- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- “คณิต” ยื่นข้อเสนอถึงนายกฯ จำคุก ม.112 "7 ปีไม่มีโทษขั้นต่ำ"
“คณิต” ยื่นข้อเสนอถึงนายกฯ จำคุก ม.112 "7 ปีไม่มีโทษขั้นต่ำ"
“ปธ.คอป.” ระบุ ยกเลิก ม.112 ไม่เหมาะสมกับสภาพสังคมไทย ชงแก้ กม.หมิ่นฯ เป็นความผิดที่ต้องให้อำนาจ-ระวางโทษจำคุก 7 ปีไม่มีโทษขั้นต่ำ พร้อมเสนอค่าปรับไม่เกิน 14,000 บาท
ตามที่เกิดความความขัดแย้งในทางการเมืองของคนในชาติ ความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
วันที่ 30 ธันวาคม ศ.คณิต ณ นคร ประธานกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ลงนามในหนังสือ คอป.ด่วนที่สุด ที่ 751/2554 ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2554 เรื่องข้อเสนอแนะของ คอป.เกี่ยวกับความผิดที่ต้องให้อำนาจ เสนอต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
ข้อเสนอระบุถึงการแก้ปัญหาความขัดแย้งในทางการเมืองของคนชาติ ในส่วนของความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่ง คอป. ได้มีการศึกษาในแง่มุมของการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเกี่ยวกับความผิดฐานดังกล่าวควบคู่ไปกับการศึกษาพื้นฐานของความแตกต่างระหว่างสังคมประชาธิปไตยในต่างประเทศกับสังคมไทย รวมถึงศึกษานโยบายทางอาญาของประเทศต่างๆ ทั้งประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและบุคคลธรรมดาเป็นประมุข
ทั้งนี้ คอป. เห็นว่า การที่จะยกเลิกความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เสียเลยตามที่บางคนหรือบางฝ่ายเรียกร้องนั้น น่าจะยังไม่เหมาะสมกับสภาพสังคมไทย แต่การที่จะคงสภาพความเป็นความผิดอาญาในลักษณะปัจจุบัน โดยไม่มีทางออกใดๆ ในการดำเนินคดีกับผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดที่เหมาะสมนั้น ก็ไม่ถูกต้องเช่นเดียวกัน เพราะจะยังคงมีการใช้หรือพยายามใช้ความผิดฐานดังกล่าวเป็นเครื่องมือในทางการเมือง ทั้งเพื่อปกป้องสถาบันและเพื่อผลประโยชน์ในทางการเมืองกันต่อไป ซึ่งจะเป็นอุปสรรคในการสร้างความปรองดองของคนในชาติ
ดังนั้น การแก้ปัญหาของประเทศชาติ โดยเฉพาะการสร้างความปรองดองของคนในชาตินั้น คอป. จึงเห็นว่านอกจากฝ่ายกระบวนการยุติธรรมแล้ว ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติก็ชอบที่จะต้องพิจารณาร่วมกัน เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว คอป.จึงมีข้อเสนอดังนี้
1.ควรตรากฎหมายให้ความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เป็น “ความผิดที่ต้องให้อำนาจ” โดยถือว่าการตรากฎหมายดังกล่าว มีความสำคัญและเร่งด่วน
ทั้งนี้ ความผิดที่ต้องให้อำนาจ คือพื้นฐานของความสมดุลระหว่างเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญของบุคคลกับการดำเนินคดีอาญาทีเดียว กล่าวคือ แม้การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาจะเป็นความผิดทางอาญา แต่รัฐก็ชอบที่จะให้การดำเนินคดีอาญากับผู้ถูกกล่าวหาขึ้นอยู่กับความสมัครใจของผู้เสียหายเป็นสำคัญ รัฐต้องให้ผู้เสียหายมีอำนาจที่จะพิจารณาก่อนว่าการดำเนินคดีกับบุคคลที่ได้กระทำความผิดอาญาต่อตนจะมีผลดีต่อตนในทางการเมืองหรือไม่ โดยรัฐจะไม่ให้กระบวนการยุติธรรมของประเทศตัดสินใจในการดำเนินคดีด้วยตัวเองโดยลำพัง
2.ความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นความผิดที่คุ้มครอง ‘ความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร’ อันเป็น ‘คุณธรรมทางกฎหมายที่เป็นส่วนร่วม’ และเป็นเรื่องของ ‘สถาบัน’ หาใช่เรื่องส่วนพระองค์ไม่ ดังนั้น การที่จะให้องค์พระมหากษัตริย์เป็นผู้มอบอำนาจให้ดำเนินคดีด้วยพระองค์เองย่อมไม่เป็นการเหมาะสม สมควรและเป็นการขัดต่อจารีตประเพณีของบ้านเมืองที่ต้องเทิดทูนสถาบันอีกด้วย ทั้งนี้ เลขาธิการพระราชวังเป็นข้าราชการพลเรือนในพระองค์ที่ได้รับการแต่งตั้งตามพระราชอัธยาศัย จึงอาจจะกำหนดให้เลขานุการพระราชวังเป็นผู้ให้อำนาจในการดำเนินคดี
3. ในส่วนระวางโทษของความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้น ชอบที่จะมีการเสรีนิยมมากกว่าในปัจจุบัน กล่าวคือ ชอบที่จะให้เบาบางลง ซึ่งอย่างน้อยชอบที่จะกลับไปถือเอาระวางโทษจำคุกเดิมของประมวลกฎหมายอาญาเมื่อประกาศใช้บังคับใหม่ๆ คือ ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี โดยไม่มีโทษจำคุกขั้นต่ำ และให้มีระวางโทษปรับด้วย
4. จากข้อเสนอดังกล่าวข้างต้น ร่างมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญาที่จะเสนอต่อรัฐสภา จึงเป็นดังต่อไปนี้
“มาตรา 112 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาตร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นความผิดที่ต้องให้อำนาจ การสอบสวนดำเนินคดีในความผิดตามวรรคหนึ่งจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับอำนาจจากเลขาธิการพระราชวัง”
อนึ่ง แม้บทบัญญัติตามวรรคสามของร่างกฎหมายดังกล่าวจะเป็นบทบัญญัติที่โดนเนื้อแท้เป็นบทบัญญัติของกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (เทียบ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 121) แต่ก็ชอบที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญาเสียทีเดียว
5. ความผิดตามมาตรา 112 และความผิดตามมาตรา 133 แห่งประมวลกฎหมายอาญาเป็นเรื่องที่ยึดโยงกัน เมื่อได้แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 112 แล้วก็ต้องแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 133 ในคราวเดียวกัน โดยให้มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ ร่างมาตรา 133 แห่งประมวลกฎหมายอาญาจะมีข้อความดังต่อไปนี้
“มาตรา 133 ผู้ในหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อราชาธิบดี ราชินิ ราชสามี รัชทายาท หรือประมุขแห่งรัฐต่างประเทศ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
อย่างไรก็ตาม คอป. ถือว่าข้อเสนอดังกล่าวเป็นข้อเสนอต่อทุกฝ่ายในรัฐสภาและต่อประชาชน ซึ่งทุกฝ่ายชอบที่จะผลักดันกฎหมายดังกล่าวให้เกิดขึ้น ทั้งนี้ เพื่อสร้างสันติและความปรอดองของคนในชาติ
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม: