logo isranews

logo small 2

“นิคม”หวังรอดเหตุประเด็นอ่อนสุด งัดคำพิพากษาศาลรธน.สู้ยันไร้กม.ถอด

เขียนวันที่
วันพุธ ที่ 21 มกราคม 2558 เวลา 12:06 น.
เขียนโดย
isranews
หมวดหมู่

“นิคม” เผยประเด็นตัวเองอ่อนสุด โวย สนช.ถามชี้นำ งดใช้บังคับประชุมเพื่อดูการแถลงเปิดคดี ขอให้ความเป็นธรรม เชื่อในหลักฐานเอกสาร-บันทึกการประชุม งัดคำพิพากษาศาลรธน.สู้ ยันไม่มีสิทธิ์ถอดถอน เหตุ รธน. 50 ยกเลิกแล้ว

PIC nikom 21 1 58 1

ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อรอรับฟังการแถลงปิดสำนวนด้วยวาจาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา กรณีถอดถอนออกจากตำแหน่ง ตามมาตรา 6 วรรคสอง รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ประกอบมาตรา 64 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542

นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวแถลงปิดสำนวนคดีนี้โดยยืนยันตามตามการแถลงเปิดคดีนั่นคือ สนช. มีสิทธิ์ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เนื่องจากเป็นผู้สืบสิทธิ์จากวุฒิสภา ขณะเดียวกันก็ยังยืนยันข้อกล่าวหาของนายนิคม และนายสมศักดิ์ว่า เป็นการกระทำความผิดฐานส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 3 วรรคสอง และมาตรา 291 เป็นมูลเหตุให้ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง ประกอบ พ.ร.บ.ป.ป.ช. มาตรา 64

ด้านนายนิคม กล่าวตอนหนึ่งว่า ได้คัดค้านโต้แย้งการแถลงเปิดคดี และแก้ข้อซักถามของ สนช. หมดแล้ว โดยคำถามของที่ประชุมนั้น ความจริงต้องถามก่อนวันแถลงเปิดคดี และต้องนำเข้าที่ประชุมเพื่อให้เห็นชอบด้วย ที่สำคัญจะต้องไม่เป็นการถามชี้นำ หลังจากนั้นจึงส่งให้ ป.ป.ช. และผู้ถูกกล่าวหาชี้แจง แต่ สนช. กลับอาศัยการงดเว้นข้อบังคับการประชุม เพื่อดูว่า ป.ป.ช. และผู้ถูกกล่าวหาจะแถลงว่าอะไรบ้าง

นายนิคม กล่าวอีกว่า สิ่งที่บอกว่าไม่เป็นไรคือ ไม่นำคำถามส่ง กมธ.ซักถามฯโดยตรง นอกจากนี้คำถามเฉพาะของตนนั้นมีอยู่อย่างน้อย 5 คำถามซึ่งเป็นการถามชี้นำ เช่น การถามว่าแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะประโยชน์ ซึ่งมติ ป.ป.ช. ก็ยืนยันแล้วว่าไม่ได้ทำ แต่ท่านก็ยังซักถาม

“การถามแบบนั้นนับเป็นการคาดการณ์ สร้างจินตนาการไปเอง เพราะความจริงมีขั้นตอนอีกเยอะ ไม่ว่าจะเป็นการส่งศาลรัฐธรรมนูญ การรอโปรดเกล้าฯ การประกาศผ่านราชกิจจานุเบกษา ซึ่งนับไปอีก 30 วัน คิดดูว่าผ่านร่างในช่วงปลายเดือนกันยายน 2556 แล้วจะสามารถบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขทันในช่วงเดือนมีนาคม 2557 ได้อย่างไร” นายนิคม กล่าว

นายนิคม กล่าวด้วยว่า เหตุนี้จึงจำเป็นต้องใช้คำพูดรุนแรง เพราะ สนช. ต้องให้ความเป็นธรรม เพราะผิดแค่มาตรา 3 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งเป็นเรื่องของหลักนิติธรรม นอกจากนี้เมื่อพิจารณาดูแล้วจะเห็นได้ว่าประเด็นตนอ่อนที่สุด จึงจำเป็นต้องมาชี้แจงด้วยตัวเอง และยืนยันว่าไม่ได้ปกป้องใคร แต่ทำเพื่อปกป้องหลักการนิติบัญญัติ หวังว่าที่ประชุมจะเชื่อในเอกสารหลักฐาน และบันทึกการประชุม

นายนิคม กล่าวปิดท้ายว่า ขอ สนช. ให้ความเป็นธรรมในฐานะผู้ถูกกล่าวหา และยังให้ความเป็นธรรม และคุ้มครองสถาบันอำนาจอธิปไตยฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ว่ารัฐสภา สภาผู้แทนฯ วุฒิภสา ที่ในปัจจุบันมิให้สถาบันหรือองค์กรอื่นก้าวล่วงตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือข้อบังคับประชุมของรัฐสภาอย่างถูกต้อง มิฉะนั้นการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต หรือแม้แต่ สนช. ที่ปฏิบัติหน้าที่ในปัจจุบัน จะไม่มีความมั่นคงในนิติฐานะของการปฏิบัติหน้าที่ ส่วนในการทำหน้าที่เป็นประธานรัฐสภานั้น ปฏิบัติหน้ที่โดยสุจริต ตามรัฐธรรมนูญ และข้อบังคับประชุมรัฐสภาแล้ว พิธีการมูลเหตุกล่าวหาของ ป.ป.ช. ที่ให้ถอดถอน ยังเป็นพฤติการณืที่มีมูลความผิดส่อจงใจใช้อำนาจขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งปัจจุบันบทบัญญัติดังกล่าวสิ้ันสุดตาม ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แล้ว ฉะนั้นข้อกล่าวหาดังกล่าวจึงไม่มีมูลความผิดตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน หรือตามกฎหมายปัจจุบัน หรือดำเนินการถอดถอนตามตำแหน่งดังกล่าว

"ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจชี้มูลความผิด อันเป็นมูลความผิดตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฉบับเก่า หรือกฎหมายที่ได้มีการยกเลิกไปแล้ว ท่านไม่สามารถทำอย่างนี้ได้ เทียบเคียงกับคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญปี 2557 เรื่อง คำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 68 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้จำหน่ายคำร้องของผู้ร้อง 6 ราย เนื่องจากระหว่างการพิจารณาคดี คสช. ได้มีประกาศให้รัฐธรรมนูญปี 2550 สิ้นสุดลง" นายนิคม กล่าว

อดีตประธานวุฒิสภา กล่าวว่า ส่วนที่ ป.ป.ช. อ้างคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในคดียึดทรัพย์ น.ส.ณฐกมลนั้น ไม่อาจเทียบเคียงได้ สภาพข้อกล่าวหาของคดีดังกล่าวแตกต่างในสาระสำคัญอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากองค์ความผิดแตกต่างจากคดีของตน นอกจากนี้ยังมีข้อสงสัยที่ท่านผู้แทนจาก ป.ป.ช. ได้กล่าวในเบื้องต้นโดยยืนยันว่ายังมีอำนาจในการถอดถอนนั้น อย่างไรก็ดี ป.ป.ช. ไม่มีคำสั่งรับรอง เนื่องจาก ป.ป.ช. ชุดนี้มาจากประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) และไม่มีกฎหมายใดในปัจจุบันรับรองว่า ป.ป.ช. ที่มาจากประกาศ คปค. ให้มีอำนาจอย่างใด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสมศักดิ์ ไม่ได้เดินทางมาชี้แจงแถลงปิดคดีแต่อย่างใด