“นิธิ”ชี้กระจายอำนาจเลียนแบบกทม. ผูกขาดความรู้-อำนาจ ต้องรื้อใหม่
“นิธิ”เสนอรื้อกระจายอำนาจลงตำบลใหม่ไม่ถอดแบบกทม.รวมศูนย์ส่วนกลาง นักวิชาการระบุโครงสร้างไม่เป็นธรรมผูกขาดขาดความรู้-ตกเขียวแรงงาน เสนอประกันรายได้เกษตรกรลดเหลื่อมล้ำมากกว่าจำนำข้าว
วันที่ 18 มิ.ย.55 ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดและองค์กรภาคี จัดประชุมทางวิชาการระดับชาติสาขาสังคมวิทยา เรื่องแผ่นดินเดียวกันเหมือนอยู่คนละโลก วาระการวิจัยเพื่ออนาคต โดยมีนักวิจัย นักวิชาการ นักปฏิบัติในสังคมวิทยา ภาคีเครือข่ายความรู้ด้านสุขภาวะและเครือข่ายปฏิรูปสังคมทั้งในท้องถิ่นและภูมิภาคเข้าร่วม
ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ กล่าวในการปาฐกถาพิเศษการปฏิรูปประเทศไทยเพื่อการอยู่ร่วมโลกเดียวกันกับคนอื่นจินตนาการสู่อนาคตว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เพราะยังมีความเหลื่อมล้ำสูง การบริหารจัดการทรัพยากรสังคมไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบ คนเล็กคนน้อยไม่สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ สังคมไทยเต็มไปด้วยความอยุติธรรม ลักษณะการแก้ปัญหาถนัดแก้เฉพาะปัญหาที่เกิดขึ้นเดี่ยวๆ ไม่สามารถเข้าไปแก้ปัญหาทั้งระบบความเหลื่อมล้ำจึงไม่ใช่แค่การนำไปสู่ความตึงเครียดทางสังคม แต่ทำให้ศักยภาพบุคคลไม่สามารถพัฒนาได้เต็มที่ รวมทั้งการกระจายอำนาจเชิงการปกครองก็ยังเป็นการกระจายไปตกอยู่ในชนชั้นนำในท้องถิ่น ซึ่งต้องออกแบบความสัมพันธ์ในท้องถิ่นใหม่ โดยไม่ให้ตกอยู่ในชนชั้นนำในท้องถิ่น หรือถึงแม้อำนาจจะตกอยู่ในชนชั้นนำท้องถิ่น ทางออกก็ต้องทำให้เกิดการถ่วงดุล
“ปัญหาคือทำอย่างไรที่จะไม่ทำให้กระจายอำนาจเลียนแบบรัฐบาลส่วนกลาง ซึ่งไม่ใช่การย่อส่วนกทม.ลงไปตำบล ต้องให้พลังทางการเมืองแก่ท้องถิ่นให้มากขึ้น เพื่อทำให้การจัดการบริหารทรัพยากรในท้องถิ่นกระจายออกไปยังสมาชิกชุมชน โดยสรุปทางออกของความเหลื่อมล้ำก็คือการปรับโครงสร้างเชิงอำนาจ เมื่อทำเรื่องนี้ได้ การปรับความคิดประชาชนเพื่อเข้าไปจัดการบริหารทรัพยากรจะตามมา”
ด้าน ดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำของภาระความรับผิดชอบในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีรูปแบบความไม่เป็นธรรมแยกประเภทดังนี้1.ความไม่เป็นธรรมผลกระทบพลังงานบางคนใช้มากบางคนใช้น้อยแต่รับภาระผลกระทบใกล้เคียงกัน ซึ่งลักษณะการจัดการสังคมแบบนี้คนที่มีความพร้อมทางเศรษฐกิจน้อยกว่าได้รับความเดือดร้อน 2.ผลกระทบผู้ใช้มากได้รับผลกระทบมาก แต่ทั้งนี้กลุ่มนี้ก็มักผลักภาระออกไปจากตัวเอง เช่น กรุงเทพฯหรือจังหวัดใหญ่ใช้พลังงานมาก เมื่อมีการสร้างโรงไฟฟ้าในชุมชนก็เท่ากับ ผลักภาระผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้คนต่างจังหวัด 3.ผู้ที่ได้ประโยชน์มากโดยไม่ต้องรับภาระ เช่น การป้องกันน้ำท่วมของกรุงเทพฯเมื่อปีที่ผ่านมา โดยไม่ได้รับภาระเลย แต่เป็นการผลักภาระให้คนอื่นรับน้ำ 4. สร้างผลกระทบน้อยแต่รับภาระมาก เช่น คดีโลกร้อนที่มีการตรากฎหมายฟ้องร้องคนจน ที่ทำการเกษตร มีอัตราการคิด เรื่องน้ำละเหย ดินเสื่อมโทรม ที่ระบุว่าเป็นเหตุทำให้โลกร้อน ต้องเสียค่าปรับไร่ละ 150,000 บาท แต่กรณีโรงงานปล่อยสารผิดในมาบตาพุด จ.ระยองยังไม่มีโมเดลเรียกเก็บค่าเสียหาย
