logo isranews

logo small 2

นำเสนอ 15 นาที ก่อนปล่อยกู้ 9.9 พันล.!คำพิพากษามัด 'วิโรจน์-พวก' คดีกรุงไทย

“…จำเลยที่ 2-4 จึงย่อมรู้ถึงฐานะของจำเลยที่ 20 และบริษัทในกลุ่มเป็นอย่างดี และรู้ข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 20 กำลังซื้อหุ้นบุริมสิทธิคืนจากเจ้าหนี้สถาบันการเงินหลายแห่ง โดยเฉพาะจำเลยที่ 3 (นายวิโรจน์) เป็นกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ต้องรู้ฐานะของจำเลยที่ 20 และบริษัทในกลุ่ม … เหตุใดจึงไม่มีข้อสงสัยในเรื่องฐานะการดำเนินงานของจำเลยที่ 19-20 ความเป็นไปได้ของโครงการที่แม้แต่ธนาคารกรุงเทพฯ ก็ไม่ประสงค์จะสนับสนุนด้านการเงินอีกต่อไป…”

PIC virojjjj 15 9 58 1

ปลายเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาคดีประวัติศาสตร์ในแวดวงการเมืองคดีหนึ่ง

ได้แก่ คดีธนาคารกรุงไทยอนุมัติปล่อยสินเชื่อให้กับเครือกฤษฎามหานคร 2 ครั้ง ครั้งแรก 500 ล้านบาท ครั้งที่สอง 9.9 พันล้านบาท รวมมูลค่ากว่าหมื่นล้านบาท

โดยศาลฎีกาฯ ได้พิพากษาจำคุกจำเลยจำนวน 19 ราย แบ่งเป็น ระดับอดีตผู้บริหารธนาคารกรุงไทย 3 ราย คือ ร.ท.สุชาย เชาว์วิศิษฐ์ นายวิโรจน์ นวลแข นายมัชฌิมา กุญชร ณ อยุธยา พ่วงนายไพโรจน์ รัตนะโสภา เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิเคราะห์สินเชื่อ ไปด้วย ถูกตัดสินจำคุกคนละ 18 ปี ส่วนที่เหลือเป็นกลุ่มคณะกรรมการสินเชื่อ 5 ราย กลุ่มเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิเคราะห์สินเชื่ออีก 5 ราย และตัวแทนเครือกฤษฎามหานคร 5 ราย ถูกตัดสินจำคุกคนละ 12 ปี

นอกจากนี้ยังให้ตัวแทนเครือกฤษฎามหานคร ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายกว่าหมื่นล้านบาทอีกด้วย !

ประเด็นที่น่าสนใจคือในการอนุมัติสินเชื่อครั้งที่ 2 วงเงินสูงกว่า 9.9 พันล้านบาท บรรดาอดีตผู้บริหารธนาคารกรุงไทย ผิดได้อย่างไร แล้วทำไมจึงทำเช่นนั้น ?

สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org พลิกคำพิพากษาศาลฎีกาฯ ในคดีดังกล่าว เฉพาะประเด็นที่อดีตผู้บริหารกรุงไทย ร่วมกันปล่อยสินเชื่อ มาให้เห็นกันชัด ๆ ดังนี้

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2-4 (ร.ท.สุชาย เชาว์วิศิษฐ์ นายวิโรจน์ นวลแข และนายมัชฌิมา กุญชร ณ อยุธยา อดีตผู้บริหารธนาคารกรุงไทย) ร่วมกันอนุมัติสินเชื่อให้แก่จำเลยที่ 19 (บริษัท โกลเด้นฯ เครือกฤษดามหานคร) จำนวน 9.9 พันล้านบาท เป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่

ข้อเท็จจริงได้ความจากการไต่สวนว่า วันที่ 4 ธ.ค. 2546 จำเลยที่ 16 (นายประวิทย์ อดีตโต เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิเคราะห์สินเชื่อ) ทำบันทึกถึงประธานกรรมการบริหารโดยผ่านจำเลยที่ 5 (นายพงศ์ธร ศิริโยธิน กรรมการสินเชื่อ) ขอนำเรื่องของจำเลยที่ 19 เข้าประชุมคณะกรรมการบริหารในวันที่ 9 ธ.ค. 2546 จำเลยที่ 5 มีคำสั่งเห็นชอบในวันที่ 8 ธ.ค. 2546 จำเลยที่ 2 (ร.ท.สุชาย เชาว์วิศิษฐ์) มีคำสั่งอนุญาตในวันที่ 9 ธ.ค. 2546

