logo isranews

logo small 2

มจธ.เดินหน้า 'บัณฑิตไทยไม่โกง' ปลูกฝังค่านิยมไม่รับคนทุจริต

เขียนวันที่
วันศุกร์ ที่ 21 มิถุนายน 2556 เวลา 09:52 น.
เขียนโดย
isranews

มจธ.เดินหน้าโครงการบัณฑิตไทยไม่โกง เผย ทปอ.เล็งให้ 27 สถาบัน ศึกษารูปแบบคอร์รัปชั่น 10 สาขาวิชาชีพ ปลูกฝังบัณฑิตไม่ยอมรับคนทุจริต ชี้หากทำผิดจริงต้องมีมาตรการที่ชัดเจน

 

 รศ.ดร.เชาวลิต ลิ้มมณีวิจิตร รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ในฐานะรองประธานคณะทำงานโครงการบัณฑิตไทยไม่โกง ในโครงการของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ที่มีการลงนามความร่วมมือโครงการ 'บัณฑิตไทยไม่โกง' และความร่วมมือสร้างค่านิยมความรับผิดชอบต่อสังคมให้แก่นิสิตนักศึกษาใน 27 สถาบันอุดมศึกษาไปเมื่อเร็วๆ นี้ เปิดเผยกับ 'สำนักข่าวอิศรา' ถึงการขับเคลื่อนกิจกรรมในโครงการฯ ขณะนี้ว่า ล่าสุดมหาวิทยาลัยราชภัฏและมหาวิทยาลยเอกชนก็จะร่วมกันดำเนินการตามแนวความร่วมมือในโครงการนี้เพิ่มเติมแล้ว

โดยกิจกรรมในโครงการขณะนี้อยู่ในระหว่างเตรียมการ เริ่มแรกสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เตรียมจัดทำแบบสำรวจภาวะการรับรู้เรื่องราวเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชั่นจากนิสิต นักศึกษา สอบถามความคิดเห็น พฤติกรรมนักศึกษา การรับรู้รับทราบเรื่องราวการทุจริตคอร์รัปชั่นที่เป็นเรื่องใกล้ตัวทั้งของตนเอง เพื่อนและครูอาจารย์

"จากนั้นจะมีการนำแบบสำรวจดังกล่าวเข้าพิจารณาในที่ประชุม ทปอ.วันอาทิตย์นี้ (23 มิ.ย.56) ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น และเมื่อผ่านการเห็นชอบจะกระจายไปยัง 27 สถาบันเพื่อทำการสำรวจ รวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ผลต่อไป"

ทั้งนี้ ทปอ.ได้จัดเตรียมสื่อประสม เพื่อใช้ในการเรียน แบ่งเป็น 2 ส่วน

1.จัดทำสื่อสมัยใหม่ อินโฟกราฟฟิคที่เกี่ยวกับคอร์รัปชั่น การโกงในประเทศ เผยแพร่ในผ่านโซเชียลมีเดีย เพื่อให้นักศึกษาเข้าถึง และรู้ทันการทุจริตคอร์รัปชั่นในปัจจุบันว่าส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง

2.จัดทำกรณีศึกษาเจาะลึก 10 สาขาวิชาชีพ ที่มีโอกาสเกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นโดยตรง เช่น สาขาวิศวกรรม อาจมีการกำหนดราคาที่ไม่ถูกต้อง ส่งผลตต่อการประมูลราคางาน หรือในวิชาชีพการแพทย์ เทคโนโลยีสารสนเทศ นิติศาสตร์ บริหาร บัญชี ฯลฯ ตามสาขาวิชาที่แต่ละมหาวิทยาลัยมุ่งเน้นือาทิ มจธ.เน้นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก็จัดทำการศึกษาในสาขาวิชาชีพวิศวกรรม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒทำกรณีศึกษาสาขาวิชาชีพด้านการศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ด้านสาขาการแพทย์ เป็นต้น

จากนั้นจะรวบรวมจัดทำเป็นหนังสือ ให้มหาวิทยาลัยต่างๆ นำไปใช้ประกอบการเรียนการสอน และรู้เท่าทันคอร์รัปชั่นต่อไป ซึ่งแผนดังกล่าวนี้ ได้มีการพูดคุยและตั้งงบประมาณไว้แล้ว เตรียมจะจัดตั้งคณะทำงานเร็วๆ นี้

รศ.ดร.เชาวลิต กล่าวถึงมาตรการภายในมหาวิทยาลัยว่า จะมุ่งเน้นการยึดมั่นคุณธรรมทั้งนักศึกษาและบุคลากรในมหาวิทยาลัย อย่างนักศึกษามี 'หลักเกียรติยศของนักศึกษา' ที่ต้องควรยึดถือไว้ในใจ ทั้งคุณธรรม ความถูกต้อง และการนิ่งไม่ดูดายกับการโกงในรูปแบบต่างๆ

"การรณรงค์การทุจริตคอร์รัปชั่นจะไม่เป็นผลหากนักศึกษาพบการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ทั้งด้านการเรียนและการใช้ชีวิตแล้วนิ่งดูดาย จะปลูกฝังให้มีการตักเตือน หรือรายงานความไม่ถูกต้องนั้นให้คนมีหน้าที่รับผิดชอบแก้ไข และพยายามให้ถึงขั้นที่แม้จะมีโอกาสโกงก็จะไม่ทำ ซึ่งสิ่งนี้สูงส่งกว่า โดยการโกงในมหาวิทยาลัยนั้นอาจเกิดขึ้นหลากหลาย เช่น การโกงเชิงนโยบาย โกงเวลาหลวง ใช้เส้นสาย ให้สินบน"

ในส่วนหลักสูตรการเรียนการสอน รศ.ดร.เชาวลิต กล่าวว่า จะไม่ได้ระบุลงในรายวิชาใดวิชาหนึ่ง แต่จะสอดแทรกในเนื้อหาวิชาการศึกษาทั่วไป ที่แต่ละมหาวิทยาลัยต้องเรียนอยู่แล้ว รวมถึงในการทำรายงาน การทดลอง หรือการทำวิทยานิพนธ์ที่ต้องมีคุณธรรม มีการอ้างอิงที่ถูกต้อง ไม่สร้างผลการทดลองเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ดี และไม่นำผลงานของผู้อื่นมาเป็นของตัว กิจกรรมต่างๆ เหล่านี้จะพยายามสอดแทรกอยู่ในชีวิตของนักศึกษา

"ทปอ.กำลังพยายามสร้างมาตรฐานที่ตรงข้ามกับที่มีการนำเสนอข่าวว่านักศึกษาและคนไทยยอมรับการโกงได้ หากมีผลงงาน หรือได้ผลประโยชน์ ให้เปลี่ยนเป็น 'รับไม่ได้' และ 'ไม่ยอมนิ่งดูดาย' ให้เกิดขึ้น โดยยึดหลัก 'เริ่มต้นที่ตัวเรา' ไม่ต้องรอให้สังคมเปลี่ยน หรือนักการเมืองหยุด รณรงค์เรื่องนี้ทั้งกับนักศึกษาและอาจารย์ผู้สอน" รศ.ดร.เชาวลิต กล่าว และว่า สำหรับอาจารย์ผู้สอน ในมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่จะมีมาตรฐานทางจริยธรรมวิชาชีพ (Code of Conduct) สำหรับบุคลากรสายวิชาการว่าสิ่งใดควรหรือไม่ควรกระทำ

"กรณีข่าวในหลายมหาวิทยาลัย หากพบว่ามีการทุจริตคอร์รัปชั่นเกิดขึ้นจริงในมหาวิทยาลัยอย่างไม่น่ายอมรับได้ โดยเฉพาะเมื่อได้ลงนามในโครงการฯ ไปแล้ว ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยพึงกระทำในฐานะราชการ ควรจะหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาทำให้สาธารณะรับรู้รับทราบ ผู้บริหารจะอยู่นิ่งเฉยไม่ได้ ต้องเริ่มแก้ที่ตัวเรา หยุดทุจริต หยุดการใช้เส้นสาย เมื่อพูดออกสื่อแล้วตัวเราเองไม่ปฏิบัติก็ไม่น่าเป็นสิ่งที่ทำได้ อย่างไรก็ตาม ในประเด็นนี้ ทาง ทปอ.ยังไม่ได้นำไปพูดคุยกัน แต่หากเกิดขึ้นจริงผมว่าก็เป็นเรื่องที่ลูบหน้าปะจมูกพอสมควร"

รศ.ดร.เชาวลิต กล่าวด้วยว่า สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้จัดสรรงบประมาณพิเศษให้มหาวิทยาลัยไปจัดทำโครงการบัณฑิตไทยไม่โกงให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น สำหรับ มจธ.ที่เป็นประธานเครือข่ายอุดมศึกษาภาคกลางตอนล่าง ได้งบประมาณ 1.5 ล้านบาท เพื่อแจกจ่ายให้มหาวิทยาลัยในกลุ่มรวม 17 แห่ง จัดทำโครงการมาเสนอขอรับเงิน

ขณะที่รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน อธิการบดี มจธ. กล่าวถึงการเข้าร่วมกับ ทปอ.ในโครงการบัณฑิตไทยไม่โกงนับเป็นโอกาสดีที่จะต่อยอดกิจกรรมต่อต้านคอร์รัปชั่น เนื่องจาก มจธ.ได้เป็นสมาชิกเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) มาก่อนแล้ว จึงได้ใช้โอกาสนี้กระตุ้นลูกศิษย์และบุคลากรในมหาวิทยาลัยให้เอาจริงเอาจังกับการต่อต้านการคอร์รัปชั่นรูปแบบต่างๆ มากขึ้น

โดยเฉพาะนักศึกษา มจธ.พยายามจะผลิตบัณฑิตที่ดีและเก่ง มีจิตอาสา มีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคม จึงมุ่งเน้นมาตรการสร้างสังคมนักศึกษาที่ดูแล พูดคุยและปรึกษากันในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนต่างๆ ในการศึกษา ที่เป้นต้นเหตุการณ์โกง ยึดหลักเกียรติยศของนักศึกษา ยึดมั่นคุณธรรม ยืนหยัดบนความถูกต้อง ให้เกียรติและใส่ใจเพื่อนร่วมงาน และไม่นิ่งดูดายต่อความไม่ถูกต้อง แบบที่ให้นักศึกษาเป็นผู้คิดโครงการ กิจกรรมและวิธีการหาทางออก โดยมหาวิทยาลัยเป็นผู้สนับสนุน

"ได้ประกาศชัดเจนว่าหากมีการกระทำที่ไม่ถูกต้อง หรือเข้าข่ายทั้งนักศึกษาและบุคลากรจะให้เป็นเรื่องที่สังคมมหาวิทยาลัยนี้ยอมรับไม่ได้ และกระตุ้นให้เกิดกระบวนการคิดหาวิธีการจัดการสำหรับสังคมนักศึกษา สังคมมหาวิทยาลัยว่าจะดูแลกันอย่างไร"

สำหรับกรณีความไม่ถูกต้องในแวดวงกรศึกษาที่กำลังพูดถึงในสังคมขณะนี้ รศ.ดร.ศักรินทร์ เห็นว่า ควรเป็นเรื่องที่นำขึ้นมาพูดคุยบนโต๊ะ เพื่อให้สังคมหาทางออกร่วมกัน ไม่ใช่เรื่องที่พึงจะต้องยอมรับ อย่าง มจธ.ก็ประกาศนโยบายกับบุคลากรชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องที่มีแนวโน้มน่าเป็นห่วง เช่น มีการหากินกับผลงานทางวิชาการของอาจารย์ที่ตีพิมพ์ในวารสาร ยอมรับว่ามีเกิดขึ้นบ้างเพราะเป็นสังคมที่ใหญ่ แต่ก็พยายามมีมาตรการที่ชัดเจน