สพฉ.-ทหาร-อาสาสมัคร ถอดบทเรียนน้ำท่วม จี้รัฐแก้จุดอ่อนก่อนซ้ำรอย
สถาบันแพทย์ฉุกเฉิน-ทหาร-มูลนิธิกู้ภัย สรุปบทเรียนแก้น้ำท่วม 54 ชี้ปมรัฐบาลกับ กทม.ทำงานขัดขากัน-สายด่วนไม่มีคนรับ-กฟภ.ไม่ตัดไฟทำคนถูกช็อตตาย แนะทำแผนรับมือภัยพิบัติเฉพาะด้านระดับพื้นที่
วันที่ 9 มี.ค.55 ที่โรงแรมสุนีย์แกรนด์ จ.อุบลราชธานี สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) จัดเสวนา “ความสำเร็จ ความล้มเหลว การจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉินในมหาอุทกภัย” โดย นพ.ชาตรี เจริญชีวะกุล เลขาธิการ สพฉ. กล่าวว่า อุทกภัยที่ผ่านมาให้บทเรียนกับสังคมไทยมาก ทั้งความสำเร็จและความล้มเหลว ซึ่งหน้าที่หลักของ สพฉ. คือการประสานความช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน
นพ.ชาตรี กล่าวอีกว่าภัยพิบัติเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างไม่คาดคิด ดังนั้นสิ่งที่ต้องเตรียมคือแต่ละจังหวัด แต่ละพื้นที่ควรมีการวิเคราะห์ความเสี่ยงและวางแผนว่าภัยในแต่ละพื้นที่มีอะไรบ้าง เช่น ภัยจากแผ่นดินไหว ภัยจากดินโคลนถล่ม เพราะแต่ละพื้นที่มีโอกาสเสี่ยงการเกิดภัยต่างกัน จากนั้นต้องวางแผนเพื่อสำรองทรัพยากรทางการแพทย์หรือแผนการเตรียมรับมือ และท้ายที่สุดอยากให้ทุกภาคส่วนนำความล้มเหลวและการสูญเสียแต่ละครั้งเป็นบทเรียนที่จะร่วมทางแก้ต่อไป
พล.อ.ต.มานิต ศัตรูลี้ รองเจ้ากรมแพทย์ทหารอากาศ กล่าวว่า ทหารทุกเหล่าทัพได้มีการจัดทำแผนบรรเทาสาธาณภัยหลักอยู่แล้ว ซึ่งมีความพร้อมในทุกๆด้านทั้งเรื่องทรัพยากรและบุคลากร และได้จัดสรรการทำงานออกเป็นสัดส่วนอย่างชัดเจน โดยกรมกิจการพลเรือนจะทำการแจ้งเตือนข่าวและเมื่อได้รับข่าวก็จัดสรรกำลังของทหารทุกเหล่าทัพทั้งบกเรืออากาศเพื่อเข้าไปช่วยเหลือในพื้นที่ นอกจากนี้แล้วยังได้สนับสนุนทั้งทางอากาศยาน การขนส่งบำรุงเชื้อเพลิง เพื่อเข้าไปช่วยเหลือทุกหน่วยงานที่ทำงานในสถานการณ์ภัยพิบัติด้วย รวมทั้งประสานความร่วมมือกับ สพฉ.เพื่อลำเลียงผู้ป่วยและผู้ประสบเหตุทางอากาศด้วย
นายกฤษณ์ธรรม กสิกรรังสรรค์ ตัวแทนมูลนิธิป่อเต่กตึ๊ง กล่าวว่าได้ทำงานร่วมกับครอบครัวข่าว 3 โดยจัดตั้งโรงทานและโรงครัวเคลื่อนที่บริเวณโรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค จัดเจ้าหน้าที่ลงเรือกระจายกันลงพื้นที่ช่วยเหลือชาวบ้านโดยนำอาหารที่ผลิตจากโรงครัวเคลื่อนที่เข้าไปแจกจ่ายให้ชาวบ้านที่ไม่ต้องการออกจากพื้นที่ และยังจัดตั้งศูนย์วิทยุสื่อสารที่อาคารมาลีนนท์เพื่อประสานการช่วยเหลือจากทุกฝ่ายด้วย ซึ่งได้รับเสียงสะท้อนจากชาวบ้านมาตลอดเวลาว่าเครียดเพราะทรัพย์สินเสียหายไปกับน้ำที่ ซ้ำร้ายน้ำท่วมครั้งนี้มีผู้เสียชีวิตจาการถูกไฟดูดเป็นจำนวนมาก ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรต้องเร่งแก้ไขในเรื่องนี้ นอกจากนี้อุปสรรคที่พบเจอในการปฏิบัติหน้าที่คือขาดอุปกรณ์ อาทิ เรือ และรถที่สามารถขนย้ายผู้ประสบเหตุด้วย
นายประสิทธิ์ ทองทิตย์เจริญ คณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน(กพฉ.) กล่าวว่าเหตุการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมาเป็นสิ่งที่คาดไม่ถึง และยาวนานมากกว่า 3 เดือน ซึ่งผู้ปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือต้องมีจิตอาสาจริงๆถึงจะช่วยได้แม้จะมีความยากลำบาก มูลนิธิได้ประสานหน่วยงานต่างๆช่วยกันได้อย่างกลมกลืน ไม่ว่าจะเป็นทหาร แพทย์ ซึ่งแตกต่างจากสมัยก่อนที่ต่างคนต่างทำเรียกได้ว่าแย่งกันทำความดี ทั้งนี้ตั้งแต่มี สพฉ.ขึ้นมา ปัญหาในการประสานงานช่วยเหลือก็ลดลง อย่างไรก็ตามปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติงานที่พบเจอก็คือสภาพพื้นที่ที่ไม่สามารถนำยานพาหนะเข้าไปให้การช่วยเหลือได้
ด้านนายบิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ ตัวแทนจากมูลนิธิร่วมกตัญญู กล่าวว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในเหตุกาณ์น้ำท่วมที่ผ่านมาคือการทำงานระหว่างรัฐบาล กับ กทม. ไม่ประสานงานสอดคล้องกัน และการประเมินสถานการณ์และข้อมูลที่ผิดพลาดของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงทำให้ประชาชนไม่สามารถเตรียมตัวรับมือกับน้ำท่วมได้ทัน ทั้งนี้เรื่องการสื่อสารก็เป็นปัญหา โทรศัพท์หมายเลขต่างๆที่ออกมาแจ้งเหตุต่างๆในตอนเกิดเหตุนั้นไม่สามารถใช้ได้ หรือเมื่อประชาชนโทรศัพท์ไปตามหน่วยงานที่มีสายด่วนก็ไม่มีใครรับสาย ประชาชนต้องอยู่แบบลำบาก รวมไปถึงระบบการตัดจ่ายไฟของการไฟฟ้า (กฟภ.)ก็มีปัญหาเพราะในหลายหมู่บ้านมีคนโดดไฟดูด ดังนั้นต่อไปจะต้องร่วมกันหาทางแก้ปัญหาอย่างบูรณาการ .
ที่มาภาพ : http://hilight.kapook.com/view/64023