logo isranews

logo small 2

ฟังอีกด้าน! อัยการแก้ต่างคดีสลาย พธม. “ผิดหรือที่รักษาความยุติธรรมของรัฐ”

“…ท่านสมชายบอกผมว่า ทำไมเขากีดกันผมขนาดนี้ ผมก็บอกไปว่า ผมทำหน้าที่ของผมแล้ว เขาก็ถามว่าจะเอายังไงต่อ ผมก็บอกว่าไม่มีโอกาสได้ชี้แจงต่อศาล เพราะจริง ๆ ศาลควรจะมีคำสั่งไต่สวนก่อน ควรถามผมสักคำ ผมบอกว่าไม่เป็นปฏิปักษ์ ผมกำลังจะร่วมทำงานกับทนายฝ่ายโจทก์ช่วยศาลค้นหาข้อเท็จจริง ผมผิดด้วยหรือที่จะพิทักษ์ความยุติธรรมของรัฐ…”

 PIC poramettt 28 8 58 1

กลายเป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมกันเกรียวกราว !

ภายหลังที่ “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมพวก (พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกฯ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล) รวม 4 คน

จำเลยในคดีที่ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดและส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กล่าวหาว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการสั่งสลายการชุมนุมทางการเมือง (ม็อบพันธมิตร) เมื่อปี 2551

อย่างไรก็ดี “สมชาย-พวก” ได้ทำเรื่องขอแต่งตั้งพนักงานอัยการให้เป็นทนายความแก้ต่างในคดีนี้ แทนทนายปกติ ทว่าศาลฎีกาฯ มีมติเสียงส่วนใหญ่ 8 ต่อ 1 ไม่อนุญาต เพราะเห็นว่า พนักงานอัยการไม่มีอำนาจว่าความแก้ต่างในคดีนี้ให้แก่จำเลยทั้งสี่

ท่ามกลางข้อมูลเบื้องลึกเบื้องหลังว่า มีบุคคล ๆ หนึ่ง ทำหนังสือไปถึงอัยการสูงสุด (อสส.) ขอให้แต่งตั้งพนักงานอัยการเป็นทนายความแก้ต่างคดีนี้ให้ และผลักดันให้เรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นทางการเพื่อแจ้งไปยังสำนักงาน อสส. ให้แต่งตั้งพนักงานอัยการมาทำคดีนี้

ทั้งที่ก่อนหน้านี้คณะทำงานอัยการชุดใหญ่ มีการนำเสนอเรื่องนี้เข้าหารือในที่ประชุมสองครั้ง แต่เสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมยืนยันความเห็นทั้งสองครั้งว่า ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากมีความไม่เหมาะสมหลายประการ แต่สุดท้ายก็ยังปรากฏชื่อของพนักงานอัยการเข้าไปช่วยทำหน้าที่เป็นทนายความแก้ต่างคดีให้จำเลยทั้งสี่อยู่ดี

และจากการตรวจสอบพบว่า พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด ที่ปรากฏชื่อเป็นทนายแก้ต่างคดีให้กับจำเลยทั้งสี่ในคดีนี้ คือ “ปรเมศวร์ อินทรชุมนุม”

ข้อเท็จจริงอีกด้านเป็นอย่างไร ? "ปรเมศวร์" เปิดห้องทำงานที่ชั้น 4 อาคารสำนักงานอัยการสูงสุด ถ.รัชดาภิเษก ให้สัมภาษณ์ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ดังนี้

“ปรเมศวร์” เปิดฉากเล่าว่า ก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะมีมติเกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2558 นั้น เราได้รับเรื่องนี้มาตั้งแต่เดือน มี.ค. 2558 แล้ว โดยนายสมชาย พล.อ.ชวลิต และ พล.ต.อ.พัชรวาท (ส่งมาโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ลงนามโดย โดย พล.ต.อ.ก่อเกียรติ วงศ์วรชาติ ที่ปรึกษา (สบ 10) ปฏิบัติราชการแทน ผบ.ตร.) เป็นผู้ส่งเรื่องเข้ามา

