"...ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลได้ประกาศจุดยืนอย่างชัดเจนในการ “ปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้า” โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน ซึ่งกำลังตกเป็นเป้าหมายหลักของธุรกิจบุหรี่ยุคใหม่ ผ่านกลไกการตลาดออนไลน์ที่เข้าถึงง่าย สั่งซื้อได้ในไม่กี่คลิก..."
“จึงไม่ควรให้กระแสปราบบุหรี่ไฟฟ้าเป็นแค่เพียงประกายไฟวาบหนึ่งแล้วหายไป แต่เปลี่ยนให้เป็นเปลวไฟที่ลุกโชนต่อเนื่อง จนเผาวงจรอุบาทว์ที่มีผลต่อเด็กและเยาวชนนี้ให้มอดไหม้จนหมดลง”
เป็นที่ประจักษ์ว่า นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร เป็นผู้นำของประเทศที่แสดงบทบาทในการปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้าอย่างจริงจัง และมีผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรมมากที่สุดตั้งแต่ที่ประเทศไทยเคยมีมา บทบาทนี้สามารถส่งผลโดดเด่นในเวทีโลก โดยเฉพาะในการประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลกในครั้งต่อไป
ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลได้ประกาศจุดยืนอย่างชัดเจนในการ “ปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้า” โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน ซึ่งกำลังตกเป็นเป้าหมายหลักของธุรกิจบุหรี่ยุคใหม่ ผ่านกลไกการตลาดออนไลน์ที่เข้าถึงง่าย สั่งซื้อได้ในไม่กี่คลิก
ความมุ่งมั่นของรัฐบาลไม่ใช่แค่คำพูด หากแต่มีการลงมือปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีกรอบเวลา และ ผลงานที่ชัดเจนในช่วงต้นปี 2568 ได้แก่: 26 ก.พ. – 18 มี.ค. 2568: จับกุม 1,741 คดี ผู้ต้องหา 1,789 คน ของกลางกว่า 1.2 ล้านชิ้น มูลค่ารวมกว่า 231 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2567 อย่างชัดเจน ที่มีการจับกุมได้ 393 คดี ปริมาณ 1.4 ล้านชิ้น มูลค่ากว่า 145 ล้านบาท
หนึ่งในการปราบปรามจับกุมสำคัญ ที่เป็นผลงานของรัฐบาล คือ การบุกทลายแหล่งบุหรี่ไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในพื้นที่ นนทบุรี ซึ่งถือเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ระดับประเทศ โดยเจ้าหน้าที่สามารถยึดของกลางได้กว่า 260,000 ชิ้น มูลค่ารวมสูงถึง 130 ล้านบาท นับเป็นคดีใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของการปราบบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย
นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ได้แสดงท่าทีอย่างชัดเจนต่อคดีนี้ โดยย้ำว่า รัฐบาลจะเข้มงวดและจริงจังมากขึ้นในการจัดการปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเป็นระบบ และจะไม่ปล่อยให้กระบวนการค้าเหล่านี้ลอยนวล
รัฐบาลได้มอบหมายให้ นางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบภารกิจนี้โดยตรง พร้อมตั้งกรอบเวลารายงานผลภายใน 30 วัน ถือเป็นสัญญาณที่แสดงถึงความเอาจริงเอาจังของฝ่ายบริหารสูงสุด
ความจริงจังของรัฐบาลได้สะท้อนผ่านความพึงพอใจของประชาชน โดยในเดือนมีนาคม 2568 นางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลสำรวจจากประชาชนระบุว่า “การปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้า” คือหนึ่งในผลงานที่ประชาชนพึงพอใจมากที่สุดของรัฐบาล (ที่มา: สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี) พร้อมทั้งเปิดให้ประชาชนร่วมแจ้งเบาะแสร้านค้าผิดกฎหมายได้ทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ ถือเป็นรูปธรรมของ “ภาครัฐ–ภาคประชาชน” ที่เดินหน้าไปพร้อมกัน
