logo isranews

logo small 2

รวมมิตร "หลักฐาน"เชิงประจักษ์ "มัด"ระบายข้าวรับจำนำรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์"

เขียนวันที่
วันเสาร์ ที่ 28 ธันวาคม 2556 เวลา 20:00 น.
เขียนโดย
isranews

รวมมิตร "หลักฐาน"เชิงประจักษ์ "มัด"ระบายข้าวรับจำนำรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์"  ทั้งในรูปแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) -ในประเทศ-ข้าวถุงราคาถูก" ก่อน ป.ป.ช. เตรียมสรุปผลสอบช่วงต้นปี 57 

yutrrrr29-12-13

คงไม่มีใครกล้าปฏิเสธว่าในรอบหนึ่งปี ที่ผ่านมา "โครงการรับจำนำข้าว" หนึ่งในโครงการประชานิยมของ รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นโครงการที่ถูกกล่าวถึงอย่างมาก 

โดยเฉพาะเรื่องปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น ในขั้นตอนการระบายข้าว ในสต๊อกรัฐบาล ที่ได้รับมาจากโครงการรับจำนำ?

ทั้งนี้ หากจะจำแนกข้อมูลและหลักฐาน "เชิงประจักษ์" ที่แสดงความไม่ชอบมาพากล ที่เกิดขึ้นในการระบายข้าว ในช่วงที่ผ่านมา พบว่า มีอยู่ 3 ส่วนหลัก คือ 1.การระบายข้าวแบบรัฐต่อ รัฐ (จีทูจี) 2. การระบายข้าวในประเทศ และ3. การระบายข้าวถุงราคาถูก ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างขั้นตอนการสอบสวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) 

สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้นำข้อมูลและหลักฐานต่างๆ มาจัดเป็นระบบเพื่อนำำเสนอให้สาธารณชน ได้พิจารณากันอีกครั้ง ดังนี้

@ การระบายข้าวแบบรัฐต่อ รัฐ (จีทูจี)

ข้อมูลและหลักฐานความไม่ชอบมาพากลเรื่องนี้ ถูกเปิดประเด็นขึ้นมาจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ของนายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ในช่วงปลายปี 2555

โดยมีไฮไลท์สำคัญอยู่ที่การตรวจสอบพบพิรุธในการขายข้าวจำนวน 7.32 ล้านตัน ให้กับบริษัทต่างประเทศในรูปแบบรัฐต่อรัฐ หรือ จีทูจี  โดยบริษัทจากจีนชื่อ “GSSG IMP AND EXPORT CORP” อยู่ที่เมืองกวางเจา เข้ามาทำสัญญาค้าข้าวกับกรมการค้าต่างประเทศ 5 ล้านตัน

แต่ปรากฎว่าผู้ที่มีอำนาจของบริษัท คือ "นายรัฐนิธ โสติกุล" และมอบอำนาจให้นายนิมล รักดี ชาว อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร เป็นผู้ดำเนินการแทน

จากการตรวจสอบพบว่านายรัฐนิธ มีชื่อเล่นว่า “ปาล์ม” อายุ 32 ปี เพิ่งผ่านการเรียนหลักสูตรวุฒิบัตรผู้ช่วยและผู้ปฏิบัติงานของสมาชิกรัฐสภารุ่นที่ 6 รวมทั้งเป็นนักศึกษาของสถาบันพระปกเกล้า และเป็นผู้ช่วยส.ส.ในลำดับที่ 3 ของนางรพิพรรณ พงษ์เรืองรอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (ภรรยานายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง)

เมื่อตรวจสอบบัญชีธนาคารของนายรัฐนิธ พบว่า มีเงินอยู่ในบัญชีเพียงแค่ 64.63 บาท  ซึ่งถือเป็นเรื่องผิดปกติสำหรับผู้มีอำนาจติดต่อซื้อขายข้าวกับรัฐบาลไทย

saim-indika-21

ส่วนนายนิมล รักดี ปรากฏข้อมูลว่า มีชื่อในวงการว่า "เสี่ยโจว" เป็นมือขวา“เสี่ยเปี๋ยง” หรือนายอภิชาติ จันทร์สกุลพรเจ้าของบริษัทเพรสซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด ซึ่งผูกขาดการซื้อข้าวจากโครงการรับจำนำข้าว ในสมัยรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

