ศึกโพลล์ชนโพลล์ NIDA vs ABAC ความเหมือนที่แตกต่าง
(ดร.สุวิชา เป้าอารีย์ - ดร.นพดล กรรณิกา)
แม้สถานะผู้ว่าราชการ กทม.ของ “ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร” จะยังไม่ได้รับการรับรองจาก กกต. แต่สิ่งที่คนจำนวนไม่น้อยเชื่อและแอบยอมรับกันในใจไปแล้ว จากผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เมื่อวันที่ 3 มี.ค.ที่ผ่านมา
ก็คือ “โพลล์” ส่วนใหญ่ในเมืองไทย นั้น “ไม่แม่น”
และทั้งๆ ที่ ทุกสำนักโพลล์ต่างยืนยันว่าได้สำรวจความคิดเห็นตามระเบียบวิธีวิจัยเหมือนๆ กัน
แต่ก็ยังมีข้อสงสัยว่า แล้วทำไมผลที่ออกมาจึงไปคนละทิศละทาง?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ไปนั่งคุยกับโพลล์ 2 สำนักใหญ่ ที่ทั้งทายผลเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ ได้ใกล้เคียงและคลาดเคลื่อน เพื่อความหาว่า “ข้อแตกต่าง” อยู่ที่ไหน ทั้งที่วิธีปฏิบัติแทบจะถอดออกมาจากตำราเดียวกัน
ไม่ถึงกับเป็นการดีเบต-วิวาทะ แต่ให้เปรียบเทียบความคิดกัน ระหว่าง “นิด้าโพลล์” กับ “เอแบคโพลล์”
เพื่อที่ว่า ในอนาคตอันใกล้ เรา-คนไทย จะได้อ่านโพลล์อย่างเข้าอกเข้าใจ และรู้ทันมากขึ้น
-----
“ดร.สุวิชา เป้าอารีย์” ผอ.นิด้าโพลล์เผยถึงวิธีการเก็บแบบสำรวจของนิด้าโพลล์ว่าเป็นการเก็บผ่านโทรศัพท์ โดยสุ่มกลุ่มตัวอย่างจากฐานข้อมูลประชากรทั่วประเทศ 120,000 หมายเลข นิด้าโพลล์มีการทำความรู้จักกับผู้กลุ่มตัวอย่างก่อนที่จะมีการเก็บข้อมูล เพื่อเป็นสร้างความสัมพันธ์ ทำให้ผู้ตอบพร้อมจะให้ข้อมูลที่แท้จริง
“ประเด็นสำคัญของสอบถามข้อมูลผ่านทางโทรศัพท์ คือจะไม่มีการเผชิญหน้า ลดความไม่ไว้วางใจ ทำให้ผู้ตอบไม่มีความกังวลใจ ว่าคนที่ถามจะเป็นหัวคะแนนใครหรือไม่ จำหน้าได้หรือไม่ จะเกิดปัญหาตามมาทีหลังหรือไม่ เมื่อตอบแบบสบายใจก็จะตอบตามความจริง”
ผอ.นิด้าโพลล์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า วิธีการสำรวจทางโทรศัพท์นี้มันมีความแม่นยำ ตรงที่สามารถเลือกประชากร เลือกตัวอย่างที่ดีได้ เมื่อรันจากฐานข้อมูลจะพบกลุ่มตัวอย่างได้ตามต้องการ ต่างกับการลงพื้นที่สำรวจที่หลายครั้ง ยากจะได้กลุ่มตัวอย่างตามที่ต้องการ
“อย่างการทำโพลล์เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ ถามว่าคน กทม.ส่วนใหญ่เป็นใคร ส่วนใหญ่เป็นพนักงานบริษัท ไปตลาดสดตอนเช้าจะเจอไหม ไปซุปเปอร์มาร์เก็ตหรือตระเวนตามหมู่บ้านตอนสายๆ ล่ะ จะเจอไหม หรือตอนเย็นไปยืนถามตามสถานที่ที่คิดว่าจะมีคนเยอะๆ เช่น อนุสาวรีย์ สยามสแควร์ จะมีใครตอบหรือเปล่า เพราะแต่ละคนก็จะรีบร้อนกลับบ้าน นี่คือความยากของการทำโพลล์คน กทม. ซึ่งส่วนใหญ่หากไม่เป็นบ้านมีรั้ว ก็อยู่ตามคอนโด อพาร์ทเม้นต์ การโทรศัพท์เข้ามือถือตามฐานข้อมูลที่เรามีอยู่ จึงน่าจะเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่เป็นคน กทม.จริงๆ ได้มากกว่า”
เขายังกล่าวว่า นิด้าโพลล์ยังมีเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ในการสร้างสัมพันธ์กับกลุ่มตัวอย่าง อาทิ การส่งข้อความอวยพรวันปีใหม่ไปให้ ทั้งนี้ เพื่อให้กลุ่มคนดังกล่าวไว้ใจ สนิทใจ เมื่อเราโทรศัพท์ไปขอข้อมูล ก็จะรู้สึกเหมือนเพื่อน เหมือนลูกหลาน โทรศัพท์มาหา จึงพร้อมจะให้ข้อเท็จจริง
ดร.สุวิชา กล่าวทิ้งท้ายว่า เชื่อว่าทุกสำนักโพลล์ได้พยายามทำตามระเบียบวิธีวิจัย โดยไม่มีใครอยากได้ข้อมูลผิดเพราะเป็นชื่อเสียของหน่วยงาน ซึ่งส่วนใหญ่ที่ผิดอาจเพราะเทคนิคการสุ่มกลุ่มตัวอย่างไม่ตรงตามลักษณะประชากร และปัญหาการลงพื้นที่
(ดร.สุวิชา กำลังวิเคราะห์ว่าเหตุใด ม.ร.ว.สุขุมพันธู์จึงชนะการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.)