และในวันเดียวกันนั้นเอง จำเลยที่ 19 มีหนังสือแจ้งขอเปลี่ยนวัตถุประสงค์การใช้วงเงินเพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเมืองตามวงเงินรวม 9.9 พันล้านบาท เปลี่ยนเป็นวงเงินรีไฟแนนซ์ 8 พันล้านบาท วงเงินซื้อที่ดินเพิ่ม 500 ล้านบาท วงเงินค่าพัฒนาที่ดิน 1.4 พันล้านบาท

คณะกรรมการบริหารพิจารณาแล้วเห็นว่า ความเสี่ยงและความเป็นไปได้ของโครงการตามเกณฑ์มาตรฐานของธนาคารผู้เสียหาย สามารถสนับสนุนวงเงินสินเชื่อให้จำเลยที่ 19 ได้ สำหรับหลักประกันภัยที่เป็นเงินฝากจะเป็นภาระต่อธนาคารผู้เสียหาย เนื่องจากธนาคารผู้เสียหายยังมีสภาพคล่อง จึงยกเว้นการนำเงินฝาก 400 ล้านบาท แล้วมีมติอนุมัติวงเงินดังกล่าว

ศาลฯเห็นว่า ก่อนคณะกรรมการบริหารจะอนุมัติสินเชื่อให้แก่จำเลยที่ 19 คณะกรรมการบริหารได้มีมติเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างหนี้ของจำเลยที่ 20 (บริษัท กฤษดามหานครฯ) หลายครั้ง โดยถึงขนาดมีการกำหนดเงื่อนไขห้ามจำเลยที่ 20 ก่อหนี้เพิ่มเติมอีก แสดงให้เห็นถึงความไม่เชื่อมั่นต่อการดำเนินงานของจำเลยที่ 20 อย่างมาก

และในการปรับโครงสร้างครั้งนี้ จำเลยที่ 20 ได้มีการแปลงหนี้บางส่วนเป็นหุ้นบุริมสิทธิชำระหนี้ให้แก่ธนาคารผู้เสียหาย ซึ่งต่อมาวันที่ 30 ก.ย. 2546 จำเลยที่ 20 แจ้งว่าประสงค์จะปรับโครงสร้างส่วนทุนโดยจะดำเนินการลดจำนวนหุ้นบุริมสิทธิ และเพิ่มทุนให้กับผู้ถือหุ้นเดิม จึงขอซื้อหุ้นบุริมสิทธิคืนในราคาหุ้นละ 8 บาท โดยจะชำระเงินภายในวันที่ 15 ธ.ค. 2546

การขอซื้อหุ้นบุริมสิทธิคืนของจำเลยที่ 20 ในฐานะที่ธนาคารผู้เสียหายเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของจำเลยที่ 20 และบริษัทในกลุ่มย่อมมีข้อน่าสงสัยว่า จำเลยที่ 20 จะนำเงินจากแหล่งใดมาชำระค่าหุ้น เมื่อพิจารณาถึงกำหนดเวลาชำระเงินในปลายเดือน ธ.ค. ที่จำเลยที่ 20 เสนอมานั้น อยู่ในช่วงเวลาหลังจากที่จำเลยที่ 18 (บริษัท อาร์เคฯ ขออนุมัติสินเชื่อธนาคารกรุงไทยไปก่อนหน้านี้ 500 ล้านบาท) และที่ 19 ขอสินเชื่อจากธนาคารผู้เสียหาย โดยมีการเร่งรัดการใช้วงเงินในช่วงเดือน ธ.ค. 2546 เช่นเดียวกัน

นอกจากนี้กำหนดเวลาในการชำระเงินค่าหุ้นนี้ สอดคล้องกับกำหนดเวลาชำระเงินค่าหุ้นที่จำเลยที่ 20 เสนอขอซื้อจากสถาบันการเงินอีกหลายราย ซึ่งสอดรับพอดีกับการที่มีการเร่งรัดให้มีการอนุมัติสินเชื่อว่า จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 18 ธ.ค. 2546 เพื่อให้ทันกับการที่ต้องนำเงินมาชำระค่าหุ้นและดำเนินการประชุมบริษัทจำเลยที่ 20 เพื่อดำเนินการลดทุนเพิ่มทุนอันเป็นความประสงค์ที่แท้จริงซึ่งมีการวางแผนไว้แต่แรก