นอกจากนี้ นายนิมล เคยถูกป.ป.ช.ชี้มูลการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ในนามบริษัทเพรสซิเด้นท์ อะกริเทรดดิ้ง สมัยพ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งการอ้างว่า ขายข้าวแบบจีทูจี ก็เพื่อหลีกเลี่ยงการประมูลให้ได้ราคาพิเศษ ไม่มีการระบายข้าวจริง เป็นการตั้งบริษัทผีมารับข้าว เพื่อนำข้าวไปเร่ขายให้กับโรงสี อาจจะได้ส่วนต่างสูง ตันละ 3,000 บาท บางล๊อตสูงถึง 5,000 บาท

นายแพทย์วรงค์ ระบุว่า "ในการตรวจสอบข้อมูลเรื่องนี้ของพรรคประชาธิปัตย์ มีคนส่งข้อมูลเป็นบัญชีข้าวของรัฐบาลมาให้ดู เป็นบัญชีออมทรัพย์ของกรมการค้าต่างประเทศ เลข 385009504-5 ซึ่งข้อมูลช่วงวันที่ 28 กันยายน- 15 ตุลาคม ที่รัฐบาลคุยโวว่า จะมีการขายข้าวแต่ไม่สามารถเปิดเผยได้ พบว่ามีการถอนเงินจากธนาคารใหญ่ในหลายลักษณะ ทั้ง แคชเชียร์เช็ค การถอนเงิน หรือการโอนเงินจากธนาคารใหญ่" 

“หากเป็นการค้าแบบจีทูจี จะต้องมีการเปิดแอล/ซี แต่ครั้งนี้กลับไม่พบว่ามีการเปิดแอล/ซี แสดงว่าไม่มีการค้าข้าวให้ต่างประเทศจริง แต่กลับมีเงินหมุนเวียนจากธนาคารใหญ่ เช่น มีการโอนเงิน รวม 72 รายการ จากธนาคารใหญ่ 4 แห่งในประเทศไทย ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกร และธนาคารไทยพาณิชย์ รวมเป็นมูลค่า 4,960 ล้านบาท และมีการถอนเงินออกจากบัญชีกรมการค้าต่างประเทศ 2 ครั้ง รวมเป็นเงิน 4,200 ล้านบาท”

เมื่อไม่มีการค้าข้าวแบบจีทูจีจริง แต่รัฐบาลกลับเปิดโอกาสให้บริษัทสยามอินดิก้า เอาข้าวของรัฐบาลไปเร่ขายให้กับโรงสี ในลักษณะของไปเงินมา มีการพบแคชเชียร์เชค ออกในนามของ นายสมคิด เรือนสุภา ที่ซื้อแคชเชียร์เชค จำนวนกว่า 500 ล้านบาท

และเมื่อตรวจสอบที่อยู่ของนายสมคิด ตามที่แจ้งที่อยู่เลขที่ 191 ซอยดำเนินกลาง เขตพระนคร พบว่า ไม่มีสภาพเป็นบ้านของพ่อค้าข้าวรายใหญ่ และจากการสอบถามประชาชนบ้านใกล้เคียงทราบว่า นายสมคิด ได้ย้ายไปอยู่บ้านของภรรยา ที่เขตบางแค

ตรวจสอบพบว่าเป็นเพียงบ้านไม้ 2 ชั้น ตั้งอยู่ริมคลอง เมื่อตรวจสอบเพิ่มเติม พบว่า สมคิด เป็นคนของบริษัทสยามอินดิก้า

เพราะนายสมคิด ได้รับมอบอำนาจจากเสี่ยเปี่ยง ไปจดทะเบียนตั้งบริษัทสยามอินดิก้า เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2547