อย่างไรก็ตาม ในโลกของข่าวสารที่หมุนเร็ว เหตุการณ์ใหม่ๆ เช่น แผ่นดินไหว อาคารพังถล่ม กระแส พ.ร.บ. สถานบันเทิงครบวงจร หรือ กำแพงภาษีสหรัฐอเมริกา กำลังกลบกระแส “การปราบปราม การปรับจับบุหรี่ไฟฟ้า” ให้เงียบลง จนเป็นความกังวลของสังคม ว่า การปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้าจะเงียบหายไปโดยโดนกลบจากข่าวอื่น
เพื่อไม่ให้ภารกิจสำคัญนี้ถูกกลืนไปกับข่าวอื่น ควรถึงเวลา “ตอกหมุด” เดินหน้าจริง โดยมีข้อเสนอให้รัฐบาลกำหนด “31 พฤษภาคม 2568” ซึ่งตรงกับ “วันงดสูบบุหรี่โลก (World No Tobacco Day)” เป็น “วันดีเดย์ปราบบุหรี่ไฟฟ้าแห่งชาติ” ระดมกำลังจากทุกภาคส่วน ทั้งตำรวจ หน่วยงานท้องถิ่น กระทรวงสาธารณสุข โรงเรียน และภาคประชาชน ร่วมมือกันแสดงพลังเชิงสัญลักษณ์ และปฏิบัติการเชิงรุกพร้อมกันทั่วประเทศ
โดยที่ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เตือนอย่างหนักแน่นถึงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า โดยเสนอ 5 มาตรการเร่งด่วน เช่น ห้ามขายให้เยาวชน ห้ามใช้กลิ่น-รส ควบคุมนิโคติน ห้ามสูบในที่สาธารณะ และห้ามโฆษณา ซึ่งประเทศไทยมีความได้เปรียบกว่าหลายประเทศ เพราะ “บุหรี่ไฟฟ้ายังผิดกฎหมายอย่างชัดเจน” การนำเข้า ขาย และโฆษณา ล้วนเป็นความผิดตามกฎหมาย
ในปี 2567 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ เครือข่ายกองทุนส่งเสริมสุขภาพนานาชาติ (INHPF) ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลก “ปกป้องเยาวชนจากการตกเป็นเหยื่อของบุหรี่ไฟฟ้า” พร้อมเสนอให้ประเทศไทยยกระดับมาตรการควบคุมให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล โดยเฉพาะการ ปิดช่องโหว่ของกฎหมาย ที่ยังเปิดทางให้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้แพร่ระบาดในหมู่เยาวชนได้อย่างรวดเร็วและไร้การควบคุม
เสียงสะท้อนจากทั้งภายในและภายนอกประเทศ ยืนยันตรงกันว่า ประเทศไทยต้องไม่เพียงแต่คงไว้ซึ่งการห้ามบุหรี่ไฟฟ้า แต่ต้อง “เดินหน้าเชิงรุก” อย่างเป็นระบบในการปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้าอย่างยั่งยืนโดยเฉพาะในเด็กและเยาวชน
การดำเนินแนวทางการปราบบุหรี่ไฟฟ้าอย่างยั่งยืน จำเป็น ต้องใช้มาตรการ “ไม้แข็ง” และ “ไม้อ่อน” ควบคู่กัน
• ไม้แข็ง: บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ให้รางวัลนำจับ ขยายผลถึงผู้นำเข้าและผู้ค้าออนไลน์
• ไม้อ่อน: สร้างค่านิยมใหม่ในหมู่เยาวชน ดึงเด็กที่เคยใช้มาร่วมรณรงค์ สื่อสารความจริงเรื่องพิษภัย และเสริมบทบาทผู้ปกครอง
การปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้าจึงควรมุ่งมั่น เดินหน้าให้ถึงที่สุด ไม่หยุดกลางทาง โดย ไม่ใช่เพียงการบังคับใช้กฎหมายแบบเฉพาะกิจ แต่คือ “ภารกิจแห่งชาติ” ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน—รัฐบาล ภาคประชาชน นักวิชาการ และเยาวชน โดยเฉพาะเมื่อเรามีผู้นำประเทศที่แสดงเจตจำนงแน่วแน่ ดังเช่น นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ซึ่งได้ริเริ่มและผลักดันให้เห็นผลในทางปฏิบัติอย่างชัดเจน
หากรัฐบาลใช้วันที่ 31 พฤษภาคม 2568 — วันงดสูบบุหรี่โลก — เป็นหมุดหมายสำคัญในการเดินหน้าปราบปรามอย่างเป็นระบบ จะสามารถสร้าง “จุดเปลี่ยน” ให้กับสังคมไทย ปกป้องเด็กและเยาวชนจากการตกเป็นเหยื่อของอุตสาหกรรมบุหรี่ไฟฟ้าได้อย่างแท้จริง ภายใต้คำขวัญ
“31 พฤษภาคม ดีเดย์ปราบบุหรี่ไฟฟ้า”
เดินหน้าจริง หยุดวงจรอุบาทว์ในเยาวชนไทย
ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องไม่ปล่อยให้กระแสจับบุหรี่ไฟฟ้าเงียบหายไปตามข่าวอื่นๆ แต่ต้องยืนยันให้เกิดความต่อเนื่อง กลายเป็นนโยบายถาวรของชาติ เพื่อสุขภาพของคนไทยรุ่นต่อไป ทำให้ จากประกายไฟเล็กๆ สู่เปลวไฟแห่งภารกิจชาติ “ปราบบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อเยาวชนไทย”
วิทยา กุลสมบูรณ์
มูลนิธิเภสัชชนบท
15 เมษายน 2568