‘วีริศ’ เผยคืบหน้างานรับมอบรถไฟญี่ปุ่น KIHA 40/48 จำนวน 20 ตู้แล้ว ชี้มีการตั้งประธานรับมอบงาน ส่วนการคิดค่าปรับโยนให้ประธานรับมอบพิจารณา ส่วนงานบีบล้อก็นับหนึ่งแล้ว
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2568 นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า วานนี้ (11ก.พ. 68) มีโอกาสลงพื้นที่สถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องลาดกระบัง (Latkrabang Inland Container Depot : ICD) พร้อมทั้งสำรวจสภาพจราจรและถนนที่ชำรุดบริเวณทางเข้า ICD ลาดกระบัง จากนั้นเดินทางต่อไปยังท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อสำรวจภาพรวมการขนส่งสินค้าทางรถไฟภายในท่าเรือแหลมฉบัง
โดยได้ไปตรวจเยี่ยมขบวนรถไฟคิฮะ (Kiha) 40 และ คิฮะ 48 จำนวน 20 คันด้วย ซึ่งได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ว่า ขณะนี้ได้มีการตั้งประธานตรวจรับเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนจากนี้อยู่ระหว่างรอประธานแจ้งให้ผู้รับจ้างทำแผนมาเสนอในเรื่องของกรอบเวลา ส่วนเรื่องจะดำเนินการปรับหรือไม่อย่างไรนั้น คงต้องรอประธานเป็นผู้สรุป อย่างไรก็ตาม จะเร่งรัดให้รีบทำแผนมาเสนอโดยเร็วที่สุด ส่วนการรถไฟฯ ก็จะเร่งดำเนินการบีบล้อ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 30-45 วันต่อโบกี้ เมื่อแล้วเสร็จก็จะนำเข้าไปตรวจสอบและประกอบที่โรงงานมักกะสันตามขั้นตอนต่อไป
@ย้อนบูมหลังขนย้ายรถไฟญี่ปุ่น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ รฟท.ว่าจ้างบริษัท กรีน เจเนอเรชั่น เวิลด์ไวด์ จำกัด ขนย้ายรถดีเซลรางปรับอากาศ KIHA 40/48 จากประเทศญี่ปุ่น มายังประเทศไทย โดยพบว่ามีการขนย้ายขบวนรถไฟทั้ง 20 ตู้ จากท่าเรือนีงาตะ ประเทศญี่ปุ่น ถึงท่าเรือแหลมฉบัง ประเทศไทยแล้ว ตั้งแต่วันที่ 2 มิ.ย.67 ปัจจุบันขบวนรถทั้งหมด ยังจอดอยู่ที่ย่านสถานีรถไฟแหลมฉบัง จ.ชลบุรี โดยสัญญา งานงวดที่ 3 ครบกำหนดไปแล้วเมื่อต้นเดือน ก.ย. 2567 และมีค่าปรับเกิดขึ้น พร้อมกันนี้ยังมีประเด็นที่เอกชนขอแก้ไขสัญญาในรายละเอียดการขนย้ายหลังจากที่ได้ดำเนินการขนย้ายไปแล้ว โดยมีการทำสัญญาแนบท้าย ลงวันที่ 15 พ.ค. 2567 ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตว่า มีการกระทำบางอย่างที่ไม่เป็นไปตามเอกสารข้อกำหนดรายละเอียดของงานกำหนด
ซึ่งสำนักข่าวอิศราได้รายงานรายละเอียดของการกระทำที่ผิดไปจากเอกสารข้อกำหนดรายละเอียดของงาน (Term of Reference) ได้แก่
