"...ในชั้นพิจารณา จําเลยที่ 3 ก็ให้การรับสารภาพ โดยยื่นคําร้องประกอบคํารับสารภาพว่าเมื่อประมาณปลายเดือนกันยายน 2558 จําเลยที่ 3 ได้พบกับนาง ก. เป็นครั้งแรกที่ห้องทํางาน พร้อมกับจําเลยที่ 2 ซึ่งได้แจ้งต่อจําเลยที่ 3 ว่าขอเสนอค่าเร่งรัด ดําเนินการให้เป็นเงิน 10 เปอร์เซ็นต์ ในวันดังกล่าวจําเลยที่ 3 ไม่ได้ตอบตกลง เพราะอํานาจอนุมัติการคืนภาษีเป็นอํานาจของจําเลยที่ 1..."
ISRA-EXCLUSIVE : ฉบับเต็ม คำพิพากษา คุกคนละ5 ปี อดีตซี 9 สรรพากร-ลูกน้อง ทุจริตคืนภาษีฉาว
นาย ว. ยังกล่าวในลักษณะเสนออีกว่า “ส่วนคิดว่าจะช่วยได้เท่าไหร่ครับ กะว่าสองปีแล้วไม่สองแสนได้ไหมครับ พอดีผมไม่มีออเดอร์เลยตอนนี้ มันจะลําบาก ผมต้องเลื่อนจ่ายตังค์ซัพพลายเออร์ตังสองสามเจ้า”
จําเลยที่ 3 จึงกล่าวว่า “ถ้าไม่งั้นน้องก็ต้องคุยกับท่านพรุ่งนี้”
นาย ว. กล่าวอีกว่า “เพราะว่าตอนนี้ผมมีอยู่ เท่าที่ให้ได้มีอยู่แสนเศษ ๆ เท่านั้น”
จําเลยที่ 3 จึงว่า “ลอง ๆ คุยกับท่าน ละกัน เพราะยอดมันต่างเยอะ ตอนแรกพี่คิดว่ายอดมันยึดกันไม่มาก เพราะมันสองปีแล้ว รวมแล้วมันสองแสน กว่าบาท”
และกล่าวว่า “จบที่พี่ก็ต่างกันนิดหน่อย คือ 10 % อาจจะลดนิดหน่อย"
"แต่ถ้าลดมากอย่างที่น้องว่า ต้องจบที่ท่าน พี่ตัดสินใจไม่ได้”
คือ บทสนทนาสำคัญ ที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ทิ้งท้ายไว้ ในรายงานพิเศษเปิดคำพิพากษาฉบับเต็ม กรณีเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 มีคำพิพากษาตัดสินในคดีกล่าวหา นางสาวสุวรรณี ศรีรัศมี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งสรรพากรพื้นที่สมุทรปราการ 3 อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ กับพวก คือ นางสาววรดาภัค หรือพัชรินทร์ อรัญมะโน นายอาคม คงพันธ์ ทุจริตเรียกรับเงินค่าดำเนินการในการขอคืนภาษีอากร ซึ่งถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ลงมติชี้มูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 และ 157 ประกอบมาตรา 83 และ พ.ร.ป.ป.ป.ช. พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 123/1 ประกอบ พ.ร.ป. ป.ป.ช. พ.ศ.2561 มาตรา 192 ประกอบ ป.อ.มาตรา 83
โดยศาลฯ มีคำพิพากษาว่า นางสาวสุวรรณี ศรีรัศมี จำเลยที่ 1 นางสาววรดาภัค หรือพัชรินทร์ อรัญมะโน จำเลยที่ 2 นายอาคม คงพันธ์ จำเลยที่ 3 มีความผิดตามมาตรา 149 (เดิม), พ.ร.บ.ป.ป.ช. พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 ประกอบ ป.อ. มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 149 (เดิม) ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 5 ปี
