logo isranews

logo small 2

ดร.เสรี ฟันธง "คนที่ปีที่แล้วน้ำไม่ท่วม จะท่วมปีนี้"

เขียนวันที่
วันอาทิตย์ ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา 17:08 น.
เขียนโดย
isranews
หมวดหมู่

ดร.เสรี ศุภราทิตย์  โชว์แบบจำลองการไหลของน้ำ ตั้งสมมติฐานปริมาณน้ำเท่าปี 54 ชี้แผนเร่งด่วน กยน.ไม่รับประกัน น้ำไม่ท่วม  ถามเพิ่งผ่านมาแค่ 3 เดือน จะทำอะไรได้บ้าง ขุดคลอง สร้างฟลัดเวย์ ก็ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี

 

เมื่อเร็วๆ นี้ นิสิตโครงการปริญญาโท สาขาบริหารธุรกิจ ภาคค่ำ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดสัมมนาเรื่อง “รู้ทันภัยธรรมชาติ เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ” ณ อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยเชิญ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์  ผู้อำนวยการศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร และในฐานะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายสุเวทย์ ธีรวชิรกุล กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) ร่วมนำเสนอความคิดเห็นวิธีการบริหารจัดการ การวางแผนกลยุทธ์

รศ.ดร.เสรี กล่าวอ้างข้อมูลจากองค์กรอุตุนิยมวิทยาของประเทศอังกฤษ (UK Met) ซึ่งได้มีการคาดการณ์ออกมาแล้วว่า ประเทศไทย ในฤดูแล้งก็จะแล้ง ในฤดูฝนฝนก็จะตกหนัก ฉะนั้นการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนจึงเป็นเรื่องสำคัญ การที่เราไปคิดสร้างเขื่อนขนาดใหญ่บริเวณที่คิดว่าฝนจะตก แล้วน้ำเต็มเขื่อนนั้น เกิดขึ้นได้ยากในอนาคต

“ในระยะใกล้ตัว 1-2 ปีนี้จะเป็นอย่างไร ก็มีข้อมูลจาก JAMSTEC ประเทศญี่ปุ่น คาดการณ์ว่า ปรากฏการณ์ลานินญา จะค่อยๆ ลดอิทธิพลลง ช่วงกลาง –ปลายปีนี้ ถึงปีหน้า ประเทศไทยจะเข้าสู่ปรากฏการณ์เอลนิโญ ต้องเผชิญกับภัยแล้ง ซึ่งเป็นสัญญาณที่ทำให้เรารู้ล่วงหน้าได้ ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของรัฐต้องคอยเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เดือนต่อเดือน”

กรรมการ กยน. กล่าวว่า เมื่อปี 2554 มีพายุเกิดขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิก 40 ลูก แต่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย 4 ลูก หรือ 10% ของพายุที่เกิดขึ้นจะมีอิทธิพลกับบ้านเรา  ซึ่งในปี 2555 พายุก็ยังเกิดขึ้นจำนวนมากอยู่ เห็นได้จากล่าสุด มีรายงานพายุดีเปรชั่นเกิดขึ้นแล้วที่ทะเลจีนใต้ และกำลังทวีความรุนแรงเป็นพายุโซนร้อน ส่งผลกระทบต่อประเทศเวียดนาม

ส่วนที่รัฐบาลมีแผนการบริหารจัดการน้ำในเขื่อน โดยจะปรับเกณฑ์การบริหารจัดการ (Rule Curve) ใหม่ โดยให้มีปริมาณน้ำต่ำสุดอยู่ที่ 45% นั้น รศ.ดร.เสรี กล่าวว่า ชาวนาภาคกลางทำนาประมาณ 10 ล้านไร่ ใช้น้ำ 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ หรือ 8,000 – 10,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่เราต้องเก็บให้ชาวนาได้ปลูกข้าวนาปรัง ฉะนั้นการปล่อยน้ำให้เหลือปริมาณต่ำสุดไว้ เพราะกลัวน้ำท่วมมาก หมายความว่า น้ำในอ่างก็จะไม่มี

“หากฝนไม่ตกตามที่คาดการณ์ ต้นปี 2556 น้ำในเขื่อนภูมิพลจะเหลือ 3,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์ 1 ,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ฉะนั้นปลายปีหน้า ชาวนาไม่มีน้ำจะเกิดอะไรขึ้น” กรรมการ กยน. กล่าว และว่า หากสถานการณ์เป็นอย่างที่ JAMSTEC คาดการณ์ ประเทศไทยมีความเสี่ยงสูงมากจะเจอกับภัยแล้ง  รัฐบาลต้องคิดให้หนัก จะรักษาระดับการกักเก็บน้ำในเขื่อนให้ต่ำอย่างนี้หรือไม่

สำหรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นหากน้ำมาอีกในปี 2555 รศ.ดร.เสรี กล่าวว่า คนที่ปีที่แล้วน้ำไม่ท่วม จะท่วมปีนี้  เพราะคนที่ท่วมปีที่แล้ว จะมีระบบการป้องกันอย่างเข้มแข็ง เช่น กรณีที่อยุธยา นิคมอุตสาหกรรมก่อสร้างเขื่อนกั้นน้ำเต็มไปหมด ชุมชนก็ป้องกัน เกาะเมืองอยุธยาก็ป้องกัน  แถมจะมีการยกถนนอีก 80 เส้นทาง  ถามว่า น้ำจะไปทางไหน ในเมื่อน้ำต้องการที่อยู่

“การจัดทำแบบจำลองการไหลของน้ำ (ซิมูเลชั่น)ด้วยสมมติฐานปริมาณน้ำเท่ากับปี 2554 แผนเร่งด่วนของ กยน.ไม่ได้หมายความว่า จะทำให้น้ำไม่ท่วมกรุงเทพฯ ซึ่งเราเพิ่งผ่านเหตุการณ์มาแค่ 3 เดือน เราสามารถทำอะไรได้บ้างในความเป็นจริง จะสร้างคลอง ทำฟลัดเวย์ ได้ทันหรือไม่ ไม่มีทางทัน นี่คือคำถาม ขณะที่การมีฟลัดเวย์ เร็วที่สุดก็ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า  2 ปี”

ด้านนายกรณ์ กล่าวถึงอุทกภัยปี 2554 สร้างความเสียหายสูงถึง 1.4 ล้านล้านบาท จัดเป็นภัยพิบัติที่สร้างความเสียหายมากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก ซึ่ง 90% เป็นความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชน ภาคเอกชน ขณะที่ภาครัฐเสียหายน้อยมาก พร้อมมองว่า  หากเรายังไม่สามารถบริหารจัดการน้ำได้ คนไทยก็จะจนไปตลอด เพราะอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่เพียงแค่ 1-2 %  ไม่เพียงพอต่อการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน

กรณีการบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาด จนส่งผลให้น้ำท่วมผิดที่ผิดทางนั้น นายกรณ์ กล่าวว่า เกิดขึ้นจากการตัดสินใจหลายขั้นตอนด้วยข้อมูลไม่ครบด้าน พร้อมตั้งคำถาม หากเกิดเหตุการณ์ขึ้นอีก  รัฐบาลจะมีการขมวดรวมอำนาจการตัดสินใจในหน่วยราชการอย่างไร เพื่อให้คนไทยมั่นใจได้ว่า สถานการณ์จะดีกว่าครั้งที่แล้ว โดยเฉพาะเรื่องโครสร้างการบริหารจัดการ

และในฐานะผู้ประกอบการ นายสุเวทย์ กล่าวถึงบทเรียนจากน้ำท่วมในปีที่ผ่านมา “ข้อมูล” มีความสำคัญ แต่กลับพบว่า มีไม่พอสำหรับการตัดสินใจในการดูแลตนเอง ขณะที่ข้อมูลบางอย่างฟังแล้วก็ยังสับสน  ไม่เข้าใจ และนำมาใช้ประโยชน์ได้น้อย ดังนั้นสิ่งที่ตนเป็นกังวล คือเรื่องการปฏิบัติ มากกว่า การมีแผนบริหารจัดการน้ำ เพราะเชื่อว่า มีแผน ฯ ก็ไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้ 100%