ก่อนจะยืนยันว่า เมื่อเห็นเรื่องก็พิจารณาแล้วว่า “ควรรับแก้ต่าง”

“ถ้าพวกเขาไม่ผิดก็ควรรับ แต่ก็ไม่แน่ใจว่าทำได้หรือไม่ เพราะที่ผ่านมาฝ่ายอัยการไม่เคยทำกันเลย จึงได้หารือกับท่าน อสส. (นายตระกูล วินิจนัยภาค) อยากรับแก้ต่างคดีนี้ ท่านจะว่าอย่างไรบ้าง เพราะเห็นว่า พวกเขาไม่ผิด นอกจากนี้ในเรื่องเดิมที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เคยส่งเรื่องมาให้เรา จนกระทั่งท่านจุลสิงห์ (วสันตสิงห์ อสส. ในขณะนั้น) ก็ไม่ส่งฟ้อง เนื่องจากเห็นว่า นายสมชายกับพวกปฏิบัติตามขั้นตอน นี่จึงเป็นประเด็นหลัก”

เขาอธิบายให้ฟังว่า หลังจากนั้นท่านตระกูลได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่ง มีทั้ง ร.ต.ต.พงษ์นิวัต ยุทธภัณฑ์บริภาร รอง อสส. และบรรดาอธิบดีในสำนักงานอัยการฯเข้าร่วมเป็นคณะทำงานด้วย ประมาณ 7-8 คน โดยในการประชุมครั้งแรกนั้น มีความเห็นต่างกันสองส่วน

“ส่วนแรกบอกว่า ไม่ควรรับแก้ต่าง โดยเห็นว่า จะสู้กับ ป.ป.ช. ทำไม อีกฝ่ายมองว่า ถ้าคนไม่ผิดจะไม่ปกป้องเขาเหรอ”

แต่ยังไม่ทันได้ข้อยุติ คณะรัฐมนตรีก็มีมติแจ้งเข้ามาที่นายตระกูล นายตระกูลจึงนำเสนอเรื่องนี้ต่อที่ประชุมคณะทำงานอีกครั้ง แต่เรายืนยันหลักการว่า สำนักงานอัยการฯเป็นองค์กรอิสระ ไม่อยู่ภายใต้มติของคณะรัฐมนตรีในเรื่องคดี

หลังจากนั้น ร.ต.ต.พงษ์นิวัต ได้เรียกประชุมคณะทำงานอีกครั้ง มีความเห็นว่า คณะรัฐมนตรีเขาคิดกันแบบนี้ พวกเราจะคิดกันอย่างไร ที่ประชุมจึงตกลงกันว่าควรไปพบอาจารย์วิษณุ (เครืองาม รองนายกฯ) ซึ่งกระทรวงยุติธรรม ลงนามโดย รมว.ยุติธรรม (พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา) หาทางประสานงานกับอาจารย์วิษณุ ในที่สุดก็นัดประชุมกันที่รัฐสภา โดยมีคณะทำงานบางส่วนไปด้วย

โดยในที่ประชุมคณะทำงานก็บอกอาจารย์วิษณุไปว่า ถ้าตามมติคณะรัฐมนตรีเราไม่เห็นด้วยที่ให้รับพิจารณาทุกเรื่อง แต่แบ่งเป็นสองหลักใหญ่ คือ ถ้าเรื่องไหนอัยการฟ้องให้ ป.ป.ช. เราก็จะไม่รับแก้ต่าง เพราะยืนยันว่า อัยการจะไม่ทะเลาะกับอัยการกันเอง ประเด็นต่อมาถ้า ป.ป.ช. ฟ้องคดีเองจะพิจารณาอย่างไร

“อาจารย์วิษณุ ก็บอกว่า แล้วแต่ดุลยพินิจ จะไม่ก้าวล่วง เพียงแต่ได้ยกตัวอย่างในหลายคดีมา ก็พบว่ามีข้าราชการหลายคนเสียเงินจ้างทนายฟ้องคดีเองทั้งที่ปฏิบัติตามหน้าที่ และพอศาลตัดสินออกมาก็ปรากฏว่าไม่ผิด ซึ่งอาจารย์วิษณุเห็นว่า ไม่มีอะไรคุ้มครองข้าราชการได้ ดังนั้นคณะทำงานจึงกลับมาประชุมกันอีกครั้งเป็นรอบที่สาม”

