logo isranews

logo small 2

ละเอียดยิบ! คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดี ผอ.รพช.รับสินบน 3 ล. ในห้องทำงาน

เขียนวันที่
วันพุธ ที่ 04 มกราคม 2560 เวลา 20:30 น.
เขียนโดย
isranews

ฉบับเต็ม!คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดี ผอ.กองการ จนท. รพช.รับสินบน 3 ล. ช่วย ซี 9 ศูนย์ฯขอนแก่น ไม่ต้องถูกย้ายเข้าส่วนกลาง หลังถูกตั้ง กก.สอบทุจริตสร้างถนน 2 สาย จ.ยโสธร พยานให้การมัดสอดคล้อง เบิกจากแบงก์ หิ้วไปจ่ายถึงห้องทำงาน ยืนจำคุก 6 ปี 

PIC sanutonrpsh 4 1 60 1

เมื่อ 24 ส.ค.2559 ศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 13 พ.ค.2559 คดีที่พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์ นายทวี ทวีวงศ์ จำเลย คดีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ (คดีหมายเลขแดงที่ 7669/2559) กรณีนายทวีเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์เร่งรัดพัฒนาชนบทสกลนคร รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการกองเจ้าหน้าที่ (ระดับ 9) สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท (รพช.) รับเงิน 3 ล้านบาทจากนายประสิทธิ์ วิไลลักษณ์ ผู้อำนวยการศูนย์เร่งรัดพัฒนาชนบทขอนแก่น (ระดับ 9) เพื่อช่วยเหลือมิให้นายประสิทธิ์ถูกโยกย้ายมารักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการกอง ระดับ 8 ในส่วนกลาง โดยมีคำพิพากษายืน จำคุกจำเลยเป็นเวลา 6 ปี (อ่านประกอบ:ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คุก 6 ปี ผอ.รพช.รับสินบน 3 ล.‘ซี 9’ คดีโยกย้ายตำแหน่ง)

สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปสาระสำคัญ ของศาลอุทธรณ์มาเสนอ

ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเบื้องต้นว่า ขณะเกิดเหตุ นายประสิทธิ์ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์เร่งรัดพัฒนาชนบทขอนแก่น ส่วนจำเลยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยกรศูนย์เร่งรัดพัฒนาชนบทสกลนคร รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการกองการเจ้าหน้าที่สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับอัตรากำลังทั้งหมด ของสำนักงานในเรื่องการบรรจุแต่งตั้ง การเก็บทะเบียนประวัติและเรื่องวินัย รวมทั้งการจัดทำข้อมูลข้าราชการเพื่อเสนอแก่คณะกรรมการบริหารงานบุคคล พิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายและเลื่อนระดับข้าราชการทั้งหมด

วันเกิดเหตุวันที่ 18 มีนาคม 2540 มีการเบิกเงินจากบัญชีเดินสะพัดของนายประสิทธิ์ เลขที่บัญชี 025-3-02272 ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาวิสุทธิ์กษัตริย์ 3,000,000 บาท ตามสำเนาใบแจ้งรายการบัญชีเดินสะพัด ครั้นวันที่ 22 เมษายน 2540 นายประสิทธิ์ถูกย้ายไปรับราชการที่ศูนย์เร่งรัดพัฒนาชนบทสกลนคร ต่อมานายประสิทธิ์ร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ว่า จำเลยเรียกรับเงินจากนายประสิทธิ์เพื่อเป็นค่าตอบแทนที่นายประสิทธิ์ไม่ต้องย้ายออกจากจังหวัดขอนแก่น ในขั้นไต่สวนจำเลยให้การปฏิเสธ คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลย แล้วส่งสำนวนเสนออัยการสูงสุด ต่อมาโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้

@ แม้ผู้ร้องไม่ใช่ผู้เสียหาย แต่ ป.ป.ช.มีอำนาจไต่สวน

สำหรับที่จำเลยอุทธรณ์ว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาการกระทำของนายประสิทธิ์ในวันเกิดเหตุว่าเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 แต่คดีขาดอายุความ ถือว่านายประสิทธิ์ไม่ใช่ผู้เสียหายตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 4 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) ไม่มีอำนาจร้องทุกข์นั้น

เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 มาตรา 19 บัญญัติว่า “คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้...(4) ไต่สวนและวินิจฉัยว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น ซึ่งมิใช่บุคคลตาม (2) หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูงหรือข้าราชการซึ่งดำรงตำแหน่งตั้งแต่ผู้อำนวยการกอง ร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ...” การที่จำเลยถูกกล่าวหาว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 อันเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการและเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน แม้นายประสิทธิ์ไม่ใช่ผู้เสียหาย คณะกรรมการ ป.ป.ช. ย่อมมีอำนาจไต่สวนตามบทบัญญัติดังกล่าว และโจทก์มีอำนาจฟ้อง

@กระบวนการไต่สวนชอบ-ขณะเกิดเหตุจำเลยเป็น จนท.รัฐ

ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ประการต่อมาว่า การไต่สวนไม่ชอบเพราะพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 19 มีผลใช้บังคับภายหลังวันเกิดเหตุ จึงไม่อาจนำบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับได้ เนื่องจากเป็นการใช้กฎหมายย้อนหลังนั้น เห็นว่า แม้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 มาตรา 19 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2542 ภายหลังเกิดเหตุก็ตาม แต่เป็นบทบัญญัติว่าด้วยการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงเป็นกฎหมายในส่วนวิธีสบัญญัติ มิใช่กฎหมายที่บัญญัติความผิดและกำหนดโทษอีกทั้งขณะเกิดเหตุและขณะที่นายประสิทธิ์ร้องทุกข์ จำเลยยังคงดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์เร่งรัดพัฒนาชนบทขอนแก่น จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา 4 แห่งบทบัญญัติดังกล่าว การไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงชอบด้วยกฎหมาย

@ พยานเบิกความมัด เบิก 3 ล.ขึ้นไปจ่ายที่ห้องทำงาน

คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยต่อไปว่า จำเลยมีความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่

ข้อเท็จจริงได้ความจากนายประสิทธิ์เบิกความประกอบรายงานการไต่สวนของคณะอนุกรรมการไต่สวน ป.ป.ช.ว่า วันเกิดเหตุ นายประสิทธิ์ นำเงิน 3 ล้านบาท ไปให้จำเลยยังห้องทำงานของจำเลยที่กองการเจ้าหน้าที่ สำนักงาน รพช. เป็นค่าตอบแทนในการที่ไม่ต้องถูกย้ายไปจากจังหวัดขอนแก่น เพราะนายประสิทธิ์ทราบว่ามีคำสั่งให้ย้ายตนไปรักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการระดับ 8 ในส่วนกลาง และหากยังไม่มีการแจ้งคำสั่งก็สามารถยกเลิกคำสั่งดังกล่าวได้ โดยมีนายไพฑูรย์ ศรีอรรคจันทร์ กับนายไพรินทร์ ปิตะโพธิ์ ไปด้วย เมื่อไปถึงยังที่ทำงานของจำเลย นายประสิทธิ์และนายไพฑูรย์ไปที่ห้องจำเลย ส่วนนายไพรินทร์รออยู่ที่ชั้นล่าง นายไพฑูรย์มอบถุงบรรจุเงิน 3 ล้านบาท ให้นายประสิทธิ์ที่หน้าห้องจำเลยและรออยู่หน้าห้อง นายประสิทธิ์ถือถุงบรรจุเงินเข้าไปในห้องมอบเงินดังกล่าวแก่จำเลย

@ 1 ปากเปลี่ยนคำให้การ ช่วยเหลือจำเลย

และได้ความจากคำให้การของนายไพรินทร์ที่ให้การไว้ต่อคณะอนุกรรมการไต่สวน ป.ป.ช.ตามบันทึกคำให้การว่า วันเกิดเหตุ พยานพร้อมด้วยนายประสิทธิ์และนายไพฑูรย์เบิกเงินที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขา วิสุทธิ์กษัตริย์ 3 ล้านบาท โดยเดินทางด้วยรถยนต์ตู้ของศูนย์ รพช.ขอนแก่น เมื่อไปถึงสำนักงาน รพช. นายประสิทธิ์และนายไพฑูรย์เดินขึ้นไปบนอาคารให้นายไพฑูรย์ถือกล่องกระดาษใส่เงิน ส่วนพยานรออยู่ที่รถยนต์ตู้ จากนั้นไม่นาน นายประสิทธิ์และนายไพฑูรย์เดินกลับออกมา โดยไม่ได้ถือกล่องกระดาษใส่เงินมากด้วย และพยานทราบจากนายประสิทธิ์ว่าเงิน 3 ล้านบาท ดังกล่าว นายประสิทธิ์นำไปให้จำเลยเพื่อที่จะได้ไม่ต้องถูกย้ายไปรับราชการที่อื่น คำให้การของนายไพรินทร์ต่อคณอนุกรรมการไต่สวน ป.ป.ช. เป็นการให้ถ้อยคำโดยละเอียด เป็นขั้นเป็นตอน ไม่มีเหตุจูงใจหรือถูกบังคับขู่เข็ญแต่อย่างใด

แม้นายไพรินทร์จะมาเบิกความในภายหลังว่า ไม่ได้ไปเบิกเงิน 3 ล้านบาทกับนายประสิทธิ์เงินดังกล่าวนายประสิทธิ์จะนำไปให้ผู้ใด นายไพรินทร์ไม่ทราบและมีใครขึ้นไปที่สำนักงาน รพช.บ้าง นายไพรินทร์จำไม่ได้ก็ตาม แต่ก็ไม่ปรากฎเหตุผลว่าเหตุใดถึงเบิกความในชั้นพิจารณาไม่ตรงกับที่เคยให้การไว้ต่อคณะอนุกรรมการไต่สวน ป.ป.ช. จึงน่าจะเป็นการเบิกความปรุงแต่งเพียงเพื่อที่จะช่วยเหลือจำเลยให้พ้นผิดเท่านั้น คำให้การของนายไพรินทร์ในชั้นไต่สวนซึ่งเป็นความจริงยิ่งกว่าที่เบิกความในชั้นพิจารณา ย่อมใช้รับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นได้

@ ภาชนะใส่เงิน ‘ ถุง’ หรือ ‘กล่องกระดาษ’ ไม่ใช่สาระ

สำหรับคำให้การของนายไพฑูรย์ตามบันทึกคำให้การของพยานเอกสาร นั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่านายไพฑูรย์มีอาการป่วยจนไม่อาจมาเบิกความได้ จึงเป็นกรณีที่ไม่สามารถนำบุคคลที่ทราบข้อความในเรื่องที่จะให้การเป็นพยานมาเป็นพยานได้ ทั้งมีเหตุผลสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ประกอบกับไม่ปรากฎว่าการไต่สวนเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลย่อมรับฟังคำให้การของนายไพฑูรย์ซึ่งเป็นพยานบอกเล่า ประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/3 วรรคสอง (1) ประกอบมาตรา 227/1

เมื่อพิจารณาคำเบิกความของนายประสิทธิ์ประกอบคำให้การของนายไพรินทร์และนายไพฑูรย์ซึ่งสอดคล้องต้องกันในข้อสาระสำคัญและจำนวนเงินตามสำเนาใบแจ้งบัญชีเดินสะพัด ระบุว่า วันเกิดเหตุมีการเบิกเงินจากบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาวิสุทธิกษัตริย์ 3,000,000 บาท ดังนี้

พยานหลักฐานโจทก์ที่วินิจฉัยมาเป็นลำดับข้างต้นจึงเชื่อมโยงให้เห็นว่า วันเกิดเหตุนายประสิทธิ์กับพวกนำเงินไปมอบให้จำเลยที่ห้องทำงานของจำเลยเพื่อช่วยเหลือนายประสิทธิ์ให้ไม่ต้องถูกย้ายออกจากจังหวัดขอนแก่น ส่วนข้อแตกต่างในเรื่องภาชนะที่บรรจุเงินจะเป็นถุงหรือกล่องกระดาษก็เป็นเพียงรายละเอียด ไม่ทำให้ข้อเท็จจริงที่นายประสิทธิ์นำเงินไปให้จำเลยเปลี่ยนแปลงไป ทั้งแม้นายประสิทธิ์จะไม่ได้ให้การถึงจำนวนเงินดังกล่าวต่อคณะอนุกรรมการไต่สวน ป.ป.ช.ตั้งแต่คราวแรกก็ตาม แต่เมื่อพยานหลักฐานโจทก์รับฟังได้สอดคล้องต้องกันมาเป็นลำดับ ดังที่ได้วินิจฉัยไว้โดยละเอียดข้างต้น ก็ไม่ทำให้เป็นข้อพิรุธแต่อย่างใด 