เมื่อตามไปตรวจสอบข้อมูลต่อ พบข้อมูลบัญชีธนาคารกสิกรไทย เลขที่ 001-0-03796-9 โดยบัญชีดังกล่าวมีผู้มีอำนาจลงนาม จำนวน 5 คน อาทิ นิมล เรืองวัน กฤษณา

นอกจากนั้นยังมีชื่อของนางเรืองวัน เปิดบัญชีไว้กว่า 100 บัญชีและมีการตั้งกองทุนชื่อว่า KTAM เพื่อไว้ซุกเงิน ลักษณะที่ตรวจพบว่า เมื่อมีการโอนเงินมาช่วงเช้า แล้วช่วงบ่ายก็มีการถอนเงินออกจากบัญชีทั้งหมดในรูปแบบของเงินสด ตามที่ผมได้ข้อมูล คือ บัญชีนิมล พบว่ามีการโอนจากธนาคารกสิกร ไป ธนาคารกรุงไทย หลายรายการ ได้แก่ เมื่อวันที่ 27 กันยายน จำนวน 260 ล้านบาท วันที่ 28 กันยายน จำนวน 99 ล้านบาท วันที่ 3 ตุลาคม จำนวน 485 ล้านบาท วันที่ 5 ตุลาคม โอน 306 ล้านบาท และวันที่ 9 ตุลาคม โอน 405 ล้านบาท โดยการโอนเงินลักษณะนี้ อาจเข้าข่ายการฟอกเงินและมีความผิดตามกฎหมายฟอกเงิน

(ดูหลักฐานประกอบ ในเรื่อง: ดูกันจะๆ หลักฐาน “มัด” ระบายข้าว "จีทูจี" (จีเจี๊ยะ - จีโจ๊ก- จีGHOST) รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ? , ปชป. โชว์คลิปแอนิเมชั่น ขยายผลระบาย จีทูจี -อ้าง"เสี่ยเปี๋ยง"ตัวการเวียนเทียนจำนำข้าว)

@ การระบายข้าวในประเทศ

ข้อมูลส่วนนี้ถูกฝ่ายค้าน โดย นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ นำมาเปิดเผยในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 วงเงิน 2.525 ล้านบาท ช่วงหัวค่ำวันที่ 29 พฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมา เช่นกัน 

โดยมีจุดเริ่มต้นอยู่ที่ การตรวจสอบพบข้อมูลว่า เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2554 องค์การคลังสินค้า (อคส.) ได้ขายข้าวขาว 8 แสนกิโลกรัม ราคาตันละ 5,700 บาท ให้แก่โรงสีโชควรลักษณ์ รุ่งขึ้น วันที่ 22 ธันวาคม 2554 โรงสีโชควรลักษณ์นำขายข้าวไปขายต่อแก่โรงสีแห่งหนึ่งที่ จ.กำแพงเพชร ในราคาตันละ 12,000 บาท โดยใช้แฟกซ์โอนใบมอบอำนาจแค่ใบเดียวราคา 5 บาท แต่ฟันกำไรถึง 6,300 บาทต่อตัน และเป็นการขายก่อนที่จะได้ข้าวมาจากรัฐบาล

“ตอนแรกผมคิดว่าเรื่องนี้ เกิดขึ้นในยุคนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แต่การขายข้าวดังกล่าว เกิดขึ้นในยุคที่นายนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และโดยส่วนตัวก็ไม่เชื่อว่า คนอย่างนายกิตติรัตน์ ที่ผ่านตำแหน่งสำคัญมามากมาย จะไม่ฉลาดพอที่จะไม่รู้เรื่องพวกนี้”

พร้อมระบุว่า เท่าที่ทราบมีการขายแบบนี้หลายครั้ง เม็ดเงินที่สะพัดในจังหวัดกำแพงเพชร มีไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท

เหตุผลที่มีการขายข้าวให้โรงสีโชควรลักษณ์ ในราคาต่ำเช่นนี้ได้ นพ.วรงค์ ระบุว่า เป็นเพราะเจ้าของโรงสีแห่งนี้ชื่อ “เสี่ยเปี๊ยก” มีความสัมพันธ์ใกล้ชิด “เสี่ยเปี๋ยง” ที่เป็นนายทุนผูกขาดการค้าขายรายใหญ่และมีความใกล้ชิดนายใหญ่ที่อยู่ต่างประเทศ

