“…ให้ปลัดอำเภอที่มิได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่งานทะเบียนและบัตรคืนรหัสลับในการเข้าถึงข้อมูลทะเบียนราษฎร และหากมีความจำเป็นต้องให้บริการประชาชน กรมการปกครองควรกำหนดรหัสลับใหม่ โดยสามารถดำเนินการได้ในแต่ละวัน…”
สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เปิดพฤติการณ์ฉ้อฉล รู้เท่าทันป้องกันกลโกง ภายใต้หัวข้อ ‘10 แผนประทุษกรรม คดีการทุจริตในภาครัฐและมาตรการป้องกันการทุจริต’
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org.) ขอนำเสนอเป็นตอนแรก เป็น 5 แผนประทุษกรรมการทุจริต ตั้งแต่ ‘โครงการจัดอบรมทิพย์’ จนกระทั่งถึง ‘สวมชื่อคนไทยทำบัตรประชาชนปลอมให้คนต่างด้าว’
@ อบรมทิพย์
1.โครงการจัดอบรมทิพย์
พฤติการณ์แห่งการกระทำความผิด สืบเนื่องมาจากมีผู้ร้องเรียนมายังสำนักงาน ป.ป.ท. เมื่อปี พ.ศ. 2565 กรณีสำนักงานสาธารณสุขอำเภอแห่งหนึ่งในพื้นที่ภาคอีสานตอนล่างได้ทำการจัดอบรมอันเป็นเท็จ ภายใต้โครงการควบคุมป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพประชาชน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 - 2562 ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับเงินงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดให้ดำเนินโครงการดังกล่าว
โดยผู้ร้องได้ให้ข้อมูลว่าเจ้าของใครงการได้จัดทำโครงการและหลักฐานเบิกจ่ายเงินตามโครงการเป็นเท็จ โดยไม่ได้มีการดำเนินโครงการอบรมจริง สำนักงาน ป.ป.ท. จึงได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามที่ได้มีการกล่าวหาร้องเรียน และในเบื้องต้นพบว่ามีมูลเพียงพอที่จะดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไปได้
ดังนั้นคณะกรรมการ ป.ป.ท. จึงได้แต่งตั้งอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงเพื่อทำการไต่สวนข้อเท็จจริงตามข้อร้องเรียนดังกล่าว จากการไต่สวนฯ พบว่า มีมูลปรากฏตามข้อร้องเรียน จึงได้ทำการขยายผลเพิ่มเติมไปยังโครงการในลักษณะเดียวกัน ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณในพื้นที่รับผิดชอบของสาธารณสุขอำเภออื่นๆ ในจังหวัดดังกล่าวทุกอำเภอ และพบว่าทุกอำเภอมีพฤติการณ์ในลักษณะเดียวกัน คือ ‘จัดอบรมทิพย์’ ซึ่งพฤติการณ์ดังกล่าวเป็นพฤติการณ์ที่ส่อไปในทางทุจริตและเกิดความเสียหายต่อประมาณาณแผ่นดินมูลค่าความเสียหายรวมทั้งสิ้นประมาณ 3,000,000 บาท
รูปแบบการทุจริต จากการตรวจสอบข้อเท็จจริง พบพิรุธในการเบิกจ่ายงบประมาณใน 3 ประเด็นหลัก ดังนี้
- เบิกค่าอาหารทิพย์ ผู้มีรายชื่อเป็นผู้จัดทำอาหารและเบิกค่าอาหารตามเอกสารการเบิกจ่ายยืนยันว่า ไม่ได้เป็นผู้จัดทำอาหารและเบิกค่าอาหารแต่อย่างใด และไม่เคยลงลายมือชื่อในเอกสารการเงิน รวมทั้งไม่เคยได้รับเงินดังกล่าว
- ผู้เข้าร่วมโครงการทิพย์ ผู้มีรายชื่อเข้าร่วมโครงการส่วนใหญ่ให้ข้อมูลยืนยันว่า ไม่ได้เป็นผู้ลงลายมือชื่อในเอกสารและเข้าร่วมโครงการตามวัน เวลา และสถานที่ตามที่ปรากฏในโครงการ
- สถานที่จัดอบรมทิพย์ สถานที่สำหรับการจัดงานตามโครงการ ซึ่งส่วนใหญ่ระบุเป็นสถานที่ราชการ เจ้าของสถานที่ยืนยันว่าไม่มีการจัดโครงการจริง และไม่ปรากฎหนังสือราชการถึงเจ้าของสถานที่เพื่อขอใช้สถานที่ในการจัดโครงการแต่อย่างใด
นอกจากนี้ สำนักงาน ป.ป.ท.ได้พบข้อสังเกตที่จะต้องดำเนินการตรวจสอบเพิ่มเติม ดังนี้
- มีการนำรายชื่อผู้เสียชีวิตมาเป็นผู้เข้าร่วมโครงการและผู้มีรายชื่อเข้าร่วมโครงการบางราย มีชื่อและนามสกุลไม่ตรงกับ ชื่อ – สกุลจริง
- บัญชีรายชื่อผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมใครงการ มีลักษณะเป็นการลงลายมือชื่อโดยบุคคลคนเดียวกัน หรือปลอมลายมือชื่อผู้เข้ารับการอบรม
- ไม่ปรากฎภาพถ่ายในการจัดโครงการ หรือการเผยแพร่ผ่านสื่อ หรือการประชาสัมพันธ์ใด ๆ เกี่ยวกับการจัดโครงการดังกล่าว
บทลงโทษ ความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 มาตรา 157 มาตรา 161 ประกอบมาตรา 162 และตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบัน มาตรา 172) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะกระทำความผิด
ความผิดทางวินัย พฤติการณ์ทุจริตดังกล่าว ถือเป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริตตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตร 85 (1)
หมายเหตุ : ในขณะนี้อยู่ในระหว่างการเสนอ คณะกรรมการ ป.ป.ท. เพื่อชี้มูลการกระทำความผิดและดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาทั้งทางอาญาและทางวินัยต่อไป
แนวทาง/มาตรการป้องกันการทุจริต
- ออกแบบเอกสารประกอบการเบิกจ่ายเงินในการดำเนินใครงการทุกโครงการให้รายงานโดยละเอียด และมีเอกสารประกอบการเบิกจ่ายที่ครบถ้วน รัดกุม และให้ปฏิบัติตามระเบียบที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัดก่อนเบิกจ่ายงบประมาณและกระทรวงสาธารณสุขต้องดำเนินมาตรการทางวินัยแก่เจ้าหน้าที่รัฐที่ปรากฎพฤติการณ์การทุจริตทันที
- ต้องมีภาพถ่ายแสดงการจัดอบรมประกอบฎีกาเบิกจ่ายงบประมาณ
- เปลี่ยนรูปแบบการจ่ายเงิน จากการจ่ายเงินสดให้ผู้รับจ้าง เป็นการโอนเงินผ่านบัญชีธนาคาร หรือ KTB Corporate Online เพื่อให้สามารถตรวจสอบการจ่ายเงินได้
- ควรมีบันทึกการขอใช้สถานที่หรือห้องประชุมถึงหน่วยงานหรือเจ้าของสถานที่ทุกครั้งที่มีการขออนุญาตใช้สถานที่ในการจัดโครงการ
@ ทุจริตค่าเข้าอุทยานแห่งชาติ
2.ทุจริตค่าเข้าใช้บริการในอุทยานแห่งชาติ
สืบเนื่องจากมีส่วนราชการหนึ่งได้ไปติดต่ออุทยานแห่งชาติในจังหวัดแห่งหนึ่งของพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง เพื่อประสงค์จะเข้าใช้บริการทำกิจกรรมในพื้นที่อุทยานฯ โดยได้รับแจ้งว่า ไม่สามารถจองผ่านระบบออนไลน์ได้ เนื่องจากอยู่ระหว่างปรับปรุงการให้บริการ และจะต้องให้หน่วยงานดังกล่าวติดต่อกับผู้ถูกกล่าวหาโดยตรง
จากนั้นเมื่อส่วนราชการดังกล่าวนำคณะไปจัดกิจกรรมและเข้าพักในห้องพักและเต็นท์ ได้จ่ายเงินค่าบริการเข้าอุทยานฯ ค่าตอบแทนให้พักอาศัย และค่าตอบแทนที่พักอาศัยประเภทเต็นท์ รวมจำนวน 105,500 บาท ให้ผู้ถูกกล่าวหากับพวก แต่ผู้ถูกกล่าวหากับพวกกลับไม่ออกใบเสร็จรับเงินตามระเบียบฯ แต่ได้อาศัยโอกาสในตำแหน่งหน้าที่ของตนออกเป็น ‘ใบสำคัญรับเงิน’ แทนใบเสร็จตามระเบียบฯ มอบคืนให้กับหน่วยงานดังกล่าวไปและเงินที่จัดเก็บมาได้นั้นก็ไม่ได้นำส่งเก็บรักษาให้แก่อุทยานฯ ตามระเบียบกรมอุทยานแห่งซาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการเก็บ การรักษา การใช้จ่ายเงินรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2546 โดยได้ร่วมกันกับพวกเบียดบังเงินจำนวนดังกล่าวเป็นของตนเองโดยทุจริต
รูปแบบการทุจริต จากการตรวจสอบข้อเท็จจริง พบพิรุธในการทุจริตโดยการใช้ตำแหน่ง หน้าที่ และอำนาจ ดังนี้
- หลอกลวงประชาชนให้มีการติดต่อซึ่งเป็นโอกาสให้เกิดการทุจริต โดยมีการหลอกลวงประชาชนผู้ติดต่อเพื่อขอรับบริการที่ประสงค์จะใช้บริการผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งมีความโปร่งใสในการดำเนินการให้เป็นรูปแบบการติดต่อขอเข้าใช้บริการผ่านตนซึ่งเป็นช่องทางที่จะทำให้เกิดการทุจริตได้
- ไม่ได้มีการดำเนินการให้เป็นไปตามประกาศของกรมอุทยานฯ ที่กำหนดขึ้น โดยมีการออก ‘ใบสำคัญรับเงิน’ แทนใบเสร็จรับเงิน ซึ่งต้องมีการแจกแจงอัตราค่าบริการอย่างละเอียด อีกทั้งอัตราค่าบริการจำนวน 105,500 บาท ที่เรียกเก็บยังมีอัตราสูงเกินจริงไม่สอดดคล้องกับจำนวนคนที่เข้าพัก และไม่เป็นไปตามประกาศของกรมอุทยานฯ
- ไม่ได้นำเงินส่งให้แก่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยจากการตรวจสอบไม่ปรากฏหลักฐานว่าผู้ถูกกล่าวหาได้นำเงินจำนวน 105,500 บาท ส่งให้แก่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช ตามระเบียบฯ แต่อย่างใด แต่กลับร่วมกันเบียดบังเงินดังกล่าวเป็นของตนเองหรือผู้อื่นโดยทุจริต
บทลงโทษ ความผิดทางอาญา การกระทำดังกล่าวมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 151 และ 157
ความผิดทางวินัย พฤติการณ์ทุจริตดังกล่าวถือเป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 85 (1)
หมายเหตุ : ขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอพนักงานอัยการเพื่อชี้มูลการกระทำความผิดและดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาทั้งทางอาญาและทางวินัยต่อไป
แนวทาง/มาตรการป้องกันการทุจริต
- ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้ผู้ใช้บริการตระหนักถึงการตรวจสอบใบเสร็จรับเงิน ให้ผู้เข้าใช้บริการอุทยานฯ ตรวจสอบใบเสร็จรับเงินและค่าบริการเข้าอุทยานทุกครั้งที่จ่ายเงินในการเข้าใช้บริการ
- กำหนดจุดบริการการชำระเงินของอุทยานต่าง ๆให้ชัดเจน ให้ผู้ใช้บริการจ่ายเงิน ณ จุดบริการของกรมอุทยานฯและมีการแสดงรายรับค่าบริการ ณ สถานที่ตั้งอย่างชัดเจน รวมทั้งประกาศผ่านเว็บไซต์ของอุทยานแห่งชาตินั้น ๆ และเว็บไซต์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นรายเดือน