ด้าน “ดร.นพดล กรรณิกา” ผอ.เอแบคโพลล์ วิเคราะห์ถึงผลสำรวจผลเลือกตั้งผู้ว่าที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงว่า ในเชิงวิชาการ กรณีนี้เรียกว่า error หรือความคลาดเคลื่อน ไม่ได้เรียกว่า mistake หรือความผิดพลาด โดยความคลาดเคลื่อนสามารถเกิดได้ 2 ลักษณะ 1.จากการเลือกกลุ่มตัวอย่าง และ 2.จากปัจจัยอื่นๆ ที่ไม่ใช่การเลือกกลุ่มตังอย่าง
“ความคลาดเคลื่อนจากการเลือกกลุ่มตัวอย่าง เอแบคโพลล์สุ่มตัวอย่างไปหาประชากรจริงทั้งหมด 5 ชั้น ประกอบด้วยเขตปกครอง แขวง ชุมชน ครัวเรือน และคนในครัวเรือน เหตุที่เราต้องทำเช่นนี้ เพราะประเทศไทยยังไม่มีฐานข้อมูลประชากรที่เพียงพอ ซึ่งต่างจากการสุ่มตัวอย่างของสหรัฐอเมริกาที่ใช้โทรศัพท์บ้านที่มีเกือบทุกครัวเรือน ทำให้การสุ่มมีเพียง 2 ชั้น แต่ประเทศไทยทำไม่ได้ เพราะครัวเรือนที่มีโทรศัพท์บ้านมีเพียง 35% ทำให้ต้องสุ่มตัวอย่างถึง 5 ชั้น ข้อดี คือให้เป็นตัวแทนกลุ่มประชากรที่ต้องการสำรวจจริงๆ แต่ข้อเสีย ก็คือทำให้มีโอกาสคลาดเคลื่อนมาก เหมือนที่เอแบคโพลล์ระบุไว้ในโพลล์เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.แทบจะทุกโพลล์ว่ามีความคลาดเคลื่อน 7%”
ดร.นพดล กล่าวว่า ส่วนความคลาดเคลื่อนจากปัจจัยอื่นๆ ที่ไม่ใช่การเลือกกลุ่มตัวอย่าง เช่น คนที่ลงไปเก็บข้อมูลไม่ได้ทำจริง วิธีการเข้าหากลุ่มตัวอย่างไม่ถูกต้อง ฯลฯ เอแบคโพลล์ก็เคยประสบปัญหานี้ แต่ปัจจุบันได้แก้ไขด้วยการให้มีหัวหน้าคุมงาน หรือ “ซุปเปอร์ไวเซอร์” ประจำกลุ่ม เพื่อกำกับดูแลการลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็น นอกจากนี้ ยังให้ใช้แอพลิเคชั่น LINE ในการยืนยันว่า ได้ไปทำโพลล์ตามจุดต่างๆ ที่วางไว้จริงๆ ด้วยการให้แต่ละคนถ่ายรูปส่งมาให้ซุปเปอร์ไวเซอร์ เพื่อยืนยันว่าไปเก็บข้อมูลในจุดไหนบ้าง
“และวิธีที่ทำให้เขาไว้ในในการตอบคำถามเรา ก็คือเราจะมีซองให้ใส่แบบสอบถาม เมื่อกลุ่มตัวอย่างตอบแบบสอบถามมา เราก็จะเอาเอกสารนั้นใส่ซองให้เห็นต่อหน้า จากนั้นก็จะทำการปิดผนึก เพื่อยืนยันว่าคนที่ลงพื้นที่เก็บข้อมูลไม่รู้ว่ากลุ่มตัวอย่างรายนั้นตอบว่าอะไร ผมเชื่อว่าวิธีการนี้จะทำให้คนไว้ใจที่จะให้ข้อมูลกับเอแบคโพลล์”
เขายังกล่าวว่า โดยหลักวิชาการแล้วการเก็บข้อมูลจากโทรศัพท์บ้านจะแม่นยำที่สุด ซึ่งแตกต่างจากการเก็บข้อมูลจากโทรศัพท์มือถือ ที่เราไม่รู้ว่ามีการเปลี่ยนเบอร์ไปแล้วหรือไม่ และเขาจะพูดความจริงกับเราหรือไม่
“การที่ถูกต้องเพียง 1-2 ครั้ง ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าจะดีอย่างแท้จริง การที่เราทำมาเป็นสิบๆ ครั้ง มีความคลาดเคลื่อนที่มากเพียง 2 ครั้ง แล้วจะมาบอกว่าต้องฉีกตำราทิ้ง ผมว่ามันยังเร็วเกินไป”
(ดร.นพดล สาธิตวิธีการทำโพลล์ผ่านมือถือว่ามีโอกาสคลาดเคลื่อนอย่า่งไรได้บ้าง)
-----
นี่คือข้อแตกต่างเชิงรายละเอียดที่ทำให้ผลการสำรวจของทั้ง 2 โพลล์มีความแตกต่างกันในบางกรณี.
อ่านประกอบ
"โพลล์กับความจริง" เบื้องหลังชัยชนะ "สุขุมพันธุ์" ในทัศนะ ผอ.นิด้าโพลล์