ก่อนจะโชว์เอกสารสำคัญ คือ หนังสือสัญญา นาปรัง ไซโล อคส. 1/2555 ซึ่งเป็นสัญญาเช่าไซโลระบบควบคุมบรรยากาศเพื่อจัดเก็บรักษาข้าวสาร (โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 2555)

ทั้งนี้ ในสัญญาดังกล่าว เป็นการลงนามร่วมกันระหว่าง พันตำรวจตรี ศราวุฒิ สกุลมีฤทธิ์ ผอ.อคส. "ผู้เช่า" กับนายเอนก ฉัตรไชยศิริ หุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วน โรงสี โชควรลักษณ์รุ่งเรืองกิจ “ผู้ให้เช่า”

ในหนังสือสัญญาดังกล่าว ระบุว่า ผู้เช่าตกลงเช่าและผู้ให้เช่าไซโล ระบบรวบคุมบรรยากาศของผู้ให้เช่นจำนวน 24 ถัง ปริมาณความจุรวมทั้งสิ้น 288,000 ตัน เพื่อใช้เป็นสถานที่เก็บรักษาข้าวสารที่สีแปรสภาพจากข้าวเปลือกตามโครงการรับจำนำ ข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2555 ที่ผู้เช่าสั่งให้โรงสีส่งมอบ

โดยปรากฏชื่อ เคทีบี ไซโล ตั้งอยู่เลขที่ 25/3 หมู่ที่ 3 ถนน บางมูลนาก-ตะพานหิน ตำบลหอไกร อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร ในสัญญาดังกล่าวด้วย

นายแพทย์วรงค์ กล่าวอ้างด้วยว่า เป็นที่รู้กันในวงการว่า เคทีบี ไซโล เป็นไซโลของ เสี่ยเปี๋ยง ในอดีตใช้ชื่ออื่น ก่อนจะมาเปลี่ยนเป็นชื่อนี้

“ตอนแรกผมก็ไม่รู้ข้อมูลนี้ จนกระทั่งเจ้าหน้าที่อคส.รายหนึ่ง เอาเอกสารฉบับนี้ มาให้ พอเห็นแล้วก็ถึงได้เข้าใจว่า ทุกอย่างมันเชื่อมโยงกันหมด เสี่ยเปี๊ยก กับ เสี่ยเปี๋ยง สองเสี่ย ป. นี่ แท้จริงแล้วมีความใกล้ชิดกัน และอาจเป็นหลักฐานที่ชี้ให้เห็นได้ว่า ทำไม เสี่ยเปี๊ยกถึงสามารถซื้อข้าวจากรัฐบาลได้ต่ำและนำไปขายต่อทำกำไรได้จำนวนมาก

001var04

เบื้องต้นสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org  ตรวจสอบข้อมูลที่อยู่ 25/3 หมู่ที่ 3 ถนน บางมูลนาก-ตะพานหิน ตำบลหอไกร อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร จากบริการสอบถามข้อมูล 1133 ได้รับแจ้งว่า เป็นสถานที่ตั้ง บริษัท เคทีบีไซโล จำกัด

ข้อมูลจากการกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า บริษัท เคทีบี ไซโล จำกัด แจ้งจดทะเบียนเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2547 ทุน 750,000,000 บาท ประกอบธุรกิจ ไซโลเก็บพืชผลทางการเกษตร ตั้งอยู่ที่เดียวกับบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด เลขที่ 48/7-8 ซอยรัชดาภิเษก 20 ถนนรัชดาภิเษก แขวงสามเสนนอก เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร

ปรากฏชื่อ นางสาว เรืองวัน เลิศศลารักษ์ และนางรัตนา แซ่เฮ้ง เป็นกรรมการ

นางสุดา คุณจักร ผู้ถือใหญ่ บริษัท สยามอินดิก้า ถือหุ้นใหญ่อยู่

จากการตรวจสอบพบว่า เดิมที่บริษัทแห่งนี้ มีชื่อว่า บริษัท สยามธัญรักษ์ ไซโล ปรากฏชื่อ นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือเสี่ยเปี๋ยง เป็นผู้ก่อตั้งมีทุน 100 ล้าน ตั้งอยู่ที่ 557/1 ซอยสุทธิพร ถนนประชาสงเคราะห์ แขวงดินแดง เขตดินแดง นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร เป็นกรรมการ ผู้มีอำนาจ มีผู้ถือหุ้น 7 คน นายอภิชาติ ถือหุ้นใหญ่สุด

ก่อนที่จะมีการแจ้งเปลี่ยนชื่อ ที่อยู่ และกรรมการหลายหน รวมถึงการเพิ่มทุนเป็น 750 ล้านบาท

ขณะที่ นายอภิชาติ ลาออกจากตำแหน่งกรรมการ เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2550 และโอนหุ้นไปให้คนใกล้ชิดถือครองแทน

จากการตรวจสอบพบว่า เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2549 บริษัทฯ ได้แจ้งเพิ่มที่ตั้งสำนักงานอีกแห่งหนึ่ง คือ 23/3หมู่ที่3 ถนนบางมูลนาก -ตะพานหิน ตำบลหอไกร อ.บางมูลนาก พิจิตร อีกแห่งหนึ่ง

โดยที่ตั้งดังกล่าว อยู่ใกล้เคียงกับ เลขที่ 25/3 หมู่ที่ 3 ถนน บางมูลนาก-ตะพานหิน ตำบลหอไกร อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร ที่ปรากฏอยู่ในสัญญาเช่าไซโล ระหว่าง อคส. กับ นายอเนก ฉัตรไชยศิริ หุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วน โรงสี โชควรลักษณ์รุ่งเรืองกิจ ตามเอกสารที่นายแพทย์วรงค์นำมาเปิดเผย

สำหรับ หจก.โรงสีโชควรลักษณ์รุ่งเรืองกิจ จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2545 มีหุ้นส่วน3 คน นายเอนก ฉัตรไชยศิริ นางสุมาลี. ฉัตรไชยศิริ และนางสาววราภรณ์ ฉัตรไชยศิริ สำนักงานตั้งอยู่ที่ 145 หมู่ที่ 9 ตำบลโพตลาดแก้ว. อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี แจ้งประกอบกิจการโรงสีข้าว และค้าข้าว

เดิมที่มีทุน 5 ล้านบาท ก่อนจะปรับเพิ่มเป็น 100 ล้าน เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2548 โดย นายอเนก ลงหุ้นด้วยเงิน 60 ล้าน ส่วนนางสุมาลี และนางสาววราภรณ์ลงหุ้นด้วยเงิน คนละ 20 ล้าน

ล่าสุด เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2556 หจก.ฯ แจ้งทำเรื่องขอแก้ไขเพิ่มเติมวัตถุประสงค์ ขอประกอบกิจการให้บริการในการบริหารจัดเก็บสินค้าในคลังสินค้า ปรับปรุงข้าว และบรรจุ

จากการตรวจสอบพบว่า นาย เอนก ฉัตรไชยศิริ มีธุรกิจที่เกี่ยวข้องอีกจำนวน 3 แห่ง คือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด โชควรลักษณ์ ค้าข้าว บริษัท กนก เมทัลแลนด์ จำกัด บริษัท กู๊ด ไรซ์ อินเตอร์เทรดดิ้ง จำกัด

แต่เลิกกิจการไปหมดแล้ว

ไม่ปรากฏข้อมูลความเขื่อมโยงกับ คนบริษัทในเครือข่าย สยามอินดิก้าแต่อย่างใด

จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า นายเอนก ฉัตรไชยศิริ นำสิทธิ์อะไรมาลงนาม ให้ อคส. เช่าไซโล ของบริษัท เคทีบี ไซโล จำกัด ในเครือข่ายเสี่ยเปี๋ยง เก็บข้าวจำนวน 2.8 แสนตัน หลายแสนตัน และเรียกเก็บค่าเช่าได้จำนวนหลายล้านบาทต่อเดือนแบบนี้

(ดูหลักฐานประกอบใน: ฟังชัดๆ “หมอวรงค์” ปะทะ “เสี่ยเปี๊ยก” ทุจริตระบายข้าว ในปท. ใครจริง-เท็จ?)


