logo isranews

logo small 2

‘การเมือง’ คอขวดขวาง กม.ภาษีที่ดินฯ

เขียนวันที่
วันเสาร์ ที่ 04 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา 09:27 น.
เขียนโดย
เนตรชนก ยุบลมูล
หมวดหมู่

นักวิชาการ  ตั้งความหวัง แค่ 10% ไทยมี พ.ร.บ.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ใช้ หลังคลอดไม่ทันยุบสภาก่อน แถมรบ.ปู ปัดตก ไม่หยิบขึ้นมารับรอง จนกฎหมายฉบับนี้ตกไป   สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เล็งเสนอ “กิตติรัตน์” ทบทวนอีกครั้ง

วันที่ 3 กุมภาพันธ์ สถาบันทรัพยากรมนุษย์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และแผนงานสร้างเสริมนโยบายสาธารณะที่ดี (นสธ.)  จัดการอภิปรายเรื่อง   “ร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” ภายใต้โครงการวิจัย  “การปรับปรุงกระบวนการนิติบัญญัติของประเทศไทยเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน” ณ  ห้องประชุมนิคม จันทรวิทุร ชั้น 7 ตึกอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) 

ผศ.ดร. ดวงมณี เลาวกุล  คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนอ “บทวิเคราะห์ร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ....”  ซึ่ง ผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อปีที่แล้ว (2554) ว่า ร่างพ.ร.บ.นี้ถือเป็นมิติใหม่ที่ทำให้ประเทศไทยมีระบบการจัดเก็บภาษีจากฐาน ทรัพย์สินที่แท้จริง และเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รวมทั้งสนับสนุนให้มีการใช้ประโยชน์จากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมากขึ้น จนส่งผลให้มีการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมมากขึ้น ลดการกักตุนที่ดินเพื่อเก็งกำไร

ผศ.ดร. ดวงมณี กล่าวถึงข้อเสนอแนะในการจัดเก็บภาษีที่ดินว่า จะต้องมีการเตรียมความพร้อม คือ กรมที่ดินจะต้องมีการทำแผนที่ดิจิทัลเชื่อมโยงกับข้อมูลทะเบียนที่ดินทุก แปลงทั่วประเทศ (30 ล้านแปลง) เพื่อให้ อปท.สามารถทำการจัดเก็บภาษีที่ดินฯ ได้ และกรมธนารักษ์สามารถประเมินราคาทุนทรัพย์ที่ดินรายแปลงได้ทั้งหมด รวมทั้งเพื่อให้ประชาชนมีระยะเวลาในการปรับตัวในการชำระภาษีที่ดินฯ ในกรณีที่ไม่เคยต้องชำระมาก่อนหรือต้องชำระเพิ่มขึ้นอาจต้องมีการบรรเทาภาระ ภาษีด้วย

“และเพื่อไม่ให้เกิดการบิดเบือนการใช้ที่ดินในอนาคต จึงควรพิจารณาประเภทการใช้ประโยชน์ในที่ดิน ตามร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ ร่วมกับ พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ.2518 ขณะเดียวกันอัตราภาษีที่ดินฯ ในแต่ละพื้นที่ ก็ควรคำนึงถึงยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศประกอบกัน การชดเชยรายได้เพิ่มเติมกับเจ้าของที่ดินที่ให้ความร่วมมือกับ นโยบาย/มาตรการของรัฐ เช่น พื้นที่บริเวณชานเมือง พื้นที่แก้มลิง เพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัย อาจมีการยกเว้นการเก็บภาษีที่ดินฯ เป็นต้น”

สำหรับอัตราภาษีที่มีการกำหนดเพดานอัตราภาษีไว้ 3 อัตรา โดยจำแนกตามการใช้ประโยชน์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง  1.การใช้ประโยชน์เพื่อประกอบเกษตรกรรม ไม่เกินร้อยละ  0.05 ของฐานภาษี 2.การใช้ประโยชน์เพื่อที่อยู่อาศัย ไม่เกินร้อยละ 0.1 ของฐานภาษี และ 3. การใช้ประโยชน์นอกเหนือจาก 2 กรณีข้างต้น ไม่เกินร้อยละ 0.5 ของฐานภาษีนั้น ผศ.ดร. ดวงมณี  กล่าวว่า การเก็บอัตราภาษีเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ถือว่าอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ แต่ในระยะเริ่มแรก เห็นว่า ควรเก็บอัตราภาษีนี้ไปก่อน เนื่องจากหากเริ่มเก็บอัตราสูงเกินไป อาจทำให้ประชาชนที่ไม่เคยเสียภาษีต่อต้านได้ ส่วนในอนาคตสามารถปรับเพิ่มขึ้นได้ตามความเหมาะสม

