logo isranews

logo small 2

ขยายปม อสส.ไม่ฟ้อง“พานทองแท้-พวก”รับของโจรคดีกรุงไทย ใครรับผิดชอบ?

เขียนวันที่
วันจันทร์ ที่ 31 สิงหาคม 2558 เวลา 14:06 น.
เขียนโดย
isranews

ขยายปมร้อน อสส.ไม่ฟ้อง “พานทองแท้-พวก” ถูกกล่าวหารับของโจรคดีกรุงไทยปล่อยกู้กฤษฎามหานคร ก่อนโยน ดีเอสไอ เป็นผู้สอบ ผ่านมา 7 ปี 3 อธิบดี ยังไม่มีความคืบหน้า ใครรับผิดชอบ ?

PIC oakoak 31 8 58 22

“การที่ คตส. ให้ดำเนินคดีกับนายพานทองแท้ กับพวกรวม 4 คน ฐานรับของโจร ซึ่งเป็นการกระทำความผิดหลังการกระทำความผิดของผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 27 คน ในคดีปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตได้กระทำเสร็จสิ้นไปแล้ว และนายพานทองแท้กับพวก มิได้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงต้องแยกฟ้องต่อศาลอาญาที่มีเขตอาจต่อไป”

“ซึ่ง อสส. เห็นว่า คตส. มีอำนาจหน้าที่ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ฉบับที่ 30 และให้มีอำนาจตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 แต่นายพานทองแท้กับพวก มิได้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และมิได้เป็นตัวการ ผู้ใช้หรือผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิด จึงไม่อาจเป็นผู้ถูกกล่าวหาตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. ได้”

“คตส. จึงไม่มีอำนาจไต่สวนนายพานทองแท้กับพวก และไม่อาจมีความเห็นในความผิดฐานรับของโจร โดยหากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ประสงค์จะดำเนินคดีกับนายพานทองแท้กับพวก ก็ควรที่จะต้องร้องทุกข์กล่าวโทษเพื่อให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแยกต่างหากจากคดีนี้”

เป็นคำยืนยันของ “วินัย ดำรงมงคลกุล” ผู้ตรวจการอัยการ อดีตเคยเป็นอธิบดีสำนักคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด และเป็นหนึ่งในคณะทำงานร่วมฝ่าย อสส. กับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในคดีกรุงไทยปล่อยกู้เครือกฤษฎามหานคร

กับกรณีที่ว่า ทำไม อสส. ไม่สั่งฟ้อง “พานทองแท้ ชินวัตร” บุตรชาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และหนึ่งในจำเลยคดีดังกล่าว (ปัจจุบันอยู่ระหว่างจำหน่ายคดีออกจากสารบบชั่วคราว และออกหมายจับ) “กาญจนาภา หงส์เหิน” เลขานุการส่วนตัวนางพจมาน ชินวัตร ภรรยา พ.ต.ท.ทักษิณ (ขณะนั้น) “วันชัย หงส์เหิน” สามี “กาญจนภา” และ “มานพ ทิวารี” บิดา น.ต.ศิธา ทิวารี อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย

ในข้อหา “รับของโจร” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงอยู่ในสำนวนการไต่สวนของ คตส. ?

เพื่อขยายความให้ชัดขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำคำอธิบายของ “วินัย” และสำนวนการไต่สวนของ คตส. มานำเรียบเรียง ดังนี้

“วินัย” อธิบายเพิ่มเติมจากข้อความข้างต้นว่า ในการดำเนินคดีกับนายพานทองแท้กับพวก ฐานรับของโจรนั้น ในสำนวนการตรวจสอบไต่สวน ไม่ปรากฏบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสี่ ในฐานความผิดดังกล่าว ดังนั้น หากจะมีการดำเนินคดีจะต้องจัดให้มีการแจ้งข้อกล่าวหาให้ครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้การแจ้งข้อกล่าวหาและการดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาจะต้องดำเนินการภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2550 และกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดด้วย

และได้ตั้งคณะทำงานเพื่อหาข้อยุติในการดำเนินคดีร่วมกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้ว ที่ประชุมคณะทำงานผู้แทนทั้งสองฝ่าย ได้ประชุมร่วมกันเมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2552 แล้วมีมติว่า กรณีข้อไม่สมบูรณ์เกี่ยวกับการแจ้งข้อกล่าวหา และอำนาจการไต่สวนของ คตส. ในประเด็นรับของโจรของนายพานทองแท้กับพวก เห็นว่า ไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. ที่จะพิจารณาดำเนินการตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช.