ขณะที่ นายอาคม คงพันธ์ จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 2 ปี 6 เดือน
- คุกคนละ 5 ปี! อดีตสรรพากรสมุทรปราการ 3 บางพลี-พวก ทุจริตเรียกเงินค่าขอคืนภาษี
- ย้อนคดี! จับสด ซี 9 สรรพากร-ลูกน้อง ทุจริตเรียกเงินค่าคืนภาษี คุกคนละ 5 ปี-ไล่ออกราชการ
รายละเอียดคำพิพากษาส่วนแรก ที่นำเสนอไปเป็นการเปิดเผยข้อมูลพฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลยทั้ง 3 ราย เกี่ยวกับการเรียกรับค่าตอบแทนเพื่อดำเนินการคืนภาษีให้เอกชนผู้เสียหายโดยเร็ว คิดค่าตอบแทนประมาณร้อยละ 10 ของวงเงินภาษีที่จะได้รับคืน โดยมีกรรมการบริษัทเอกชนรายหนึ่ง ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการประสานงานให้
ทั้งที่ ตามกระบวนการคืนภาษีดังกล่าว ไม่จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายตอบแทนแต่อย่างใด
ในตอนนี้ จะขอนำเสนอข้อมูลรายละเอียดคำพิพากษาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ นายอาคม คงพันธ์ จําเลยที่ 3 เป็นหัวหน้าทีม โดยมีหน้าที่ตรวจพิจารณาทําความเห็นผลการตรวจสอบ เพื่อพิจารณาเสนอ นางสาวสุวรรณี ศรีรัศมี จําเลยที่ 1 ในฐานะสรรพากรพื้นที่สมุทรปราการ 3 ที่มีอํานาจพิจารณาอนุมัติ สั่งคืนภาษี
นายอาคม ถูกเรียกว่า หัวหน้าส่วน 'อาคม' เกษียณอายุราชการ ในวันที่ 30 กันยายน 2558 หลังถูกสอบสวน ให้การรับสารภาพ ก่อนจะได้รับการลดโทษ จากจำคุก 5 ปี หรือ 2 ปี 6 เดือน
รายละเอียดทั้งหมด ปรากฏนับตั้งแต่บรรทัดนี้เป็นต้นไป
***************
(ต่อเนื่องจากเนื้อหาคำพิพากษาในตอนแรก)
บทบาท หัวหน้าส่วน 'อาคม'
ศาลฯ ระบุว่า จากบทสนทนาดังกล่าวพิจารณาประกอบเรื่องการตรวจคืนภาษีให้แก่บริษัท ท. ในปีภาษี 2556 และในปีภาษี 2557 ที่จําเลยที่ 2 เป็นผู้ตรวจ จําเลยที่ 3 เป็นหัวหน้าทีมตรวจและให้ความเห็นชอบ และจําเลยที่ 1 เป็นผู้อนุมัติจ่ายคืนภาษีดังกล่าว
จึงรับฟังได้สอดคล้องกันว่าเหตุการณ์สนทนาดังกล่าวเป็นเรื่องราว ที่นาย ว. (เจ้าของบริษัท ท. ) ได้เจรจา กับจําเลยที่ 3 เรื่องการจ่ายเงินให้กับเจ้าหน้าที่สรรพากรที่ดําเนินการตรวจจ่ายคืนภาษีที่ในปีภาษี 2556 จํานวน 1,283,753.55 บาท และในปีภาษี 2557 จํานวน 1,126,717.74 บาท รวม 2 ปีภาษีเป็นเงิน 2,410,472.29 บาท
เมื่อมีการเรียกรับเงินในการดําเนินการ ร้อยละ 10 ของยอดเงินภาษีที่คืนให้ดังกล่าว จะเป็นเงินประมาณ 241,047 บาท ก็คือเงินจํานวนประมาณสองแสนบาทเศษ ตามที่นาย ว. และจำเลยที่ 3 พูดคุยสนทนากันนั่นเอง
โดยนาย ว. จะขอเจรจาลดยอดเงินลงและว่าเท่าที่ให้ได้มีอยู่หนึ่งแสนบาทเศษ
แต่จําเลยที่ 3 เห็นว่ายอดเงินที่นาย ว. ขอเจรจาต่อรองลงนั้นมีจํานวนมากและแตกต่างจากยอดเงินที่ต้องชําระร้อยละ 10 มากเกินไป และจําเลยที่ 3 ไม่มีอํานาจตัดสินใจ
