“…การบริหารจัดการ G-Token ต้องไม่มีขั้นตอนใดที่เป็นการสร้างเงิน ซึ่งจะขัดต่อ พ.ร.บ.เงินตรา พ.ศ.2501 ที่ห้ามไม่ให้ผู้ใดสร้างวัตถุหรือเครื่องหมายแทนเงินตรา เช่น หากมีการจ่ายผลตอบแทนของ G-Token ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบของโทเคนดิจิทัลใดๆ รัฐบาลจะต้องเตรียมเงินเต็มจำนวน (Fully Backed) เพื่อรองรับ…”
.....................................
ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ เมื่อวันที่ 13 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติวิธีการกู้เงินโดยการออกโทเคนดิจิทัลของรัฐบาล (Governance Tokens หรือ G-Token) ตามมาตรา 10 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2548 ตามที่กระทรวงการคลัง เสนอ
พร้อมทั้งอนุมัติในหลักการร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการออกโทเคนดิจิทัล พ.ศ... และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอ ครม. ตรวจพิจารณาเป็น ‘เรื่องด่วน’ โดยให้รับความเห็นของหน่วยงานต่างๆไปประกอบการพิจารณาด้วย นั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในการพิจารณาเรื่องดังกล่าว ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และสำนักงบประมาณ ได้เสนอความเห็นเกี่ยวกับการกู้เงินโดยการออก ‘G-Token’ ดังนี้
@‘ธปท.’ชี้‘G-Token’ต้องไม่ใช่การ‘สร้างเงิน’-ทำในวงจำกัดก่อน
หนังสือธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ ธปท.ล. 336/2568 เรื่อง ความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทยต่อการขออนุมัติวิธีการกู้เงินตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะในรูปแบบการออกโทเคนดิจิทัลของรัฐบาล ลงวันที่ 3 เม.ย.2568 ลงนามโดย เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท.
ตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) มีหนังสือ ลับ ด่วนที่สุด ที่ นร 0503/ว(ล) 6346 ลงวันที่ 11 มี.ค. 2568 แจ้งว่า กระทรวงการคลังได้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติวิธีการกู้เงินตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ
โดยเป็นการระดมทุนในรูปแบบการออกโทเคนดิจิทัลของรัฐบาล (Government Token: G-Token) เพื่อพัฒนากลไกการบริหารหนี้สาธารณะให้มีประสิทธิภาพ และภาครัฐสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่หลากหลายมากขึ้น ตลอดจนเป็นการส่งเสริมการออมของภาคประชาชน โดยขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เสนอความเห็นในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการพิจารณาของ ครม. ความละเอียดแจ้งแล้ว นั้น
ธปท. ขอเรียนว่า การออกโทเคนดิจิทัล เป็นหนึ่งในวิธีการระดมทุนที่รัฐบาลอาจพิจารณาประยุกต์ใช้ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำธุรกรรมให้สะดวก รวดเร็ว และมีต้นทุนที่ต่ำลง รวมถึงเป็นทางเลือกในการลงทุนและการออมของประชาชน
ทั้งนี้ การออก G-Token เทียบได้กับการออกพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งเป็นตราสารทางการเงินที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบเศรษฐกิจ ดังนั้น การออก G-Token จึงจำเป็นที่ต้องมีระบบและกระบวนการที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย เป็นไปตามกรอบกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมีการคุ้มครองประชาชนผู้ลงทุนเทียบเท่ากับพันธบัตรรัฐบาลในปัจจุบัน ซึ่งต้องมีองค์ประกอบในการดำเนินการอย่างน้อย 5 ประการ ดังนี้
1.ระบบและกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับ G-Token ต้องมีประสิทธิภาพและปลอดภัย โดยระบบที่รองรับการให้บริการต้องมีความเสถียร มั่นคง และปลอดภัย ได้มาตรฐานเทียบเท่ากับพันธบัตรรัฐบาลในปัจจุบัน โดยครอบคลุมตั้งแต่การเสนอขาย การตรวจสอบธุรกรรม การจัดการทะเบียนของผู้ถือ การเก็บรักษาและรับฝาก และการไถ่ถอน
รวมทั้งผู้ให้บริการต่างๆ ที่จะเข้ามาร่วมกับรัฐบาลในการจัดการโทเคนดิจิทัล ต้องมีความน่าเชื่อถือ มีประสบการณ์ และมีความเชี่ยวชาญ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง เช่น หากมีเหตุสุดวิสัยที่ไม่สามารถไถ่ถอนโทเคนดิจิทัลเป็นเงินได้ ผู้ให้บริการต้องแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที เพื่อมิให้ส่งผลต่อการออกพันธบัตรรัฐบาลและการระดมทุนของรัฐบาลในวงกว้าง
2.การออก G-Token ต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายที่เหมาะสม โดย G-Token มีวัตถุประสงค์เพื่อการระดมทุนและการออม โดยมีลักษณะและสาระสำคัญเทียบเท่าตราสารหนี้ภาครัฐอื่นๆ ที่ผู้ถือมีสิทธิได้รับชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยจากรัฐบาล ซึ่งอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535
อีกทั้ง G-Token มีวัตถุประสงค์ต่างจากโทเคนดิจิทัลประเภทที่ให้สิทธิได้รับสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจง (Utility Token) เช่น บัตรกำนัลดิจิทัล ภายใต้ พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561
ดังนั้น การออก G-Token จึงควรอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายที่เหมาะสมและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาความไม่แน่นอนของสถานะทางกฎหมายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชน
ทั้งนี้ ในปัจจุบันรัฐบาลอยู่ระหว่างแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ให้รองรับกับกับการออกและการกำกับดูแลหลักทรัพย์ที่ออกโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งน่าจะเป็นกรอบกฎหมายที่เหมาะสมกับการออก G-Token มากกว่า
3.การระดมทุนด้วย G-Token ต้องเป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลัง เช่นเดียวกับการกู้ยืมเงินของรัฐบาลผ่านการออกพันธบัตรรัฐบาล โดยต้องนับเป็นการกู้เงินภายใต้กรอบวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณรายจ่ายประจำปี และแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ
4.การบริหารจัดการ G-Token ต้องไม่มีขั้นตอนใดที่เป็นการสร้างเงิน ซึ่งจะขัดต่อ พ.ร.บ.เงินตรา พ.ศ.2501 ที่ห้ามไม่ให้ผู้ใดสร้างวัตถุหรือเครื่องหมายแทนเงินตรา เช่น หากมีการจ่ายผลตอบแทนของ G-Token ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบของโทเคนดิจิทัลใดๆ รัฐบาลจะต้องเตรียมเงินเต็มจำนวน (Fully Backed) เพื่อรองรับ
เช่น ในกรณีของรัฐบาลฮ่องกงที่มีการออกพันธบัตรเพื่อสิ่งแวดล้อมในรูปแบบโทเคนดิจิทัล (Tokenized Green Bond) ก็ได้เตรียมเงินไว้เต็มจำนวนเพื่อรองรับการจ่ายดอกเบี้ยให้กับผู้ถือ
5.การออก G-Token ต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อการระดมทุนและการออมของประชาชนเท่านั้น โดยต้องไม่นำ G-Token มาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระเงิน (Means of Payment: MOP) โดยต้องมีกลไกติดตามเพื่อไม่ให้ถูกนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ด้วย
จากที่กล่าวมาข้างต้น ธปท. มีความเห็นว่า การระดมทุนด้วยการออก G-Token ของรัฐบาล ควรทำเป็นโครงการทดสอบในวงจำกัด (Pilot Project) ก่อน เพื่อที่จะได้ทดสอบให้มั่นใจว่า การนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้กับระบบและกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการระดมทุนของรัฐบาล
เริ่มตั้งแต่การออกเสนอขายจนสิ้นสุดที่การไถ่ถอน มีประสิทธิภาพและปลอดภัย รวมถึงประเมินความเสี่ยงได้อย่างรอบด้าน และปิดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้อย่างรัดกุม ก่อนที่รัฐบาลจะนำไปใช้ระดมทุนจากประชาชนรายย่อยในวงกว้างต่อไป
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีเพียงไม่กี่ประเทศที่ออกโทเคนดิจิทัลเพื่อการระดมทุนของภาครัฐ และส่วนใหญ่เป็นการทำในระดับ Pilot Project เท่านั้น โดยที่ผ่านมา ธปท. ได้มีการนำเทคโนโลยีใหม่มาสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมในภาคการเงินเช่นเดียวกัน
เช่น โครงการพัฒนาระบบชำระเงินระหว่างประเทศ (โครงการ mBridge) ซึ่ง ธปท. ได้ดำเนินการทีละขั้นตอน โดยเริ่มจากการศึกษาความเป็นไปได้ในเชิงแนวคิด (Proof-of-Concept) ก่อนขยายไปสู่การทดสอบในระดับ Pilot Project แล้วจึงนำผลจากการทดสอบมาปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้สามารถนำระบบมาใช้งานจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
อนึ่ง ในระหว่างที่รัฐบาลทำ Pilot Project ดังกล่าว ประชาชนก็ยังคงสามารถลงทุนและเก็บออมผ่านพันธบัตรรัฐบาลในรูปแบบที่มีอยู่ในปัจจุบันอยู่แล้วด้วย เช่น พันธบัตรออมทรัพย์ดิจิทัล “วอลเล็ต สะสมบอนด์มั่งคั่ง” ซึ่งประชาชนสามารถซื้อขายพันธบัตรผ่าน mobile application ได้โดยสะดวก
@G-Token‘สภาพคล่อง’สูง ต้องดูใกล้ชิด-ห่วงต้นทุนกู้เงินสูงขึ้น
หนังสือสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ด่วนที่สุด ที่ นร 1113/1690 เรื่อง การขออนุมัติวิธีการกู้เงินตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ ลงวันที่ 9 เม.ย.2568 ลงนามโดย ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช.
ตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ขอให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เสนอความเห็นในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เรื่อง การขออนุมัติวิธีการกู้เงินตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ ของกระทรวงการคลัง ความละเอียดแจ้งแล้ว นั้น
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณาแล้ว มีความเห็นดังนี้
1.การออกโทเคนดิจิทัลของรัฐบาล (Government Digital Token: G-Token) เป็นการนำนวัตกรรมทางการเงินรูปแบบใหม่มาใช้ในการกู้เงินของรัฐบาล ดังนั้น กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรพิจารณาให้มีความสอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2548 พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 พ.ร.บ.เงินตรา พ.ศ.2500 และ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535
2.การกู้เงินโดยการจำหน่ายโทเคนดิจิทัลของรัฐบาลให้กับประชาชน นักลงทุน หรือสถาบันการเงิน ถือเป็นภาระทางการคลัง เนื่องจากรัฐบาลมีภาระผูกพันในการคืนเงินหรือให้สิทธิแก่ผู้ถือโทเคนดิจิทัลในอนาคต
กระทรวงการคลัง จำเป็นจะต้องมีการกำหนดวัตถุประสงค์ การกำหนดสิทธิหรือมูลค่า G-Token วิธีการนำ G-Token ไปใช้ รวมถึงวิธีการบันทึกบัญชีการเงินของรัฐบาลไว้อย่างชัดเจน เพื่อสร้างความเชื่อมันให้กับผู้ลงทุน ตลอดจนเพื่อเป็นรักษาอันดับความน่าเชื่อถือ รวมทั้งเสถียรภาพของตลาดเงินตลาดทุนของประเทศ
นอกจากนั้น โทเคนดิจิทัลของรัฐบาล (Government Digital Token: G-Token) เป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงกว่าพันธบัตรในรูปแบบเดิม จึงอาจส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องในระบบการเงินและเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน ดังนั้น การออกโทเคนดิจิทัล จึงต้องมีการหารือและประสานงานกับธนาคารแห่งประเทศไทย อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง
การออกโทเคนดิจิทัลเพื่อการกู้เงินของรัฐบาล อาจจะทำให้ต้นทุนในการกู้เงินสูงขึ้น และปริมาณพันธบัตรรัฐบาลในตลาดเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น กระทรวงการคลังควรพิจารณาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อตลาดตราสารหนี้ไทย อาทิ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (yield) และผลตอบแทนสุทธิ (Total Return) ของผู้ลงทุน
4.นอกจากนี้ ควรมีการศึกษาวิเคราะห์การออกโทเคนดิจิทัลของรัฐบาลประเทศต่างๆ (หากมี) ประเด็นข้อจำกัดหรือความเสี่ยงของการออกโทเคนดิจิทัล รวมทั้งให้ข้อมูลชี้แจงเหตุผลความจำเป็น และความแตกต่างระหว่างการออก G-Token กับการออกพันธบัตรในรูปแบบเดิม ที่มีทั้งการเสนอขายให้แก่สถาบันการเงินและประชาชนอยู่แล้ว เพื่อให้ประชาชนและผู้ลงทุนได้ทราบข้อมูลประกอบการตัดสินโจลงทุนต่อไป
@‘ก.ล.ต.’ชี้ออก G-Token ต้องทำตาม‘พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯ’
หนังสือ สำนักงาน ก.ล.ต. ที่ กลต.สน. 882/2568 เรื่อง ความเห็นเรื่องการขออนุมัติวิธีการกู้เงินตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ ลงวันที่ 13 มี.ค.2568 ลงนามโดย พรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ ก.ล.ต.
ตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้มีหนังสือ ลับ ด่วนที่สุด ที่ นร 0503/ว(ล)6346 ลงวันที่ 11 มี.ค.2568 เรื่อง การขออนุมัติวิธีการกู้เงินตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ ขอให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (“สำนักงาน ก.ล.ต.”) ให้ความเห็นในส่วนที่เกี่ยวข้องหรือส่วนอื่นที่เห็นสมควรเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ความละเอียดแจ้งแล้ว นั้น
สำนักงาน ก.ล.ต. ได้พิจารณารายละเอียดและร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการออกโทเคนดิจิทัล พ.ศ. ....(“ร่างประกาศ”) ในส่วนที่เกี่ยวข้องแล้ว ขอเรียนดังนี้
1.การที่กระทรวงการคลังจะกู้เงินตามมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2548 ด้วยการออกโทเคนดิจิทัลของรัฐบาล (Government Token : G-Token) นั้น
หากกระทรวงการคลังพิจารณาว่า เป็นการกู้ยืมเงินโดยวิธีการอื่นใด อันไม่ใช่การออกตราสารหนี้ที่เป็นหลักทรัพย์ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 (“พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ”) ได้แก่ พันธบัตร ตัวเงินคลัง หรือตั๋วเงินที่เป็นหลักทรัพย์
ประกอบกับหลักทรัพย์ประเภทหุ้นกู้ ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ต้องออกโดยผู้ออกที่เป็นบริษัทตามบทนิยามในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ..หลักทรัพย์ฯ ซึ่งไม่รวมถึงกระทรวงการคลัง ดังนั้น ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว G-Token ไม่เป็นหลักทรัพย์ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ
ทั้งนี้ โดยที่ G-Token มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นหน่วยแสดงสิทธิตามที่กำหนดในข้อตกลงระหว่างกระทรวงการคลังและผู้ถือโทเคนดิจิทัล โดยผู้ถือมีสิทธิได้รับชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยตามเงื่อนไขที่กระทรวงการคลังกำหนด
จึงมีลักษณะเป็นหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดสิทธิของผู้ถือในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการใดๆ หรือกำหนดสิทธิในการได้มา ซึ่งสินค้าหรือบริการหรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจง
จึงเข้าข่ายเป็นโทเคนดิจิทัลตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 (“พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ”) เป็นผลให้การออก G-Token และการดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับ G-Token อยู่ภายใต้บังคับ พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯ และกฎเกณฑ์ที่ออกภายใต้กฎหมายดังกล่าว
อนึ่ง สำนักงาน ก.ล.ต. ขอเรียนว่า เมื่อวันที่ 6 มี.ค.2568 ได้เสนอหลักการในการกำกับดูแล G-Token ต่อคณะกรรมการ ก.ล.ต. แล้ว
2.ในส่วนของร่างประกาศนั้น เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาปรับปรุงและดำเนินการที่เกี่ยวข้องต่อไป สำนักงาน ก.ล.ต. ขอเรียนเพิ่มเติมว่า ในการดำเนินการเกี่ยวกับการออกเสนอขายโทเคนดิจิทัล และการจัดทำทะเบียนโทเคนดิจิทัล ของกระทรวงการคลัง อาจพิจารณากำหนดกลุ่มหรือประเภทผู้ดำเนินการรวมถึงขอบเขตในการดำเนินงานให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น
เนื่องจากการดำเนินการดังกล่าว กระทรวงการคลังอาจเสนอขายต่อผู้ลงทุนโดยตรง หรืออาจใช้บริการผ่านผู้ให้บริการที่มีความเชี่ยวชาญรายใดก็ได้ เช่น ผู้ให้บริการะบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO portal) หรือผู้ประกอบธุรกิจอื่น เป็นต้น
นอกจากนี้ โดยที่ พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ไม่ได้กำหนดแบบในการโอนโทเคนดิจิทัลไว้ ดังนั้น หากกระทรวงการคลังประสงค์จะให้การโอนสมบูรณ์ เมื่อได้ดำเนินการตามวิธีการที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลกำหนด กระทรวงการคลังก็อาจต้องประสานกับผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สอดคล้องกับความประสงค์ของกระทรวงการคลังด้วย
