"...เรื่องของเสาไฟนวัตกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นเรื่องที่ได้รับกานำเสนอข่าวผ่านสื่อมวลชนหลายราย ซึ่งประชาชนและสื่อก็มีความไม่สบายใจ เกี่ยวกับความเหมาะสมในการจัดซื้อจัดจ้าง ความคุ้มค่าในการใช้งานเหมาะสมกับราคาหรือไม่ และคุณภาพของสินค้าที่เมื่อติดตั้งไปแล้วไม่สามารถใช้งานได้..."
สืบเนื่องเมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) มีโอกาสเข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุมกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ วาระพิจารณาศึกษาการใช้จ่ายเงินงบประมาณในโครงการจัดซื้อโคมไฟถนนพลังงานแสงอาทิตย์แบบประกอบในชุดเดียวกัน (All ln one Solar Street Light) โดยมีนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ เป็นประธานกมธ. และรายงานข้อเสนอแนะของกมธ.ที่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาความคุ้มทุนของโคมไฟถนนพลังงานแสงอาทิตย์ในทุกมิติ แล้วทำรายงานส่งกลับมาที่กมธ. และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสินค้าบัญชีนวัตกรรมโดยละเอียดมาที่กมธ.
เพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้มากขึ้น สำนักข่าวอิศรา สรุปรายละเอียดของการประชุมวาระดังกล่าว มานำเสนอ ณ ที่นี้
@ กมธ.แนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำรายงานความคุ้มค่า
นายสุภอรรถ โบสุวรรณ หัวหน้าคณะทำงาน กล่าวว่า เรื่องของเสาไฟนวัตกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นเรื่องที่ได้รับการนำเสนอข่าวผ่านสื่อมวลชนหลายราย ซึ่งประชาชนและสื่อก็มีความไม่สบายใจ เกี่ยวกับความเหมาะสมในการจัดซื้อจัดจ้าง ความคุ้มค่าในการใช้งานเหมาะสมกับราคาหรือไม่ และคุณภาพของสินค้าที่เมื่อติดตั้งไปแล้วไม่สามารถใช้งานได้ ทั้งนี้สินค้าบัญชีนวัตกรรมเป็นโครงการที่ดี
แต่ก็ยังมีข้อกังวลในด้านของเศรษฐศาสตร์ที่เป็นการอุ้มสินค้าบัญชีนวัตกรรมที่ไม่สามารถแข่งขันกับที่ไหนในโลกได้ มีแค่ภาครัฐของไทยเท่านั้นที่ซื้อสินค้าดังกล่าว อีกด้านหนึ่งการทำสินค้าบัญชีนวัตกรรมและเปิดช่องให้มีการซื้อแบบเจาะจงทำให้เกิดการแข่งขันตลาดแบบผู้ขายน้อยรายหรือตลาดผูกขาด กรณีของเสาไฟโซลาร์เซลล์ข้างต้น มีบริษัทที่เป็นทั้งผู้ผลิตและขายเพียงบริษัทเดียวและมีบริษัทตัวแทนผู้จำหน่ายเพียง 2 บริษัท อยากให้ทบทวนอีกครั้ง อีกทั้งการที่มีผู้ขายน้อยรายโดยไม่มีคนแข่งขันก็จะไม่เกิดการพัฒนาในด้านการลดต้นทุนการผลิต ทำให้ราคาสินค้าไม่ลดลง