จากนั้นมีการเสวนาในหัวข้อ “ร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ....” โดย ศ.ดร.ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์  ,ผศ. อิทธิพล ศรีเสาวลักษณ์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนางสาวจรูญศรี ชายหาด ผู้อำนวยการส่วนนโยบายภาษีท้องถิ่นและรายได้อื่น สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ร่วมอภิปราย

ศ.ดร.ดิเรก  กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งมีการยกเว้นการจัดเก็บภาษี (ถาวร) ให้แก่  วัด วัง สถานทูต สถานที่ราชการ ฯลฯ ว่า ไม่เห็นด้วย ซึ่งสถานที่เหล่านั้นควรมีการเสียภาษีให้เหมือนกับประชาชนทั่วไป พร้อมเสนอทางออกอาจมีการลดหย่อนภาษีได้ หรือกรณีเกิดภัยพิบัติ ขณะที่อัตราภาษีที่จะจัดเก็บ เพดานก็ควรออกมาให้กลางกว่านี้ ไม่ใช่เก็บต่ำจนเกินไป

“กรณีที่ดินทิ้งว่างเปล่าไม่ได้ทำประโยชน์ ใน 3 ปีแรกให้อปท.เรียกเก็บภาษีในอัตราร้อยละ 0.5 ของฐานภาษี และหากยังไม่ได้ทำประโยชน์อีกเป็นเวลาติดต่อกัน ให้เพิ่มอัตราภาษีอีก 1 เท่าในทุก 3 ปี แต่ไม่เกินร้อยละ 2 ของฐานภาษีนั้น เชื่อว่า คงดำเนินการได้ยาก และจะมีปัญหาในการดำเนินการ  โดยเฉพาะนิยามการไม่ได้ใช้ประโยชน์ ถามว่า แล้วใครจะเป็นคนวินิจฉัย”

คชจ.-งบฯไม่พอ เชื่อรัฐบาลหันมาสนใจภาษี

ขณะที่ผศ. อิทธิพล แสดงความเป็นห่วง ร่าง พ.ร.บ.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยเฉพาะในเรื่องการประเมินการเรียกเก็บภาษี เพราะเหตุว่า อปท.ยังอยู่ในระดับการพัฒนาตัวเอง ดังนั้นเมื่อมอบหมายให้อปท.เป็นผู้ประเมิน หมายถึง อปท.ต้องจัดเจ้าหน้าที่สำรวจ ทำการประเมินภาษีทุกแปลงที่อยู่ในพื้นที่ ไม่เฉพาะที่ดิน แต่รวมถึงทรัพย์สินในที่ดิน ที่ยากคือ ทรัพย์สินอย่างเดียวกันแต่ต่างกันเป็นร้อยเท่า ตรงนี้เราจะทำอย่างไรให้เกิดความเป็นธรรม ไม่ให้เกิดการคอร์รัปชั่น หรือมีการประเมินภาษีให้ต่ำเข้าไว้ เพื่อให้มีการเสียภาษีน้อยสุด

"กฎหมายเขียนให้ผู้จัดเก็บภาษี คือ อปท. เรายังไม่มีองค์กรกลางเข้ามาทำหน้าที่ประเมิน แล้วจะให้ใครประเมิน หรืออปท.ต้องประเมินตัวเอง ตรงนี้เป็นคำถามเราจะจัดระบบตรงนี้กันอย่างไร อาจไม่ใช่เรื่องของกฎหมาย แต่เป็นเรื่องการจัดระเบียบการจัดการ” ผศ. อิทธิพล กล่าว และว่า ส่วนอัตราภาษี เราต้องการจัดเก็บเพื่อนำเงินไปใช้ประโยชน์ในกิจการสาธารณะ ดังนั้นการจัดเก็บต่ำ  รายได้ไม่พอ อปท.ก็ต้องหาจากส่วนอื่น ฉะนั้น  การเก็บภาษีในอัตราสูง แล้วให้ลดหย่อนในปีแรก ลดหย่อนชั่วคราว เหมือน VAT จะเป็นไปได้หรือไม่

ผศ. อิทธิพล กล่าวว่า อัตราภาษี จะกลายเป็นเครื่องมือในการกระจายการถือครองที่ดิน แต่หากมีการกำหนดอัตราเพดานภาษีแบบในกฎหมายฉบับนี้  เชื่อว่า ไปไม่รอด เพราะไม่ถือเป็นกฎหมายการกระจายการถือครอง แต่เป็นกฎหมายการจัดเก็บรายได้