@‘สำนักงบฯ’เห็นด้วย กู้เงินโดยการออก‘โทเคนดิจิทัลรัฐบาล’
หนังสือสำนักงบประมาณ ด่วนที่สุด ที่ นร 0706/3/99 เรื่อง การขออนุมัติวิธีการกู้เงินตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ ลงวันที่ 2 เม.ย.2568 ลงนามโดย อนันต์ แก้วกำเนิด ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ
ตามหนังสือที่อ้างถึง สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ขอให้สำนักงบประมาณเสนอความเห็นในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี กรณีกระทรวงการคลังเสนอเรื่อง การขออนุมัติวิธีการกู้เงินตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ เพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติวิธีการกู้เงินในรูปแบบการออกโทเคนดิจิทัล ความละเอียดแจ้งแล้ว นั้น
สำนักงบประมาณพิจารณาแล้ว ขอเรียนว่า การขออนุมัติวิธีการกู้เงินตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ เป็นการกำหนดวิธีการกู้เงินของกระทรวงการคลัง เพื่อระดมทุนรูปแบบใหม่ในรูปแบบการออกโทเคนดิจิทัลของรัฐบาล (Government Token : G-Token)
โดยกระทรวงการคลังได้จัดทำร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การออกโทเคนดิจิทัล พ.ศ. ... ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 5 และมาตรา 10 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้กระทรวงการคลังออกโทเคนดิจิทัล ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล โดยวงเงินกู้เป็นไปตามกรอบการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ รวมถึงเป็นการกำหนดหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้อง ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
ตลอดจนวิธีการเสนอขาย การชำระดอกเบี้ย การใช้และการโลนโทเคนดิจิทัล ซึ่ง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ มีความเห็นว่า สามารถดำเนินการกู้เงินโดยการออกโทเคนดิจิทัลได้ ภายใต้ พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561
ประกอบกับ กระทรวงการคลัง พิจารณาแล้วว่า การออกโทเคนดิจิทัลของรัฐบาล จะเป็นการนำเทคโนโลยีทางการเงินรูปแบบใหม่มาเพิ่มประสิทธิภาพการระดมทุนให้กับรัฐบาล ได้มีการกระจายแหล่งและวิธีการระดมทุนพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินรูปแบบใหม่ที่ส่งเสริมการเข้าถึงและเพิ่มกลุ่มผู้ลงทุน (Financial Inclusion) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นการวางรากฐานเพื่อยกระดับโครงสร้างตลาดตราสารหนี้ไทยที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี
จึงเห็นสมควรที่คณะรัฐมนตรี จะพิจารณาอนุมัติวิธีการกู้เงินในในรูปแบบการออกโทเคนดิจิทัล ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เห็นควรที่กระกรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะมีการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการเสนอขายโทเคนดิจิทัลให้แก่ผู้มีสิทธิซื้อทุกกลุ่มให้เป็นไปอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเป็นธรรม รวมทั้งกำหนดกลไกในการสร้างความรับรู้และความเข้าใจให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในโอกาสแรกต่อไป
เหล่านี้เป็นความเห็นของหน่วยงานรัฐด้านเศรษฐกิจ 4 หน่วยงาน โดยเฉพาะ ‘แบงก์ชาติ’ ที่เสนอว่าในระยะแรกควรทำรูปแบบ ‘Pilot Project’ ก่อนจะขยายผลออกไป และต้องติดตามกันต่อไปว่า รัฐบาล โดยกระทรวงการคลัง จะมีการออก G-Token ‘ล็อตแรก’ ได้เมื่อไหร่ อย่างไร?
อ่านประกอบ :
ครม.ไฟเขียวออก‘G-Token’ระดมทุนชดเชยขาดดุลฯ-‘พิชัย’เผยยื่นข้อเสนอเจรจาภาษี‘สหรัฐฯ’แล้ว