ส.โลกร้อน ฟ้องแทนชาวบ้าน ให้ศาลระงับสร้างเขื่อนกั้น 11 นิคมอุตฯ
“ศรีสุวรรณ” ฟ้องศาลสั่ง 7 หน่วยงานระงับสร้างเขื่อนกั้นน้ำ 11 นิคมฯ ชี้ไม่ผ่านรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามติดฟลัดเวย์ แผนชดเชยชุมชนยังไม่ชัด
วันที่ 6 มี.ค.55 ที่ศาลปกครองกลาง ถ.แจ้งวัฒนะ สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนเป็นตัวแทนชาวบ้าน 39 คนรอบนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 11 แห่ง ยื่นฟ้องให้ศาลมีคำสั่งให้ 7 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องระงับการดำเนินการก่อสร้างเขื่อนกั้นน้ำรอบนิคมอุตสาหกรรม
คือ นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน, สวนนิคมอุตสาหกรรมบางกะดี, เขตประกอบการอุตสาหกรรม สวนอุตสาหกรรมโรจนะ, นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค (บ้านหว้า), สวนอุตสาหกรรมนวนคร, สวนอุตสาหกรรมสหรัตนนคร, เขตประกอบอุตสาหกรรมแฟคตอรี่แลนด์วังน้อย, นิคมอุตสาหกรรมบางชัน, นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง, นิคมอุตสากรรมบางพลี, นิคมอุตสาหกรรมบางปู
โดย 7 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, กรมโรงงานอุตสาหกรรม, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน, คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) และคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.)
นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมฯ กล่าวว่า การยื่นฟ้องครั้งนี้เนื่องจากภาครัฐเพิกเฉยต่อภาระหน้าที่ในการปล่อยเงินกู้ผ่านธนาคารออมสินให้ผู้ประกอบการนิคม/เขต/สวนอุตสาหกรรม 11 แห่งใน พื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี สมุทรปราการและกรุงเทพฯ ก่อสร้างเขื่อนหรือพนังกั้นซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนและชุมชน โดยไม่มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ)
“รัฐบาลต้องสร้างความสมดุลระหว่างความเดือดร้อนของชาวบ้านกับความเชื่อมั่นของนักลงทุน มิใช่ให้ชาวบ้านรับผลกระทบทั้งหมด การยื่นฟ้องครั้งนี้เพื่อให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้ระงับการสร้างเขื่อน
นายศรีสุวรรณ กล่าวต่อว่า สมาคมยังจะติดตามแผนปฏิบัติงานกำหนดพื้นที่รับน้ำนองและฟลัดเวย์ของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด เพราะขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน ที่สำคัญพื้นที่ที่รัฐบาลกำหนดส่วนใหญ่กระทบสิทธิของชุมชนทั้งสิ้น หากไม่มีความชัดเจนแล้วประกาศเดินหน้าต่อไป จะส่งผลเสียต่อชาวบ้านอย่างมาก
ทั้งนี้ในคำขอท้ายฟ้องต่อศาลคือ 1.ขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีร่วมกันระงับและเพิกถอนการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมการก่อสร้างเขื่อนหรือพนังกั้นน้ำของผู้รับใบอนุญาตหรือผู้พัฒนานิคม/เขต/สวนอุตสาหกรรมทั้ง 11 แห่ง 2.ขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีร่วมกันจัดทำแผนการระบายน้ำอย่างเป็นรูปธรรมโดยรอบนิคม/เขต/สวนอุตสาหกรรมทั้ง 11 แห่ง โดยการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยรอบรัศมี 10 กิโลเมตร
3.ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีร่วมกันกำหนดหลักเกณฑ์การชดเชยเยียวยาและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยรอบนิคม/เขต/สวนอุตสาหกรรม ทั้ง 11 แห่ง อย่างเป็นรูปธรรมและจัดตั้งกองทุนพัฒนาคุณภาพชีวิตและชดเชยประชาชน โดยการเก็บค่าธรรมเนียมเข้ากองทุนจากผู้พัฒนานิคมฯ หรือโรงงานต่างๆ โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและผู้ฟ้องคดี 4.ขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ม.57, 58, 66, 67 พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 ม.46, 51 พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ม.5, 10, 11 และพ.ร.บ.การขุดและถมดิน พ.ศ. 2543 ม.26 ก่อนที่จะเห็นชอบอนุมัติการก่อสร้าง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้(5 มี.ค.) มีกลุ่มชาวบ้าน จ.อุทัยธานี ออกมาแสดงการต่อต้านกลุ่มเอ็นจีโอที่คัดค้านการสร้างเขื่อนรอบ 11 นิคมฯ โดยให้เหตุผลว่าหากไม่มีการป้องกันนิคมฯ ในอนาคตอาจตกงาน ทั้งนี้เป็นจังหวะเดียวกับที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีกำลังเดินทางไปญี่ปุ่นเพื่อแสดงความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนถึงการป้องกันน้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรม.