logo isranews

logo small 2

จุดจบของโครงการ Priviledge Card... “ล้านบาท..รักษาทุกโรค”

เขียนวันที่
วันอาทิตย์ ที่ 05 กุมภาพันธ์ 2560 เวลา 16:42 น.
เขียนโดย
แก้วสรร อติโพธิ
หมวดหมู่

​สิ่งที่สูญเสียไปสำหรับสมาชิกคือ “หลักประกัน” หลายคนมากที่เมื่อเข้าโครงการนี้แล้วเป็นสิบปี ก็ไม่สั่งสมสร้างหลักประกันอะไรไว้สำหรับตัวเองอีก ถ้ารับเงินล้านคืนไปแล้วก็เอาไปลงทุนประกันอะไรขึ้นมาอีกไม่ได้  พวกนี้จะซื้อประกันอะไรอีกก็ไม่มีใครเขาขายให้ บางคนถึงขนาดย้ายบ้านมาอยู่ข้างโรงพยาบาลเลยก็มี

phyathai 2 in1

 สิบปีที่แล้ว..โรงพยาบาลกรุงเทพ จำเป็นต้องระดมเงินมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน จึงเสนอขายโครงการ Priviledge Card ต่อผู้มีอันจะกินว่า หากยอมจ่ายเงินเป็นล้านแล้ว ทางโรงพยาบาลจะรับเป็นผู้ดูแล ตรวจและให้คำแนะนำสุขภาพทุกปี ครั้นมีความเจ็บป่วยใดก็จะให้การรักษาพยาบาลไปตลอดชีพ ในทุกโรคทุกค่าใช้จ่าย ปรากฏว่าโครงการระยะที่ ๑ ราคา ๑ ล้านบาทขายดีมาก ซื้อกันทั้งครอบครัวเลยก็มี ระยะที่ ๒ จึงตรวจร่างกายเข้มขึ้น และเพิ่มราคาเป็น ๒-๓ ล้านบาท จนได้สมาชิกกว่า ๒๒๐ รายก็ปิดรับสมาชิก แต่ยังมีผู้จองคิวเหลือเป็นร้อยๆ ๒ ปีต่อมา ข้างโรงพยาบาลพญาไทเห็นเป็นโอกาส จึงเปิดโครงการบ้างในราคา๑.๕ ล้าน และปิดรับที่ ๕๒ คน จนปัจจุบัน

โครงการนี้มองในแง่สาธารณสุข ก็หวังว่าสมาชิกจะมาสนใจดูแลรักษาสุขภาพกันจริงๆ แต่คนไทยก็ยังเป็นคนไทย..ซื้อโครงการแล้ว แทนที่จะสนใจรักษาดูแลสุขภาพตามโปรแกรมดีๆในโครงการ ต่างก็กลับวางใจว่าต่อไปนี้กูไม่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลอะไรอีก ต่างพากันมาเมื่อเจ็บป่วยกันเป็นหลัก ที่มีประกันสุขภาพก็เลิกสัญญา ที่เริ่มเจ็บป่วยก็ย้ายบ้านมาอยู่ข้างโรงพยาบาลเลยก็มี เพราะสบายใจไปแล้วว่า“จ่ายล้านบาทรักษาทุกโรค”ทั้งชีวิตไปเลย แต่โดยทั่วไปนั้น ได้สอบถามดูแล้ว ก็พบว่ารักษาพยาบาลเกินล้านไปแล้วก็หลายราย ส่วนที่ไม่เจ็บป่วยได้แค่ตรวจร่างกายทุกปีก็มีในทางกฎหมายนั้น เคยมีความเห็นกฤษฎีกามาแล้วสั้นๆว่า โครงการอย่างนี้ไม่ใช่ธุรกิจประกันสุขภาพ แต่เป็นธุรกิจรักษาพยาบาลที่สามารถสร้างหลักประกันกันได้ ส่วนทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยเอง ก็ยืนยันว่า “จนปัจจุบันนี้สำนักงานยังไม่ได้เคยไปตรวจสอบท้วงติงอะไรเลย” ดังนั้นจึงขอรายงานว่า ข้อที่ทางโรงพยาบาลจะยกเลิก

โครงการโดยอ้างว่าขัดกฎหมายประกันภัยจึงไม่มีความจริงรองรับ

การที่อยู่ดีๆ โรงพยาบาลทั้งสองต่างก็พากันโนติ๊สมายังสมาชิกว่าขอเลิกสัญญาและเขียนเช็คไว้แล้วให้ไปรับเงินต้นคืนพร้อมดอกเบี้ย ๑๐% ได้เลยนั้น มีปัญหาที่ต้องอธิบายอยู่สองประการคือ สาเหตุทางธุรกิจ และความชอบธรรมทางกฎหมาย
สาเหตุทางธุรกิจ

โครงการนี้ชัดเจนว่าระดมเงินเพื่อลงทุน โดยประเมินว่าเป็นการนำกำไรจากค่ารักษาพยาบาลในอนาคต มาลงทุนในปัจจุบัน ครั้นต่อมาเมื่อต้นทุนค่ารักษาพยาบาลสูงขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกำลังจะลงทุนเพิ่มอย่างมหาศาล เพื่อยกระดับการรักษาพยาบาลรองรับโครงการบริการเศรษฐีต่างชาติ ความไม่คุ้มค่าของการให้บริการแก่ลูกค้าไทยด้วยมาตรฐานมหาเศรษฐีโลก เช่นในโครงการ จ่าย ๑ ล้านเหรียญสหรัฐ ดูแลทั้งชีวิต บินมาเมืองไทยดูแลรักษามาตรฐานการแพทย์ชั้นยอด นอนพักตามชอบในห้องพักชั้นหนึ่งในอาคารโรงแรมปาร์คนายเลิดที่ซื้อมาปรับปรุงแล้วฯลฯ ทั้งหมดนี้ล้วนต้องลงทุนจ้างบุคลากรราคาแพง ซื้อเครืองมือชั้นสูง ทั้งสิ้น แต่ก็จะเลือกให้บริการเป็นสองมาตรฐานไม่ได้