@ในชั้น ป.ป.ช. จำเลยไม่อ้างพยาน 2 คน แต่กลับมาอ้างในชั้นเบิกความ

สำหรับข้ออ้างของจำเลยที่ว่า ในช่วงเวลาเกิดเหตุ นายประสิทธิ์ไม่ได้มาพบจำเลยที่ห้องผู้อำนวยการกองเจ้าหน้าที่ โดยมี น.ส.สุมาลี ประกอบไวยกิจ และ น.ส.กาญจนา ธรรมนิตยางกูร ข้าราชการที่ปฏิบัติงานที่กองการเจ้าหน้าที่ สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท มาเบิกความก็ตาม แต่ปรากฎจากบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาว่า นอกจากพนักงานไต่สวนแจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลยแล้ว ยังแจ้งจำเลยด้วยว่าจำเลยจะอ้างพยานบุคคลหรือนำพยานหลักฐานมาเองหรือจะอ้างพยานหลักฐานโดยขอให้พนักงานไต่สวนเรียกไต่สวนพยานหลักฐานนั้นก็ได้ แต่จำเลยก็ไม่ได้อ้าง น.ส.สุมาลี และ น.ส.กาญจนา เป็นพยานในชั้นไต่สวนแต่อย่างใด ทั้งไม่มีพยานหลักฐานที่รับฟังได้มาแสดง ไม่อาจรับฟังหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้

การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง คำพิพากษาศาลชั้นต้นชอบแล้ว เมื่อวินิจฉัยดังนี้อุทธรณ์ประการอื่นของจำเลยไม่ทำให้ผลของคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย อุทธรณ์ของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

PIC คำพพากษาอทธรณ 1

PIC คำพพากษาอทธรณ 2

อ่านประกอบ: 

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คุก 6 ปี ผอ.รพช.รับสินบน 3 ล.'ซี 9' คดีโยกย้ายตำแหน่ง

ศาลสั่งจำคุก 6 ปี ซี 9 รพช.รับเงินสด 3 ล.ค่าซื้อเก้าอี้ ผอ.ศูนย์ขอนแก่น ไม่ให้ถูกย้าย

ขมวดปมโอนเงิน 8.9 ล.! ‘ซี 8’ โชว์สัญญากู้ยืม 6 ฉบับ -ดุลพินิจ ป.ป.ช.

ขมวดปมโอนเงิน 8.9 ล.! ‘ซี 8’ โชว์สัญญากู้ยืม 6 ฉบับ -ดุลพินิจ ป.ป.ช

INFO : 20 รายชื่อ ขรก.คนใกล้ชิด โอนเงิน คดีซื้อ-ขายเก้าอี้ รพช.

ใบโอนเงิน 12 ล. แบงก์กรุงไทย-กสิกรไทย คดีสินบน รพช.

คำวินิจฉัย ป.ป.ช.กรณีหิ้วเงินสด-เช็ค 6 ครั้ง 20 ล. คดีสินบน รพช.

ไขปมไฉน! ‘เฉลิม’ เรียกคุยขอหัวคิว 2% ฟังไม่ขึ้น คดีสินบน รพช.

พลิกสำนวน ป.ป.ช.!ไขปม ‘ไม่ฟัน’ ซี 9 กรณีโอนเงินผ่านแบงก์ 46 ล. ‘เอาผิดยาก’

เปิดหมด!รายชื่อ 20 ขรก.-เมีย โอนเงิน 46 ล.คดีซื้อเก้าอี้ รพช. ในสำนวน ป.ป.ช.

เปิดหลักฐานใหม่ ! ไม่พบชื่อ‘เมีย’ซี 9 ถือหุ้นรับเหมา ช่วง‘เปิดบัญชี-รับเช็ค 5 ใบ’

เช็ค 5 ใบโผล่ คดีซื้อขายเก้าอี้ รพช.! 3 ฉบับ 4.2 ล. โอนเข้าบัญชีลูกสาว ซี 9

โฉมหน้า 5 ใบโอนเงิน 6.5 ล.!อ้าง ส.ส. กาฬสินธุ์ เจ้าของตัวจริง คดีสินบน รพช.r

เปิดใบโอนเงิน‘ซี 9-เมีย’ 11.5 ล.เข้าบัญชี ‘ประวิทย์’คดีสินบน-อ้าง 6.5 ล.ของ ส.ส.

เปิดตัว-คำให้การ ‘เมีย’ ซี 9 โอน 8.5 ล.เข้าบัญชี ‘ประวิทย์’ คดีสินบน รพช.

‘เมีย’อดีต ขรก.ใหญ่ มีเงินสะพัดเข้าบัญชี 30 ล. โยงคดีสินบนซื้อเก้าอี้ รพช.

INFO : เส้นทางการโอนเงินคดีซื้อขายเก้าอี้ รพช.

สเตทเม้นท์บัญชี ‘ประวิทย์’ มีเงินโอนเข้าเกิน 3 แสน 132 ครั้ง จาก 16 จ. 19 สาขา

พบ ‘ประวิทย์’ จ่ายเช็ค 98 ฉบับให้ลูกชาย 4 คนเบิกเงินสด คดีสินบน รพช.

อดีต ส.ส.-บิ๊ก รพช. ใช้บัญชี ‘ประวิทย์’ โอนเงิน ‘ซื้อที่ดิน-ดาวน์รถ-เช่าพระเครื่อง’

เปิดบทสัมภาษณ์ 'ประวิทย์' เจ้าของบัญชีเงินฝากคดี รพช. "ผมไม่ได้รวยพันล้าน"

เปิดคำให้การ อดีต ผอ. รพช. รับเช็ค 2 ล. ‘ช่วยเมียลูกชายเพื่อนทำยอดเงินฝาก’

ขมวด 5 ขรก. โอนเงินเข้าบัญชี 'เจ้าของร้านเครื่องจักรกล' 27.4 ล. คดี รพช.

คำให้การ'เฉลิม-ชัยสิทธิ์'คดีซื้อขายเก้าอี้ รพช.-ปัดเปิด ร.ร.สั่งลูกน้องส่งหัวคิว 2%

ไทม์ไลน์ชัดๆ คดีเรียกรับ 3 ล. บิ๊ก รพช. 13 ปีในมือ ป.ป.ช.-ขาดอายุความ 1 ข้อหา

อดีตซี 9 ฟ้อง ผอ.รพช. อีกคดี!เรียกรับ 3 ล.- นักธุรกิจแจงแค่ยืมบัญชีโอนเงิน

เบื้องหลังจ่าย 3 ล.! คำให้การ ซี 8 “นายให้นโยบายต้องจัดส่งค่าบริหารงาน 1%”

พบอีก 2 ขรก. โผล่โอนเงินเข้าบัญชี'เสี่ย ป.'ใกล้ชิดบิ๊ก รพช. 3 ล. 'ไม่รู้ค่าอะไร'

เปิดใบโอนเงิน 3 ล้าน คดีสินบน รพช.

คำให้การลึก! คดีซื้อขายเก้าอี้ รพช. คนเดียวจ่ายยิบให้ ‘บิ๊ก’ 8 ครั้ง 28 ล้าน

เปิดพฤติการณ์คดีสินบน 3 ล. ซี 9 รพช. เบิกเงินสดจากแบงก์ไปจ่ายถึงห้องทำงาน

ศาลสั่งจำคุก 6 ปี ซี 9 รพช.รับเงินสด 3 ล.ค่าซื้อเก้าอี้ ผอ.ศูนย์ขอนแก่น ไม่ให้ถูกย้าย