Renée Vellvé : เจ้าของโนเบลทางเลือก’54 วิพากษ์ปมแย่งยึดที่ดินเกษตรกรรายย่อยทั่วโลก
Ms. Renée Vellvé เป็นเจ้าของรางวัลโนเบลทางเลือกของรัฐสภาสวีเดนปี 2554 จากการทำงานพัฒนาเกษตรกรรายย่อยในฐานะผู้ก่อตั้ง Coordinator of GRAIN ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศที่ติดตามปัญหาการแย่งยึดที่ดินทั่วโลก
เร็วๆนี้เธอเดินทางมาปาฐกถาพิเศษเรื่อง “การแย่งยึดที่ดินกับความมั่นคงทางอาหาร” ในการประชุม “อิสรภาพทางพันธุกรรม อธิปไตยและความมั่นคงทางอาหาร” ที่จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์….ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรานำมาเสนอ….
“วิกฤตอาหาร – การเงิน” จุดเริ่มต้นปัญหาแย่งยึดที่ดินเกษตร
การแย่งยึดที่ดินเป็นปัญหาที่มีแนวโน้มสำคัญในประเทศไทย ขณะที่เกิดขึ้นมากแล้วในประเทศเพื่อนบ้านรอบๆ เช่น ในลาว ที่ดิน 41% ถูกครอบครองโดยคนต่างชาติ ขณะที่ทั่วโลกก็มีภาพการแย่งผืนดินขนาดใหญ่กว่า 10,000 แฮกเตอร์ (62,500 ไร่) โดยบรรษัทข้ามชาติและความร่วมมือของรัฐบาลต่างๆ หรือการให้เช่ายาวนานถึง 99 ปี เพื่อลงทุนทั้งเหมืองแร่ ผลิตน้ำมัน และการท่องเที่ยว ประมาณการณ์ว่ามีผืนดินที่ถูกแย่งยึดโดยนักลงทุนต่างชาติแล้วมากกว่า 227 ล้านแฮกเตอร์(1,362 ล้านไร่)
ในที่นี้ ขอพูดเฉพาะเรื่องการแย่งยึดพื้นที่เพื่อการผลิตอาหารและส่งออก ซึ่งการแย่งที่ดินนี้มีมานานกว่าหลายร้อยปี โดยเฉพาะประเทศอังกฤษที่ได้พื้นที่มาจากสงครามแย่งชิง แต่วันนี้เป็นมิติใหม่ “การแย่งยึดที่ดินเพื่อการเกษตร” มีจุดเริ่มต้นจากวิกฤตอาหารเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ทำให้เกิดการทำเกษตรต่างแดน หรือยุทธศาสตร์อาหารแบบใหม่ที่ประเทศต้องพึ่งพิงการนำเข้าแทนการผลิตเองในประเทศ รวมทั้งวิกฤตการเงินเมื่อ ปี 51 ในสหรัฐอเมริกา ทำให้ทั่วโลกรวมทั้งไทยรับผลกระทบ ราคาอาหารพุ่งสูง จึงต้องมีการปรับตัวโดยเฉพาะเกาหลี จีน ญี่ปุ่น และรัฐในตะวันออกกลาง
นักลงทุนจึงมองหาการลงทุนใหม่ที่ปลอดภัยกว่า คือการผลิตอาหาร นักการทูตและนักลงทุนตบเท้าเดินขบวนไปประเทศต่างๆที่มีที่ดินเหลือ เพื่อเจรจาด้านการเกษตรบนที่ดินขนาดใหญ่ เพราะมองว่าคนต้องกินอาหารทุกวัน และประชาคมโลกต้องขยายตัว อาหารจะเริ่มขาดแคลน ราคาอาหารก็จะพุ่งสูง ยิ่งสภาพเปลี่ยนแปลงจากภูมิอากาศด้วยก็ยิ่งเอื้ออำนวยต่อการขึ้นราคา จุดเริ่มต้นนี้จึงมุ่งเข้าไปรุกทำการเกษตรที่เน้นพืชอาหารหลัก เช่น ข้าว ข้าวโพด จากเดิมที่แต่ก่อนเน้นยาสูบ