เมื่อมีข้อยุติในการฟ้องคดีเฉพาะผู้ถูกกล่าวหา 27 คนดังกล่าว อสส. จึงไม่อาจดำเนินคดีกับนายพานทองแท้กับพวก ในข้อหารับของโจรได้ โดยเป็นเรื่องของพนักงานสอบสวนที่จะต้องดำเนินการแยกการสอบสวนไปดำเนินคดีต่างหากจากคดีนี้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินคดีของพนักงานสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)

อธิบายให้ง่ายขึ้นคือ สาเหตุสำคัญที่ อสส. (นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ ดำรงตำแหน่งขณะนั้น) ไม่ฟ้อง “พานทองแท้-พวก” เนื่องจากเห็นว่า

หนึ่ง คดีของนายพานทองแท้กับพวก แยกจากสำนวนการไต่สวนของ คตส. เพราะเป็นการกระทำความผิดหลังจากบรรดาผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ธนาคารกรุงไทย และเอกชนทั้งหมดรวม 27 คน กระทำความผิดไปแล้ว

สอง คตส. มีอำนาจตามประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ที่ข้อ 5 (3) ระบุว่า ตรวจสอบการปฏิบัติราชการใด ๆ ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐ ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการดำเนินการไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีการกระทำที่ทุจริตหรือประพฤติมิชอบ”

และให้มีอำนาจตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ซึ่งมาตรา 4 ได้นิยามคำว่า “ผู้ถูกกล่าวหา” ว่า ผู้ซึ่งถูกกล่าวหาหรือมีพฤติการณ์ปรากฏแก่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าได้กระทำการอันเป็นมูลที่จะนำไปสู่การถอดถอนออกจากตำแหน่ง การดำเนินคดีอาญา การขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน หรือการดำเนินการทางวินัย ตามที่บัญญัติใน พ.ร.บ.ป.ป.ช. ฉบับนี้ และให้หมายความรวมถึงตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุนในการกระทำดังกล่าวด้วย

ซึ่ง อสส. วิเคราะห์ตามข้อกฎหมายเหล่านี้ เห็นว่า “พานทองแท้-พวก” ไม่เข้าข่ายเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และไม่ได้เป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุนการกระทำความผิดดังกล่าว เท่ากับว่า คตส.-ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจในการไต่สวนคดีนี้ แต่ถ้า ป.ป.ช. ต้องการฟ้อง “พานทองแท้-พวก” ต้องร้องทุกข์กล่าวโทษกับพนักงานสอบสวนให้เอาผิดในทางอาญาแทน

นี่คือสองประเด็นใหญ่ ไขข้อสงสัยของสังคมที่ว่า ทำไม อสส. ถึงไม่สั่งฟ้อง “พานทองแท้-พวก”

คำถามสำคัญคือ ปัจจุบันคดีของ “พานทองแท้-พวก” หน่วยงานไหนรับผิดชอบ ?

“วินัย” ระบุว่า ปัจจุบันคดีนี้อยู่ระหว่างการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ใน 2 ข้อหา ได้แก่ ข้อหารับของโจร ซึ่งมีอายุความ 10 ปี และข้อหาฟอกเงิน มีอายุความ 15 ปี โดยนับตั้งแต่วันที่กระทำความผิด

โดยมาตรา 357  ประมวลกฎหมายอาญา ระบุว่า ผู้ใดช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้โดยประการใดซึ่งทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิด ถ้าความผิดนั้นเข้าลักษณะลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกง ยักยอก หรือเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานรับของโจร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ที่น่าสนใจคือ “วินัย” ระบุว่า คดีของ “พานทองแท้-พวก” เริ่มกระทำความผิดในส่วนถูกกล่าวหาว่ารับของโจรตั้งแต่ปี 2547

แต่ปัจจุบันคือปี 2558 เท่ากับว่าขาดอายุความไปแล้วหรือไม่ ?