เมื่อเป็นดังนี้...บรรดาสมาชิกโครงการ Priviledge Card ชาวไทยผู้จ่ายเงินเพียงล้านบาท จึงไม่ควรจะมารับบริการระดับ ล้านเหรียญอีกต่อไป กรณีจึงควรเลิกรากันไปด้วยดี โดยโรงพยาบาลยินดีจ่ายเงินคืนให้ทั้งหมดเต็มจำนวนพร้อมดอกเบี้ย ๑๐% ส่วนที่ผ่านมาถือว่ารักษาฟรีไปก็แล้วกัน
ความชอบธรรมทางกฎหมาย

​สิ่งที่สูญเสียไปสำหรับสมาชิกคือ “หลักประกัน” หลายคนมากที่เมื่อเข้าโครงการนี้แล้วเป็นสิบปี ก็ไม่สั่งสมสร้างหลักประกันอะไรไว้สำหรับตัวเองอีก ถ้ารับเงินล้านคืนไปแล้วก็เอาไปลงทุนประกันอะไรขึ้นมาอีกไม่ได้ ส่วนที่เริ่มป่วยเรื้อรังแล้วก็มาก พวกนี้จะซื้อประกันอะไรอีกก็ไม่มีใครเขาขายให้ บางคนถึงขนาดย้ายบ้านมาอยู่ข้างโรงพยาบาลเลยก็มี มองอย่างนี้แล้วการคืนเงินต้นให้สมาชิกจึงแก้ความสูญเสียหลักประกันนี้ไปไม่ได้

​ถามว่าโรงพยาบาลจะเลิกสัญญานี้ข้างเดียวอย่างที่บอกกล่าวมาได้หรือไม่ โดยโรงพยาบาลกรุงเทพฯ บอกว่าจะเลิก ๓ กุมภา ส่วนโรงพยาบาลพญาไทจะเลิก ๓ มีนา

​คำตอบคือในทางกฎหมายก็คือเลิกไม่ได้ ทั้งนี้เป็นไปตามหลัก “สัญญาต้องเป็นสัญญา” เว้นเสียแต่ว่าสัญญาจะเป็นอันพ้นวิสัยเสียแล้ว ซึ่งในกรณีนี้ตรวจสอบแล้วก็ไม่มีปัญหาใด ที่อ้างว่ารัฐเข้ามาห้ามมาสั่งให้เลิกเพราะเห็นว่าเป็นธุรกิจประกันภัยอย่างที่กล่าวอ้างขึ้นมาลอยๆนั้น ตรวจสอบแล้วก็ไม่จริง
  

 ฝ่ายสมาชิกจะมีสิทธิทำอย่างไรได้บ้าง ในเมื่อทางโรงพยาบาลเขาไม่ยอมรับรักษาเราเสียแล้ว คำตอบก็คือ หลัก“สัญญาต้องเป็นสัญญา” นี้ ศักดิ์สิทธิ์มาก ประมวลกฎหมายแพ่งของไทยเราเอง มีเครื่องมือบังคับตามหลักนี้ได้อย่างเด็ดขาด นั่นก็คือให้สิทธิ์คู่สัญญาสามารถบังคับชำระหนี้ได้โดยเฉพาะเจาะจง โดยไปรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลอื่นแล้วเอาหลักฐานไปฟ้องศาลเพื่อบังคับให้ โรงพยาบาลทั้งสองจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายไปคืนให้แก่ตนทุกครั้งไปได้ ทำได้ดังนี้แล้วก็จะช่วยให้ยังคงมีหลักประกันอยู่เหมือนเดิม หรือหากกลัวทั้งสองโรงพยาบาลจะโยกโย้ว่าตนไม่ป่วยจริง หรือค่ารักษาแพงไป ก็ให้ไปรักษาไปจ่ายเงินที่โรงพยาบาลทั้งสองนี้เลย แล้วเอาใบเสร็จของเขามายัดปากฟ้องเขาเองก็ยังทำได้ 

หากทำได้ดังนี้โรงพยาบาลทั้งสองจะรับความเสียหายหนักมากๆ จากการเบี้ยวสมาชิก เพราะแทนที่จะต้องจ่ายเฉพาะต้นทุนจริงเช่นแต่ก่อน กลับจะต้องจ่ายเพิ่มเติมเต็มราคาตลาดด้วย จนต้องเสียทั้งชื่อเสียงและขาดทุนยับเยินไปในที่สุด
ก็ต้องรอดูกันต่อไปว่า โครงการ “ล้านบาท..รักษาทุกโรค”นี้จะจบอย่างไร ข่าวนี้ถ้าใครแปลเป็นภาษาอังกฤษเผยแพร่ออกไปแล้ว โครงการ “ล้านเหรียญ..รักษาทุกโรค” ที่ปลุกปั้นกันอยู่ ก็น่าจะเจ๊งตามไปด้วย

อ่านประกอบ : ลูกค้า 'พรีเมี่ยมการ์ด'รพ.พญาไท 2 โวยถูกเลิกสัญญา ทั้งที่จ่าย 1.5 ล.รักษาตลอดชีพ