“พื้นที่รับน้ำนอง” ยังไม่ได้ข้อสรุป เห็นแย้งพื้นที่ไม่เหมาะ เดินต่ออาจพลาด
ประชุมกำหนดพื้นที่รับน้ำนอง 6 ประเภท ผู้เข้าร่วมเสียงแตกหาข้อสรุปไม่ได้ เห็นแย้งแก้มลิงที่ถูกเสนอยังไม่เหมาะสม-ขาดการมีส่วนร่วม อปท. หวั่นเกิดปัญหามวลชน หากเดินต่อเกรงผิดพลาด
วันที่ 23 ก.พ.55 ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์(กษ.) มีการประชุมเพื่อพิจารณากำหนดพื้นที่รับน้ำนองและมาตรการเยียวยา โดยมีหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม อาทิ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ โดยมี ดร.เจษฎา แก้วกัลยา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน
ทั้งนี้มีข้อเสนอเรื่องพื้นที่รับน้ำนอง 6 ประเภท ได้แก่ ประเภทที่1 เป็นพื้นที่เกษตรกรรม(พื้นที่นา) ในเขตชลประทานของกรมชลประทานที่มีระบบขนส่งและกระจายน้ำและระบบระบายน้ำถึงในระดับไร่นามีคันล้อมปิด อาคารบังคับน้ำและเครื่องสูบน้ำสามารถควบคุมน้ำเข้าออกได้ ในปีปกติจะไม่เกิดอุทกภัยในพื้นที่บริเวณนี้ ประกอบด้วย พื้นที่เจ้าพระยาตอนบน พื้นที่เจ้าพระยาตอนล่าง
ประเภทที่2 พื้นที่เกษตรกรรม(พื้นที่ทุ่ง)เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำในเขตชลประทาน มีคลองเป็นคลองจมที่จะใช้เป็นทั้งคลองระบายน้ำ มีคันปิดล้อมอาคารบังคับน้ำและเครื่องสูบน้ำสามารถควบคุมน้ำเข้าออกได้ ซึ่งจะใช้เป็นพื้นที่ชะลอน้ำเป็นปกติในปีน้ำมาก ประกอบด้วย พื้นที่เจ้าพระยาตอนบน และเจ้าพระยาตอนล่าง
ประเภทที่3 เป็นพื้นที่แก้มลิงแม่น้ำ เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำหรือหนองบึงที่อยู่ติดกับลำน้ำ มีโครงสร้างพื้นฐานเป็นคันปิดล้อม มีทางน้ำและอาคารบังคับน้ำ สามารถควบคุมการไหลของน้ำเข้าออก มีเครื่องสูบน้ำและมีทางเชื่อมโยงออกจากแก้มลิงไปสู่แม่น้ำได้ ประกอบด้วย พื้นที่เจ้าพระยาตอนบน พื้นที่เจ้าพระยาตอนล่าง
ประเภทที่4 เป็นพื้นที่ทางน้ำหลาก หรือ ฟลัดเวย์ ที่จะเอาพื้นที่ด้านตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน ซึ่งอยู่ระหว่างคันกั้นน้ำแม่น้ำท่าจีน และฝั่งตะวันออกแม่น้ำเจ้าพระยา ตะวันออกคลองระพีพัฒน์ ช่วงระหว่างคลอง13และคลอง14 มาใช้ ประกอบด้วยพื้นที่ฟลัดเวย์ด้านตะวันออกคลองระพีพัฒน์ ฟลัดเวย์ฝั่งตะวันตกแม่น้ำท่าจีน
ประเภทที่5 จะเป็นพื้นที่พักน้ำชั่วคราว ไม่มีคันปิดล้อมด้านบน คอยกั้นน้ำไม่ให้ไหลเข้าพื้นที่จากที่สูง แต่มีคันปิดล้อมและอาคารบังคับน้ำด้านล่าง สามารถควบคุมการไหลของน้ำลงท้ายน้ำได้ ประกอบด้วยพื้นที่เจ้าพระยาตอนบน พื้นที่เจ้าพระยาตอนล่าง
ประเภทที่6 เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ทุ่งรับน้ำ(แก้มลิง) ที่เป็นหนองบึงหรือที่สาธารณะที่สามารถรับน้ำและเก็บน้ำไว้ได้ แต่แนวทางนี้ยังขาดโครงสร้างพื้นฐานคันปิดล้อมและอาคารบังคับน้ำที่คอยควบ คุมการไหลเข้าออกของน้ำซึ่งปัจจุบันเรียกกันว่าแก้มลิง
ทั้งนี้มีแหล่งข่าวระบุว่า การประชุมครั้งนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนเกี่ยวกับการกำหนดพื้นที่รับน้ำนอง เนื่องจากที่ประชุมมีความเห็นไม่ตรงกันในประเด็นการเลือกพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม และยังมีอีกหลายพื้นที่ที่ที่ถูกเสนอแต่ยังไม่ได้มีการนำเข้ามาพูดคุย รวมทั้งการยกคันกั้นน้ำที่อาจไม่สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมได้มากนัก อีกทั้งประเด็นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ยังไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณา
“เป็นการประชุมครั้งที่ 2 แต่ยังไม่มีอะไรชัดเจน เพราะมีหลายพื้นที่ที่ยังไม่ได้นำเข้ามาพูดคุยว่าจะจัดการอย่างไร ส่วนพื้นที่ที่นำเข้ามาพูดคุยวันนี้ หลายคนก็ไม่เห็นด้วยเพราะไม่เหมาะสม หากเดินต่อไปอาจเกิดความผิดพลาด” แหล่งข่าวระบุ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายกำหนดพื้นที่รับน้ำ 2 ล้านไร่ แยกเป็นพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างเหนือ จ.นครสวรรค์ 1 ล้านไร่ พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างอีก 1 ล้านไร่ เพื่อใช้เป็นพื้นที่แก้มลิงนั้น ข้อมูลจากกรมชลประทานระบุว่าในส่วนของภาคเหนือตอนล่างเหนือ จ.นครสวรรค์ สามารถสำรวจหาพื้นที่ลุ่มต่ำรับน้ำได้ครบ 1 ล้านไร่แล้ว แต่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณตอนใต้ของ จ.นครสวรรค์ และ จ.ชัยนาทตอนเหนือ จ.พระนครศรีอยุธยา จนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถหาที่ลุ่มต่ำรองรับน้ำได้ครบ 1 ล้านไร่ตามเป้าที่ตั้งไว้
โดยกำหนดแนวทางแก้ไขคือ นอกจากจะใช้พื้นที่แก้มลิงที่มีอยู่เดิมบางส่วนแล้ว จะนำพื้นที่รับน้ำนองซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าวในเขตชลประทานลุ่มน้ำเจ้าพระยา ในภาคกลางมาเป็นที่รับน้ำเพิ่มเติมให้ครบ 1 ล้านไร่ด้วย อย่างไรก็ตามที่นาหรือที่ทำการเกษตรที่จะนำมาเป็นพื้นที่รับน้ำนองนั้น จะให้เกษตรกรทำนาปลูกข้าว หรือปลูกพืชเกษตรอื่นๆ ได้ตามปกติ เพียงแต่ต้องเก็บเกี่ยวผลผลิตให้เสร็จเรียบร้อยภายในเดือนสิงหาคม .