“การวางแผนดำเนินนโยบายทุกรัฐบาลส่วนกลาง ต้องยกคำว่าผลประโยชน์ส่วนรวมมาปิดปากประชาชน องค์ประกอบความเหลื่อมล้ำ คือ อำนาจความรู้ถูกผูกขาด ความเพิกเฉยของสังคม ทำให้ความเหลื่อมล้ำดำรงอยู่ทางออกคือสังคมไทยต้องเรียนรู้ร่วมกัน ต้องสร้างความรู้ให้ชุมชน ทั้งในปริมาณและคุณภาพ”
ขณะที่ ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า ระบบโควต้าเกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกอ้อยและตกการเขียวแรงงานก็เป็นอีกหนึ่งและความไม่เป็นธรรมในสังคม ประเทศไทยส่งออกน้ำตาลระดับต้นๆของโลก ที่ผ่านมาเชื่อกันว่าพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลจะเป็นกฎหมายที่จะจัดสรรความเป็นธรรมให้เกษตรกรรายย่อย แต่แท้จริงแล้วเป็นเครื่องมือสะสมทุนที่เอาเปรียบเกษตรกร ผ่านกรรมการที่ไม่ได้เป็นเกษตรกรแต่เป็นตัวแทนโรงงานเข้ามากำหนดเงื่อนไขต่างๆ เช่น เกษตรกรขายอ้อยให้โรงงานส่วนหนึ่งรับเงินสด อีกรับเป็นเช็ค เดือนหนึ่งจึงขึ้นเงินได้ เมื่อเกษตรกรจำเป็นต้องใช้เงิน ทำให้เกิดกระบวนการรับซื้อเช็คที่ต้องเสียค่าเปอร์เซ็นต์ ชานอ้อย กากน้ำตาลที่นำไปแปรรูปอาหาร เครื่องปรุงมูลค่ามาหาศาล เกษตรกรไม่ได้รับการจัดสรร แต่เป็นโรงงานที่ได้ประโยชน์ฝ่ายเดียว
“วิธีการสะสมทุน มีทั้งการอำพรางต้นทุนที่แท้จริง การซื้อขายอ้อยเขียว นำไปสู่การเร่งใช้สารเคมี การผลักภาระความเสี่ยงให้เกษตรกร รวมทั้งการตกเขียวแรงงานชนบทและกลุ่มชาติพันธุ์ ต้องทำงานหนักมีปัญหาสุขภาพ ต่อรองไม่ได้ ไม่มีหลักประกันและปัญหาอื่นๆที่สังคมควรหันมาทำความเข้าใจวิธีของทุนที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น รวมทั้งมองมิติความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำความไม่เป็นธรรม”
ส่วน นายธนพร ศรียากูล คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร กล่าวถึงนโยบายประชานิยมรัฐบาลชุดปัจจุบันว่า จากการคำนวณสัดส่วนการแบ่งประโยชน์ของคน 3 กลุ่ม คือผู้ส่งออก โรงสี และชาวนาตั้งแต่ปี2543-2554ซึ่งเป็นการคำนวณจากการอ้างอิงของราคาตลาดข้าวพบว่า ก่อนนำนโยบายประชานิยมจำนำข้าวมาใช้สัดส่วนการแบ่งปันผลประโยชน์ชาวนาได้ 68 เปอร์เซ็นต์ โรงสี 2 เปอร์เซ็นต์ ส่งออก 30 เปอร์เซ็นต์ หลังการนำนโยบายจำนำข้าวมาใช้สัดส่วนชาวนาจะลดลงเป็น 32 เปอร์เซ็นต์ โรงสีเพิ่มขึ้นจาก 2 เป็น 21 ส่วนผู้ส่งออกก็ 47 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่การประกันรายได้เกษตรกรของรัฐบาลชุดที่ผ่านมาพบว่าตัวเลขจะย้อนกลับคือชาวนาได้ 87 เปอร์เซ็นต์ โรงสีลดลงจาก 20 กว่าเหลือ 34 เปอร์เซ็นต์ ส่วนผู้ส่งออกลดลงเหลือ 9 เปอร์เซ็นต์ ตัวเลขที่คำนวณได้เมื่อ นำไปถามผู้เชี่ยวชาญในกรมการค้าภายใน กรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ และผู้เชี่ยวชาญในวงการโรงสีค่าขายก็ยืนยันในตัวเลขดังกล่าว
“มองในแง่การแบ่งปันผลประโยชน์ ต้องยอมรับว่านโยบายประกันรายได้ตอบโจทย์ได้มากกว่า แต่ นโยบายประกันรายได้ ไม่ค่อยตรงใจผู้ปลูกข้าว เพราะการจำนำเป็นเนื้อเป็นหนังมากกว่า ได้รับเงินเป็นกอบเป็นกำ ดังนั้นในแง่วิธีคิดการตอบโจทย์ลดความเหลื่อมล้ำคือการประกันรายได้ แต่ถ้าตอบโจทย์เรื่องชีวิตที่เข้าถึงความอำนวยสะดวกสบาย การได้ส่งลูกหลานเรียนสูงๆ ก็ต้องบอกว่านโยบายรับจำนำเป็นคำตอบที่น่าสนใจ” อาจารย์คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร กล่าว
ที่มาภาพ : http://www.thairath.co.th/column/eco/ecoscoop/12840