หากจะขอลดยอดเงินลงมาเพียงนั้น นาย ว. ต้องเข้าพบจําเลยที่ 1 และขอเจรจาต่อรองกับจําเลยที่ 1 เอง
ซึ่งก็เป็นที่มาที่จําเลยที่ 3 ได้ถาม จําเลยที่ 2 ว่า “กี่โมงนะท่านเข้า และจําเลยที่ 2 ตอบว่า “11 โมงค่ะท่านเข้า เพราะท่านมีคิวก่อนหน้า สองคิวแล้ว ท่านมี 10 โมง 11 โมงแล้ว เอ้ย 10 โมง 10 โมงครึ่ง ของเราเป็นคิวที่สาม 11 โมง”
ตอนท้าย ของคลิปวิดีโอในส่วนนี้เป็นภาพเหตุการณ์ที่จําเลยที่ 2 และจําเลยที่ 3 เดินสนทนามากับนาย ว. และจนถึง ตามมาส่งนาย ว.จนถึงรถยนต์ที่จอดอยู่บริเวณริมถนน และนาย ว. ก็รับว่าวันพรุ่งนี้ 11 โมงจะเข้ามา อีกครั้ง
หัวหน้าส่วน อาคม ให้การรับสารภาพ-ขอกันตัวเป็นพยาน
ในชั้นไต่สวนข้อเท็จจริงจําเลยที่ 3 ได้มีหนังสือลงวันที่ 2 มีนาคม 2563 ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้การรับสารภาพ
โดยยอมรับว่าการที่นาง ก. กรรมการบริษัทเอกชนรายหนึ่ง ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการประสานงานให้ช่วงแรก) เสนอเงินให้เป็นจํานวน 10 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้ดําเนินการคืนภาษีของผู้ประกอบการตามหน้าที่นั้น
แม้จําเลยที่ 3 ไม่ได้ตอบตกลงด้วยตนเอง แต่การที่จําเลยที่ 3 เข้าไปแจ้งรายละเอียดต่อจําเลยที่ 1 สรรพากรพื้นที่สมุทรปราการ 3 และกลับมาแจ้งแก่นาง ก. ทราบว่าตกลงตามเสนอนั้น
ศาลฯชี้ ความผิดสำเร็จแล้ว
ไม่ว่าจําเลยที่ 3 จะได้กระทําการชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ก็ตามถือได้ว่าการกระทําดังกล่าว ครบองค์ประกอบความผิดฐานร่วมกัน เรียก รับหรือยอมจะรับทรัพย์สิน ฯลฯ ..แล้ว
และยังยื่นคําร้องขอให้กันตัวจําเลยที่ 3 เป็นพยานว่าเหตุการณ์ที่จําเลยที่ 3 ซึ่งเป็นประจักษ์พยาน เพียงผู้เดียวที่เข้าไปแจ้งต่อจําเลยที่ 1 เรื่องนาง ก. เสนอให้เงินดังกล่าวและจําเลยที่ 1 บอกตกลงตามที่ นาง ก. เสนอและให้ดําเนินการต่อไป
จึงเป็นประจักษ์พยานว่าจําเลยที่ 1 ได้ตกลงยินยอมที่จะรับเงินเป็นจํานวน 10 เปอร์เซ็นต์ จากนาง ก. โดยมิชอบ
และในชั้นพิจารณา จําเลยที่ 3 ก็ให้การรับสารภาพ
โดยยื่นคําร้องประกอบคํารับสารภาพว่าเมื่อประมาณปลายเดือนกันยายน 2558 จําเลยที่ 3 ได้พบกับนาง ก. เป็นครั้งแรกที่ห้องทํางาน พร้อมกับจําเลยที่ 2 ซึ่งได้แจ้งต่อจําเลยที่ 3 ว่าขอเสนอค่าเร่งรัด ดําเนินการให้เป็นเงิน 10 เปอร์เซ็นต์
ในวันดังกล่าวจําเลยที่ 3 ไม่ได้ตอบตกลง เพราะอํานาจอนุมัติการคืนภาษีเป็นอํานาจของจําเลยที่ 1
จําเลยที่ 3 จึงเข้าไปแจ้งรายละเอียดดังกล่าวต่อจําเลยที่ 1 และได้รับการตอบรับว่าตกลงตามที่เสนอและให้ดําเนินการต่อไป
เกษียณอายุราชการแล้ว -ไม่มีอํานาจตัดสินใจ
เมื่อจําเลยที่ 3 เกษียณอายุราชการแล้ว ต่อมา วันที่ 26 ตุลาคม 2558 จําเลยที่ 3 ได้รับแจ้งว่านาย ว. กรรมการผู้จัดการบริษัท ท. มีความประสงค์ขอพบจําเลยที่ 3 ณ สํานักงานสรรพากรพื้นที่สมุทรปราการ 3 ซึ่งเป็นการพบกันครั้งแรก
โดยนาย ว. แจ้งว่าขอลดค่าเร่งดําเนินการคงเหลือ 10,000 บาท
แต่จําเลยที่ 3 เกษียณอายุราชการแล้ว และไม่มีอํานาจตัดสินใจใด ๆ
จึงแจ้งให้นาย ว. ไปพบจําเลยที่ 1 อันเป็นการยอมรับว่าจําเลยที่ 3 ได้พบและสนทนาเจรจาเรื่องการลดยอดเงินที่จําเลยที่ 3 รับข้อเสนอของนาง ก. ที่เสนอว่าจะให้เงินร้อยละ 10 ของ ยอดเงินภาษีที่มีการตรวจคืนให้แก่บริษัท ท. ทั้ง 2 ปีภาษีดังกล่าวจริง
แม้จําเลยที่ 3 จะระบุ ในคําร้องว่านาย ว. ขอลดค่าเร่งดําเนินการคงเหลือ 10,000 บาท แต่ก็ขัดแย้งกับถ้อยคําสนทนาระหว่าง จําเลยที่ 3 กับนาย ว. ในส่วนนี้ ที่นาย ว. บอกขอลดลงไม่ถึงจํานวนสองแสนบาทได้หรือไม่และนายว. มีอยู่เท่าที่ให้ได้เพียงจํานวนหนึ่งแสนบาทเศษเท่านั้น
ซึ่งถ้อยคําสนทนาดังกล่าวซึ่งผลการตรวจพิสูจน์พบว่าไม่มีการตัดต่อการสนทนาและเป็นที่ประจักษ์มีน้ำหนักรับฟังได้มากกว่าคําร้องของจําเลยที่ 3 ในส่วนนี้
พยานหลักฐานตามทางไต่สวนประกอบคํารับสารภาพของจําเลยที่ 3 ในส่วนนี้ จึงมีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟัง ได้ว่า จําเลยที่ 3 ในฐานะหัวหน้าทีมกํากับดูแลผู้เสียภาษี ก.08 ซึ่งมีอํานาจหน้าที่พิจารณาตรวจคืนภาษี เงินได้ในปีภาษี 2556 และปี 2557 ของบริษัท ท. ได้เรียกรับเงินจากทางบริษัทดังกล่าว จากการปฏิบัติหน้าที่ในการพิจารณาตรวจคืนภาษีดังกล่าวตามฟ้องจริง
ไม่ว่าการกระทําดังกล่าวจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ซึ่งการกระทําแต่เพียงนี้แม้จะยังไม่มีการส่งมอบเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด จากการเรียกรับหรือยอมจะรับดังกล่าว
พิพากษาลดโทษให้เหลือ 2 ปี 6 เดือน
การกระทําของจําเลยที่ 3 ก็ครบองค์ประกอบความผิดตามประมวล กฎหมายอาญา มาตรา 149 แล้ว และฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใด ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใด ในตําแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อํานาจในตําแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 อีกด้วย
ศาล จึงมีคำพิพากษาในส่วน นายอาคม คงพันธ์ จำเลยที่ 3 ว่า ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง จากจำคุก 5 ปี คงจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 2 ปี 6 เดือน
***********
เนื้อหาคำพิพากษาส่วนนี้ ยังไม่จบ ยังมีข้อมูลสำคัญอื่นๆ อีก
รายละเอียดเป็นอย่างไร โปรดติดตามตอนหน้า