น.ส.สาวิตรี ปาลวัฒน์ หัวหน้าส่วนปฏิบัติหน้าที่ตลาดทุน มีหน้าที่ดูแลการลงทุนของธนาคารดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูลการลงทุน ได้ให้ความเห็นในเรื่องที่จำเลยที่ 20 เสนอขอซื้อหุ้นคืนโดยสรุปว่า คณะกรรมการบริหารควรอนุมัติในหลักการให้จำหน่ายคืนหุ้นบุริมสิทธิของจำเลยที่ 20 มีเงื่อนไขว่า บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย และธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จะต้องยินยอมขายหุ้นบุริมสิทธิ์คืนเช่นเดียวกัน โดยราคาขายไม่ต่ำกว่า 8 บาท/หุ้น และหากมีผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิรายใดขายคืนในราคาที่สูงกว่า 8 บาท/หุ้น ธนาคารผู้เสียหายจะขายคืนในราคาที่สูงกว่านั้นด้วย
พร้อมกันนั้นได้แสดงฐานะทางการเงินของจำเลยที่ 20 ว่า ไม่มีศักยภาพที่จะสร้างผลตอบแทนในการลงทุนที่คุ้มค่าความเสี่ยง อันเป็นเหตุให้คณะกรรมการบริหารมีมติให้ขายหุ้นบุริมสิทธิในการประชุมเมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2546

ด้วยเหตุดังกล่าว จำเลยที่ 2-4 จึงย่อมรู้ถึงฐานะของจำเลยที่ 20 และบริษัทในกลุ่มเป็นอย่างดี และรู้ข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 20 กำลังซื้อหุ้นบุริมสิทธิคืนจากเจ้าหนี้สถาบันการเงินหลายแห่ง โดยเฉพาะจำเลยที่ 3 (นายวิโรจน์) เป็นกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ต้องรู้ฐานะของจำเลยที่ 20 และบริษัทในกลุ่ม และรู้ว่าจำเลยที่ 20 ได้ขอซื้อหุ้นบุริมสิทธิคืนจากสถาบันการเงินหลายแห่ง ทั้งที่จำเลยที่ 20 เป็นลูกหนี้ธนาคารผู้เสียหายและสถาบันการเงินหลายแห่ง การซื้อหุ้นบุริมสิทธิคืนต้องใช้เงินจำนวนมาก

เมื่อจำเลยที่ 19 ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มมาขอวงเงินสินเชื่อจำนวนสูงถึง 9.9 พันล้านบาท โดยอ้างว่าจะนำไปรีไฟแนนซ์จากธนาคารกรุงเทพฯ และทำโครงการขนาดใหญ่โดยมีจำเลยที่ 20 เป็นผู้ร่วมลงทุน เหตุใดจึงไม่มีข้อสงสัยในเรื่องฐานะการดำเนินงานของจำเลยที่ 19-20 ความเป็นไปได้ของโครงการที่แม้แต่ธนาคารกรุงเทพฯ ก็ไม่ประสงค์จะสนับสนุนด้านการเงินอีกต่อไป

ประกอบกับเมื่อมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ของวงเงินโดยมีการปรับเปลี่ยนวงเงินรีไฟแนนซ์จาก 9.4 พันล้านบาท เป็น 8 พันล้านบาท คณะกรรมการก็อนุมัติทันทีโดยไม่คำนึงว่าจำเลยที่ 19 จะหาเงินอีกจำนวน 1.4 พันล้านบาทจากแหล่งใดไปเพิ่มเพื่อรีไฟแนนซ์จากธนาคารกรุงเทพฯ

เมื่อประกอบกับได้ความจากจำเลยที่ 16 ให้ถ้อยคำต่อผู้ตรวจการธนาคารพาณิชย์ว่า จำเลยที่ 13 (นายประพันธ์พงศ์ ปราโมทย์กุล เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิเคราะห์สินเชื่อ) ใช้เวลานำเสนอสินเชื่อต่อคณะกรรมการบริหารเพียง 15 นาที เพราะคณะกรรมการบริหารทราบเรื่องดีอยู่แล้ว จึงใช้เวลาไม่นานโดยไม่มีการทักท้วงใด ๆ และไม่มีการท้วงติงเรื่องการเปลี่ยนแปลงวงเงิน

ทำให้น่าเชื่อว่า คณะกรรมการบริหารรู้เรื่องการขอสินเชื่อของจำเลยที่ 19 เป็นอย่างดี และรู้ว่าหนี้ของจำเลยที่ 19 ที่จะต้องรีไฟแนนซ์มีไม่ถึง 9.4 พันล้านบาท โดยไม่คำนึงถึงเรื่องวงเงินรีไฟแนนซ์ การชำระหนี้มีการผ่อนปรนการตรวจสอบเครดิต มีการเสนอเรื่องเข้าประชุม แก้รายละเอียดของวงเงินและประชุมอนุมัติในวันเดียวกันคือ วันที่ 9 ธ.ค. 2546 เพื่อให้สามารถรับรองมติได้ในวันที่ 17 ธ.ค. 2546 และสามารถเบิกวงเงินได้ทันทีในวันที่ 18 ธ.ค. 2546 ตามความประสงค์ของจำเลยที่ 19 ที่ได้แจ้งไว้