“กองทุนจากหยาดเหงื่อคนงาน” ถูกนำไปกว้านซื้อที่ดินเกษตรกรในประเทศอื่น
การเจรจามักปกปิดและอ้างความอ่อนไหวทางการเมือง แต่เบื้องต้นการตรวจสอบจากธนาคารโลกพบว่ามีการทำสัญญาเชิงแย่งยึดที่ดินใน 60 ประเทศกลุ่มเป้าหมาย หรือครึ่งหนึ่งของทวีปเอเชีย เฉพาะในปี 2554 กว่า 80 ล้านแฮกเตอร์ (480 ล้านไร่) ล่าสุดสถาบันโอ๊คแลนด์ (Oakland Institute) มีข้อมูลว่าพื้นที่กว่า50 ล้านแฮกเตอร์(300 ล้านไร่) ใน 20 ประเทศถูกกว้านซื้อ ซึ่งยังมีอีกไม่รู้อีกเท่าไร
การลงทุนแย่งยึดที่ดินครึ่งหนึ่งอยู่ในทวีปแอฟริกา อีกครึ่งอยู่ในเอเชียและยุโรปตะวันออก ด้วยเม็ดเงินกว่า 50 พันล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐ (15,000 ล้านล้านบาท) กระทำการโดยบริษัทเอกชน, สถาบันการเงินระหว่างประเทศ, ธนาคารโลก โดยความร่วมมือของรัฐบาล มีการใช้เงินกองทุนบำเน็จบำนาญของผู้ใช้แรงงานทั้งจากการประกันชีวิต เสี่ยงภัยกว่า 30 ล้านล้านดอลล่าร์ฯ (900 ล้านล้านบาท) กองทุนความมั่นคั่งแห่งชาติของรัฐบาลกว่า 4.7 ล้านล้านดอลล่าร์ (141 ล้านล้านบาท) กองทุนนอกตลาดหลักทรัพย์ 2.4ล้านล้านดอลล่าร์ (72 ล้านล้านบาท) กองทุนเพื่อการเก็งกำไร 1.9 ล้านล้านดอลล่าร์ (57 ล้านล้านบาท) ซึ่งที่ถูกนำมาใช้มากที่สุดคือกองทุนของแรงงาน
“รัฐบาลประเทศเจ้าของที่ดิน รวมหัวต่างชาติ” บีบเกษตรกรรายย่อยสู่ชุมชนแออัด
ขณะนี้การลงทุนกว้านซื้อที่ดินขนาดใหญ่ มุ่งไปที่ประเทศ เช่น อาฟริกา ออสเตเรีย และยุโรปตะวันออก โดยมีวิธีการเซ็นสัญญา 2 รูปแบบ ได้แก่ 1.บริษัทต่างชาติตั้งกองทุนแล้วหาผู้ลงทุนร่วมในประเทศนั้นๆ 2.บริษัทต่างชาติขอซื้อผ่านรัฐบาลในประเทศนั้นๆ เช่น ในเอธิโอเปียเอกชนจะเป็นเจ้าของที่ดินร้อยละ 10 อีกร้อยละ 90 เป็นของรัฐบาลซึ่งมีอำนาจจัดสรรให้ซื้อหรือเช่า อาจมีการขายหรือปล่อยเช่าราคาถูก เพื่อหวังเงินตอบแทน หรือความช่วยเหลือเรื่องเทคโนโลยี การตลาด สาธารณูปโภค การส่งเสริมอาชีพเกษตร