- ตรวจสอบยอดการเข้ารับบริการและจำนวนเงินรายรับให้สอดคล้องเป็นประจำ โดยการกำกับ ตรวจสอบ ติดตามการปฏิบัติงานของอุทยานแห่งชาติให้ปฏิบัติตามระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ว่าด้วยการเก็บการรักษาการใช้จ่ายเงินรายใต้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งติ พ.ศ. 2546 โดยเคร่งครัด
- นำรูปแบบการจองคิวออนไลน์มาใช้ และมีการประกาศสถานะการจองคิวผ่านเว็บไซต์ของอุทยานแห่งชาตินั้น ๆ หรือเว็บไซต์ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
- นำรูปแบบการจ่ายเงินค่าบริการแบบธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ โดยให้มีการโอนจ่ายเงินเข้าบัญชีของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยตรงเท่านั้น
@ เรียกรับเงินแลกออกใบอนุญาต
3.เรียกรับเงินแลกกับการออกใบอนุญาต
พฤติการณ์แห่งการกระทำความผิด สืบเนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาดม มีหน้าที่ในการพิจารณาออกใบอนุญาตปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ ตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 และบริษัท จ. ปลูกสร้างโรงสูบน้ำพร้อมประตูรับน้ำล่วงล้ำเข้าไปในคลองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมเจ้าท่า ผู้ถูกล่าวหาจึงแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดี
ต่อมา บริษัท จ. ได้ยื่นขออนุญาตปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำแม่น้ำต่อคคณะกรรมการฯ พิจารณาในเรื่องดังกล่าวและคณะกรรมการฯ ได้มีมติอนุญาตให้ดำเนินการได้ ผู้ถูกกล่าวหาจึงได้ลงนามออกใบอนุญาต และได้เรียกรับเงินจำนวน 5 ล้านบาทจากบริษัท จ. แต่ได้มีการเจรจาต่อรองเหลือ 1.5 ล้านบาท และผู้เสียหายได้จ่ายเงินไปแล้ว จำนวน 1.35 ล้านบาท คงเหลืองวดสุดท้ายที่ยังไม่ได้จ่าย จำนวน 150,000 บาท และบริษัท จ. ยินยอมจ่ายเงินงวดสุดท้ายในวันรับใบอนุญาต แต่เมื่อผู้แทนบริษัท จ. ไปรับใบอนุญาตก็ไม่ได้นำเงินงวดสุดท้ายไปมอบให้กับผู้ถูกกล่าวหา ผู้ถูกกล่าวหาจึงไม่มอบใบอนุญาตให้ และเรียกรับเงินที่ค้างงวดสุดท้าย จำนวน 150,000 บาท
รูปแบบการทุจริต จากการตรวจสอบข้อเท็จจริง พบการทุจริตโดยการใช้ตำแหน่งหน้าที่ และอำนาจ โดยผู้ถูกกล่าวหา ‘มีหน้าที่ในการพิจารณาออกใบอนุญาตให้ปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ แต่กลับอาศัยหน้าที่และอำนาจเรียกรับเงินจากผู้ประกอบการเพื่อแลกกับการออกใบอนุญาต’ เมื่อผู้เสียหายไม่ยอมจ่ายเงินงวดสุดท้าย จึงไม่ยอมออกใบอนุญาตให้
บทลงโทษ ความผิดทางอาญา การกระทำดังกล่าวมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ดังนี้ มาตรา 149 มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานของรัฐเรียกรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือประหารชีวิต
ความผิดทางวินัย พฤติการณ์ทุจริตดังกล่าวถือเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริตตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 85 (1)
แนวทาง/มาตรการป้องกันการทุจริต
