logo isranews

logo small 2

ผอ.กองคลังราชทัณฑ์ แจงละเอียด มหากาพย์จัดซื้ออาหารดิบ “ผู้ต้องขัง”

เขียนวันที่
วันพุธ ที่ 09 กรกฎาคม 2557 เวลา 22:05 น.
เขียนโดย
รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล
หมวดหมู่

“กรมราชทัณฑ์ไม่ได้เป็นคนทำสัญญา แต่ละเรือนจำจะเป็นผู้ทำสัญญากับหน่วยงาน นั้นๆ เอง เพราะหน่วยงานรัฐเหล่านี้มีสาขาอยู่ทั่วประเทศ กรมราชทัณฑ์เป็นเพียงผู้ออกนโยบายเพื่อแก้ปัญหาเท่านั้น" 

1afood

จากกรณีที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรมได้จัดซื้ออาหารดิบ (อาหารดิบเป็นรายสิ่ง อาทิ ข้าวสาร อาหารแห้ง เครื่องปรุง) สำหรับเลี้ยงผู้ต้องขังเรือนจำทั่วประเทศจากองค์การตลาด กระทรวงมหาดไทย และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) เป็นเวลานานว่า 15 ปีอย่างน้อย 980 ครั้ง มีวงเงินสูงถึง 8,543 ล้านบาท

( อ่านประกอบ :ตีแผ่!ผูกปิ่นโต 15 ปีซื้ออาหาร“ผู้ต้องขัง”เรือนจำทั่ว ปท.8.5 พันล. )

(อธิบดีราชทัณฑ์ แจงยิบ!ปมผูกปิ่นโต 15 ปี ซื้ออาหาร“ผู้ต้องขัง” 8.5 พันล. )

ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เดินทางไปที่กรมราชทัณฑ์ เพื่อขอสัมภาษณ์อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ถึงแนวทางในการจัดซื้ออาหารดิบ และเพื่อให้ชี้แจงถึงที่มาการผูกขาดกับหน่วยงานรัฐ แต่ "อธิบดีกรมราชทัณฑ์" เดินทางไปประชุมงาน

"พ.ต.อ. ศุภกร ศุภศิณเจริญ" ผู้อำนวยการกองคลัง กรมราชทัณฑ์ จึงชี้แจงข้อสงสัย-ข้อพิรุธ ทั้งหมดแทน

@ ทำไมจึงใช้วิธีการจัดซื้อกรณีพิเศษ

การจัดซื้ออาหารดิบผู้ต้องขังนั้นก่อนอื่นต้องขอชี้แจงถึงกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐว่ามีทั้งหมดกี่วิธี แต่ละวิธีกำหนดวงเงินไว้เท่าไหร่ เช่น ตามระเบียบบริหารพัสดุกำหนดว่าวงเงินไม่เกิน 1 แสนบาท ใช้วิธีตกลงราคา วงเงินไม่เกินสองล้านบาทใช้วิธีสอบราคา วงเงินสองล้านบาทขึ้นไป ใช้วิธีประกวดราคา

จากนั้น ในปี พ.ศ. 2549 กีข้อกำหนดให้ทำอิอ็อกชั่น หรือการประกวดราคาทางอิเล็คทรอนิกส์ นอกจากนี้ ก็ยังมีวิธีอื่นๆ อีก คือมีการจัดซื้อจัดจ้างด้วยิวธีพิเศศ รวมถึงวิธีสุดท้าย คือ กรณีพิเศษ ซึ่งการจัดซื้ออาหารดิบของกรมราชทัณฑ์นี้ ใช้วิธีที่เรียกว่ากรณีพิเศษ

เราทำตามระเบียบพัสดุทุกอย่าง มีรายละเอียดตามมติครม. ว่ามีหน่วยงานใดของรัฐที่ได้สิทธิ์ในกรณีพิเศษนี้บ้าง ที่เราทำนี้เหมือนเป็นจีทูจี ภายในก็มีมติครม.กำหนดหน่วยงานเหล่านี้ แม้กระทั่งการซื้อข้าวสาร ก็ยังกำหนดให้กรมราชทัณฑ์ซื้อข้าวสารจากหน่วยงานของรัฐโดยอคส.

