ศาลอาญาคดีทุจริตฯ ภาค 2 พิพากษายกฟ้อง 'ณรงค์ คำหงส์' อดีตผู้บริหารวิทยาลัยพลศึกษาชลบุรี พวก 15 คน คดีกล่าวหาทุจริตเบียดบังเงินยืมทดรองราชการ ชี้ ป.ป.ช.รับเรื่องไต่สวนชี้มูลความผิดกว่า 13 ปี ปล่อยปะละเว้นทำ ม.162-157 ขาดอายุความ แต่ไปดำเนินการแจ้งข้อกล่าวชี้มูล ม.147 เพื่อให้คดีไม่ขาดอายุความ เป็นการไต่สวนชี้มูลที่ขาดความยุติธรรม ไม่สุจริต ไม่เที่ยงธรรม ไม่ปราศจากอคติ ไม่ชอบตามกม.
สำนักข่าวอิศรา(www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 2 มีคำพิพากษายกฟ้อง นายณรงค์ คำหงส์ (เป็นผู้บริหารวิทยาลัยพลศึกษาจังหวัดชลบุรี) จำเลยที่ 1 กับพวกรวม 15 คน จำเลย ในคดีกล่าวหากรณีทุจริตเบียดบังเงินยืมทดรองราชการของวิทยาลัยพลศึกษา วิทยาเขตชลบุรี ปี 2544 - 2548
โดยคดีนี้ เป็นคดีหมายเลขดำที่ อท 37/2566 คณะกรรมการ ป.ป.ช. โจทก์ นายณรงค์ คำหงส์ ที่ 1 กับพวกรวม 15 คน จำเลย กรณีทุจริตเบียดบังเงินยืมทดรองราชการ ของวิทยาลัยพลศึกษา วิทยาเขตชลบุรี ปี 2544 - 2548
เบื้องต้น ศาลฯ มีคำวินิจฉัยว่า เงินยืมทดรองราชการ เมื่อจำเลยยืมเงินไปแล้วกรรมสิทธิ์ยอมตกเป็นของจำเลย จำเลยมีเพียงหน้าที่ส่งใช้เงินยืมเท่านั้น กรณีเป็นการผิดสัญญาทางแพ่ง ไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมาย อาญา มาตรา 147
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยต่อมาคือโจทก์รับเรื่องกล่าวหาเมื่อ ปี 2552 ดำเนินการไต่สวนและชี้มูลความผิดเป็นเวลา 13 ปี ปล่อยปะละเว้น ทำให้ความผิดตามมาตรา 162 และ 157 ขาดอายุความ แต่กลับไปดำเนินการแจ้งข้อกล่าวและชี้มูลความผิด มาตรา 147 ซึ่งเป็นความผิดร้ายแรงเพื่อให้คดีไม่ขาดอายุความ เป็นการไต่สวนและชี้มูลที่ขาดความยุติธรรม ไม่สุจริต ไม่เที่ยงธรรม ไม่ปราศจากอคติ จึงไม่ชอบตาม พ.ร.ป.ป.ป.ช 61 มาตรา 25
ดังนั้น จึงพิพากษายกฟ้อง
อย่างไรก็ดี ยังไม่มีรายงานข่าวยืนยันว่า ป.ป.ช.มีการยื่นเรื่องอุทธรณ์ต่อสู้คดีในชั้นศาลฯ อีกหรือไม่
สำหรับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท
มาตรา 157 ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 162 ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสารหรือกรอกข้อความลงในเอกสาร กระทำการดังต่อไปนี้ในการปฏิบัติการตามหน้าที่
(1) รับรองเป็นหลักฐานว่า ตนได้กระทำการอย่างใดขึ้นหรือว่าการอย่างใดได้กระทำต่อหน้าตนอันเป็นความเท็จ
(2) รับรองเป็นหลักฐานว่า ได้มีการแจ้งซึ่งข้อความอันมิได้มีการแจ้ง
(3) ละเว้นไม่จดข้อความซึ่งตนมีหน้าที่ต้องรับจด หรือจดเปลี่ยนแปลงข้อความเช่นว่านั้น หรือ
(4) รับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้น มุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ
ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาท