอนให้ 8 แสนบาท จึงมอบหมายให้ ผอ.สำนักพระพุทธศาสนา จ.สงขลา นำเงินที่โอนเกินไป 3.2 ล้านบาท มาคืนเพื่อนำไปอุดหนุนวัดอื่น ๆ ต่อไป

(อ่านประกอบ : หลักฐานไม่พอ! อัยการไม่ฟ้อง ผอ.สำนักพุทธฯสงขลาเรียกรับเงินวัด 3.2 ล.ไขปริศนา? ทำไมอัยการไม่ฟ้อง ผอ.สำนักพุทธฯสงขลาเรียกรับเงิน 3.2 ล.)

อย่างไรก็ดี คำให้การดังกล่าวค่อนข้างขัดแย้งกับระเบียบต่าง ๆ ของทางราชการ รวมถึงมีข้อพิรุธหลายประการ ?

สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org กางระเบียบมหาเถรสมาคมว่าด้วยการจ่ายเงินผลประโยชน์ของวัด พ.ศ.2557 และระเบียบทางราชการต่าง ๆ มานำเสนอให้สาธารณชนทราบกัน ดังนี้

ระเบียบมหาเถรสมาคมว่าด้วยการจ่ายเงินผลประโยชน์ของวัด พ.ศ.2557 ข้อ 5 ระบุว่า เงินผลประโยชน์ของวัด แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ (1) เงินผลประโยชน์ส่วนกลาง ได้แก่ เงินของวัดต่าง ๆ ในเขต กทม. ที่มอบให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจัดประโยชน์แทน (2) เงินผลประโยชน์ในส่วนของภูมิภาค ได้แก่ เงินของวัดต่าง ๆ ที่มอบให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจัดประโยชน์ และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้มอบให้จังหวัดจัดประโยชน์แทน

ข้อ 6 การจ่ายเงินผลประโยชน์ของวัด ต้องอยู่ในกิจการหรือความจำเป็นของวัด และต้องได้รับอนุมัติจากผู้มีหน้าที่พิจารณาตามที่ระบุไว้ในระเบียบนี้ เมื่อได้รับอนุมัติแล้ว ให้ ผอ.สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ หรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจแล้วแต่กรณี สั่งจ่ายตามจำนวนที่ได้รับอนุมัตินั้น

ข้อ 7 วรรคสอง ระบุว่า การเบิกจ่ายเงินผลประโยชน์ของวัดในส่วนภูมิภาค โดยเบิกเงินได้ขั้นต่ำไม่เกิน 10,000 บาท เจ้าอาวาสพิจารณาอนุมัติ ไม่เกิน 50,000 บาท เจ้าคณะอำเภอพิจารณาอนุมัติ ครั้งละไม่เกิน 100,000 บาท เจ้าคณะจังหวัดพิจารณาอนุมัติ ครั้งละไม่เกิน 300,000 บาท เจ้าคณะภาคพิจารณาอนุมัติ ครั้งละไม่เกิน 500,000 บาท เจ้าคณะใหญ่พิจารณาอนุมัติ และครั้งละเกินกว่า 500,000 บาท มหาเถรสมาคมพิจารณาอนุมัติ (อ่านประกอบ : http://bit.ly/1stRago)

สำหรับกรณีนี้ เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2558 ขณะที่ผู้ต้องหา (นายเสถียร) มีตำแหน่งหน้าที่เป็น ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนา จ.สงขลา นัดพบกับพระครูบริหารสังฆานุวัตร และมีการเรียกรับเงินที่ทางสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติโอนเป็นเงินสนับสนุนสำหรับจัดทำโครงการอบรมพระธรรมทูตเผยแผ่พุทธศาสนา ประจำปี 2558 โดยได้โอนเงินเข้าวัดชลธาราวาส จำนวน 4 ล้านบาท และผู้ต้องหาได้เรียกรับเงินและทำความตกลงกับวัดให้มอบเงิน จำนวน 3.3 ล้านบาท ให้แก่ผู้ต้องหา โดยทางวัดตกลงมอบเงินให้แก่ผู้ต้องหาจำนวน 3.2 ล้านบาท นัดส่งมอบเงินที่ห้างสรรพสินค้าเทสโก้โลตัส สาขาสงขลา

ทั้งนี้ผู้กล่าวหาได้ร่วมวางแผนจับกุมกับพระครูบริหารสังฆานุวัตร เข้าทำการควบคุมตัวผู้ต้องหาได้พร้อมเงินสด จำนวน 3 ล้านบาท อยู่ในซองกระดาษสีน้ำตาล ส่วนอีกจำนวน 1.4 แสนบาท พระครูฯนำมามอบให้ และอีกจำนวน 6 หมื่นบาท พบที่ตัวของผู้ต้องหา จึงควบคุมตัวผู้ต้องหาพร้อมเงินของกลางนำส่งพนักงานสอบสวน ทำการสอบสวน

เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงตามการสอบสวน พบว่า พระครูบริหารสังฆานุวัตร ให้การว่า ได้ขอเงินสนับสนุนจัดทำโครงการอบรมพระธรรมทูตเผยแผ่พระพุทธศาสนาประจำปี 2558 ขณะเดียวกัน นางประนอม ให้การว่า ได้จัดสรรเงินให้วัดดังกล่าวจำนวน 8 แสนบาท แต่โอนเกินไป 4 ล้านบาท

หากพิจารณาตามระเบียบดังกล่าว ข้อ 7 วรรคสองข้างต้น จะเห็นว่า หากมีการเบิกเงินเกิน 5 แสนบาท จะต้องให้มหาเถรสมาคมเป็นผู้อนุมัติ และเมื่ออนุมัติแล้วจึงส่งเรื่องให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติดำเนินการอนุมัติ

ดังนั้น ในเมื่อมหาเถรสมาคมมีมติอนุมัติแล้ว โดยเป็นวงเงิน 8 แสนบาท (ตามที่นางประนอมกล่าวอ้าง) ไฉนจึงมีการโอนเงินไปให้วัดถึง 4 ล้านบาท เท่ากับว่าโอนผิดไปถึง 3.2 ล้านบาท ?

ขณะเดียวนางประนอม ให้การด้วยว่า การกระทำของผู้ต้องหา (นายเสถียร) เป็นการกระทำไปตามอำนาจหน้าที่ และยืนยันว่าวัดชลธาราวาส ได้รับจัดสรรเงินประมาณ 8 แสนบาท และโอนเข้าบัญชีวัดไป 4 ล้านบาท จึงเป็นเงินที่ต้องนำไปจัดสรรให้วัดอื่น จำนวน 3.2 ล้านบาท

ซึ่งผู้ต้องหามีอำนาจในการปรับ ลด เพิ่ม เปลี่ยนแปลงงบประมาณโครงการ สถานที่ได้ทั้งหมด และยืนยันว่าเงินจำนวน 3.2 ล้านบาท เป็นเงินที่ต้องนำไปใช้ในกิจกรรมอื่นอีก 3 กิจกรรม โดยมีนายมานะ ลืสวัสดิ์ ผอ.สำนักพระพุทธฯ จ.นราธิวาส และนายถมยา ศรีประสมสวัสดิ์ ผอ.สำนักงานพระพุทธฯ จ.ปัตตานี ให้การยืนยันว่า เงินจำนวน 3.2 ล้านบาท เป็นเงินที่ผู้ต้องหาขอรับคืนเพื่อนำไปจัดสรรโครงการอื่นอีก 3 โครงการ ซึ่งผู้ต้องหาสามารถปรับเปลี่ยนได้

โดยประเด็นนี้ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาศ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ยืนยันสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า คำให้การดังกล่าวฟังไม่ขึ้น !

“เรื่องนี้ตามข้อเท็จจริงไม่น่าจะเป็นไปได้ที่จะมีการโอนเงินผิดขนาดนั้น รวมถึงหากมีการโอนเงินผิดจริง ทำไมถึงไม่ให้วัดดำเนินการโอนเงินคืนมา หรือโอนคืนเป็นเช็ค ซึ่งตามระเบียบราชการต้องเป็นเช่นนั้น ไม่ใช่ให้ทางวัดถือเงินสดมามอบคืน รวมถึงเป็นการคืนที่ลานจอดรถ ทำไมถึงไม่คืนในสถานที่ราชการ ดังนั้นการที่รอง ผอ.สำนักพระพุทธฯ กล่าวอ้างจึงฟังไม่ขึ้น” ผู้ว่า สตง. ยืนยัน

(อ่านประกอบ : อ้างฟังไม่ขึ้น! สตง.ยันให้วัดถือเงินสดคืน ผอ.สำนักพุทธสงขลา 3.2 ล.ผิดปกติ)

ทั้งนี้ หากการกระทำดังกล่าวมีข้อผิดปกติจริง อาจเข้าข่ายผิดตามระเบียบ สตง. ว่าด้วยวินัยทางงบประมาณและการคลังได้ โดยในหมวด 2 ส่วนที่ 2 ความผิดเกี่ยวกับการเบิกเงินและจ่ายเงิน

ข้อที่ 24 ระบุว่า เจ้าหน้าที่ผู้ใดมีหน้าที่เบิกเงินหรือจ่ายเงิน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย หรือระเบียบที่ใช้บังคับหน่วยรับตรวจโดยมิชอบ ต้องรับโทษทางปกครองชั้นที่ 3 (ปรับเท่ากับเงินเดือน ตั้งแต่ 5-8 เดือน)

