“...จุดจบจะซ้ำรอยโครงการบ้านเอื้ออาทรหรือไม่ นายสุรพงษ์ตอบว่า ไม่ คนละเรื่อง โครงการนี้หาดีมานด์ก่อนค่อยทำ ไม่ล้มเหลว ทำเลส่วนใหญ่ก็อยู่ในเมือง ไม่ไกลปืนเที่ยงเหมือนบ้านเอื้ออาทร…”
กลายเป็นอีกโครงการที่ประชาชนจับตามอง สำหรับโครงการบ้านเพื่อคนไทย โครงการบ้านเพื่อผู้มีรายได้น้อย โมเดลที่นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดตัวในการแถลงผลงาน 90 วันรัฐบาลเมื่อเดือน ธ.ค. 2567 ที่ผ่านมา
โครงการนี้กระทรวงคมนาคมเป็นเจ้าภาพ โดยให้บจ.เอสอาร์ที เอสเสท (SRT Asset) เป็นผู้ดำเนินการ นำร่อง 4 พื้นที่ ได้แก่ บางซื่อ กม.11, ธนบุรี ,เชียงราก, เชียงใหม่ 5,000 ยูนิต โดยรัฐบาลโปรโมตว่า มีรูปแบบโครงการที่พักอาศัย ในระยะแรก 2 ประเภท ได้แก่ 1.คอนโดมิเนียม แบ่งเป็น ห้องพัก 30 ตร.ม. (1 ห้องนอน), ห้องพัก 40 ตร.ม. (2 ห้องนอน), ห้องพัก 45 ตร.ม. (2 ห้องนอน) และห้องพัก 51 ตร.ม. (2 ห้องนอน) 2.บ้านเดี่ยว 1 ชั้น ขนาด 50 ตร.ม. บนที่ดิน 50 ตร.ว.
โดยพื้นที่บางซื่อ กม.11 ,ธนบุรี,เชียงราก จะเป็นคอนโดมิเนียม ส่วนเชียงใหม่ จะเป็นรูปแบบบ้านเดี่ยว ส่วนของคอนโดมิเนียม ที่บางซื่อ กม.11 ราคาเริ่มต้น 1ล้านบาทเศษ ,1.68 ล้านบาท และ 1.88 ล้านบาท ตามขนาดของห้อง
เรียกว่าเป็นโครงการที่ประชาชนแห่แหนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า ประชาชนคนไทยส่วนมาก ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง เพราะปัจจัยราคาที่อยู่อาศัยสูงขึ้น สวนทางกับรายได้ที่ไม่ขยับตาม
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลดีเอ็นเอเพื่อไทย-พลังประชาชน-ไทยรักไทย เคยมีวีรกรรมในอดีตที่เกี่ยวกับบ้านเพื่อผู้มีรายได้น้อยมาแล้ว กับคดีบ้านเอื้ออาทร ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้อ่านคำพิพากษาของศาลฎีกา สั่งจำคุกนายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 50 ปี พร้อมให้ร่วมชดใช้ค่าเสียหายรวม 89 ล้านบาทด้วย
ทำให้มีข้อระแวงสงสัยว่า การดำเนินโครงการนี้จะซ้ำรอยหรือไม่
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สัมภาษณ์พิเศษ ‘สุรพงษ์ ปิยะโชติ’ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะที่กำกับ SRT Asset หน่วยงานต้นสังกัดผู้ควบคุมดูแลโปรเจ็กต์นี้
@ ไม่ผ่านเกณฑ์ 1.3 แสนคน / ปี 68 แสนยูนิต-เข้าอยู่ปี 69
นายสุรพงษ์เริ่มต้นว่า ปัจจุบันมีผู้มาลงทะเบียนแสดงความจำนงแล้ว 270,000 คนผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้นจากธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) แล้ว 140,000 คน แต่กระบวนการยังไม่จบ เพราะเว็บไซต์ยังเปิดให้ลงทะเบียนเรื่อยๆ โดยจะปิดการลงทะเบียนภายในสัปดาห์นี้ ส่วนการตรวจสอบคุณสมบัติจะทำไปเรื่อยๆจนครบ โดยชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติจะเปิดเผยผ่านเว็บไซต์ต่อไป
