- Home
- Isranews
- ข่าว
- จงใจเขียน 'ล็อคสเปค' ฮั้วประมูล! เครือข่ายภาค ปชช. จี้ 'ประยุทธ์' เเก้ไขทีโออาร์ รถไฟเชื่อม 3 สนามบิน
จงใจเขียน 'ล็อคสเปค' ฮั้วประมูล! เครือข่ายภาค ปชช. จี้ 'ประยุทธ์' เเก้ไขทีโออาร์ รถไฟเชื่อม 3 สนามบิน
เครือข่ายตรวจสอบทุจริตภาค ปชช. จี้ 'ประยุทธ์' สั่งทบทวนเเก้ไข TOR รถไฟเชื่อม 3 สนามบิน ส่อเปิดช่องทุจริต นำทรัพย์สินรัฐเอื้อประโยชน์เอกชน ชี้จงใจประเมินราคาที่ดินต่ำกว่าความจริง 3-4 เท่า เหลือ 6 เเสน/ตรว. ทำให้รัฐสูญเสียมูลค่าที่ดินมากกว่า 2 เเสนล. หากเดินหน้าโครงการฯ เตรียมฟ้องศาลอาญาคดีทุจริตฯ หาข้อยุติ พร้อมยื่นคำร้องนายกฯ เพิ่มเติม 6 ส.ค. 61
วันที่ 5 ส.ค. 2561 ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์เเห่งประเทศไทย เครือข่ายตรวจสอบการทุจริตภาคประชาชน แถลงข่าวเรื่อง ตรวจสอบความไม่โปร่งใสโครงการใช้ที่ดินมักกะสันเป็นของแถมให้แก่นักลงทุนในโครงการเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก โดยเรียกร้องขอให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการให้มีการทบทวนและแก้ไขประกาศเงื่อนไขการประมูล (TOR) โครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน
นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย กล่าวว่า ตามที่สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย และเครือข่ายกัลยาณมิตร ประกอบด้วยคณะตรวจสอบภาคประชาชน สหภาพรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย และผู้แทนสหภาพรัฐวิสาหกิจอีกหลายแห่ง ได้ยื่นคำร้องถึง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 ก.ค.2561 ว่า TOR โครงการรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งมีการฮุบเอาที่ดินกว่า 140 ไร่บริเวณมักกะสันของการรถไฟฯ เข้าไปรวมอยู่ในโครงการฯ ด้วยนั้น ถือได้ว่าการกำหนด TOR ดังกล่าวส่อไปในทางทุจริตและประพฤติมิชอบ นำทรัพย์สินของรัฐ ไปเอื้อประโยชน์ให้เอกชน อันเป็นการกระทำที่ส่อไปในทางทุจริตผิดกฎหมายหลายประการ ดังนี้
1) จงใจขัดพระบรมราชโองการของล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ที่ทรงเมตตาพระราชทานที่ดินบริเวณมักกะสันให้เป็นของการรถไฟฯ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในกิจการรถไฟเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนส่วนใหญ่เป็นที่ตั้ง ให้กลายเป็นที่ดินในครอบครองของนายทุนเอกชนที่จะนำไปดำเนินธุรกิจเพื่อแสวงหากำไรสูงสุดเป็นที่ตั้งแทน
2) การผนวกที่ดินของการรถไฟฯ บริเวณมักกะสันกว่า 140 ไร่ไปให้เอกชนพัฒนา ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการขนส่งระบบราง ถือได้ว่าจงใจที่จะกระทำด้วยประการใด ๆให้ที่ดินดังกล่าวตกไปเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนตลอดระยะเวลาสัมปทาน 50 ปี (+49 ปี) อันส่อไปในทางขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 56ประกอบมาตรา 164(1)(3) อย่างชัดแจ้ง
3) จงใจประเมินราคาที่ดินบริเวณมักกะสันให้ต่ำกว่าความเป็นจริง 3-4 เท่า เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชน เพราะตามที่รักษาการผู้ว่าฯ รฟท.ได้แถลงว่าราคาที่ดินมักกะสันตีราคาเพียง 6 แสนบาท/ตรว. แต่ทว่าราคาที่ดินบริเวณใกล้เคียง เช่น ที่ดิน รร.ปาร์คนายเลิศกลับมีการซื้อขายกันถึง ตรว.ละ 1.8 ล้านบาท ที่ดินสถานทูตอังกฤษมีการซื้อขายกัน ตรว.ละ 2 ล้านบาท ทำให้รัฐเสียประโยชน์ด้านมูลค่าที่ดินไปมากกว่า 286,400 ล้านบาท
4) จงใจยึดแอร์พอร์ตเรลลิงค์มูลค่า 4 หมื่นล้านบาทไปประเคนให้เอกชนในราคาเพียง 1.3หมื่นล้านบาท ทำให้การรถไฟฯยังคงต้องแบกภาระหนี้จากการลงทุนต่อไปอีกเกือบ 3 หมื่นล้านบาท ชี้ให้เห็นว่ารัฐไม่ได้รับประโยชน์ตอบแทนอย่างเป็นธรรมแต่อย่างใด
5) จงใจเขียน “ล็อคสเปก” เพื่อ “ฮั้วประมูล” ให้เอกชนบางรายที่ตกเป็นข่าวเป็นการเฉพาะ เข้าข่ายความผิดตาม “พรบ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ 2542” เนื่องจากเป็นการผูกโยงโครงการรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน กับกิจกรรมการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่โดยรอบสถานีเข้าด้วยกัน ทำให้จะมีเพียงกลุ่มนายทุนระดับชาติเพียงไม่กี่รายที่สามารถจับมือกับผู้ประกอบการรถไฟฟ้าความเร็วสูงจากต่างประเทศได้ จึงเป็นการเขียน TOR แบบล็อคสเปก เพื่อกีดกันนักลงทุนขนาดกลางและเล็กที่จะหมดสิทธิ์ในการเข้าร่วมประมูล ซึ่งที่ดินมักกะสัน 140 ไร่ไม่เกี่ยวใด ๆ ต่อการพัฒนา 3 จังหวัดของ EEC แต่อย่างใด
หากรัฐบาลยังคงเดินหน้าโครงการฯ ดังกล่าวโดยไม่มีการทบทวนหรือแก้ไข TOR ตามข้อเรียกร้องนี้ ถือได้ว่า ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี และรักษาการผู้ว่าฯ รฟท. จงใจที่จะใช้อำนาจไปในทางมิชอบต่อกฎหมาย และมีเจตนาที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนบางรายเป็นการเฉพาะ ซึ่งสมาคมฯ และกัลยาณมิตร คณะตรวจสอบภาคประชาชน สหภาพรัฐวิสาหกิจ รฟท.จำต้องใช้สิทธิในการนำความขึ้นร้องต่อ “ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ” เพื่อหาข้อยุติ แม้ในอนาคตท่านทั้งสองจะหมดอำนาจไปแล้วหรือไม่ก็ตาม
ด้วยเหตุดังกล่าว สมาคมฯ และกัลยาณมิตร จึงจะเดินทางไปยื่นคำร้องเพิ่มเติมต่อ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ณ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน ทำเนียบรัฐบาล ตึก กพร.เดิม ในวันจันทร์ที่ 6 ส.ค. 2561 เวลา 10.30 น. เพื่อเป็นการบอกกล่าวหรือตั้งประเด็นพิพาทไว้ก่อนล่วงหน้าตามที่กฎหมายบัญญัติ ก่อนที่จะนำไปสู่การยื่นฟ้องต่อศาลต่อไป