ข้อที่ 25 ระบุว่า เจ้าหน้าที่ผู้ใดมีหน้าที่จ่ายเงิน จ่ายเงินนั้นโดยไม่มีหลักฐานการจ่ายเงินตามกฎหมายหรือระเบียบที่ใช้บังคับกับหน่วยรับตรวจ หรือทำหลักฐานการจ่ายเงินเป็นเท็จ ต้องรับโทษปรับทางปกครองชั้นที่ 3

ข้อ 26 เจ้าหน้าที่ผู้ใดมีหน้าที่เบิกเงิน ทำหลักฐานการเบิกเงินเป็นเท็จ ต้องรับโทษปรับทางปกครองชั้นที่ 3

ข้อ 27 ถ้าการกระทำความผิดตามข้อ 24 ข้อ 25 หรือข้อ 26 เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ เจ้าหน้าที่ผู้กระทำต้องรับโทษปรับทางปกครองชั้นที่ 4 (ปรับเท่ากับเงินเดือน ตั้งแต่ 9-12 เดือน)

ถ้าเจ้าหน้าที่ผู้กระทำความผิดหรือมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดในส่วนนี้เป็นผู้สั่งจ่ายหรือผู้บังคับบัญชา ต้องรับโทษทางปกครองชั้น 4 (อ่านประกอบ : http://bit.ly/1U8rh00)

อย่างไรก็ดีกรณีนี้ ผู้ว่า สตง. ระบุว่า พ้นการตรวจสอบของ สตง. ไปแล้ว และอยู่ในอำนาจการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งล่าสุดอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่า จะดำเนินการไต่สวนเพิ่มเติมเอง หรือสั่งการให้พนักงานสอบสวนไต่สวนเพิ่มเติมต่อ

ทั้งหมดคือข้อน่าสงสัยในคำให้การของ รอง ผอ.สำนักพระพุทธฯ รวมถึงการพิจารณาพยานหลักฐานในชั้นอัยการ ที่มีกังขาจากสาธารณชนหลายประการ แต่กลับดำเนินการไม่ฟ้องในคดีนี้

ขณะเดียวกันนอกเหนือจากคดีดังกล่าวแล้ว นายเสถียร ยังเป็นหนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาอีกอย่างน้อย 2-3 พื้นที่ในภาคใต้ โดยถูกกล่าวหาร้องเรียนในกรณีเดียวกันคือ เรียกรับเงินคืนจากวัด โดยปัจจุบันอยู่ในชั้นการไต่สวนของ ป.ป.ท. และ ป.ป.ช. จังหวัดต่าง ๆ ด้วย

ดังนั้นสิ่งที่ต้องขยายผลเพิ่มเติมคือ ในอีกหลายพื้นที่ทั่วประเทศ เกิดเรื่องราวทำนองนี้หรือไม่ และมีหน่วยงานตรวจสอบใดเข้าไปดำเนินการหรือยัง ?

เพราะต้องไม่ลืมว่า ในช่วงปี 2557 ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงนามในกฏกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พ.ศ.2557 มีตอนหนึ่งในข้อ 4 ระบุไว้ชัดเจนว่า ให้สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มีกลุ่มตรวจสอบภายใน เพื่อทำหน้าที่หลักในการตรวจสอบการดำเนินงานภายในสำนักงาน และสนับสนุนการปฏิบัติงานของสำนักงาน รับผิดชอบขึ้นตรงต่อผู้อำนวยการ

มีหน้าที่หลักคือตรวจสอบด้านการบริหาร การเงิน และการบัญชีของสำนักงานฯ และปฏิบัติงานหรือร่วมมือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือได้รับมอบหมาย (อ่านประกอบ : http://bit.ly/1Y2knuJ)

ปัจจุบัน ผอ.สำนักพระพุทธฯ ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นสอบข้อเท็จจริงแล้วหรือไม่ ?

เพราะต้องไม่ลืมว่า ‘วัด’ เปรียบเสมือนสถานที่ ‘ศาสนิกชน’ ใช้เป็นที่พึ่งทางใจ และอาจถือได้ว่าเป็นหนึ่งในหัวใจหลักของพระพุทธศาสนาในปัจจุบัน

แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้น อาจทำให้ ‘ศรัทธา’ ต่อวัดที่ปัจจุบันลดน้อยลงอยู่แล้ว ให้น้อยลงไปอีกก็เป็นได้ !

อ่านประกอบ :

เพิ่งรับตำแหน่งไม่รู้เรื่อง! อัยการยันเห็นพ้อง ตร.ปมไม่ฟ้อง ผอ.สำนักพุทธฯสงขลา

ป.ป.ช.ยันดึงคดี ผอ.สำนักพุทธฯสงขลาเรียกรับเงิน 3.2 ล.มาไต่สวนเอง