‘ศาลปกครองสูงสุด’ สั่งไม่รับคำฟ้องคดีโต้แย้ง ‘ประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ’ ไว้พิจารณา ชี้อำนาจพิพากษาเป็นของ ‘ศาลภาษีอากร’
.......................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งในคำร้องที่ 1420/2567 คำสั่งที่ 62/2568 ซึ่งเป็นคดีที่ ร้อยตรี ก. (ผู้ฟ้องคดี) ยื่นฟ้องเทศบาลนครหาดใหญ่ (ผู้ถูกฟ้องคดี) ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (คำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา) กรณีผู้ฟ้องคดีฟ้องโต้แย้งว่า การประเมินภาษีหรือการเรียกเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของเทศบาลนครหาดใหญ่ ไม่ถูกต้อง
โดยศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น ที่มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ เนื่องจากศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า การฟ้องคดีโต้แย้งการประเมินภาษีหรือการเรียกเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมถึงคำการโต้แย้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์การประเมินภาษีนั้น ไม่อยู่ในอำนาจพิพากษาของศาลปกครอง แต่เป็นอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลภาษีอากร
“คดีนี้ผู้ฟ้องคดี (ร้อยตรี ก.) ฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จำนวน 7 รายการ ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดี (เทศบาลนครหาดใหญ่) ได้มีหนังสือ ที่ สข 52105/ว 1084 (67030101153) ลงวันที่ 23 ก.พ.2567 แจ้งการประเมินและเรียกเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประจำปี พ.ศ.2567 ผู้ฟ้องคดีจึงได้มีหนังสือ ภ.ด.ส.10 ลงวันที่ 20 มี.ค.2567 ขอคัดค้านการประเมินภาษีหรือการเรียกเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยคัดค้านว่าอาคารและสิ่งปลูกสร้างได้ก่อสร้างมาเป็นระยะเวลากว่า 30 ปี ซึ่งเมื่อหักค่าเสื่อมราคาแล้ว อาคารดังกล่าวมีเพียงศูนย์บาท
ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดี (เทศบาลนครหาดใหญ่) ได้มีหนังสือ ที่ สข 52105/2442 ลงวันที่ 17 พ.ค.2567 แจ้งผลการพิจารณาคำร้องคัดค้าน โดยไม่เห็นด้วยกับคำคัดค้านดังกล่าวของผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดี (ร้อยตรี ก.) จึงได้มีหนังสือ ภ.ด.ส. 10 ลงวันที่ 5 มิ.ย.2567 ยื่นอุทธรณ์คัดค้านการประเมินภาษีหรือการเรียกเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว หลังจากนั้น คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์การประเมินภาษีประจำจังหวัดสงขลา มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ที่ 3/2567 ลงวันที่ 17 ก.ย.2567 มีคำวินิจฉัยยกอุทธรณ์ แจ้งตามหนังสือจังหวัดสงขลา ที่ สข 0023.3/20493 ลงวันที่ 17 ก.ย.2567
ผู้ฟ้องคดี (ร้อยตรี ก.) เห็นว่า การประเมินภาษีดังกล่าวไม่ถูกต้อง จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้น ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดี (เทศบาลนครหาดใหญ่) แสดงรายละเอียด วิธีการประเมินภาษีที่ถูกต้องตามความเป็นจริง อันวิญญูชนผู้มีวิชาชีพเฉพาะพึงกระทำและปฏิบัติและเหตุแห่งความเป็นจริงในการประเมินภาษีประจำปี พ.ศ.2565 พ.ศ.2566 และ พ.ศ.2567 ซึ่งแตกต่างกัน ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้
เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องดังกล่าวแล้ว จะเห็นได้ว่าผู้ฟ้องคดี (ร้อยตรี ก.) มีความประสงค์ที่จะโต้แย้งการประเมินภาษีหรือการเรียกเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของผู้ถูกฟ้องคดี ที่แจ้งตามหนังสือ ที่ สข 52105/ว 1084 (67030101153) ลงวันที่ 23 ก.พ.2567 ตามมาตรา 44 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562
โต้แย้งผลการพิจารณาคำร้องคัดค้านของผู้ถูกฟ้องคดี ที่แจ้งตามหนังสือ ที่ สข 52105/24442 ลงวันที่ 17 พ.ค.2567 ตามมาตรา 73 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว และโต้แย้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์การประเมินภาษี ที่แจ้งตามหนังสือจังหวัดสงขลาที่ สข 0023.3/20493 ลงวันที่ 17 ก.ย.2567 ตามมาตรา 82 แห่ง พ.ร.บ.เดียวกัน
กรณีจึงเป็นคดีอุทธรณ์คำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานหรือคณะกรรมการตามกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากรที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลภาษีอากร ตามมาตรา 7 (1) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 ซึ่งตามมาตรา 9 วรรคสอง (3) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 บัญญัติยกเว้นไม่ให้คดีพิพาทที่อยู่ในอำนาจของศาลภาษีอากรหรือศาลชำนัญพิเศษอื่น อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ดังนั้น ศาลปกครองจึงไม่อาจรับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีไว้พิจารณาได้ คำร้องอุทธรณ์คำสั่งของผู้ฟ้องคดีฟังไม่ขึ้น การที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ นั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วย จึงมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น” คำสั่งในคำร้องที่ 1420/2567 คำสั่งที่ 62/2568 ของศาลปกครองสูงสุด ลงวันที่ 22 ม.ค.2568 อ่านเมื่อวันที่ 19 ก.พ.2568 ระบุ