“วินัย” ปฏิเสธที่จะออกความเห็นในเรื่องนี้ !

ดังนั้นคำถามที่ต้องถามกลับไปยังดีเอสไอ คือ

หนึ่ง ปัจจุบันคดีนี้ดำเนินการในขั้นไหน และรับเรื่องมาจากหน่วยงานใด (อสส. หรือ คตส. หรือ ป.ป.ช.) และรับมาตั้งแต่เมื่อไหร่ ?

เมื่อไล่เรียงเหตุการณ์ดู จะพบว่า อสส. ฟ้องคดีนี้เมื่อปี 2551 ซึ่งขณะนั้นมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง (ยศขณะนั้น) เป็นอธิบดีฯ (11 เม.ย. 2551-29 ก.ย. 2552) และผ่านมากว่า 7 ปี (2551-2558) มีการเปลี่ยนเก้าอี้อธิบดีดีเอสไอมาแล้วถึง 3 ครั้ง ได้แก่ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ (29 ก.ย. 2552-24 พ.ค. 2557) พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ (รักษาการ 24 พ.ค. 2557-27 มิ.ย. 2557 ดำรงตำแหน่งเต็ม 27 มิ.ย. 2557-30 ก.ย. 2557) ล่าสุดคือนางสุวณา สุวรรณจูฑะ (รักษาการ 15 ต.ค. 2557- 17 พ.ย. 2557 17 พ.ย. 2557-ปัจจุบัน และขณะนี้ได้ก้าวขึ้นไปดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงยุติธรรมแล้ว)

แต่คดีนี้ดีเอสไอไม่เคยแถลงถึงความคืบหน้าแต่อย่างใด ?

สอง การสอบสวนของดีเอสไอแบ่งออกเป็น 2 ฐานความผิด ได้แก่ ฐานรับของโจร และฐานฟอกเงิน ซึ่งในส่วนของฐานรับของโจรนั้น มีอายุความ 10 ปี นับตั้งแต่วันกระทำความผิด คือในช่วงปี 2547

แต่ปัจจุบันคือปี 2558 แล้ว เท่ากับว่า คดีดังกล่าว ขาดอายุความแล้วหรือไม่ ?

และถ้าขาดอายุความจริง ใครต้องรับผิดชอบ ?

นี่เป็นสองคำถามที่ดีเอสไอจะต้องตอบให้ชัด !

ไม่ใช่ปล่อยให้คลุมเครือเหมือน7 ปีที่ผ่านมาอีก

อ่านประกอบ :

อัยการยัน“พานทองแท้-พวก”ไม่ใช่ จนท.รัฐ ชนวนไม่ฟ้องปมรับของโจรคดีกรุงไทย

จำแนกจำเลย-โทษเรียงตัวคดีกรุงไทย ไขปริศนา? ไฉนไม่มีชื่อ“พานทองแท้”

ข้อมูลลับความเชื่อผู้บริหาร "เอคิว" ก่อนศาลฯ พิพากษาชดใช้กรุงไทยหมื่นล.! 

คำให้การมัดคดีกรุงไทยโผล่เว็บศาลฯ ชื่อ 2 กก.บริหาร "อุตตม-รมว.ไอซีที" รอด!

พิพากษาจำคุก “ร.ท.สุชาย-วิโรจน์” 18 ปี ทุจริตปล่อยกู้กรุงไทย ชดใช้หมื่นล.

หมายเหตุ : ภาพประกอบสำนักงานดีเอสไอ จาก springnews, ภาพสำนักงาน อสส. จาก welovethaiking.com, ภาพนายพานทองแท้ จาก kapook.com