สำหรับข้อมูลการถือครองที่ดินนั้น อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ  กล่าวว่า ที่ดินเป็นสมบัติสาธารณะ ต่อให้มีมากแค่ไหนตายไปแล้วติดตัวไปไม่ได้ และจะต้องตกทอดอยู่กับคนในประเทศนี้ ดังนั้น ข้อมูลการถือครองที่ดิน จึงควรเป็นข้อมูลสาธารณะ เป็นข้อมูลเปิด ไม่ใช่ปกปิด

เมื่อถามว่า มีความหวังกับกฎหมายฉบับนี้แค่ไหน ผศ. อิทธิพล กล่าวว่า “ ผมให้10%  จาก 100% “ เรายังต้องติดกับพ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและภาษีบำรุงท้องที่อีกนาน เพราะเหตุว่า เรายังไม่มีความพร้อม  มีคนคัดค้านมากมาย ดังนั้น การนำเสนอเรื่องนี้จึงขึ้นอยู่กับว่า รัฐบาลมีนโยบายหรือไม่  จะเห็นว่า ที่ผ่านมา มีหลายกฎหมายรัฐบาลหยิบขึ้นมาทบทวนจะผลักดันต่อหรือไม่ แต่ที่สุดแล้วกฎหมายหลายฉบับรัฐบาลก็ไม่รับรอง เพราะไม่ใช่นโยบาย

“ถามว่า ร่าง พ.ร.บ.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จำเป็นหรือไม่ ก็ต้องถามว่า ขณะนี้เราใช้งบกลางส่งเงินไปให้ท้องถิ่น  หากงบประมาณไม่พอ ก็ต้องจัดหารายได้เพิ่มเติม ถึงเวลานั้น รัฐบาลจึงจะกลับมาสนใจเรื่องภาษี ค่าใช้จ่ายต่างหากสำคัญ รัฐบาลใช้จ่ายเรื่องอะไร มีเงินหรือไม่ หาจากทางไหน”

กม.ภาษีที่ดินฯ ไม่ได้อยู่ในนโยบายเร่งด่วนปีแรก

นางสาวจรูญศรี   กล่าวถึงสถานะของร่าง พ.ร.บ.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง  ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ กฎหมายฉบับนี้ได้ไปจ่ออยู่ที่สภาแล้ว แต่เมื่อมีการยุบสภา เปลี่ยนรัฐบาล ตามหลักรัฐธรรมนูญมาตรา 153 แล้วต้องมีการยืนยันภายใน  60 วัน ซึ่งอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล) ก็ยืนยันไปกับร่างกฎหมายฉบับอื่นๆ แต่ในครม. เลือกไม่ยืนยัน ส่งผลให้ร่างกฎหมายนี้ตกไป  ซึ่งอาจเป็นเพราะรัฐบาลชุดนี้ต้องการดูในรายละเอียด หรือถือว่า เป็นร่างของคนละรัฐบาลกัน ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ต้องทบทวนตัวร่างนี้และเสนอขึ้นไปอีกครั้งหนึ่ง

“จะเห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ไม่ได้อยู่ใน นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่จะต้องรีบทำภายใน 1 ปี แต่อยู่ในนโยบาย 4 ปี ในหมวดที่ดินและทรัพยากร ฉะนั้นจึงเชื่อว่า เรื่องนี้จะไม่หลุดออกไป หากรัฐบาลอยู่ยาวครบเทอม”นางสาวจรูญศรี   กล่าว และยอมรับว่า ร่างพ.ร.บ.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยเฉพาะเรื่องการลดหย่อนภาษี ยังมีการลักลั่นอยู่ ซึ่งการลดหย่อนภาษี ควรใช้หลักเกณฑ์ ลดหย่อนตามมูลค่าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ให้สอดคล้องกับการคำนวณฐานภาษี 

และเมื่อถามว่า คอขวดของกฎหมายฉบับนี้อยู่ตรงจุดไหน นาง สาวจรูญศรี กล่าวว่า  ไม่ได้เกี่ยวกับความน่ากลัวของการเก็บภาษี  แต่เกี่ยวกับสถานะการเมือง  โดยเฉพาะการเปลี่ยนรัฐบาล ก็ต้องตั้งเรื่องเสนอใหม่ แต่ทั้งนี้ เชื่อว่า ความพยายามอธิบายจะทำให้คนไทยยอมรับ และเข้าใจมากขึ้นว่า  ร่าง พ.ร.บ.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นภาษีบำรุงท้องถิ่น