ซึ่งในเอธิโอเปีย มีการขายที่ดินให้ต่างชาติไปเเล้วกว่า 22.5 ล้านไร่ และมีอีก 44 ล้านไร่ที่กำลังตกลงร่วมลงทุนกับ 35 บริษัทจากอินเดีย ซาอุดิอาระเบีย ยุโรป และอิสราเอล เบื้อต้นบริษัทคารูตูริของอินเดีย ได้ครอบครองที่ดินในเอธิโอเปียแล้ว 1.9 ล้านไร่ ในจังหวัดแกมเบล่า และ 62,500 ไร่ในจังหวัดโอเรเมีย เพื่อปลูกข้าวโพด ข้าว ปาล์มน้ำมันและอ้อยสำหรับป้อนตลาดโลก เป็นเหตุให้ประชาชนในพื้นที่กว่า 70,000 คนถูกไล่ออกจากพื้นที่และรัฐบาลจัดที่ให้อยู่ในชุมชนแออัด เมื่อชาวบ้านเดินประท้วงและเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาชี้แจงเรื่องงบประมาณ แต่รัฐบาลปฏิเสธ พร้อมกับส่งทหารเข้าควบคุม
“จีน-อเมริกา” ยักษ์ใหญ่กว้านซื้อที่ดิน ชาวบ้านไม่ยอมเป็นแรงงานในที่ดินตัวเอง
ประเทศที่ไปแย่งยึดที่ดินมากที่สุด คือ จีน,สหรัฐอเมริกา และประเทศที่ถูกแย่งมากที่สุดคือ ไลบีเรีย,ลาว ทั้งนี้จีนมีนโยบายชัดเจนส่งนักธุรกิจกระจายเข้าไปกว้านซื้อที่ดินในประเทศต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับประเทศตน โดยเน้นการผลิตถั่วเหลืองและข้าวโพด แล้วนำเข้าสู่ประเทศตน ซึ่งพื้นที่เพาะปลูกน้อยลงแล้ว
ทั้งนี้มีกว่า 400 กรณีศึกษาที่เกี่ยวกับการแย่งยึดที่ดิน โดยเจ้าของรายใหญ่ อาทิ เมเลส ซีเนวี , อาบูดาบี ไดบซูดาน , ซีค อัล อามูดดี , ฮุนได เป็นต้น และประเทศเป้าหมายคือ บราซิล อาร์เจนตินา อุรุกวัย เคนย่า นิวกินี ฟิลิปปินส์ ลาว โดยกลยุทธ์ที่คนและบริษัทเหล่าใช้คือเริ่มแรกเข้าไปซื้อโดยผ่านเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ถ้ามีปัญหาในท้องถิ่นก็จะเปลี่ยนเป็นขอเช่าในระยะขั้นต่ำ 30 ปี และต้องได้หลักประกันสิทธิผูกขาดผลผลิตจากพืชผลที่เก็บเกี่ยวในพื้นที่ทั้งหมด เพราะแม้จะไม่ได้ยึดครองที่ดิน แต่ก็ต้องการควบคุมพืชผลที่ผลิตได้ เพื่อความมั่นคงทางอาหาร
ตัวอย่าง บริษัท Beidahuang Group ของจีนเข้าไปเจรจาในระดับผู้ว่าราชการของรัฐริโอเนโกร โดยบริษัทนี้จะขอควบคุมการผลิต แต่เกษตรกรประท้วงรุนแรงว่า “จะเป็นไปได้ไงที่ชาวบ้านต้องมาเป็นแรงงานในที่ดินตัวเอง” บริษัทจึงใช้กลยุทธ์จะทำเขื่อนให้เพื่อแลกกับที่ดิน และเข้าไปเจรจากับบริษัทอาเจนตินาเพื่อร่วมลงทุนในพืชผลทางการเกษตร ให้ผลิตถั่วเหลือง และส่งให้เฉพาะในประเทศจีนเท่านั้น
เกษตรกรเหล่านี้ ให้เหตุผลว่า รัฐบาลของตนคิดแต่จะแลกเงินลงทุนเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค ให้ประชาชน ในขณะเดียวกันประชาชนที่ไม่มีสิทธิในที่ดินทำกินก็จะถูกขับไล่ โดยไม่ได้อะไรเลย แม้บริษัทจะอ้างว่ายินดีจะสร้างสาธารณูปโภคให้ ชาวบ้านจะได้ผลประโยชน์จากการขุดลอกคลอง ทำเขื่อน และจ้างงาน แต่ความเป็นจริงมีการจ้างงานน้อยมาก เมื่อเทียบกับประชากรที่ต้องถูกขับไล่ อีกทั้งเป็นการผลิตภาคเกษตรขนาดใหญ่ การจ้างคนจึงต้องการจ่ายให้น้อยที่สุด นักลงทุนเหล่านี้จะพูดสวยหรูถึงการจ้างงาน แต่ไม่เคยทำได้ถึงแม้จะมีการจ้างงานจริงก็แค่ฤดูเก็บเกี่ยว ถางหญ้า และจ้างในอัตราที่ถูกมาก
