ประชาชนเข้าชื่อกว่าหมื่น เร่ง พ.ร.บ.องค์กรอิสระสิ่งแวดล้อมฯ ฉุนรัฐปัดตก
ประชาชนกว่า 1 หมื่นรายชื่อ จี้เร่งผ่านร่าง พ.ร.บ.องค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ป้องกันสิทธิชุมชนจากโครงการขนาดใหญ่ ชี้หาก รบ.ยิ่งลักษณ์ยังปัดตกอีกหมายถึงวงจรอุบาทว์เอื้อนายทุน
วันที่ 22 ก.พ. 55 คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน(กป.อพช.)ร่วมกับเครือข่ายสิ่งแวดล้อมไทย สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (สคส.)และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 11,219 คน เข้าชื่อร้องขอให้รัฐสภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) องค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ณ อาคารรัฐสภา 1 โดย
นางสุนทรี เซ่งกิ่ง เลขาธิการ กป.อพช. เปิดเผยว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540และรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550มาตรา 67 วรรค 2 กำหนดให้มีการจัดตั้งองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมฯ เพื่อทำหน้าที่ให้ความเห็นต่อโครงการหรือกิจกรรมที่อาจมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของประชาชน ก่อนที่หน่วยงานรัฐจะอนุมัติดำเนินโครงการ
โดยเดือน พ.ค. 54 สภาผู้แทนราษฎรได้ให้ความเห็นชอบ รวมถึงวุฒิสภาลงมติรับหลักการร่างกฎหมายแล้ว แต่วันที่ 10 พ.ค.54 ได้มีการตราพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร และรัฐบาลใหม่ที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชิณวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี กลับมีมติเมื่อ 20 ก.ย. 54 ไม่ยืนยันร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ทั้งที่เคยแถลงนโยบายคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา 23 ส.ค. 54 ข้อ 5.3 ระบุว่าจะผลักดันกฏหมายดังกล่าว
เลขาธิการ กป.อพช. กล่าวอีกว่า ดังนั้นภาคประชาชนจึงต้องออกมาเคลื่อนไหวตามสิทธิในรัฐธรรมนูญโดยการเข้าชื่อเสนอร้องขอให้รัฐสภาพิจารณาผ่านร่าง พ.ร.บ.องค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพโดยเร็ว เพื่อปกป้องสิทธิชุมชนและประชาชนที่จะได้รับหรือได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาต่าง ๆ ของภาครัฐและเอกชนมากมาย ทั้งนี้ที่สำคัญร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เคยผ่านวุฒิสภาในรัฐบาลก่อน และตามมาตรา 303 รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 กำหนดให้คณะรัฐมนตรีใหม่ต้องดำเนินการจัดทำกฎหมายที่ค้างอยู่ให้แล้วเสร็จภายใน 1ปีนับแต่วันที่แถลงนโยบายต่อรัฐสภา มิเช่นนั้นร่างกฏหมายนั้นจะตกไป แต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์กลับมีมติไม่ยืนยันร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว
ด้านนายสุพจน์ ส่งเสียง รองประธานกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาแผนพัฒนาของรัฐบาลล้วนสร้างผลกระทบต่อชุมชน แม้ประชาชนในท้องถิ่นจะพยายามต่อต้าน แต่กลับไม่ได้รับการเหลียวแลจากภาครัฐ มิหนำซ้ำยังโดนข่มขู่ทำร้ายจากกลุ่มทุน ดังนั้นหากสามารถผลักดันกฏหมายจัดตั้งองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมที่ภาคประชาชนร่วมกันเสนอชื่อ ก็จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการปกป้องสิทธิชุมชน แต่หากกฏหมายฉบับนี้ไม่ผ่านอีกก็จะเป็นเพราะรัฐบาลมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งและเอื้อผลประโยชน์ของกลุ่มนายทุนมากกว่าดูแลประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งจะยังคงเป็นวงจรอุบาทว์ของประเทศเช่นนี้ต่อไป
นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 กล่าวภายหลังรับหนังสือเสนอร่างพ.ร.บ.องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ว่าจะให้ผู้รับผิดชอบตรวจสอบความถูกต้องของรายชื่อผู้เสนอร่างกฎหมาย ซึ่งตามกำหนดต้องทำให้เสร็จภายใน 90 วัน แต่จะพยายามเร่งรัดให้เหลือเพียง 45 วัน เพื่อความรวดเร็วในการออกกฎหมายเป็นเครื่องมือคุ้มครองสิทธิของชุมชนในการดำเนินชีวิตท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่ดี พร้อมยืนยันว่ารัฐบาลให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมภาคประชาชนแท้จริง .