@ การระบายข้าวถุงราคาถูกราคาถูก

กรณีนี้ มีจุดเริ่มต้นจากคณะอนุกรรมาธิการติดตามตรวจสอบเรื่องการระบายข้าวในสต็อกของรัฐบาล จากโครงการรับจำนำข้าว ปี 2554/55 ในคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา ที่มี พล.ต.ท.ยุทธนา ไทยภักดี ส.ว.สรรหา เป็นประธาน ตรวจสอบพบว่า พ.ต.นพ.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เคยดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการ บริษัท สยามรักษ์ จำกัด 1 ในเอกชน 3 ราย ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้จำหน่ายข้าวถุง ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางการระบายข้าวจากสต็อกรัฐบาลที่ได้รับมาจากโครงการรับจำนำข้าว

ก่อนที่บริษัทจะขายสิทธิจัดจำหน่ายข้าวคืนให้ 3 บริษัท (หจก.โรงสีโชควรลักษณ์รุ่งเรืองกิจ บริษัทสิงห์โตทองไรซ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัดและบริษัทเจียเม้ง จำกัด) เนื่องจากไม่มีเครือข่ายในตลาดข้าวถุงและได้ให้เอกสารสัญญาขายข้าวคืนให้กับโรงสีดังกล่าวไว้เป็นหลักฐาน

โดยปรากฏข้อเท็จจริงดังนี้

จากการตรวจสอบบริษัท สยามรักษ์ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า บริษัทดังกล่าวดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการทำดอกไม้ประดิษฐ์เพื่อการส่งออกและมีชื่อกรรมการบริษัท โดยมีนายทวีศักดิ์ หิรัญรักษ์ เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท มีพ.ต.นพ.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ และมีนายเกรียงศักดิ์ ประสงค์สุกาญจน์ เป็นกรรมการตั้งแต่ปี 2554 และพ.ต.นพ.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ ได้ลาออกจากกรรมการบริษัท เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2554 ส่วนนายเกรียงศักดิ์ ลาออกจากกรรมการ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2555

จากการตรวจสอบยังพบว่า ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2554 พ.ต.นพ.วีระวุฒิ ซึ่งลาออกจากบริษัทสยามรักษ์ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (เคยเป็นผู้ช่วยเลขาุนุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายภูมิ สาระผล) และต่อมาได้เป็นคณะกรรมการในคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาิติ

ขณะเดียวกันก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการ โดยคณะอนุกรรมการด้านการตลาด, คณะอนุกรรมการกำกับดูแลการรับจำนำข้าว, คณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว คณะอนุกรรมการตลาดซื้อ-ขายสินค้าเกษตรแห่งประเทศไทย และคณะอนุกรรมการตรวจสอบและติดตามการรับจำนำข้าว

อีกทั้งคณะกรรมการองค์การคลังสินค้า รศ.พ.อ.(พิเศษ)นพ. เกรียงชัย ประสงค์สุกาญจน์ ซึ่งมีตำแหน่งเป็นรองประธานคณะกรรมการองค์การคลังสินค้า เป็นพี่ชายของ นายเกรียงศักดิ์ ประสงค์สุกาญจน์ อดีตกรรมการบริษัท สยามรักษ์

รวมทั้งผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า ประธานคณะกรรมการองค์การคลังสินค้า และกรรมการได้ถูกเสนอแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ผ่านมติคณะรัฐมนตรี