1.ไม่ได้มีการแยกตัวรถ(Body) กับ แคร่(Bogie) ออกจากกันที่ลานพักสินค้าฟูจิโยเสะ จังหวัด นีงาตะ ประเทศญี่ปุ่น ก่อนที่จะยกขึ้นเรือมายังท่าเรือแหลมฉบัง
2.มีการนำรถดีเซลรางทั้ง 20 คันมาวางกองเก็บที่ ย่านสถานีรถไฟแหลมฉบัง ผิดจากเงื่อนไข TOR ที่ต้องวางที่ย่านท่าเรือแหลมฉบัง จนกว่าที่จะรีเกรดล้อเสร็จและยกตัวรถนำมามาประกอบกับแคร่ที่สถานีรถไฟแหลมฉบัง
3.มีการสมยอมและเจตนาที่จะใช้พื้นที่ย่านสถานีรถไฟแลมฉบังเพื่อทำการยกตัวรถดีเซลรางเพื่อถอดแคร่(Bogie)ออกจากตัวรถ(Body) ที่ย่านสถานีรถไฟแหลมฉบัง ซึ่งไม่เป็นไปตาม TOR และมาตรฐานงานซ่อมบำรุงล้อเลื่อนของการรถไฟฯ และมาตรฐานความปลอดภัย และไม่ได้ใช้ผู้เชี่ยวชาญในการแยกตัวรถ
4.มีการพยามลดค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่นและที่ท่าเรือแหลมฉบัง
5.มีการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้รับจากโดยคณะกรรมการตรวจรับพัสดุในงานจ้าง
รวมถึงมีการขอแก้ไขเอกสารแนบท้ายสัญญาจ้าง เป็นข้อตกลงเพิ่มเติม ลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 โดยขอแก้ในส่วน คณะกรรมการตรวจรับพัสดุในงานจ้าง ได้ทำหนังสือขออนุมัติแก้ไขสัญญาฯ โดยอ้างว่าไม่สามารถที่จะรื้อแคร่(Bogie) ออกจาก ตัวรถ (Body) เพื่อทำการขนย้ายจากท่าเรือ นีงาตะมายัง ท่าเรือแหลมฉบังได้ จากสาเหตุ
1.1 อ้างว่าลานเก็บสินค้าที่ ท่าเรือที่ นีงาตะไม่เพียงพอ โดยไม่ได้แสดงหลักฐานจากทางท่าเรือนีงาตะว่าเหตุใดจึงปฏิบัติงานที่ท่าเรือ นีงาตะไม่ได้ ทั้งๆที่ ตาม TOR สัญญาว่าจ้างฉบับลงวันที่ 15 มกราคม ทาง JR East เป็นผู้กำหนดว่าจะต้องถอดแคร่จากญี่ปุ่นมาที่ไทย เพราะขนาดรางกว้างไม่เท่ากัน (ไทยกว้าง 1.00 เมตร ญี่ปุ่นกว้าง1.067เมตร) เมื่อมาถึงเมืองไทย ทาง รฟท.จะต้องขนไปรีเกรดล้อที่โรงงานมักกะสัน
1.2 อ้างว่ามีแผ่นดินไหวที่จังหวัดอิชิคาวะ ที่อยู่ห่างจากท่าเรือ นีงาตะถึง 376 กิโลเมตร โดยไม่มีเอกสารอ้างอิงว่าทางผู้รับจ้างจะไม่สามารถปฏิบัติงานได้จากทางญี่ปุ่นนั้น
ทั้งนี้ นายวีริศเคยให้สัมภาษณ์เมื่อเดือน พ.ย. 2567 ว่ารับทราบเหตุการณ์ดังกล่าวในเบื้องต้น และคงต้องมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาตรวจสอบ โดยจะเน้นไปที่ด้านกฎหมายเป็นหลัก เพื่อดูว่าทางออกของประเด็นนี้คืออะไร ต้องลงไปดูข้อเท็จจริงก่อนและจะสามารถให้การดำเนินการนำรถมาใช้ได้อย่างไร และถ้าพบผู้กระทำผิดก็ดูว่าผิดตรงไหน, ถ้ามีขบวนรถอยู่ ส่วนที่มีความผิดก็ว่ากันไป แต่ตัวรถสามารถเอกมาใช้ไปก่อนได้ไหม รฟท.จะได้มีรถไว้สำหรับเสริมเติมรถที่ขาด
อ่านประกอบ