"เราจะซื้อข้าวสารจากเอกชนไม่ได้เลย กรมไม่สามารถไปซื้อเองได้ ต้องซื้อจากหน่วยงานรัฐตามที่มติครม. กำหนดไว้ ส่วนแก๊ส ต้องซื้อจากตัวแทนของปตท. เพราะครม.บังคับไว้เลย ไปซื้อจากเจ้าอื่นไม่ได้"

@ แต่มีการระบุว่าเหมือนมีการผูกขาด

การจัดซื้ออาหารดิบผู้ต้องขัง เคยจัดให้มีการประกวดราคา โดยกรมราชทัณฑ์ให้แต่ละเรือนจำไปทำอีออกชั่นเอง ตอนนั้นราคาค่าอาหารผู้ต้องขังต่อคนต่อวัน กรมบัญชีกลางกำหนดมาก็ประมาณไม่ถึง 40 บาท ในช่วงปลายปี 2554  แต่พวกผู้ประกอบการที่เขามาประกวดราคา เขาสู้ราคากันเคาะมา 20 กว่าบาทต่อคน หมายความว่าเป็นของกินที่ไม่มีคุณภาพงั้นหรือ คุณจะกล้ากินไหม

"เมื่อก่อนสู้ราคากัน เนื้อหมูกิโลกรัมละ 1 บาทก็ยังมี แล้วตอนที่มีประมูลก็เกิดปัญหาผู้ประกอบการส่งอาหารดิบไม่ได้ ส่งช้า แล้วก็มีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย กรมฯก็โดนฟ้องว่าไม่ปฏิบัติตามสัญญาบ้าง วิธีการยุ่งยาก ในที่สุดก็เลยมาใช้วิธีกรณีพิเศษ คือเอาหน่วยงานของรัฐทั้ง 4 หนวยงานเช่นอคส. อ.ต.ก. ชุมนุมเกษตรกรแห่งประเทษไทย ตามที่ครม. กำหนด ซึ่งเหมือนการันตีแล้วให้เราใช้วิธีกรณีพิเศษกับหน่วยงานเหล่านี้ แล้วที่ข่าวบอกว่างบประมาณนับหมื่นล้าน พูดอย่างนั้นไม่ได้ คุณต้องระบุด้วยว่าจริงๆแล้วงบประมาณที่ได้มาปีหนึ่งเท่าไหร่"

ปีหนึ่งได้งบประมาณแค่ 3 พันกว่าล้านบาท และเลี้ยงผู้ต้องขังไม่พอ ตอนนี้เราก็เป็นหนี้เขาอยู่ ไม่ได้จ่ายค่าอาหารเขามา 4-5 เดือนแล้ว หน่วยงานรัฐ 4 หน่วยนี้ ก็แบกภาระให้เราอยู่ เขาก็ช่วยเราเพราะจะให้กรมราชทัณฑ์ไปปะทะกับพวกพ่อค้าที่มาประมูลนี่เราก็ไปปะทะไม่ไหว ไม่มีใครจะคอยมาการันตีให้ แต่หน่วยงานรัฐเหล่านี้ เขาการันตีให้เรา แม้เราจะขาดตกบกพร่องไป จ่ายเขาช้าหน่อย แต่เขารองรับให้เราได้ หรือที่ผ่านมาเราก็ยื่นขอไปแต่งบประมาณไป กรมบัญชีกลางเขาคำนวนมาให้ว่าให้งบประมาณ 54 บาต่อคนต่อวัน จำนวนนี้รวมค่าข้าวสาร ค่าขนส่ง แก๊สหุงต้ม ค่าอาหารดิบ เครื่องปรุงต่อคน มีการกำหนดอย่างนี้เลย

"แล้วคิดดู นี่คือ 3 มื้อต่อวัน ได้ 54 บาท แล้วจำนวนนี้รวมค่าข้าวสาร ค่าแก๊ส อาหารดิบด้วย ตัวเลขนี้กรมบัญชีกลาง เป็นผู้คำนวน และผ่านสำนักงบประมาณตรวจสอบด้วย ว่างๆ ผมจะพาเข้าไปดูที่โรงครัว ถ้ามีการทุจริต อาหารคงไม่ดีอย่างนี้หรอก เพราะเงินทุกเม็ดทุกบาททุกสตางค์ ต้องไปลงเป็นค่าอาหารทั้งหมด ไม่เช่นนั้นนักโทษจะเอาอะไรกิน"

แต่งบประมาณที่รัฐให้มาให้มาเพียงแค่สำหรับแสนกว่าคน คูณ 54 คูณ 365 ก็ใช้ได้ไม่เท่าไหร่ ก็หมด เราก็ต้องไปของบกลางซี่งทำให้มีปัญหาเกิดขึ้นมากมาย คือ กรมราชทัณฑ์ไม่มีเงินจ่าย เราก็เบี้ยวเขา ไม่มีเงินส่งเขา กรมทำวิธีนี้มาหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายก็ตอนปี 2554 ที่พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันตชัย ย้ายมาเป็นอธิบดี ในที่สุดเมื่อเห็นปัญหา จึงตัดสินใจใช้วิธีกรณีพิเศษ

กรมราชทัณฑ์ให้นโยบายเรือนจำแต่ละแห่งไปประกาศใช้กรณีพิเศษ แล้วเชิญหน่วยงานรัฐเหล่านี้มาเสนอราคา แล้วหน่วยงานเขาก็แข่งราคากันเอง เขาก็เสนอมา คือเรื่องนี้มีรายละเอียดเยอะ แต่ก่อนที่ผมจะมาอยู่ ตอนที่ยังไม่ใช้วิธีกรณีพิเศษ สู้ราคากัน มีถึงขั้นว่าหมูกิโลละบาท มันจะเป็นไปได้อย่างไร คือเขาสู้กันเพื่อที่จะเอางาน คือไม่รู้จะเอาตัวอะไรมาให้นักโทษกิน เพราะของดีไม่มีถูก ราคาก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายด้วย บางอย่างมันก็เพี้ยนเกินไป สู้ราคากันเกินไป

"แต่เมื่อใช้วิธีกรณีพิเศษ เนื้อหมูที่เขาให้นักโทษก็เป็นหมูแบบที่เรากิน คือ หน่วยงานเหล่านี้ เขาก็ทำให้ของที่เขานำเข้ามา เคาะราคาได้ต่ำกว่าที่คนทั่วไปซื้อ"

@ ราคากลางอาหารดิบอยู่ที่เท่าไหร่

ของสดหรือที่ภาษาราชการเขาเรียกว่าอาหารเราเทียบกับราคาจากตลาดกลาง แล้วคนที่เป็นตัวแทนของหน่วยงานกรมราชทัณฑ์จะให้แต่ละเรือนจำสำรวจราคากลาง ของแต่ละพื้นที่แล้วส่งข้อมูลมาให้ เพื่อเก็บเป็นข้อมูลไว้ เราจะขอให้เขาส่งมา เพื่อเทียบความแปรผันของราคา เพื่อที่เราจะได้รู้ความเคลื่อนไหวราคาของต่างๆ ที่เราต้องนำมาใช้ ในการประกอบอาหาร

"ราคากลางไม่ใช่เรากำหนดเอง แต่เรือนจำเขาจจะสำรวจราคากลางของแต่ละจังหวัดเอง เช่น ปลาช่อน ปลาดุก หมู ปลา เขาจะมีราคาของแต่ละจังหวัด ที่ไม่เท่ากัน เรือนจำไหนอยู่จังหวัดไหนก็ยึดตามราคากลาง ในจังหวัดนั้นๆ ซึ่งราคามันก็ไม่เหมือนกันทั้งประเทศ มีมาตรฐาน หรือตัวแปรบางอย่างแตกต่างกัน เช่น วัตถุดิบบางอย่างของภาคใต้ก็อาจจะแพงกว่ากรุงเทพฯ หรือถ้าเป็นเรือนจำบางขวาง ก็อาจยึดราคากลางตามตลาดไท เพราะอยู่ในเขตปริมาณฑล"

@ วิธีการตรวจรับอาหารเป็นอย่างไร

เขาจะมีคณะกรรมการตรวจรับ ที่ไม่ใช่แค่เจ้าหน้าที่ เรือนจำแต่ผู้เดียว แต่จะมีตัวแทนจากหน่วยงานข้างนอก เช่น หน่วยงานยุติธรรมประจำจังหวัดนั้นๆ มาตรวจรับด้วย ซึ่งที่ผ่านมาตั้งแต่กรมราชทัณฑ์หันมาใช้มาใช้วิธีกรณีพิเศษ ก็ไม่เคยมีปัญหาเรื่องร้องเรียนคุณภาพอาหารไม่ได้มาตรฐาน โดยตอนที่ยังเปิดประมูล มีการร้องเรียนเข้ามา แต่พอช่วง ปี 2555-2557 ที่เรามาใช้วิธีกรณีพิเศษนี้ ก็ไม่มีเรื่องร้องเรียนพวกนี้แล้ว

@ กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเป็นอย่างไร

4 หน่วยงานรัฐที่กรมราชทัณฑ์ใช้วิธีกรณีพิเศษเหล่านี้ แล้วหน่วยงานแต่งละแห่ง ไปจ้างใครหรือบริษัทใด ผู้ประกอบการรายใดต่อ กรมราชทัณฑ์รับรู้หรือมีข้อมูลหรือไม่ ต้องไปดูกฎหมายของเขา เรื่องนี้เราไม่รู้ เช่น องค์การตลาดเขาก็มีบอร์ดของเขา มีคณะกรรมการของเขา เราไม่มีอำนาจ องค์การต่างๆ เหล่านี้ เขามีธุรกิจของเขา เขาเป็นรัฐวิสาหกิจ เขาก็มีตัวแทน เขาคุยกันเองได้ หรือในกรณีที่มีปัญหาเราจ่ายเขาล่าช้า เขาสามารถหมุนเงินจ่ายตัวแทนไปก่อนเราได้ เขาช่วยตัวแทนที่กรมยังไม่ได้จ่าย

กรมราชทัณฑ์ไม่ได้เป็นคนทำสัญญา แต่ละเรือนจำจะเป็นผู้ทำสัญญากับหน่วยงาน นั้นๆ เอง เพราะหน่วยงานรัฐเหล่านี้มีสาขาอยู่ทั่วประเทศ กรมราชทัณฑ์เป็นเพียงผู้ออกนโยบายเพื่อแก้ปัญหาเท่านั้น เรือนจำจะทำสัญญาเองตามข้อกำหนดในระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน ที่กำหนดหน่วยงานราชการส่วนกลาง กับ ส่วนภูมิภาคไว้ต่างกัน

"หน่วยงานราชการส่วนกลาง ขึ้นตรงกับกรมราชทัณฑ์ โดยอธิบดีมอบอำนาจให้ ผู้บัญชาการเรือนจำ แต่ในส่วนภูมิภาคอธิบดีจะมอบอำนาจให้ ผู้ว่าราชการจังหวัด เพราะฉะนั้น ผู้บัญชาการเรือนจำ ก็ต้องเสนอเรื่องการจัดซื้ออาหารดิบให้ผู้ว่าฯ เห็นชอบด้วย คือ ผู้ว่าราชการจังหวัดเกี่ยวข้องด้วย เพราะกฎหมายกำหนดให้ผู้ว่าฯต้องเห็นชอบ เพราะระเบียบบริหาร ราชการแผ่นดิน ส่วนภูมิภาคนั้น อธิบดีกรมราชทัณฑ์จะมอบอำนาจการจัดซื้อจัดจ้างให้ ผู้ว่าฯดูแล ผ.บ.เรือนจำอีกที ถ้าผู้ว่าฯ เห็นชอบ ก็สั่งให้ ผบ.เรือนจำเป็นคู่สัญญา"

"ดังนั้น ที่ผ่านมา อธิบดีไม่เคยเซ็นสัญญาเองเลย เพราะเป็นหน้าที่ของเรือนจำ เพียงแต่เขารายงานมาว่าทำสัญญาเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากอธิบดีเป็นผู้บริหารสูงสุด คอยดูนโยบาย ดูปัญหา ข้อขัดข้องอันไหน มีปัญหา อันไหนเป็นวิธีที่ดีที่สุด ก็ใช้ธีนั้น แล้วแจ้งผู้รับนโยบายทราบเพื่อลดผลกระทบ ลดปัญหา ส่วนที่มีการร้องเรียนเข้าในช่วงนี้ อาจเพราะมีผู้ประกอบการเสียประโยชน์ ที่ไม่เป็นที่ถูกเลือกของหน่วยงานรัฐ ซึ่งถ้าคุณดีจริง เขาก็ต้องเลือกคุณอยู่แล้ว”

...

ทั้งหมดคือคำชี้แจงโดยละเอียด จาก "ผอ.กองคลัง กรมราชทัณฑ์" ที่ฉายให้เห็นภาพมหากาพย์การจัดซื้อจัดจ้างอาหารดิบ "ผู้ต้องขัง"