ขณะที่คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ได้มีการระบายข้าวสารถุงในราคาถูกโดยคิดราคาเพียงครึ่งหนึ่งของราคาตลาด และเป็นที่มาของการเปิดช่องโหว่ของสัญญาต่างๆ ที่ทางอคส. ได้ทำกับโรงสีผู้ปรับปรุงก็ดี และทำกับบริษัทผู้จำหน่ายก็ดี เป็นเหตุให้ข้าวสารถุงที่อ้างว่าจะไปลดค่าครองชีพของประชาชน เพื่อช่วยเหลือประชาชน ใน3 จังหวัดชายแดนใต้ อาจไม่ได้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการฯ ไม่มีการติดตามตรวจสอบกำกับดูแล จากคณะกรรมการต่างๆ ที่มีหน้าที่ตรวจสอบ

phpThumb generated thumbnailjpg

เพราะมีการตรวจสอบพบข้อมูลว่า มีการปล่อยให้มีการนำข้าวสารราคาถูกไปจำหน่ายให้กับกลุ่มพ่อค้า โดยมีส่วนต่างของราคาที่ทำให้รัฐเสียหายอย่างมาก จะเห็นได้ว่าข้าวราคาตลาดในขณะนั้น ราคาประมาณ 15,250 บาืทต่อหนึ่งตัน แต่คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ เห็นว่า เพื่อช่วยเหลือประชาชนและลดราคาครั้งหนึ่ง เหลือเพียง 7,625 บาท ต่อหนึ่งตัน ถ้ามีการดำเนินการครบตามมติคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ และคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว จำนวน 2,500,000 ตัน ก็จะเสียหายส่วนต่างนี้ ประมาณ 17,000 ล้านบาท และยังต้องเสียค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงอีกตันละประมาณ 5,000 บาท ก็ยิ่งจะทำให้รัฐเสียหายรวมประมาณ 30,000 ล้านบาท ถ้าคิดความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ซึ่งตันหนึ่งประมาณ 13,000 บาท เมื่อเป็นข้าวสาร 1 ตัน จากราคาประมาณ 23,000 บาท

แต่มติดังกล่าวรัฐมีรายได้จากการระบายข้าวสารถุงครั้งนี้ เพียงตันละ 2,645 บาท จะเห็นได้ว่า การดำเนินการดังกล่าวสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติอย่างมาก

- การเชื่อมโยงข้อมูล

1.การเชื่อมโยงของบุคคลในหน่วยงานภาครัฐ

1.1 พ.ต.นพ.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ เป็นและเคยเป็น

1.1.1 เคยเป็นกรรมการบริหารของบริษัท สยามรักษ์

1.1.2 เคยเป็นผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายภูมิ สาระผล)

1.1.3 เคยเป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายบุญทรง เตริยาภิรมย์)

1.1.4 เป็นกรรมการคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ

1.1.5. เป็นอนุกรรมการในคณะอนุกรรมการ ดังนี้

- คณะอนุกรรมการกำกับดูแลการรับจำนำข้าว

-คณะอนุกรรมการพิจารณาการระบายข้าว

-คณะอนุกรรมการตรวจสอบ และติดตาม

-คณะอนุกรรมการตลาดซื้อขายล่วงหน้า

2. รศ.พ.อ.(พิเศษ)นพ. เกรียงชัย ประสงค์สุกาญจน์ มีตำแหน่งเป็นรองประธานคณะกรรมการองค์การคลังสินค้า มีน้องชายชื่อ นายเกรียงศักดิ์ ประสงค์สุกาญจน์ เคยเป็นกรรมการบริษัท สยามรักษ์

การเชื่อมโยงของบริษัทเอกชนกับองค์การคลังสินค้า

1.องค์การคลังสินค้า ได้ประกาศสรรหาบริษัทที่มีคุณสมบัติพร้อมเพื่อทำการปรับปรุงคุณภาพข้าวและบรรจุขนาด 5 กิโลกรัม และ 1 กิโลกรัม กับข้าวขาว 5 % และข้าวเหนียว 10% เมล็ดยาว และผลการสรรหาได้

- บริษัท เจียเม้ง

-บริษัท สิงโตทอง

-หจก.โรงสีโชควรลักษณ์

และได้บริษัทอีก 4 บริษัท แต่ 3 บริษัทที่กล่าวถึงมีพฤติกรรมเชื่อมโยงกับบริษัทผู้แทนจำหน่าย