“ในการประชุมครั้งที่สาม ความเห็นทั้งสองฝ่ายก็ยังเหมือนเดิม แต่มีเพิ่มประเด็นใหม่ขึ้นมาคือ ตามหลักการหากอัยการฟ้องแทน ป.ป.ช. ก็จะไม่รับแก้ต่างให้ อันนี้ชัดเจน อย่างไรก็ดีหากเป็นกรณี ป.ป.ช. ฟ้องเอง ต้องดูตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มาตรา 11 ที่ระบุว่า หาก ป.ป.ช. ส่งเรื่องมาให้ อสส. แล้ว อสส. ไม่เห็นด้วยให้แจ้งข้อไม่สมบูรณ์กลับไป เพื่อตั้งคณะทำงานร่วมหาข้อยุติ และถ้าได้ข้อยุติใดก็ให้ว่าไปตามนั้น”

เขาหยิบกาแฟขึ้นมาจิบ ก่อนอธิบายถึงประเด็นที่เพิ่มเติมมานี้ โดยยืนยันว่า “เป็นประเด็นสำคัญ”

ประเด็นนี้เราแบ่งเป็น 3 ลักษณะ 1.ถ้าเราแจ้งข้อไม่สมบูรณ์ ป.ป.ช. บอกสมบูรณ์ แล้วขอสำนวนไปฟ้องเอง อย่างนี้เราไม่แก้ต่าง 2.ถ้าเราแจ้งข้อไม่สมบูรณ์ มีการตั้งคณะทำงานร่วมกันแล้ว แต่ยังสอบข้อไม่สมบูรณ์ไม่เสร็จ ป.ป.ช. บอกพอแล้วขอสำนวนไปฟ้องเอง อย่างนี้เราก็ไม่แก้ต่าง แต่ 3.ถ้าเราแจ้งข้อไม่สมบูรณ์ ตั้งคณะทำงานร่วมกันจนได้ข้อสมบูรณ์ยุติแล้ว โดยฝ่ายเราเห็นว่า ไม่ผิด แต่ ป.ป.ช. บอกว่าผิด จึงขอสำนวนกลับไปฟ้องเอง ตรงนี้เราต้องมาพิจารณาพร้อมกับหน่วยงานอื่นที่รับรอง

“ซึ่งกรณีคดีสลายการชุมนุมทางการเมืองปี 2551 พบว่า ภายหลัง ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด พล.ต.อ.พัชรวาท ไปแล้ว แต่มติของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เห็นว่า พล.ต.อ.พัชรวาทไม่ผิด เพราะปฏิบัติหน้าที่โดยชอบ นอกจากนี้ศาลปกครองสูงสุดยังวินิจฉัยว่า มติ ก.ตร. กรณีการปฏิบัติหน้าที่ของ พล.ต.อ.พัชรวาท นั้นถูกต้อง จึงพิพากษาให้คืนตำแหน่งหน้าที่อีกด้วย”

“หลักการนี้คือ ถ้าอัยการตั้งคณะทำงานร่วมกับ ป.ป.ช. และถ้ามีการสอบข้อไม่สมบูรณ์จนยุติแล้ว เราเห็นว่าไม่ผิด แต่ ป.ป.ช. เห็นว่าผิด แล้วเอาสำนวนกลับไปฟ้องเอง และมีหน่วยงานอื่นเห็นด้วยกับเรา ถ้าเป็นอย่างนั้นน่าจะรับแก้ต่างได้ นอกจากนี้ยังมีมติคณะรัฐมนตรีเข้ามาอีก แต่จริง ๆ มติคณะรัฐมนตรีเล็กมากถ้าเทียบกับหลักการข้างต้น”