ทั้งนี้ ถ้ามีผู้แสดงความจำนงมาก รัฐบาลก็พร้อมจะเริ่มดำเนินการระยะที่ 2-4 ของโครงการ ซึ่งคาดว่ารวมแล้วจะมีทั้งหมด 100,000 ยูนิต ส่วนแต่ละพื้นที่นำร่องจะมีจำนวนยูนิตเท่าไหร่ ก็ต้องกลับมาดูก่อนว่า ในการลงทะเบียนนั้น แต่ละพื้นที่มีประชาชนเลือกรูปแบบที่อยู่อาศัยอย่างไรบ้าง เพราะในเว็บไซต์จะเปิดให้ลงทะเบียนเลือกทั้งแบบบ้านและคอนโด ซึ่งคอนโดจะแยกเป็นห้องขนาด 30 ตร.ม.และ 45 ตร.ม. เมื่อได้จำนวนที่แน่ชัดแล้ว จึงจะสามารถกำหนดจำนวนยูนิตที่ชัดเจนของแต่ละพื้นที่ได้
เมื่อมีคนลงทะเบียนแสดงความต้องการ อยากได้ห้องขนาดเท่านั้นเท่านี้ จะสมหวังทุกคนหรือไม่ นายสุรพงษ์ตอบว่า ต้องมีคนผิดหวัง เพราะคนลงทะเบียนมีเยอะกว่าจำนวนห้อง คนที่ผ่านคุณสมบัติอาจจะต้องเลือกรับเอาที่อยู่ที่ไม่ตรงใจบ้าง อย่างถ้าจำนวนคนต้องการห้องขนาด 30 ตร.ม.เยอะ ก็ต้องทำห้องขนาด 30 ตร.ม.มากหน่อย คนที่ต้องการห้องขนาด 45 ตร.ม. อาจจะต้องมาอยู่ห้องขนาด 30 ตร.ม.บ้าง เป็นต้น คาดว่าจะส่งมอบที่อยู่ได้ในปี 2569 ซึ่งจะเริ่มจ่ายค่าเช่าก็ต่อเมื่อเข้าอยู่แล้วเท่านั้น ไม่ต้องเตรียมเงินดาวน์
“พื้นที่นำร่อง 4 แห่ง 5,000 ยูนิต บางซื่อ 1,000 ยูนิต ตรงธนบุรีจะได้ยูนิตมากสุดประมาณ 3,000 ยูนิต เชียงราก 800 ยูนิต นอกนั้นจะอยู่ที่เชียงใหม่ โดยแต่ละพื้นที่จะมีเฟส 2-4 รอไว้ โดยคาดว่าจะมีที่อยู่อาศัยแต่ละแห่งอยู่ที่ 10,000 ยูนิต ตรงบางซื่อจะมีอาคารคอนโดสูง 28-42 ชั้น เพราะมีกฎหมายควบคุมการบินกำกับไว้ โดยเฟสแรกจะมีการสุ่มจับ ซึ่งได้รับการร่วมมือจากกองสลากฯ โดยเอาคนที่ผ่านเกณฑ์มาคัดแยกมาว่าเลือกอยู่ที่ไหน จากนั้นจะมีการสุ่มจับว่าใครจะได้เฟสแรกก่อน ที่เหลือก็อยู่ใน Waiting List พอมีเฟสใหม่ๆ ก็สุ่มจับเรื่อยๆ”นายสุรพงษ์กล่าว
@เพิ่มทุนจดทะเบียน SRT Asset ให้ถึงพันล้าน รฟท.อาจต้องกู้อีก
นายสุรพงษ์กล่าวถึงงบประมาณในการดำเนินโครงการเฟสแรกมาจากไหน ว่า เท่าที่หารือกัน อยู่ระหว่างการเตรียมงาน โดย SRT Asset จะเป็นผู้ก่อสร้างแน่นอน คาดว่าการก่อสร้างในเฟสแรกจะใช้เงินประมาณ 4,000 ล้านบาท ส่วนแหล่งที่มาของงบประมาณกำลังหารือกันอยู่ อาจจะมาจากการกู้ก็ได้ ความตั้งใจคือ ให้ผู้ที่ได้รับคัดเลือกถือใบจองไว้ พอสร้างเสร็จก็พร้อมส่งมอบทันที ขณะที่ ธอส.จะเป็นผู้ปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้ วงเงินสินเชื่อรวม 5,000-6,000 ล้านบาท
นายสุรพงษ์กล่าวว่า SRT Asset อาจจะต้องมีการเพิ่มทุนจดทะเบียนให้มีศักยภาพในการกู้ ตอนนี้ทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 200 ล้านบาท คาดว่าจะต้องเพิ่มทุนจดทะเบียนให้เป็น 1,000 ล้านบาท
ส่วนการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดที่ถือหุ้น 99% จะต้องไปกู้เงินเพื่อเพิ่มทุนจดทะเบียนหรือไม่นั้น คิดว่าอาจจะต้องให้ รฟท. เพิ่มทุนให้ ซึ่งรฟท.ต้องไปหาวิธีว่าจะเอาเงินมาจากไหน อาจจะต้องกู้เพิ่มก็ได้ สมมติ SRT Asset ต้องกู้เงิน 4,000 ล้านบาทเพื่อก่อสร้าง 1 ยูนิต ตกราคาละ 1 ล้านบาท เงินกู้ที่มาจะทยอยมา ก้อนแรกอาจจะ 25% ทยอยมาเรื่อยๆจนรอบสุดท้ายแล้ว
ธอส.ที่ทำสัญญากับผู้ที่ผ่านการคัดเลือกแล้ว ก็เอาเงินบางส่วนจ่ายคืน SRT Asset มา เพราะ ธอส.เอาที่ดินของ รฟท. ไปทำสินเชื่อและเอาเงินของตัวเองไปออกให้ก่อน ซึ่งก็จะคิดดอกเบี้ยไปแล้ว เหมือนเวลาขายรถ จริงๆโชว์รูมขายรถสดนะ แต่จะมีพวกไฟแนนซ์ไปจัดราคาผ่อนให้อีกที รูปแบบเหมือนกัน
ส่วนการเพิ่มทุนจดทะเบียน SRT Asset จำเป็นต้องทำก่อนที่จะเริ่มก่อสร้างหรือไม่ นายสุรพงษ์กล่าวว่า แล้วแต่ว่าทางธอส.ต้องการให้เพิ่มก่อนหรือจะอย่างไร ตอนนี้หารือกันอยู่ การเพิ่มทุนก็เป็นการให้หลักประกันอย่างหนึ่ง เพราะเวลาทำมันใหญ่กว่านี้
ขณะที่เงินกู้ที่จะมาใช่ในการก่อสร้างแหล่งเงินจะมาจาก ธอส. หรือไม่ ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการ (บอร์ด) SRT Asset ว่าจะเห็นอย่างไร จะไปเฉพาะเจาะจงไม่ได้ ถ้าไม่ได้จากธอส.ก็มีแบงค์รัฐอื่นๆ เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เป็นต้น
นอกจาก 4 พื้นที่นี้แล้ว จะมีที่ไหนอีกหรือไม่นั้น นายสุรพงษ์กล่าวว่า เบื้องต้นคาดว่าจะมีที่จ.กาญจนบุรี, นครราชสีมา, อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา, สุราษฎร์ธานี ซึ่งจะเป็นหัวเมืองใหญ่ที่มีประชากรหนาแน่นและมีระบบรถไฟเข้าถึง เพื่ออีกทางหนึ่งจะได้เพิ่มจำนวนผู้โดยสารในระบบรางด้วย โดยคาดว่าจะใช้วิธีเดิมคือ เปิดให้คนพื้นที่ดังกล่าวลงทะเบียนแสดงความจำนง เพื่อให้ทราบถึงความต้องการที่ชัดเจน โครงการเราจะสร้างตามดีมานด์ โดยโครงการนี้วางไว้จะมีจำนวนยูนิตทั้งหมด 600,000 ยูนิต
‘สุรพงษ์ ปิยะโชติ’ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
@มีอำนาจทำ ไม่ซ้ำรอย 'บ้านเอื้ออาทร'
ในยามปกติโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย จะเป็นหน้าที่ของกระทรวงพัฒนาสังคมฯ แต่พอตอนนี้กลายเป็นกระทรวงคมนาคมโดย SRT Asset เป็นผู้ดำเนินการ แน่ใจหรือไม่ว่ามีอำนาจดำเนินการ นายสุรพงษ์กล่าวว่า ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว SRT Asset เอาที่ดินของ รฟท.ไปให้เช่าและพัฒนา ซึ่งทำให้เกิดรายได้เข้า รฟท. ตอนนี้อยู่ระหว่างคำนวณว่า ถ้าพื้นที่ต่างๆพัฒนาเสร็จ จะเพิ่มรายได้ให้ รฟท.เท่าไหร่
ส่วนที่มีคนตั้งคำถามว่า ถ้า รฟท.เอาที่ไปพัฒนาอย่างอื่นในเชิงพาณิชย์ จะมีรายได้มากกว่านั้น รมช.คมนาคมกล่าวว่า โครงการนี้เป็นการเอาพื้นที่บางส่วนมาทำ ถ้าอนาคตมีโครงการพัฒนาขนาดใหญ่เกิดขึ้น เชื่อว่าจะอยู่ร่วมกันได้ โครงการนี้จะนำร่องให้เกิดชุมชนเมืองขึ้น และที่สำคัญเป็นตัวช่วยให้กับผู้ที่เป็น First Jobber ให้ตั้งหลักได้ไวขึ้นด้วย แล้วคนเหล่านี้ 10 ปีผ่านไปก็อาจจะมีเงินเดือนเพิ่มขึ้นด้วย ก็จะมีกำลังไปมีที่ทมางของตัวเองต่อไป
เมื่อหลายฝ่ายจับตาว่า จุดจบจะซ้ำรอยโครงการบ้านเอื้ออาทรหรือไม่นั้น
นายสุรพงษ์ตอบว่า ไม่ คนละเรื่อง โครงการนี้หาดีมานด์ก่อนค่อยทำ ไม่ล้มเหลว ทำเลส่วนใหญ่ก็อยู่ในเมือง ไม่ไกลปืนเที่ยงเหมือนบ้านเอื้ออาทร