เกิดธรรมาภิบาลแท้จริง! เลขาฯ ป.ป.ท. ชี้ กม.ใหม่เป็นอิสระ-เคลียร์คดีเร็ว
เลขาฯ ป.ป.ท. ชี้แก้ กม.ใหม่ ทำให้อิสระมากขึ้น ไม่ผูกกับการเมือง ทำให้การไต่สวนคดีทำได้รวดเร็ว ลั่น ม.58 วรรคสอง เป็นพลังขับเคลื่อนระบบราชการ เกิดธรรมาภิบาในภาครัฐอย่างแท้จริง ยันไม่มีเป่าคดีทิ้ง เร่งเคลียร์คดีค้างให้เสร็จ
จากกรณีราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ พ.ร.บ.มาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2559 หรือ พ.ร.บ.ป.ป.ท. และ พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 16) พ.ศ.2559 โดย พ.ร.บ. ทั้งสองฉบับ มีเนื้อหาสาระสำคัญคือ ให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ออกจากสังกัดกระทรวงยุติธรรม ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี และปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้นนั้น
(อ่านประกอบ : มีผลแล้ว! แยก ป.ป.ท.จาก ก.ยุติธรรม เป็นองค์กรขึ้นตรงนายกฯ)
นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการ ป.ป.ท. ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงกรณีนี้ว่า เบื้องต้น ป.ป.ท. เมื่อแก้กฎหมายใหม่แล้ว ไม่ได้เป็นองค์กรอิสระ แต่เป็นหน่วยงานที่ไม่สังกัดกระทรวง ทบวง กรม ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี ในฐานะสายการบังคับบัญชา ในเรื่องการขับเคลื่อนนโยบายด้านป้องกันและปราบปรามทุจริตให้กับรัฐบาล ส่วนการดำเนินคดีไต่สวนต้องทำภายใต้อำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ท. ขณะเดียวกันต้องทำหน้าที่ขับเคลื่อนบูรณาการด้านป้องกันและปราบปรามการทุจริตกับศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ซึ่งขึ้นกับ รมว.ยุติธรรม (พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา) ด้วย
นายประยงค์ กล่าวอีกว่า ในการแก้กฎหมายดังกล่าว ได้ปรับปรุงสามประเด็นหลัก ได้แก่ หนึ่ง ทำให้ ป.ป.ท. มีอิสระในการทำงานมากขึ้นในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นที่มาของเลขาธิการ ที่ไม่ได้มาจากการแต่งตั้งของกระทรวง รวมถึงคณะกรรมการใหม่ไม่ได้ผูกกับฝ่ายการเมือง ทำให้คณะกรรมการเป็นอิสระไม่เกี่ยวกับการเมือง
สอง ปัญหาที่ผ่านมาคือ การไต่สวนคดีล่าช้ามาก แต่กฎหมายใหม่ได้แก้ไขตรงนี้ ได้แก่ การเปิดโอกาสให้เลขาธิการฯ สั่งให้เจ้าหน้าที่ไต่สวนเบื้องต้นไปก่อน ภายใต้หลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด แต่ของเดิมไม่มี ซึ่งขั้นตอนนี้ช่วยลดระยะเวลาไม่น้อยกว่า 5-6 เดือน แต่ประเภทคดีจะมีอะไรบ้าง ต้องให้คณะกรรมการวางกรอบอีกรอบหนึ่ง
สาม การแก้ไขมาตรา 58 วรรคสอง ของ พ.ร.บ.ดังกล่าว จะเป็นพลังขับเคลื่อนระบบราชการ แก้ไขปัญหาของประชาชน หรือปัญหาการทุจริตอย่างแท้จริง เนื่องจากกำหนดไว้ทำนองว่า กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ท. เห็นว่า หน่วยงานของรัฐใดมีวิธีปฏิบัติหรือดำเนินงานที่สร้างความเดือดร้อนประชาชนและส่อไปในทางทุจริต หรือเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการอย่างร้ายแรง ให้แจ้งหัวหน้าหน่วยงานรัฐนั้นทราบ เพื่อตรวจสอบ และแก้ไขภายใน 30 วัน หากไม่มีการแก้ไขให้คณะกรรมการ ป.ป.ท. รวบรวมและส่งเรื่องให้คณะรัฐมนตรี และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
“ของเดิม ป.ป.ท. ต้องออกไปตรวจสอบเอง ซึ่งคนของ ป.ป.ท. ไม่มีทางไปตรวจสอบได้ครบถ้วน ถ้าตรวจสอบช้าประชาชนยิ่งเดือดร้อน แต่พอแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ป.ป.ท. จะคอยติดตามควบคู่ไปด้วย นับเป็นวิธีที่ครอบคลุมปัญหามากขึ้น เพราะบังคับให้หน่วยงานราชการต้องตรวจสอบตัวเอง ดังนั้นกฎหมายมาตรานี้จะทำให้เกิดธรรมาภิบาลในระบอบภาครัฐอย่างแท้จริง เป็นโชคดีที่ทำให้ระบบธรรมาภิบาลในภาครัฐกลับมา และแก้ไขปัญหาของชาติได้ในระยะยาว” นายประยงค์ กล่าว
ส่วนการเร่งรัดคดีที่ค้างอยู่นั้น นายประยงค์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีคดีที่ค้างอยู่ประมาณ 9,000-10,000 คดี แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.คดีที่อยู่ในอำนาจของ ป.ป.ช. 2.คดีที่ไม่มีมูลต้องยุติเรื่อง 3.คดีที่อยู่ระหว่างไต่สวน 4.คดีที่ต้องส่งไปยังหน่วยงานต้นสังกัด เบื้องต้นตนได้สั่งการเร่งรัดในคดีกลุ่มที่ 2 เนื่องจากตรวจสอบพบว่า บางเรื่องไม่มีมูล หรือไม่มีพยานหลักฐาน ให้เรื่องตกไป โดยในกลุ่มนี้มีประมาณ 1,000 คดี คาดว่าจะลดปริมาณลงไปได้ค่อนข้างเยอะ อย่างไรก็ดีที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. คนหนึ่งดูแลคดีเป็นหลักร้อย และต้องไต่สวนอีก 40-50 คดี แทบจะไม่มีเวลาขยับตัว ขณะเดียวกันกฎหมายใหม่ที่กำหนดให้พิจารณาเรื่องร้องเรียนให้เสร็จใน 3 เดือนว่า จะรับหรือไม่รับ ในส่วนนี้จะช่วยให้คดีของ ป.ป.ท. ลดน้อยลง
“แต่ยังยืนยันว่าจะไม่มีการเป่าคดี ไม่มีอะไรทั้งสิ้น เพราะการเคลียร์คดีต่าง ๆ ต้องส่งให้คณะกรรมการ ป.ป.ท. พิจารณา ผมมีหน้าที่แค่สรุปเรื่อง และที่ผ่านมาขั้นตอนรัดกุม มีการระวังว่า เจ้าหน้าที่คนนั้นคนนี้ เป็นพวกนั้นพวกนี้ ตรงนี้ไม่อยากให้เกิด จึงต้องวางหลักเกณฑ์ไว้ด้วย” นายประยงค์ กล่าว
หมายเหตุ : ภาพประกอบนายประยงค์จาก js 100