2.องค์การคลังสินค้า ได้ประกาศสรรหาบริษัทผู้แทนจำหน่ายข้าวสารเพื่อจำหน่ายให้กับร้านค้าทั่วไปการสรรหาได้

-บริษัท สยามรักษ์

-บริษัท คอนไซน์เทรดดิ้ง

-บริษัทร่มทอง

การดำเนินการจัดทำข้าวถุงจำหน่ายเพื่อช่วยลดค่าครองชีพของประชาชน คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ได้มี นโยบายให้จัดทำข้าวถุงโดย อคส. กำหนดราคาไว้ครั้งแรก 13,750 บาทต่อตัน หลังจากดำเนินการไปแล้วราคาข้าวถุงที่จำหน่ายราคาใกล้เคียงกับราคาที่จำหน่ายร้านค้าทั่วไปทำให้ขายไม่ได้

จึงได้พิจารณาหาแนวทางเพื่อลดแนวทางต่อถุง โดยหาเหตุผลว่า เพื่อช่วยเหลือมุสลิมภายใต้ที่ประสบภัยน้ำท่วม โดยกำหนดราคาลดลงเหลือ 7,625 บาทต่อตัน

หลังจากอคส. ได้รับนโยบายให้ลดราคาข้าวลงเหลือ 7,650 บาทต่อตันได้แจ้งให้บริษัท 3 ราย คือ บริษัท สยามรักษ์ ,บริษัท คอนไซน์เทรดดิ้ง และ บริษัทร่มทอง ให้จัดกระจายส่งข้าวถุงให้กับร้านค้าทั่วไป

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบของคณะอนุฯ ในจังหวัดหลายจังหวัด ไม่พบว่ามีข้าวถุงจำหน่ายเลยแม้แต่จังหวัดเดียวและได้ทราบต่อมาว่า บริษัทผู้แทนจำหน่ายทั้ง 3 บริษัท ที่มีหน้าที่กระจายข้าวถุงไปร้านค้าทั่วไป ได้ขายคืนให้กับบริษัทปรับปรุงคุณภาพข้าวและบรรจุถุง ได้แก่ บริษัท เจียเม้ง บริษัท สิงโตทอง และหจก.โรงสีโชควรลักษณ์

จากข้อมูลการเชื่อมโยงในส่วนบุคคล หน่วยงานรัฐ และเอกชน ที่เข้ามาเกี่ยวข้องในการดำเนินงานโครงการระบายข้าวถุง ทั้งหมด จึงมีลักษณะส่อว่าจะเป็นกลุ่มบุคคลเดียวกัน?

(ดูหลักฐานประกอบใน เรื่อง เอ็กซ์คลูซีฟ:เปิดผลสอบฉบับเต็มโครงการระบายข้าวถุง “ยิ่งลักษณ์")

ล่าสุด เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2556 นายวิชา มหาคุณ กรรมการป.ป.ช. ในฐานะประธานอนุกรรมการไต่สวนการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว ออกมาระบุว่า คาดว่าจะสามารถสรุปผลการไต่สวนได้อย่างเป็นทางการในช่วงประมาณกลางเดืิอนมกราึคม 2557 นี้  

นอกจากนี้ ป.ป.ช.ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาไต่สวนอีก 1 ชุด ในประเด็นที่นายศรีราชา เจริญพานิช ผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ส่งข้อมูลมาให้ป.ป.ช. กรณีที่พบความผิดปกติในการระบายข้าวให้กับรัฐบาลอินโดนีเซีย ผ่านองค์กรสำรองข้าวอินโดนีเซีย (บูล็อก) โดยมีบริษัท สยามอินดิก้า จำกัดเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย 

ดังนั้น ในปี 2557 ที่จะถึงนี้ คงเป็นปีที่ประชาชน จะได้รับคำตอบที่ชัดเจนจาก ป.ป.ช. ว่า แท้จริงแ้ล้ว โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีปัญหาการทุจริตเกิดขึ้นจริง ตามหลักฐานจำนวนมากที่ปรากฎอยู่ในขณะนี้หรือไม่ 

และใครจะปรากฎรายชื่อเป็นผู้ต้องรับผิดชอบบ้าง?