นี่คือเรื่องราวอีกด้านที่เกิดขึ้นจากปากคำของ “ปรเมศวร์” ก่อนที่จะเล่าเพิ่มเติมตอนที่ยื่นหนังสือถึงศาลฎีกาฯครั้งแรกว่า ศาลบอกผมว่าไม่มีสิทธิ์เป็นทนาย ด้วยคะแนนเสียง 8 ต่อ 1 ด้วยความเคารพ พอ 8 ต่อ 1 มันไม่เอกฉันท์ ยังมีคนเห็นด้วยกับผมอยู่คนหนึ่ง ก็เลยกลับมารวบรวมคำร้องและยื่นใหม่อีกครั้ง

“ประเด็นปัญหาคือ การที่ศาลจะสั่งรับหรือไม่รับให้เป็นทนาย ศาลไม่ได้ถามสักคำ ทั้งที่ตามปกติควรจะไต่สวนเพื่อให้เห็นว่าเป็นปฏิปักษ์จริงหรือไม่” เขาตั้งคำถาม

“ปรเมศวร์” เปิดฉากอธิบายในข้อกฎหมาย โดยย้ำว่า “นี่เป็นเชิงวิชาการล้วน ๆ”

“อำนาจศาลในการอนุญาตให้เป็นทนายมี 2 กรณี คือ กรณีแรกเป็นทนายตาม พ.ร.บ.ทนายฯ และสองคือเป็นอัยการที่รับว่าความในคดี ดังนั้นการที่ศาลชี้ว่าผมเป็นไม่ได้ ก็อาจยื่นคำร้องต่อศาลว่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 มาตรา 4 ให้ยึดมาตรา 40 (4) ของรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ระบุถึงเรื่องสิทธิการต่อสู้ของจำเลยในทางอาญา ซึ่งเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน”

เขาพูดด้วยน้ำเสียงค่อนข้างซีเรียสว่า “นี่เป็นเรื่องใหญ่ ถ้าศาลบอกว่าผมเป็นไม่ได้ ต่อไปศาลก็อาจสั่งว่าทนายคนนี้เป็นได้ ทนายคนนี้เป็นไม่ได้หรือไม่”

เมื่อถามว่า ในคำวินิจฉัยของศาลฎีกาฯ ระบุประเด็นสำคัญไว้สองส่วน ส่วนแรกที่ว่า ป.ป.ช. ก็เป็นรัฐ อัยการก็เป็นรัฐ จะเป็นการต่อสู้ระหว่างรัฐกับรัฐหรือไม่

แต่ถามยังไม่ทันจบ “ปรเมศวร์” สวนมาว่า ผมว่าไม่ เป็นการมองคนละมุมกันมากกว่า ป.ป.ช. หรืออัยการเป็นองค์กรอิสระเหมือนกัน เราเป็นผู้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญเหมือนกัน แต่ต่างกันตรงที่ไมมีใครตรวจสอบ ป.ป.ช. ได้เลย ไม่ว่าคดีขาดอายุความ หรือถูกทิ้งร้าง ไม่มีใครพูดถึง ถ้า ป.ป.ช. ยุติการดำเนินคดีกับใคร มีใครตรวจสอบได้หรือไม่ แต่ถ้าผมสั่งไม่ฟ้อง เรื่องก็จะเป็นไปตามกระบวนการส่งไปยังชั้นที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ จนกว่าจะได้ข้อยุติ

“มีจำเลยในคดีนี้มานั่งคุยกับผม เขาก็ไม่สบายใจ ด้วยความเคารพ ทนายฝ่ายโจทก์ (ป.ป.ช.) ก็เป็นเพื่อนผม เขาก็บอกว่า เหมือนถูกรุมกินโต๊ะ ผมก็บอกไปว่าอย่าห่วง ผมถามเขาว่าถ้าผมเป็นจะคัดค้านหรือไม่ เขาก็บอกว่าไม่คัดค้าน มาว่ากันในเนื้อหา ผมถึงบอกว่าอย่ามองเรื่องนี้เป็นการต่อสู้ระหว่างหน่วยงานรัฐ เพราะถ้ารัฐทำไม่ถูกก็ไม่เอาด้วย เราต้องรักษากระบวนการยุติธรรม คำว่าทนายแผ่นดินเป็นเรื่องเล็ก แต่ความยุติธรรมของแผ่นดินคืออะไร คือการเข้าข้างรัฐหรือ ทุกเรื่องต้องเข้าข้างรัฐไหม”

อีกประเด็นหนึ่งที่ศาลระบุไว้คือ อัยการรู้ “จุดอ่อน-จุดแข็ง” ในสำนวนเป็นอย่างดี ?

ประเด็นนี้ “ปรเมศวร์” อธิบายว่า วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นระบบไต่สวน ใช้สำนวนของ ป.ป.ช. เป็นหลัก มีการเปิดเผยสำนวนก่อนนำสืบพยาน ทนายฝ่ายโจทก์ และทนายฝ่ายจำเลย เป็นเพียงผู้ช่วยศาลค้นหาความจริง เช่น ถ้าผมจะถามพยาน ต้องจดให้ศาลอ่านและอนุญาตก่อนด้วยซ้ำว่า คำถามนี้มีซ้ำกับในสำนวนแล้วหรือไม่ ถ้าซ้ำก็ไม่ให้ถาม แต่ถ้าไม่ซ้ำก็ถามได้

“เราเป็นเพียงผู้ช่วยศาลค้นหาความจริง ถ้าพยานหลักฐานขาดเราก็เอามาเติมในสำนวนให้เต็ม”

เท่ากับว่าในมุมมองตัวเองยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่ผิด ?

เขายืนยันว่า ด้วยความเคารพ ผมเห็นว่าเมื่อ อสส. วินิจฉัยว่าไม่ผิด เพราะเคยมีกรณีก่อนหน้านี้ว่า อสส. คนหนึ่งมีมติไม่สั่งฟ้อง แต่ อสส. คนใหม่กลับสั่งฟ้อง ซึ่งเป็นการกลับคำสั่ง อสส. คนเก่า เขาก็ติดคุกนะ ดังนั้นไม่ได้มองว่าท่านจุลสิงห์หรือใครสั่ง แต่เมื่อ อสส. สั่ง ผมก็ต้องทำตาม เพราะผมอยู่สายนี้ ต้องเคารพคำสั่ง อสส. มันเป็นที่สุดของผม จะให้ผมนิ่งเฉยก็หาว่าปล่อยปละละเลยอีก

“ศาลท่านบอกว่าพวกเราเป็นทนายแผ่นดิน แต่หน้าที่ที่สุดของทนายแผ่นดินคือรักษาความยุติธรรมทั้งระบบ ทั้งของแผ่นดินและของประชาชน รัฐต้องไม่รังแกประชาชน”

“ปรเมศวร์” อธิบายอีกว่า ลึก ๆ อยากทำเรื่องนี้ให้ปรากฏชัดเจน เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาของการดำเนินคดีระหว่าง ป.ป.ช. กับอัยการ เพราะไม่มีคนชี้ขาด วันนี้ผมกำลังให้ศาลฎีกาฯเป็นผู้ชี้ขาด โดยผมก็ยืนความเห็นของผม ป.ป.ช. ก็ยืนความเห็นของเขา จะทำให้ข้อเท็จจริงกระจ่างชัดได้ ต้องให้ศาลชี้ขาด

“ถ้าหาข้อยุติไม่ได้ ต้องมีใครสักคนเป็นผู้ชี้ขาด โดยไม่ให้ผู้ถูกกล่าวหาเดือดร้อนพอสมควร งั้นก็ให้ศาลฎีกาฯเลยสิ มันควรจะเป็นระบบแบบนี้”

ทั้งนี้ในวันศาลฎีกาฯมีมติไม่ให้แต่งตั้งพนักงานอัยการแก้ต่างนั้น เขาได้นั่งพูดคุยกับ “สมชาย” ด้วย

