ศาลปกครองฯ พิพากษาให้มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ จ่ายค่าจ้างพนักงานมหาลัยเต็มจำนวน 103 ราย กว่า 12 ล้านบาท ชี้ให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีปี 2542 อัตราเงินเดือน 1.5 - 1.7 เท่าของข้าราชการ เหตุสวัสดิการน้อยกว่าไม่มีแรงจูงใจสมัครเป็นบุคลากรมหาวิทยาลัย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 27 ส.ค.ที่ผ่านมา ศาลปกครองนครราชสีมามีคำพิพากษา กรณีที่พนักงานมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ยื่นฟ้องมหาวิทยาลัย ในคดีการจ่ายค่าจ้างเงินเดือนและค่าตอบแทนไม่เป็นธรรม โดยศาลได้วินิจฉัยว่าให้มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์จ่ายเงินตามมติคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2542 ให้กับพนักงานมหาวิทยาลัยในฐานะผู้ฟ้องคดีรวม 103 คน โดยเป็นการจ่ายเงินรวมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 คิดเป็นจำนวนเงินประมาณ 12 ล้านบาท
โดยผู้ฟ้องคดีเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย (พม.) ที่ได้รับค่าตอบแทนไม่เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี ปี 2542 ซึ่งกำหนดให้จ่ายเงินเดือนแก่สายผู้สอนอัตรา 1.7 เท่าของข้าราชการ และ สายสนับสนุนวิชาการอัตรา 1.5 เท่าของข้าราชการ แต่มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ จ่ายให้เพียงอัตรา 1.2 -1.3 เท่า จึงทำให้กลุ่มพนักงานมหาวิทยาลัยเรียกร้องขอความเป็นธรรมต่อสภามหาวิทยาลัย แต่ไม่ได้รับการเยียวยาแต่อย่างใด จนในที่สุดได้ยื่นฟ้องศาลปกครองนครราชสีมาเมื่อเดือน ธ.ค.2561 โดยแรกเริ่มมีผู้ฟ้องคดี 130 คนแต่ในระหว่างกระบวนการพิจารณาหลายคนถอนคดีออกไป ทำให้วันอ่านคำพิพากษาเหลือเพียงจำนวน 103 คดี
ประเด็นในการวินิจฉัยที่น่าสนใจของคดีนี้ คือสถานะของพนักงานมหาวิทยาลัย เป็นเพียงพนักงานตามสัญญาจ้างไม่ได้เป็นข้าราชการ ทำให้ไม่มีสวัสดิการเทียบเท่า ยากแก่การจูงใจบุคลากรที่มีความรู้มาสมัครทำงาน ทำให้มติคณะรัฐมนตรีให้เพิ่มค่าจ้างพนักงานมหาวิทยาลัยโดยให้ได้รับค่าตอบแทนในอัตราเงินเดือนข้าราชการแรกบรรจุบวกเพิ่มร้อยละ 70 หรือ 1.7 เท่า สำหรับสายผู้สอน และบวกเพิ่มอีกร้อยละ 50 หรือ 1.5 เท่า สำหรับบุคลากรสายสนับสนุน และมิให้กำหนดค่าจ้างต่ำกว่านี้ การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีจึงเป็นการกระทำตามละเมิดตามนัยมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ทั้งนี้ คำพิพากษาในคดีนี้จะเป็นบรรทัดฐานความเป็นธรรมต่อผลตอบแทนเงินเดือนแก่ตำแหน่งพนักงานมหาวิทยาลัย ที่เปิดขึ้นมาทดแทนตำแหน่งข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา เพื่อลดการบรรจุข้าราชการลง เมื่อปี 2542 ที่จะได้รับเงินเดือนตามมคณะรัฐมนตรีให้พนักงานมหาวิทยาลัย มีอัตราเงินเดือนมากกว่าข้าราชการ 1.7 เท่าในสายผู้สอนหรืออาจารย์ และ 1.5 เท่าในสายสนับสนุน เพราะไม่มีสวัสดิการรักษาพยาบาลและบำเหน็จบำนาญเหมือนข้าราชการ
อ่านประกอบ :
วิกฤต.."พนักงานมหา'ลัย" วิกฤต..อุดมศึกษาของประเทศ??
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่https://www.facebook.com/isranewsfanpage