- ในการยื่นคำขอออกใบอนุญาต ควรกำหนดขั้นตอน วิธีการ และระยะเวลาในการออกใบอนุญาตให้ชัดเจน และปรับเปลี่ยนเป็นการยื่นขออนุญาตทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อลดการใช้ดุลพินิจของบุคคล
- สร้างความรู้ความเข้าใจถึงโทษกรณีการให้สินบนเจ้าพนักงาน และสร้างมาตรการเสริมแรงจูงใจแก่ผู้แจ้งข้อมูลที่ถูกเรียกรับเงินจากการอนุมัติ อนุญาต เช่น การลดหย่อนภาษี การขึ้นบัญชีผู้ประกอบการสีขาว เพื่อได้สิทธิพิเศษหรือประโยชน์ในการยื่นขออนุมัติ อนุญาตกับหน่วยงานภาครัฐ
@ เบิกค่าเช่าบ้าน-ไม่มีการเช่าจริง
4.เบิกค่าเช่าบ้านโดยไม่มีการเช่าจริง
พฤติการณ์แห่งการกระทำความผิด ขณะเกิดเหตุผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แห่งหนึ่งในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยผู้ถูกกล่าวหามีอำนาจหน้าที่รับรองการใช้สิทธิเบิกค่าเช่าบ้านในแบบขอเบิกเงินค่าเช่าบ้าน และรับรองในฎีกาเบิกเงินปประมาณรายจ่ายให้แก่พนักงานและลูกจ้างของ อบต. ที่ขอเบิกค่าเข่าบ้าน จึงมีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรง ได้อาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่ลงนามรับรองการใช้สิทธิเบิกค่าเช่าบ้านของตนเอง แล้วรับเงินค่าเช่าบ้านไปโดยมิได้มีการเช่าอาศัยอยู่จริง ซึ่งเป็นการรับรองเอกสารเพื่อเบิกค่าเช่าบ้านอันเป็นเท็จ รวมทั้งสิ้น 40 เดือน มูลค่าความเสียหาย จำนวน 68,111 บาท (หกหมื่นหกพันหนึ่งร้อยสิบเอ็ดบาทถ้วน) อันเป็นการปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและถือเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 162
รูปแบบการทุจริต
- ทำสัญญาเช่าบ้านโดยไม่มีการเช่าจริง ผู้ถูกล่าวหาได้ไปติดต่อเจ้าของบ้านเพื่อขอเช่า โดยได้ทำสัญญาเช่าและออกใบเสร็จรับเงินค่าเช่าเอง จากนั้นได้นำหลักฐานและใบเสร็จรับเงินมาใช้ประกอบการเบิกค่าเช่าบ้านในแต่ละเดือนโดยไม่มีการเช่าและพักอาศัยอยู่จริง รวมทั้งไม่มีการจ่ายเงินให้กับเจ้าของบ้าน
- คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงการเบิกค่าเช่าบ้านไม่ได้มีการตรวจสอบสถานที่จริง แต่ให้การรับรองว่า การเช่าบ้านของผู้ถูกกล่าวหาเป็นไปด้วยความถูกต้องตามระเบียบของทางราชการ
- การรับรองเอกสารอันเป็นเท็จ ผู้ถูกกล่าวหามีอำนาจหน้าที่รับรองการใช้สิทธิเบิกค่าเช่าบ้านในแบบขอเบิกเงินค่าเช่าบ้านและรับรองในฎีกาเบิกเงินงบประมาณรายจ่าย จึงมีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรง (ในฐานะปลัด อบต.) ได้อาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่ลงนามรับรองการใช้สิทธิเบิกค่าเช่าบ้านของตนเองอันเป็นเท็จ แล้วรับเงินค่าเช่าบ้านไป โดยมิได้มีการเช่าอยู่อาศัยจริง
บทลงโทษ คณะกรรมการ ป.ป.ท.มีมติเป็นเอกฉันท์วินิจฉัยชี้มูล ทางอาญา เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
หมายเหตุ : คดีนี้ได้ส่งฟ้องพนักงานอัยการแล้วแต่ผู้ถูกกล่าวหาหนีคดีในชั้นอัยการและได้ขอออกหมายจับ
ทางวินัย เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542
หมายเหตุ : หน่วยงานต้นสังกัดได้ออกคำสั่งลงโทษข้าราชการรายดังกล่าว ไล่ออกจากราชการแล้ว