“ท่านสมชายบอกผมว่า ทำไมเขากีดกันผมขนาดนี้ ผมก็บอกไปว่า ผมทำหน้าที่ของผมแล้ว เขาก็ถามว่าจะเอายังไงต่อ ผมก็บอกว่าไม่มีโอกาสได้ชี้แจงต่อศาล เพราะจริง ๆ ศาลควรจะมีคำสั่งไต่สวนก่อน ควรถามผมสักคำ ผมบอกว่าไม่เป็นปฏิปักษ์ ผมกำลังจะร่วมทำงานกับทนายฝ่ายโจทก์ช่วยศาลค้นหาข้อเท็จจริง”

“ผมผิดด้วยหรือที่จะพิทักษ์ความยุติธรรมของรัฐ” เขายืนยัน

เมื่อถามว่า มีกระแสข่าวว่า บิ๊กตำรวจรายหนึ่งมีความสัมพันธ์กับอัยการตำแหน่งระดับสูง จึงผลักดันหาอัยการบางคนที่เครือข่ายเดียวกันมาออกหน้าเพื่อทำคดีให้นั้น ?

เขายืนยันว่าว่า เรื่องนี้ไม่ทราบ ผมทำแต่งานทำตามหน้าที่อย่างเดียว ช่วงสมัยเป็นเลขาท่านอรรถพล (ใหญ่สว่าง อดีต อสส.) หรือตอนสอนหนังสือก็อยู่อย่างนี้ ยืนยันหลักการอย่างนี้ แต่เรื่องภายนอกที่พูดถึงกัน ใครโยงอะไร ผลักดันอะไร เรื่องนั้นไม่ทราบ ผมทำคดีตามปกติ

“ถ้าจะรักษาความยุติธรรมให้กับใครคนหนึ่งในแผ่นดินนี้ผมผิดด้วยเหรอ เพราะวันนี้ข้าราชการยังไม่มีหลักประกันอะไรเลย”

ส่วนกรณีที่ว่ามี “ไอ้โม่ง” มาคอยสั่งการนั้น เขายืนยันชัดถ้อยชัดคำว่า “ไม่มีไอ้โม่งไหนทั้งสิ้น เรามีดุลยพินิจอิสระของเรา ไม่มีใครบังคับได้ ขนาด อสส. ก็บังคับเราไม่ได้”

เมื่อถามว่า จำเลยคดีนี้คือ พล.ต.อ.พัชรวาท ส่วนที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ (พี่ชาย) ซึ่งมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวออกมาในช่วงเวลาแบบนี้ หลายคนมองว่าอาจเอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้องหรือไม่ ?

เขาเล่าว่า ข้อเท็จจริงของมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวไม่ได้พูดเฉพาะเจาะจงในคดีของนายสมชาย หรือ พล.ต.อ.พัชรวาท พูดถึงแต่กรณีที่ข้าราชการถูกฟ้อง เพียงแต่มันมาช่วงจังหวะเดียวกันที่อัยการกำลังหารือเรื่องรับแก้ต่างเท่านั้น

“เรื่องอื่นไม่ทราบ แล้วแต่คนจะคิด ผมไม่ขอตอบ ไม่ก้าวล่วงรัฐบาล แต่ถึงมติคณะรัฐมนตรีให้พิจารณาทุกเรื่อง เราก็ไม่เอาทุกเรื่องมาพิจารณาอยู่แล้ว เรามีหลักการแล้วว่า ต้องเป็นเรื่องที่สอบข้อเท็จจริงจนยุติแล้ว อัยการเห็นว่า ไม่ผิด และมีการรองรับจากหน่วยงานอิสระหรือศาล สุดท้ายต้องไม่มีเรื่องเงินมาเกี่ยวข้อง จึงจะสามารถทำได้”

แล้วถ้าศาลยืนยันคำเดิมจะทำอย่างไร ? “ปรเมศวร์” พูดชัดถ้อยชัดคำว่า “ผมจบแล้ว”

“ถ้าศาลสั่งไม่ให้หรือยกคำร้อง ก็ไม่มีการอุทธรณ์หรือฎีกาอีกต่อไป แต่ถ้าศาลให้แก้ต่าง ผมก็ต้องทำหน้าที่ของผม ผมถามหน่อยว่า ถ้าความเห็นของอัยการกับ ป.ป.ช. ไม่ตรงกันใครจะชี้ขาด เหมือนกับคดีดัง ๆ ในอดีต เช่น คดีกล้ายาง ที่ทำร่วมกับคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ภาครัฐ (คตส.) ที่เขาไม่ยอมตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ครบ แล้วดึงสำนวนกลับไปฟ้องเอง ซึ่งรัฐบาลชุดนั้น ก็ส่งเรื่องมาทางเราให้แก้ต่างให้ แต่เราก็ไม่ทำให้รัฐบาล เพราะเห็นว่าข้อเท็จจริงยังไม่ครบ ยังไม่ได้ข้อยุติ นี่เป็นหลักการของเราที่ชัดเจนอยู่แล้ว

ท้ายสุด “ปรเมศวร์” ตอบคำถามที่ว่า สังคมขณะนี้กำลังมองว่าอัยการเป็นผู้ดึงเรื่อง-เตะถ่วงให้เกิดความล่าช้าในคดี โดยเขายกตัวอย่างให้ฟังว่า คดีที่ ป.ป.ช. ฟ้องเองเป็นอย่างไร หรือคดีกล้ายางของ คตส. จะให้ผมพูดตอนนี้เดี๋ยวก็หาว่าซ้ำเติม

“ทำไมในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเขาถึงออกกฎหมายให้อัยการเป็นคนฟ้อง เพราะอัยการเป็นมืออาชีพ อัยการบางคนกินสินบาทคาดสินบนหรือไม่ผมไม่รู้ ไม่ว่ากัน แต่วันนี้ลองไปหยิบคดีเก่า ๆ มาดูว่าทำไมอัยการไม่ฟ้องให้ ผมยินดีตอบทุกเรื่องว่า คดีนี้ฟ้องเพราะอะไร ไม่ฟ้องเพราะอะไร”

ทั้งหมดคือเรื่องราวต่าง ๆ ทั้งในกรณีการเข้าไปเป็นพนักงานอัยการแก้ต่างให้คดีสลายชุมนุมทางการเมืองปี 2551 รวมถึงกระแสข่าวต่าง ๆ ที่กำลังเป็นที่สงสัยในสังคมในขณะนี้แบบ “คำต่อคำ”

แต่ไม่ว่าข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไร ศาลฎีกาฯ จะรับคำร้องของ “ปรเมศวร์” ซ้ำสองหรือไม่ ?

ก็ยังไม่มีคำตอบแบบชัด ๆ ว่า “บุคคล ๆ หนึ่ง” ที่เป็นตัวละครสำคัญที่เข้ามา “สั่งการ” ในเรื่องนี้เป็นใครกันแน่ !

อ่านประกอบ : 
อัยการยันแก้ต่างคดีสลาย พธม.ได้ถ้าข้อเท็จจริงจบ-ยื่นศาลพิจารณาซ้ำแล้ว
เปิดคำร้อง'อัยการ'รับลูกครม.-รมว.ยุติธรรม แก้ต่างคดี 'สมชาย-พวก' สลาย พธม.
ข้อมูลสวนทางอัยการ! "วิษณุ"ยัน"ครม.-อสส." ไม่เห็นชอบตั้งทนายแก้ต่างคดีสลาย พธม.
ศาลฎีกามติ 8 ต่อ 1ห้ามตั้งอัยการแก้ต่างให้"สมชาย-พวก"คดีสลาย พธม.
เบื้องหลัง! ตั้งอัยการแก้ต่าง "สมชาย-พวก" คดีสลายพธม.ครม."บิ๊กตู่" จัดให้
ป.ป.ช.ยันศาลฎีกาฯทำถูกไม่ให้อัยการแก้ต่าง“สมชาย-พวก”คดีสลาย พธม.
แกะรอย'มือมืด'ชง ครม. สั่งอัยการแก้ต่างช่วย 'สมชาย-พวก'คดีสลาย พธม.?