อยากให้มีการศึกษาความคุ้มทุนของเสาไฟโซลาร์เซลล์ข้างต้นในแต่ละพื้นที่ที่มีความแตกต่างกัน และศึกษาความคุ้มทุนของการใช้เสาไฟโซลาร์เซลล์กับเสาไฟธรรมดาที่ต้องจ่ายค่าไฟ ว่ามีความแตกต่างในด้านการใช้เงินเท่าใด นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการศึกษาความคุ้มค่าของแบตเตอรี่ของเสาไฟโซลาร์เซลล์ และการจัดการขยะแบตเตอรี่โซลาร์เซลล์ และขอฝากป.ป.ช. กับสำนักข่าวอิศราหรือผู้ที่เกี่ยวข้องและบริษัทเอกชน ที่ตนเองมีข้อสังเกตและเป็นความไม่สบายใจเกี่ยวกับข้อมูลของบริษัทเอกชนที่มีผู้ถือหุ้นนามสกุลเดียวกันในสองบริษัท และการใช้ผู้สอบบัญชีคนเดียวกันทั้ง 3 บริษัท ขอให้ช่วยกันตรวจสอบข้อมูลในส่วนนี้
นายพัฒนา สัพโส กล่าวว่า มีคำถามถึงสำนักงบประมาณว่าในปัจจุบันมีสินค้าบัญชีนวัตกรรมไฟฟ้าประเภทเดียวกันจำนวนมาก อีกทั้งคุณสมบัติของวัสดุที่แม้จะเป็นคนละรหัส มีขนาดแตกต่างกัน และมีระยะห่างการวางเสาที่แตกต่างกัน เหตุใดจึงมีราคาที่ใกล้เคียงกัน ใช้เกณฑ์ใดในการพิจารณา ทั้งนี้สำนักงานงบประมาณควรพิจารณาความคุ้มทุนในส่วนข้างต้นด้วย อีกทั้งควรมีคณะศึกษา ติดตามแนวทางการดำเนินโครงการที่จะทำให้ประชาชนสบายใจ และขอให้สวทช.ส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องกับสินค้าบัญชีนวัตกรรมทั้งหมดมาให้กมธ.และแนบข้อมูลของสินค้าบัญชีนวัตกรรมที่ผ่านการรับรองว่าได้รับการขึ้นทะเบียนด้วยเหตุใด
นางสาวรักชนก ศรีนอก โฆษกกมธ. กล่าวว่า อยากถามว่าในบัญชีนวัตกรรม มีบริษัทอื่น ๆ ที่เป็นนวัตกรรมเกี่ยวกับโซลาร์เซลล์มาเสนอให้เลือกใช้หรือไม่ และมีหน่วยงานไปตรวจสอบพื้นที่ที่ใช้เสาไฟข้างต้นว่าวามารถประหยัดค่าไฟไปเท่าใดเมื่อเทียบกับค่าดูแลรักษา อาจจะมีการทดลองทำวิจัยว่าประหยัดค่าไฟไปเท่าใด แล้วส่งรายงานกลับมาที่กมธ.
@ สวทช.แจงข้อเท็จจริง
ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า รับทราบหลายเรื่องที่เป็นปัญหา ปัจจุบันก็มาทำงานร่วมกับป.ป.ช.เพื่อแก้ปัญหาและปรับปรุงระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยสินค้าที่เป็นประเด็นพิจารณา คือ โคมไฟถนนพลังงานแสงอาทิตย์แบบประกอบในชุดเดียวกัน (All ln one Solar Street Light) มีรหัสในบัญชีนวัตกรรม คือ 14 ที่บริษัท เลคิเซ่ ไลท์ติ้ง จำกัด เป็นผู้พัฒนา โดยในช่วงที่มีการใช้โซลาร์เซลล์ช่วงแรก โคมไฟดังกล่าวมีความเหมาะสมกับการใช้งานในหลายสถานการณ์ โดยเฉพาะที่ไม่มีไฟฟ้า ทั้งนี้เมื่อเวลาผ่านไปเทคโนโลยีพัฒนามากขึ้นทำให้อุปกรณ์ไฟฟ้าบางครั้งทำหน้าที่คล้ายกัน แต่มีรายละเอียดการทำงานที่ต่างกัน บางส่วนจึงมีราคาลดลงและมีบางส่วนที่ราคาเพิ่มขึ้น เมื่อนำบัญชีที่ใช้อุปกรณ์ดังกล่าวไปให้สำนักงบประมาณกำหนดราคา สำนักงบประมาณก็จะไปสืบรายละเอียดเพิ่มเติมและสุดท้ายก็จะกำหนดราคา
โดยวัตถุประสงค์ของบัญชีนวัตกรรมไทย คือ ทำให้อุตสาหกรรมไทยมีสิ่งประดิษฐ์ใหม่เปรียบเทียบกับต่างประเทศได้ โดยราคาของสินค้าบัญชีนวัตกรรมไทยไม่ได้ตั้งตามใจ แต่มีต้นทุนราคาและสำนักงบประมาณดูแลอย่างเป็นธรรม ทั้งนี้เมื่อเป็นสินค้าบัญชีนวัตกรรมภาครัฐจะเอื้อให้ผู้ประกอบการที่ขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทยสำเร็จ ให้แข่งขันในเชิงต้นทุนได้ โดยสินค้าที่ได้ขึ้นทะเบียนจะมีระยะเวลาสูงสุด 8 ปี ที่ตั้งขึ้นเมื่อ 8 ปีก่อน ดังนั้นสินค้าบัญชีนวัตกรรมหลาย ๆ อย่างจะสิ้นสุด แต่สำหรับบัญชีที่เคยขายสินค้าให้ภาครัฐอยู่แล้วก็จะได้เวลาใช้สิทธิ์ลดหลั่นกันไป
ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ กล่าวอีกว่า สิ่งที่ป.ป.ช.มองว่าควรแก้ไข คือ หน่วยงานรัฐสามารถจัดซื้อจัดจ้างจากผู้ขายด้วยวิธีเฉพาะเจาะจง หรือวิธีคัดเลือกได้ในกรณีที่มีมากกว่า 1 ราย ทั้งนี้แม้จะมีการกำหนดไว้แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องใช้บัญชีนวัตกรรมเสมอไป บางอย่างถ้าราคาถูกกว่าบัญชีนวัตกรรมและไม่มีความจำเป็นต้องใช้สินค้าที่มีคุณสมับติของสินค้าบัญชีนวัตกรรมก็สามารถใช้สินค้าอื่นได้ นอกจากนี้ยังพยายามแก้เรื่องการกำหนดสัดส่วนสินค้าจากบัญชีนวัตกรรม 30% โดยพร้อมร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหา
@ สาเหตุที่โคมไฟพลังงานแสงอาทิตย์ได้ขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรม
ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ กล่าวว่า เหตุผลที่โคมไฟพลังงานแสงอาทิตย์ได้รับการขึ้นทะเบียน เนื่องจากมีคุณสมบัติที่มีความเป็นนวัตกรรม ที่เก็บพลังงานแสงอาทิตย์สะสมไว้ในแบตเตอรี่ และเสาที่สามารถพับได้ ทำให้ไม่ต้องใช้รถยกในการเปลี่ยนหลอดไฟเมื่อหลอดไฟชำรุด โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้าตรวจสอบคุณสมับติของบริษัท เลคิเซ่ ไลท์ติ้ง จำกัด ก็เป็นไปตามเงื่อนไข ที่มีผู้ถือหุ้นคนไทยไม่น้อยกว่า 51% และมาตรฐานต่าง ๆ เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด
@ สำนักงบประมาณชี้แจง
นางมุทิตา สมณะ ผู้อำนวยการกองมาตรฐานงบประมาณ 2 สำนักงบประมาณ กล่าวว่า ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของกมธ.หลายเรื่องก็ตรงใจ เนื่องจากเริ่มมองเห็นปัญหาของสินค้าบัญชีนวัตกรรมไทย มีข้อสังเกตในเรื่องของราคา ที่ควรจะต้องมีการควบคุมราคา และเรื่องของหลักเกณฑ์ระยะเวลาขึ้นบัญชีนวัตกรรม โดยแนวทางการตรวจสอบราคาของสำนักงบประมาณอ้างอิงแนวทางจากการกำหนดราคาตามพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้าง ในกรณีที่ไม่สามารถหาราคาเทียบเคียงได้ก็จะสืบราคาจากท้องตลาดเพื่อเทียบเคียง ดูว่าในระยะเวลา 2 ปี เคยมีการจัดซื้อจัดจ้างกับภาครัฐหรือไม่ และสอบถามข้อมูลจากผู้ประกอบการในเรื่องของต้นทุนการผลิต ซึ่งในการตรวจสอบนั้นตรวจสอบโดยละเอียด
@ อบจ.หลายแห่งชี้แจงการใช้โคมไฟ
นายนันทสิทธิ์ โพธิ์งาม รองปลัดอบจ.อุตรดิตถ์ กล่าวว่า จากการติดตั้งโคมไฟถนนพลังงานแสงอาทิตย์ไม่มีปัญหาการใช้งาน แต่มีปัญหาด้านเทคนิคที่มีการบดบังของต้นไม้ แต่ก็ดำเนินการแก้ปัญหาแล้ว
นายธีทัต ธรรมธิกูล ผู้อำนวยการกองช่างอบจ.ลำปาง กล่าวว่า โคมไฟพลังงานแสงอาทิตย์ที่อบจ.ลำปางนำมาใช้ มี 2 ลักษณะ
1. ท้องถิ่นร้องขอ เช่น อบต. หรือเทศบาล ร้องขอมาที่อบจ.
2. ภารกิจที่ได้รับมอบหมายหรือภารกิจถ่ายโอน ที่ได้รับภารกิจถ่ายโอนทำถนนจากกรมโยธาธิการ 72 สายทาง ระยะทาง 700 กิโลเมตร โดยภารกิจที่ถ่ายโอนถ่ายโอนมาเฉพาะถนนเท่านั้นไม่มีเสาไฟ ซึ่งประชาชนในพื้นที่มาร้องเรียนอบจ.ลำปางว่าเหตุใดถนนจึงไม่มีเสาไฟฟ้า
ส่วนสาเหตุที่อบจ.ลำปางไม่เลือกใช้เสาไฟฟ้าที่ใช้ทั่วไป เนื่องจากระเบียบของการไฟฟ้าไม่อนุญาตให้อบจ.ใช้ไฟฟ้าโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย การไฟฟ้าอนุญาตแค่อบต.และเทศบาลใช้ไฟฟ้าโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในวงเงิน 10% ของการใช้ไฟฟ้าในตำบลแห่งนั้น ถ้าอบจ.ลำปางใช้เสาไฟทั่วไปทั้งจังหวัดที่ต้องจ่ายค่าไฟฟ้า จะต้องใช้งบประมาณมหาศาล จึงเลือกใช้โคมไฟพลังงานแสงอาทิตย์แทน
ทั้งนี้อบจ.ลำปางพบปัญหาการเรื่องแบตเตอรี่ที่มีอายุใช้งานเพียง 3-4 ปี จึงเสื่อมสภาพ ทางอบจ.จึงออกตรวจสอบว่าเสาต้นใดเสียแล้วซ่อมบำรุง โดยแบตเตอรี่หรืออะไหล่ที่ใช้ซ่อมโคมไฟดังกล่าวมีราคาประมาณ 10,000 บาท
นอกจากนี้ นายธีทัต ยังตอบคำถามที่ประธานกมธ.ถามถึงกรณีที่ในพื้นที่มีการติดตั้งเสาไฟทั่วไปอยู่แล้วแต่ยังต้องติดโคมไฟพลังงานแสงอาทิตย์อีกว่า เนื่องจากระเบียบที่เรียนผู้ว่าราชการจังหวัด 12 ก.ย. 2549 ที่ระบุว่าท้องถิ่นที่เป็นเทศบาลหรืออบต.เท่านั้นที่ได้รับสิทธิ์ใช้ไฟฟ้าโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในวงเงิน 10% แต่ทางท้องถิ่นกังวลว่าถ้าอบจ.ไปติดตั้งเสาไฟทั่วไปในพื้นที่จะทำให้ค่าไฟสูงขึ้นเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนด จะทำให้ท้องถิ่นต้องจ่ายค่าไฟ เช่น อบต.ตรอน ใช้ไฟทั้งหมด 1 ล้านบาท จะได้ใช้ไฟฟ้าไม่เสียค่าใช้จ่าย 10,000 บาท ถ้าเกิน 10,000 บาท อบต.ต้องจ่ายเงิน ถ้าแก้ระเบียบให้อบจ.สามารถใช้ไฟฟ้าโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเหมือนอบต.และเทศบาลได้ก็จะมีทางเลือกให้อบจ.สามารถใช้เสาไฟฟ้าทั่วไปได้
นางนำสุข การภักดี ปลัดอบจ.ชัยนาท กล่าวว่า ทางอบจ.ชัยนาทดำเนินการใช้โคมไฟพลังงานแสงอาทิตย์ตั้งแต่ปี 2562 ถึงปัจจุบัน ได้ติดตั้งโคมไฟในทางแยก หรือมุมอับ ซึ่งเดิมจะมีเสาไฟฟ้าทั่วไปของเทศบาลอยู่ก่อนแล้ว เมื่อสอบถามไปยังเทศบาลว่าต้องการให้ไปติดตั้งโคมไฟพลังงานแสงอาทิตย์หรือไม่ เทศบาลส่วนใหญ่บอกว่าต้องเสียค่าไฟหรือไฟสว่างไม่เพียงพอ อบจ.ชัยนาทจึงไปติดตั้ง นอกจากนี้ในปีต่อมาอบจ.ชัยนาทยังนำโคมไฟพลังงานแสงอาทิตย์ไปติดตั้งบริเวณถนนที่ไม่มีแสงสว่าง หรือบริเวณถนนสายรอง อีกทั้งยังติดคิวอาร์โคดไว้ที่โคนโคมไฟเพื่อให้ประชาชนสามารถแจ้งอบจ.ได้ในกรณีที่โคมไฟมีปัญหา
นายธนกฤต อัตถะสัมปุณณะ รองนายกอบจ.สระบุรี กล่าวว่า ดำเนินการติดตั้งโคมไฟมาตั้งแต่ปี 2562 ถึงปัจจุบัน ยังไม่พบปัญหาใด แต่มีปัญหาในการบำรุงรักษาในเวลาที่ซ่อมแซมต้องซื้อโคมไฟใหม่ทั้งชุดมาซ่อมแซม ถ้าหากบริษัทมีอะไหล่เฉพาะส่วนมาขายน่าจะลดต้นทุนในการซ่อมได้
นายสมหวัง เกษมโกสินทร์. รองนายกอบจ.สมุทรปราการ กล่าวว่า อบจ.สมุทรปราการติดตั้งโคมไฟมาตั้งแต่ปี 2562 ติดตั้งไปจำนวนมากพอสมควร อดีตติดตั้งในถนนของอบจ. แต่เมื่อท้องถิ่นเห็นว่ามีประโยชน์จึงมาร้องขอ ในฐานะที่ดูแลทั้งจังหวัดจึงต้องเข้าไปดูแล ซึ่งโคมไฟพลังงานแสงอาทิตย์สามารถช่วยลดอุบัติเหตุ ลดปัญหายาเสพติด เกิดประโยชน์กับประชาชน
นางสาวปทุมมาศ กมลเวช รองปลัดอบจ.นครปฐม รักษาราชการแทนปลัด อบจ. กล่าวว่า การขยายเขตไฟฟ้าในพื้นที่ค่อนข้างบ่าช้าและมีภาระค่าใช้จ่ายสูง อีกทั้งพื้นที่ของอบจ.นครปฐมส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ทำการเกษตร ซึ่งการขนส่งพืชผลจะทำในช่วงเวลากลางคืน ทำให้ไม่ค่อยมีความปลอดภัยเท่าใดนัก จึงเลือกติดตั้งโคมไฟพลังงานแสงอาทิตย์ นอกจากนี้เมื่อเกิดน้ำท่วมโคมไฟพลังงานแสงอาทิตย์ยังสว่างอยู่ ต่างจากเสาไฟทั่วไปที่ไม่สว่างเนื่องจากถูกตัดไฟ โดยอบจ.นครปฐมเริ่มติดตั้งโคมไฟพลังงานแสงอาทิตย์ในปี 2564 จนถึงปัจจุบัน
@ มหาดไทยตอบประเด็นใช้ไฟฟ้าเกินที่กำหนด
นายธีรยุทธ สำราญทรัพย์ ผู้ตรวจราชการกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กล่าวว่า ประเด็นที่กรณีอบต.หรือเทศบาลขอให้อบจ.ไปดำเนินการในกิจกรรมใดก็ตาม ตามหลักกฎหมายอบจ.จะดำเนินการได้ต่อเมื่ออบต.หรือเทศบาลร้องขอ ซึ่งต้องเกินศักยภาพของอบต.หรือเทศบาลแห่งนั้น ส่วนประเด็นค่าไฟฟ้าที่ท้องถิ่นต้องจ่ายนั้น ถ้าผู้ที่ดำเนินการติดตั้งเป็นอบจ.โดยหลักน่าจะต้องเป็นอบจ.ที่เป็นผู้เสียค่าไฟในกรณีที่อบจ.เป็นเจ้าของมิเตอร์ แต่ถ้าติดตั้งแล้วโอนให้อบต.หรือเทศบาลไปดูแลต่อและรับผิดชอบก็จะกลายเป็นภาระของท้องถิ่น
ทั้งนี้ ภายหลังการประชุมกมธ.หน่วยงานที่ได้รับข้อเสนอแนะต่างแสดงท่าทีพร้อมดำเนินการแก้ไขและปรับปรุงระเบียบที่มีความเกี่ยวข้องกับสินค้าบัญชีนวัตกรรมไทย
หลังจากนี้หน่วยงานที่ได้รับข้อเสนอแนะไปแล้วจะดำเนินการอย่างไร ผลลัพธ์หลังดำเนินการไปแล้วเป็นเช่นไร สำนักข่าวอิศราจะติดตามและนำมารายงานต่อไป
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง :
ภาพรวม:
- ขมวดปมร้อน!จัดซื้อสินค้าบัญชีนวัตกรรม เอกชนกลุ่มเดียวคว้างานพันล.นโยบายรัฐเสี่ยงเอื้อปย.?
- อปท.แห่ซื้อเป็นร้อยโครงการ! ล้วงข้อมูล ป.ป.ช.สอบสินค้านวัตกรรม'ป๊อกแทงค์-Water Purifying'
- หลังบ.กลุ่มเดียวคว้างานพันล.! ป.ป.ช.สั่งศูนย์CDC จับตาซื้อสินค้าบัญชีนวัตกรรมใกล้ชิด
- เฉลิมพล เพ็ญสูตร:ปมขายสินค้านวัตกรรมรายเดียวพันล.รัฐไม่มีเจตนาเอื้อปย.-ทุจริตเชิงนโยบาย
สินค้าเอกชนกลุ่มแรก:
เครื่องแปลงขยะเศษอาหารโดยใช้จุลินทรีย์ (Food Waste Recycling Machine) ตามบัญชีนวัตกรรมไทย
- จี้ผู้ว่าฯทบทวน! สตง.สอบงบเครื่องแปลงเศษอาหารจุลินทรีย์ 15.4 ล. อำนาจเจริญ ส่อเหลว
- ฉบับเต็ม! สตง.ชำแหละโครงการเครื่องแปลงเศษอาหารจุลินทรีย์ 15.4 ล.อำนาจเจริญ ส่อเหลว
- ตัวละ1.4 ล้าน! แกะรอยเครื่องแปลงเศษอาหารจุลินทรีย์ 11 ตัว15.3 ล. อำนาจเจริญ ซื้อจากไหน?
- ไม่มีขายทั่วไป! ผู้ว่าฯอำนาจเจริญ แจงซื้อเครื่องแปลงเศษอาหาร15.4 ล. บ.เดียว-ใช้งบรองนายกฯ
- สินค้าที่ 3 เครื่องแปลงขยะบัญชีนวัตกรรม เจ้าของกลุ่มเดิมอีกแล้ว สตง.เคยสอบที่อำนาจเจริญ
ระบบผลิตน้ำประปา (Water Treatment System) ตามบัญชีนวัตกรรมไทย
- ถึงคิว! สตง.สอบระบบผลิตน้ำประปากระบี่ 145 ล.พบปัญหาซ้ำรอยเครื่องแปลงเศษอาหารจุลินทรีย์
- เจาะจัดซื้อระบบผลิตน้ำประปาบัญชีนวัตกรรมไทย บ.ตัวแทนเจ้าเดียว คว้างาน อปท.ทั่วปท.พันล.
- ไขที่มา POG TANKS สินค้าบัญชีนวัตกรรมไทย บ.ตัวแทนเจ้าเดียวคว้างาน อปท.ทั่วปท.พันล.
- เปิดตัวเจ้าของ 'ป๊อกแทงค์' ไขข้อสงสัยสินค้าบัญชีนวัตกรรมไทย คว้างาน อปท.ทั่วปท.พันล.
ระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำ (Water Purifying Unit) ตามบัญชีนวัตกรรมไทย
- เจาะสินค้าบัญชีนวัตกรรม 'ป๊อกแทงค์-Water Purifying' เจ้าของเดียวกัน-ได้งานรัฐอีก 32 ล.
- เบื้องลึก! 'Water Purifying' ป.ป.ช.บึงกาฬชงสอบอดีตผู้ว่าฯ-8 นอภ.แจ้งถอนชื่อบัญชีนวัตกรรม
ระบบผลิตน้ำประปา (Water Treatment System) ตามบัญชีนวัตกรรมไทย
สินค้าเอกชนกลุ่มสอง:
โคมไฟถนนพลังงานแสงอาทิตย์แบบประกอบในชุดเดียว (ALL In One Solar Street Light) ตามบัญชีนวัตกรรมไทย
- ถึงคิว! เปิดตัวเอกชนกลุ่ม 2 ขายสินค้านวัตกรรมโคมไฟถนน ได้งานอปท.ทั่วปท. 1,514 ล้าน
- เปิด '6 อบจ.' สนองนโยบายรัฐ ทุ่มซื้อสินค้านวัตกรรมโคมไฟถนน - สระบุรี มากสุด 392 ล.
- ลูกค้ามั่นใจ-ของไม่มีปัญหา! ผู้บริหารบ.โซดิแอคท์ แจงขายสินค้านวัตกรรมโคมไฟถนน 1.4 พันล.
- อบจ.สระบุรี ซื้อโคมไฟถนนนวัตกรรม194 ล. '3 บ.ผู้จำหน่าย-ตัวแทน' รับซอง แต่ไม่ยื่นแข่ง 2
- ปชช.ต้องการ! อบจ.สระบุรีแจงซื้อโคมไฟถนนนวัตกรรม 329 ล.-เอกชนคุณสมบัติครบตัดสิทธิไม่ได้
- ยอดพุ่ง 454 ล.! อบจ.สระบุรีซื้อโคมไฟถนนนวัตกรรม 5 สัญญา บ.กลุ่มเดิมรับซอง-แต่ไม่ยื่นแข่ง