แนวทาง/มาตรการป้องกันการทุจริต
- คณะกรรมการตรวจสอบการขอรับค่าเช่าบ้านของข้าราชการ ต้องทำการตรวจสอบสถานที่จริงที่ปรากฏชัดเจน ช่วงระยะเวลาเริ่มต้นของการเช่าบ้าน การเข้าพักอาศัย สภาพภายนอกบ้านเช่า สภาพภายในบ้านเช่า มีการบันทึกสอบถามข้อมูลจากผู้ให้เช่า บุคคลที่เช่าใกล้เคียง หรือร้านค้าต่าง ๆ ในพื้นที่ใกล้เคียง ประกอบการตรวจสอบด้วย และต้องมีการสุ่มตรวจสถานที่จริงทุก 3 เดือน รวมทั้งต้องตรวจสอบความเหมาะสมของอัตราค่าเช่าบ้านเมื่อเปรียบเทียบกับสภาพบ้านในสถานที่เดียวกันหรือพื้นที่ใกล้เคียงกัน
- กรณีผู้ใช้สิทธิขอเบิกเป็นตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการ/ฝ่ายบริหาร ซึ่งมีหน้าที่รับรองสิทธิและตรวจสอบข้าราชการที่ขอเบิกค่าเช่าบ้านของตนเองนั้น โดยผู้มีอำนาจอนุมัติการเบิกจ่ายจำเป็นต้องกำกับตรวจสอบอย่างเข้มงวด กำชับ ไม่ปล่อยปละละเลย ในข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญประกอบการเบิกค่าเช่าบ้าน และควรมีการสุ่มตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อติดตามข้อมูลเป็นระยะ
- กำชับให้หัวหน้าส่วนการคลังตรวจสอบเอกสารที่ใช้ประกอบการเบิกค่าเช่าบ้าน ให้มีความชัดเจนของข้อมูลประกอบให้ถูกต้องตามระเบียบของทางราชการ
@ สวมชื่อคนไทยทำบัตรประจำตัวประชาชนปลอม
5.สวมชื่อคนไทยทำบัตรประจำตัวประชาชนปลอมให้กับคนต่างด้าว
พฤติการณ์แห่งการกระทำความผิด สืบเนื่องจาก ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ดำรงตำแหน่งเจ้าพนักงานปกครองชำนาญการ (ปลัดอำเภอ) ณ ที่ทำการปกรปกครองอำเภอแห่งหนึ่งในพื้นที่จังหวัดทางภาคเหนือ ซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทย และเป็นผู้ช่วยนายทะเบียนอำเภอ โดยปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับงานทะเบียนราษฎร ตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 ประกอบระเบียบสำนักงานทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ได้ทำการสอบปากคำและลงลายมือชื่อเป็นผู้สอบสวนคนต่างด้าวที่สวมตัวเป็นคนไทย ซึ่งเป็นผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ว่าเป็นผู้ขอมีบัตรประจำตัวประชาชนใหม่ โดยผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ได้ลงลายมือชื่อในฐานะผู้รับคำขอและพนักงานเจ้าหน้าที่อนุญาตให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ทำบัตรประจำตัวประชาชน รวมทั้งเป็นผู้สอบปากคำและลงลายมือมือชื่อเป็นผู้สอบสวนผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ในฐานะญาติ และได้ดำเนินการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ซึ่งเป็นคนต่างด้าวโดยอาศัยโอกาลที่ตนมีหน้าที่ดำเนินการทำเอกสารดังกล่าว
รูปแบบการทุจริต
- คนต่างด้าวสวมสิทธิ์เป็นคนไทย ผู้ถูกล่าวหาที่ 2 ยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชน ด้วยการแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย
- เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทย และเป็นผู้ช่วยนายทะเบียนอำเภอ โดยปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับงานระเบียนราษฎร ได้ทำเนินการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 โดยอาศัยโอกาสที่มีหน้าที่ดำเนินการทำเอกสารดังกล่าว
- เจ้าพนักงานรับรองเอกสารอันเป็นเท็จ ผู้ถูกล่าวหาที่ 1 ได้สอบปากคำและลงลายมือชื่อผู้สอบสวนคนต่างด้าว ซึ่งเป็นผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 โดยผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ได้ลงลายมือชื่อในฐานะผู้รับคำขอและพนักงานเจ้าหน้าที่ อนุญาตให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ทำบัตรประจำตัวประชาชน รวมทั้งเป็นผู้สอบปากคำและลงลายมือชื่อเป็นผู้สอบสวนผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ในฐานะญาติ
บทลงโทษ ความผิดทางอาญา การกระทำดังกล่าวมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 162 (4)
โดยพนักงานอัยการพิจารณาสั่งฟ้องผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 3 ราย ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และ 2 หลบหนี จึงได้อกหมายจับผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และ 2
ความผิดทางวินัย พฤติการณ์ดังกล่าวถือเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 85 (1)
โดยจังหวัดได้มีคำสั่งลงโทษผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ไล่ออกจากราชการแล้ว
แนวทาง/มาตรการป้องกันการทุจริต
- ให้ปลัดอำเภอที่มิได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่งานทะเบียนและบัตรคืนรหัสลับในการเข้าถึงข้อมูลทะเบียนราษฎร และหากมีความจำเป็นต้องให้บริการประชาชน กรมการปกครองควรกำหนดรหัสลับใหม่ โดยสามารถดำเนินการได้ในแต่ละวัน
- การขอทำบัตรประจำตัวประชาชนของราษฎรต่างพื้นที่ ควรให้ปลัดอำเภออาวุโส หรือนายอำเภอร่วมพิจารณาการอนุมัติคำขอมีบัตรด้วย
- ควรปรับปรุงการเข้าถึงฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร โดยให้เข้ารหัสลับ และสแกนลายนิ้วมือพร้อมกัน หากไม่ใช่บุคคลเดียวกัน ให้ระบบข้อมูลปฏิเสธการใช้งาน
- ก่อนที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 จะดำเนินการทุจริตสวมชื่อคนไทยทำบัตรประจำตัวประชาชนปลอมให้กับผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ซึ่งเป็นคนต่างด้าว ได้มีการเข้าตรวจสอบข้อมูลของคนไทย จำนวน 9 ครั้ง เมื่อแน่ใจว่าไม่มีความเคลื่อนไหวทางทะเบียนแล้ว อาทิ ขาดการต่ออายุบัตรประจำตัวประชาชนเป็นระยะเวลานาน จึงทำการสวมตัวคนไทยรายดังกล่าว จึงเห็นควรให้กรมการปกครองตรวจสอบการเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวเป็นรายเดือน หากพบการผิดปกติให้เรียกผู้ที่เข้าตรวจสอบข้อมูลดังกล่าวมาชี้แจง
ทั้งหมดคือ 5 แผนประทุษกรรมคดีทุจริตในภาครัฐ ที่ระบุพฤติการณ์-รูปแบบกลโกงของข้าราชการระดับเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติ ที่สำนักงาน ป.ป.ท.รวบรวมไว้ ตอนที่ 1