ตามพฤติการณ์ที่คณะกรรมการบริหารอนุมัติสินเชื่อให้แก่จำเลยที่ 19 จำนวน 9.9 พันล้านบาท ทั้งที่จำเลยที่ 19 เป็นลูกหนี้ซึ่งต้องห้ามมิให้ขอสินเชื่อตามนโยบายสินเชื่อ อนุมัติสินเชื่อโดยมีการเปลี่ยนแปลงวงเงินรีไฟแนนซ์อย่างกะทันหัน ซึ่งมีส่วนต่างถึง 1.4 พันล้านบาท โดยไม่สนใจว่าจำเลยที่ 19 จะหาเงินจากแหล่งใดมาเพิ่ม มีการวางเงื่อนไขเพื่อประโยชน์แก่ลูกค้าโดยปราศจากเหตุผล เร่งรัดดำเนินการตามความประสงค์ของลูกหนี้ ละเลยไม่ใส่ใจตรวจสอบไต่ถามรายละเอียด

แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า นอกจากคณะกรรมการบริหารจะมีเจตนาฝ่าฝืนประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องการให้สินเชื่อที่เล็งเห็นได้ว่าจะเรียกคืนไม่ได้ และคำสั่งธนาคารกรุงไทย เรื่องนโยบายสินเชื่อแล้ว คณะกรรมการบริหารยังมีเจตนาช่วยเหลือให้จำเลยที่ 19 ได้รับอนุมัติสินเชื่อจำนวน 9.9 พันล้านบาท โดยมิได้รักษาผลประโยชน์ของธนาคารผู้เสียหาย มีเจตนาเพื่อช่วยเหลือกลุ่มจำเลยที่ 19 ให้ได้รับเงินจากธนาคารผู้เสียหายจำนวนดังกล่าว เพื่อนำไปเป็นประโยชน์แก่จำเลยที่ 20

เมื่อจำเลยที่ 2-4 เป็นคณะกรรมการบริหาร จึงเป็นพนักงานตามมาตรา 1 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 และยังเป็นกรรมการของธนาคารผู้เสียหายซึ่งมีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และเป็นธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 และประมวลกฎหมายอาญา ทั้งเมื่อพิจารณาลักษณะของอำนาจหน้าที่แล้ว ย่อมเป็นผู้ได้รับมอบหมายให้จัดการ รักษาและครอบครองทรัพย์สินของธนาคารผู้เสียหายด้วย

การกระทำของจำเลยที่ 2-4 จึงเป็นการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ กระทำผิดหน้าที่ของตนเบียดบังเอาทรัพย์สินของธนาคารผู้เสียหายเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินแก่ธนาคารผู้เสียหาย จึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 4 และ 11 กับ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 307 308 และ 311 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 353 ประกอบมาตรา 354

ทั้งหมดคือคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ ไขคำตอบที่ว่าไฉน "วิโรจน์-พวก" จึงมีความผิดในคดีนี้ !

อ่านประกอบ :
เหตุผลศาลฎีกาฯคดีกรุงไทย ไม่รู้ใคร“บิ๊กบอส”-สาวไม่ถึง“พานทองแท้”ฟอกเงิน?
ดีเอสไอยันคตส.ไม่กล่าวหา'พานทองแท้' ฟอกเงินคดีกรุงไทย-รับของโจรไม่มีมูล“แก้วสรร”สวนดีเอสไอ ยัน คตส.ให้เอาผิด “พานทองแท้-พวก”ฟอกเงินคดีกรุงไทย
แก้วสรร อติโพธิ : คดีทุจริตเงินกู้ธนาคารกรุงไทย ภาค 2
ขยายปม อสส.ไม่ฟ้อง“พานทองแท้-พวก”รับของโจรคดีกรุงไทย ใครรับผิดชอบ? 
อัยการยัน“พานทองแท้-พวก”ไม่ใช่ จนท.รัฐ ชนวนไม่ฟ้องปมรับของโจรคดีกรุงไทย
จำแนกจำเลย-โทษเรียงตัวคดีกรุงไทย ไขปริศนา? ไฉนไม่มีชื่อ“พานทองแท้”
ข้อมูลลับความเชื่อผู้บริหาร "เอคิว" ก่อนศาลฯ พิพากษาชดใช้กรุงไทยหมื่นล.! 
คำให้การมัดคดีกรุงไทยโผล่เว็บศาลฯ ชื่อ 2 กก.บริหาร "อุตตม-รมว.ไอซีที" รอด!
พิพากษาจำคุก “ร.ท.สุชาย-วิโรจน์” 18 ปี ทุจริตปล่อยกู้กรุงไทย ชดใช้หมื่นล.

 

หมายเหตุ : ภาพประกอบนายวิโรจน์ จาก ASTVmanager