"...คณะรัฐมนตรีลงมติเป็นหลักการให้แจ้งไปยังทุกส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐให้ถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดว่าในกรณีที่มีความจำเป็นต้องจัดทำหนังสือสัญญาซึ่งมีข้อบทให้อำนาจศาล ICJ มีเขตอำนาจเหนือข้อพิพาทตามหนังสือสัญญานั้น ให้จัดทำข้อสงวนไม่รับอำนาจของศาล ICJ ไว้ทุกเรื่อง เพื่อมิให้กระทบต่ออำนาจอธิปไตยของชาติ..."
หลังนายกรัฐมนตรีหล่นคำพูดเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมาว่ายกเลิก MOU 2544 ไม่ได้เพราะ “จะถูกฟ้องร้อง” ก็เลยมีคำถามตามว่าในที่สุดแล้วกรณีความขัดแย้งเรื่องเขตแดนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชาจะไปจบที่ศาลโลกให้เราช้ำใจอีกครั้งซ้ำรอยกรณีปราสาทพระวิหารเมื่อกว่า 60 ปีก่อนหรือไม่ ?
คำตอบ ณ วันนี้คือไม่ !
เพราะประเทศไทยไม่รับอำนาจศาล ICJ มา 64 ปีแล้ว
ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ : Information Court of Justice) หรือที่เรียกกันอย่างติดปากว่า “ศาลโลก” ก่อตั้งขึ้นในปี 2488 (ค.ศ. 1945) หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นองค์กรในสังกัดองค์การสหประชาชาติ (UN) ไม่เหมือนศาลภายในแต่ละประเทศที่บังคับใช้กับประชาชนในประเทศนั้น ๆ ทุกคนโดยอัตโนมัติ เพราะรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ แม้จะเป็นสมาชิกสมาชิกองค์การสหประชาชาติ ก็หาอยู่ภายใต้บังคับโดยอัตโนมัติไม่ ต้องพิจารณาแสดงเจตนายอมรับอำนาจศาลอย่างเป็นทางการเสียก่อน ถ้าไม่รับไม่ว่าจะด้วยเหตุใด ก็ไม่มีข้อผูกพันใด ๆ
การรับอำนาจศาล ICJ นั้นก็กำหนดให้ประเทศต่าง ๆ แสดงเจตนารับคราวละ 10 ปี
ประเทศไทยไม่เคยรับอำนาจศาล ICJ อย่างเป็นทางการ
เคยแต่รับอำนาจศาลประจำยุติธรรมระหว่างประเทศ (PCIJ) หรืออาจจะเรียกว่า “ศาลโลกเก่า” เป็นองค์กรในสังกัดองค์การสันนิบาตชาติที่ตั้งขึ้นในปี 2463 (ค.ศ. 1920) หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 รวมแล้ว 3 ครั้ง
- ครั้งที่ 1 ปี 2472 (ค.ศ. 1929)
- ครั้งที่ 2 ปี 2483 (ค.ศ. 1940)
- ครั้งที่ 3 ปี 2493 (ค.ศ. 1950)
แต่มีปัญหาไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้ตรงการต่ออายุการรับรองอำนาจศาลครั้งที่ 3 เพราะขณะนั้นสงครามโลกครั้งที่ 2 จบไปแล้วหลายปี ไม่มีสันนิบาตชาติแล้ว ไม่มีศาล PCIJ อยู่แล้ว มีแต่องค์การสหประชาขาติและศาล ICJ การส่งหนังสือประกาศยืนยันจากรัฐบาลไทยถึงเลขาธิการสหประชาชาติต่ออายุการรับอำนาจศาล PCIJ เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2493 จึงถูกวินิจฉัยในเวลาต่อมาว่าคือการยอมรับอำนาจศาล ICJ นั่นเอง
กัมพูชาฟ้องไทยในคดีปราสาทพระวิหารเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2502 (ค.ศ. 1959) เหลืออีก 7 เดือนจึงจะครบอายุ 10 ปี
เพราะแม้ประเทศไทยจะต่อสู้คดีเบื้องต้นโดยการตัดฟ้องว่าเรายอมรับอำนาจศาล ICJ ศาล ICJ จึงไม่มีอำนาจพิจารณา แต่ก็ไม่เป็นผล
ศาล ICJ พิพากษาข้อโต้แย้งเบื้องต้นในปี 2504 ว่าประเทศไทยยอมรับอำนาจศาล ICJ แล้ว
ประเทศไทยจึงเดินหน้าต่อสู้คดีต่อไป
และแพ้คดีปราสาทพระวิหารในปี 2505 (ค.ศ. 1962) อย่างที่ทราบกันดี
ไทยต้องขึ้นสู้คดีในศาล ICJ อีกครั้งในปี 2556 แต่เป็นคดีเก่า เป็นคดีที่รัฐคู่ความยื่นขอตีความคำพิพากษาในคดีปราสาทพระวิหารเมื่อปี 2505
จากข้อเท็จจริงที่ประเทศไทยต้องขึ้นต่อสู้คดีในศาล ICJ ทั้ง 2 ครั้งในปี 2505 และ 2556 โดยกัมพูชาเป็นฝ่ายเริ่มก่อนทั้งสิ้นนั้น
จึงไม่แปลกที่จะมีคนไทยจำนวนหนึ่งเกรงว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยอีกครั้ง !
แต่ครานี้สถานการณ์ต่างออกไป
ประเทศไทยไม่ได้รับอำนาจศาล ICJ มาตั้งแต่ปี 2503 คดีปราสาทพระวิหารที่กัมพูชาเริ่มฟ้องในปี 2502 เป็นคดีแรกและคดีสุดท้ายที่เราอยู่ภายใต้อำนาจศาล เป็นคดีประวัติศาสตร์ที่มีถึง 2 ภาคภายในระยะเวลากว่า 60 ปี
มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 12 มีนาคม 2567 ยืนยันจุดยืนของประเทศไทยได้ชัดเจน
คณะรัฐมนตรีลงมติเป็นหลักการให้แจ้งไปยังทุกส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐให้ถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดว่าในกรณีที่มีความจำเป็นต้องจัดทำหนังสือสัญญาซึ่งมีข้อบทให้อำนาจศาล ICJ มีเขตอำนาจเหนือข้อพิพาทตามหนังสือสัญญานั้น ให้จัดทำข้อสงวนไม่รับอำนาจของศาล ICJ ไว้ทุกเรื่อง เพื่อมิให้กระทบต่ออำนาจอธิปไตยของชาติ
ย้ำ - เพื่อมิให้กระทบต่ออำนาจอธิปไตยของชาติ !
วันที่ 15 และ 19 มีนาคม 2567 มีการแจ้งมติคณะรัฐมนตรีไปยังทุกส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ
เป็นไปตามข้อสังเกตเชิงข้อเสนอมาจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2566
ประเด็นนี้ต้องขอชื่นชมทั้งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและรัฐบาลชุดนายเศรษฐา ทวีสิน
เพื่อบันทึกไว้ในเป็นประวัติศาสตร์อีกครั้ง ผมได้นำประเด็นนี้มาเป็นกระทู้ถามด้วยวาจาในที่ประชุมวุฒิสภา ตั้งถามนายกรัฐมนตรีด้วยวาจาในที่ประขุมวุฒิสภาเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2567 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในขณะนั้น ได้รับมอบหมายให้มาเป็นผู้มาตอบแทน ในวันนั้นผมได้ใช้เป็นโอกาสกล่าวเทิดเกียรติท่านอาจารย์สมปอง สุจริตกุลที่ยืนหยัดปฏิเสธอำนาจศาล ICJ มาตลอดด้วย
สบายใจได้ในระดับสำคัญ
ขอแต่เพียงรัฐบาล ไม่ว่ารัฐบาลนี้หรือรัฐบาลไหนในอนาคต อย่าได้ยกเลิกหลักการสำคัญยิ่งอันเป็นมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 12 มีนาคม 2567 นี้
อย่าให้ซ้ำรอย MOU 2544 ก็แล้วกัน
ที่เคยมีมติคณะรัฐมนตรีปลายปี 2552 ให้ยกเลิก ให้กระทรวงการต่างประเทศไปศึกษาวิธีการยกเลิก แต่ศึกษากันยาวนาน 5 ปี จนถึงปลายปี 2557 กลับมีมติคณะรัฐมนตรีอีกชุดหนึ่งให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีชุดปี 2552 ให้กลับมาใช้ MOU 2544 เป็นกรอบการเจรจากับกัมพูชาอีก
อย่าให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย !
คำนูณ สิทธิสมาน
28 พฤศจิกายน 2567