2 ปฏิกิริยา แย่งยึดที่ดินทั่วโลก
ปฏิกริยาต่อกรณีการกว้านซื้อที่ดินของต่างชาติ แบ่งเป็นสองฝ่าย ด้านองค์กรระหว่างประเทศพอใจที่นักลงทุนเข้ามาช่วยเหลือพัฒนาด้านเกษตรในประเทศต่างๆ ซึ่งเคยเป็นหน้าที่ขององค์กรต่างๆเหล่านี้ จึงเห็นว่าไม่ควรไล่นักลงทุนเหล่านี้ แค่ควรออกจรรยาบรรณเพื่อกำกับให้เกิดธรรมมาภิบาลหรือความโปร่งใส ดูแลสิ่งแวดล้อม และดูแลชาวบ้าน
ส่วนปฏิกิริยาอีกฟากของบรรดาเกษตรกรรายย่อย ต้องการหยุดยั้งการแย่งที่ดินทำกิน และชี้ให้เห็นว่าชาวบ้านมีแต่สูญเสียทั้งไร้ที่ทำกิน ค่าแรงต่ำ และไม่สามารถสร้างความมั่นคงทางอาหารได้
มีการจัดเวทีสังคมโลกที่แคนนาดา เพื่อสร้างเครือข่ายต่อต้านการยึดที่ดิน มีการออกปฏิญญาการต่อต้านยึดที่ดิน เพื่อความมั่นคงทางอาหาร โดยให้มีการปฏิรูปที่ดินต่อเนื่องเพื่อยกระดับให้เหนือการแย่งยึดที่ดิน การปฏิรูปที่ดินขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในแต่ละประเทศ โดยยึดความเสมอภาคในการกระจายสิทธิในการครอบครอง และให้หลักประกันและสิทธิร่วมชุมชนเป็นผู้ควบคุมดูแลและได้รับประโยชน์
ไม่จำเป็นต้องต่อต้านการลงทุนด้านเกษตรของนายทุน แต่ที่สำคัญคือต้องให้เป็นการลงทุนที่อยู่ร่วมกับเกษตรกรรายย่อยในพื้นที่ โดยไม่สร้างความเดือดร้อน ไม่ให้ชาวบ้านเป็นทาสแรงงาน เช่น ส่งเสริมการผลิตในระดับท้องถิ่นและครัวเรือน ส่งเสริมให้มีตลาดท้องถิ่น ให้เกษตรกรรายย่อยสามารถเข้าถึงปัจจัยการผลิตและเมล็ดพันธุ์พืช
……………………….
การรณรงค์ในระดับโลก ต้องอาศัยเครือข่ายผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นเจ้าของกองทุนขนาดมหาศาลที่ถูกใช้ไปกว้านซื้อที่ดิน และอาศัยพลังเกษตรกรรายย่อยในแต่ละประเทศ เพื่อไม่ให้เกิดการแย่งยึดที่ดินที่ไม่เป็นธรรม และเพื่อปกป้องอธิปไตยด้านอาหาร .
(ติดตามข้อมูล เรื่องการแย่งยึดที่ดิน อธิปไตยด้านอาหาร ได้ที่ Farmlandgrab.org.)
--------------------------------------------------------
ข่าวต่างชาติเเย่งยึดที่ดินในไทย http://www.dailynews.co.th/article/439/17125