“….เมื่อพิจารณาพฤติการณ์ของผู้ฟ้องคดีที่ 1 (น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ดังกล่าว จึงไม่อาจถือได้ว่า ความเสียหายจากการกระทำละเมิด ในกรณีนี้เกิดจากความผิดหรือความบกพร่องของหน่วยงานของรัฐ หรือระบบการดําเนินงานส่วนรวมแต่อย่างใด หากแต่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ของผู้ฟ้องคดีที่ 1 เอง…”
...............................
จากกรณีที่ศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อผ.163-166/2564 หมายเลขแดง อผ.160-163/2568 โดยพิพากษาให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 10,028.86 ล้านบาท จากความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการทุจริตในขั้นตอนการระบายข้าวโดยวิธีขายแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) นั้น (อ่านประกอบ : ไขเหตุผล ‘ที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปค.สูงสุด’ พิพากษา ยิ่งลักษณ์ ชดใช้จำนำข้าว 10,028 ล.)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอรายละเอียดคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดในคดีดังกล่าว ดังนี้
@‘ยิ่งลักษณ์’ปล่อยปละละเลย-เปิดช่องเจ้าหน้าที่‘ทุจริต’ได้ง่าย
ศาลปกครองสูงสุด โดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด เห็นว่า คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งเก้า (นายกรัฐมนตรีที่ 1 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ 2 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ที่ 3 ปลัดกระทรวงการคลัง ที่ 4 สำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 5 กระทรวงการคลัง ที่ 6 กรมบังคับคดี ที่ 7 อธิบดีกรมบังคับคดี ที่ 8 และเจ้าพนักงานบังคับคดีสำนักงานบังคับคดีแพ่งกรุงเทพมหานคร 6 ที่ 9) รวม 3 ประเด็น
ประเด็นที่หนึ่ง คำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 1351/2559 ลงวันที่ 13 ต.ค.2559 ที่เรียกให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 (น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 (กระทรวงการคลัง) เป็นเงิน 35,717,273,028.23 บาท ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
โดยที่คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีที่ 1 อ้างว่า การดำเนินการของผู้ฟ้องคดีที่ 1 ตาม โครงการรับจำนำข้าวเป็นการกระทำทางการเมือง หรือการกระทำทางรัฐบาล หรือการกระทำทางการบริหาร (Act of Government) มิใช่การกระทำทางปกครองที่จะตกอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 จึงมีปัญหาที่ต้องพิจารณาก่อนว่า การกระทำของผู้ฟ้องคดีที่ 1 ตามที่ถูกกล่าวหาให้รับผิดทางละเมิด นั้น เป็นการกระทำทางปกครองหรือไม่
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกที่มีขั้นตอนสำคัญ 4 ขั้นตอน ดังนี้ ขั้นตอนที่ 1 การตรวจสอบคุณสมบัติและรับรองเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ขั้นตอนที่ 2 การนำข้าวไปจำนำและเก็บรักษาข้าวเปลือก ขั้นตอนที่ 3 การสีแปรสภาพข้าวเปลือกและเก็บรักษาข้าวสาร ขั้นตอนที่ 4 การระบายข้าว
ในการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกทั้ง 4 ขั้นตอนดังกล่าว สามารถแยกพฤติการณ์การกระทำที่เกี่ยวข้องจากการดำเนินโครงการของผู้ฟ้องคดีที่ 1 (น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ในฐานะนายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ออกได้เป็น 2 ส่วน คือ
ส่วนที่หนึ่ง การดำเนินการในส่วนของนโยบายการรับจำนำข้าวเปลือก ซึ่งเป็นโยบายหนึ่งของรัฐบาลและคณะรัฐมนตรีได้ร่วมกันมีมติเห็นชอบอนุมัติให้ดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก
ส่วนที่สอง การดำเนินการในการปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายการรับจำนำข้าวเปลือก โดยการใช้อำนาจตามกฎหมายในการกระทำต่างๆ เป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการที่แยกออกจากนโยบายและเป็นการกระทำทางปกครอง...
ศาลปกครองสูงสุด โดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก จำนวน 4 โครงการ เพื่อดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลในการยกระดับสินค้าเกษตร ดังนี้
(1) โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 (2) โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปีการผลิต 2555 (3) โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2555/56 (4) โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2556/57 ซึ่งการดำเนินการตามโครงการดังกล่าว มีขั้นตอนการดำเนินการเป็น 4 ขั้นตอน คือ
(1) การตรวจสอบคุณสมบัติและรับรอง เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ (2) การนําข้าวเปลือกไปจำนําและเก็บรักษาข้าวเปลือก (3) การสี แปรสภาพข้าวเปลือกและเก็บรักษาข้าวสาร และ (4) การระบายข้าว
โดยผู้ฟ้องคดีที่ 1 (น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (6) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 153/2554 ลงวันที่ 8 ก.ย.2554 แต่งตั้ง คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ เรียกโดยย่อว่า “กขช.” ซึ่งมีผู้ฟ้องคดีที่ 1 เป็นประธานกรรมการ
มีอำนาจหน้าที่ 2.1... 2.5 ติดตาม กำกับ ดูแลการปฏิบัติตามนโยบาย มาตรการ และโครงการที่อนุมัติ 2.6 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการคณะทำงาน และคณะที่ปรึกษา เพื่อดำเนินการด้านการผลิต การตลาด และการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับข้าว 2.7...
จากนั้น ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ได้เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการข้าวแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2554 เมื่อวันที่ 9 ก.ย.2554 ซึ่งที่ประชุมมีมติให้ดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 ระยะเวลาโครงการตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค.2554 ถึงวันที่ 30 ก.ย.2555 กำหนดวิธีการรับจำนำ หลักเกณฑ์การรับจำนำ และการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อดำเนินการตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือก
ต่อมา ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ได้มีคำสั่งแต่งตั้ง คณะอนุกรรมการเพื่อดำเนินการโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ดังนี้ 1.คำสั่งคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ที่ 4/2554 ลงวันที่ 12 ก.ย.2554 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ กำกับดูแลการรับจำนำข้าวเปลือก ให้มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
(1) พิจารณาสั่งสีแปรสภาพข้าวเปลือก กำหนดอัตราการแปรสภาพข้าวเปลือกที่รับจำนำเป็นข้าวสาร และอัตราการส่งมอบข้าวสารที่ได้ จากการแปรสภาพข้าวเปลือกที่รับจำนำเพื่อส่งมอบเข้าโกดังกลางและไซโล รวมทั้งหลักเกณฑ์ วิธีการ และอัตราการไถ่ถอนข้าวเปลือกตามโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล (2) พิจารณากำหนด แนวทางแก้ไขปัญหาและกำกับดูแลการรับจำนำข้าวเปลือกโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล (3)...
2.คำสั่งคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ที่ 5/2554 ลงวันที่ 12 ก.ย.2554 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
(1) พิจารณาหลักเกณฑ์ วิธีการ ชนิด ปริมาณ และเงื่อนไขการจําหน่ายข้าวสารในโกดังกลางที่แปรสภาพจากข้าวเปลือก โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล รวมทั้งข้าวเปลือกและข้าวสารอื่นๆ ที่คงเหลือของรัฐบาล ที่เหมาะสมและเกิดประโยชน์ต่อตลาดโดยรวม ตลอดจนกำกับดูแลแก้ไขปัญหาในทางปฏิบัติเกี่ยวกับการระบายข้าวดังกล่าว
(2) พิจารณากำหนดวิธีการระบายข้าวได้ตามความจำเป็น รวมทั้งการระบายจําหน่ายข้าวสารในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า (AFET) โดยเป็นไปตามแผนการระบายข้าว และให้คำนึงถึงผลกระทบต่อราคาตลาดโดยใช้ระบบการส่งออกเป็นสำคัญ
3.คำสั่งคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ที่ 6/2554 ลงวันที่ 12 ก.ย.2554 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบและติดตามการรับจำนำข้าว มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
(1) ติดตามและตรวจสอบทุกขั้นตอนกระบวนการการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล ทั้งก่อนและหลังการดำเนินโครงการรับจำนำ เพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่วางไว้ รอบคอบ โปร่งใส เป็นธรรมและเป็นประโยชน์แก่เกษตรกรอย่างแท้จริง
(2) ตรวจสอบ ป้องกัน และปราบปรามการทุจริตในการรับจำนำข้าวเปลือกและการเก็บรักษาข้าวสารในโรงสีและโกดังกลางให้เป็นไปตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง (3)... ....
อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินการตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีข้อเสนอแนะต่อผู้ฟ้องคดีที่ 1 (น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ดังนี้
1.สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ ตผ 0012/4216 ลงวันที่ 24 ส.ค.2554 แจ้งผู้ฟ้องคดีที่ 1 ว่า เพื่อให้การดําเนินงานตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือกตามนโยบายของรัฐบาลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีระบบการควบคุมที่เหมาะสม
เพื่อลดความเสี่ยงในกระบวนการปฏิบัติงานตามขั้นตอนที่สำคัญ ทำให้ทุกภาคส่วนเกิดความเชื่อมั่นต่อความโปร่งใส เกษตรกรได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง ไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย ต่อการใช้จ่าย เงินงบประมาณแผ่นดิน และเพื่อให้เกิดการพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินโครงการ อย่างจริงจัง
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน มีข้อเสนอแนะให้รัฐบาลพิจารณาใช้ข้อมูลตามผลรายงานการตรวจสอบการดําเนินงานของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ประกอบการพิจารณาปรับปรุงการดําเนินงานโครงการ ตลอดจนพิจารณาเพิ่มมาตรการเพื่อควบคุมดูแลและตรวจสอบการดําเนินงานตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือกในทุกขั้นตอนอย่างเคร่งครัด ต่อไป
โดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ได้ส่งสรุปประเด็นปัญหาและความเสี่ยงสำคัญที่พบจากการตรวจสอบการดําเนินงานโครงการรับจำนำข้าวเปลือก และรายงานผลการตรวจสอบ การดําเนินงานโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2549/50 ประกอบการพิจารณาด้วยแล้ว จึงขอให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 พิจารณาสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้พิจารณาดำเนินการ ตามข้อเสนอแนะของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินต่อไป
2.สำนักงาน ป.ป.ช. มีหนังสือ ด่วนมาก ที่ ปช 0003/0118 ลงวันที่ 7 ต.ค.2554 แจ้งผู้ฟ้องคดีที่ 1 (น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า ในอดีตที่ผ่านมาการแทรกแซงตลาดข้าวด้วยวิธีการรับจำนำก่อให้เกิดปัญหาขึ้นอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการบิดเบือนกลไกตลาด
การที่รัฐต้องมีข้าวจากการรับจำนำในโกดัง และเสียค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาเป็นจำนวนมาก รวมทั้งคุณภาพของข้าวที่เก็บแล้วระบายออกไม่ทันเสื่อมคุณภาพลงทำให้ราคาข้าวตกต่ำ
และประการสำคัญ มีปัญหาของการทุจริตในทุกขั้นตอนของกระบวนการรับจำนำ ผู้ได้ประโยชน์จากนโยบาย เป็นเพียงบุคคลบางกลุ่ม ไม่ครอบคลุมเกษตรกรอย่างทั่วถึง ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้มีผลการศึกษาวิจัย ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. สนับสนุนไว้อย่างชัดเจน โดยได้ทำการศึกษาวิเคราะห์ถึงสภาพปัญหา และสาเหตุของการทุจริต อันมีผลสืบเนื่องมาจากการแทรกแซงตลาดข้าวด้วยวิธีการรับจำนำ
พร้อมทั้งมีข้อเสนอแนะทางนโยบายที่สำคัญ ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว คือ รัฐบาลควรยกเลิกโครงการรับจำนำข้าวเปลือก และนําระบบการประกันความเสี่ยงด้านราคาข้าวมาดำเนินการ เพื่อเป็นหลักประกันช่วยเหลือเกษตรกรมิให้ต้องประสบปัญหาขาดทุนจากภาวะราคาตลาดตกต่ำ
คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงขอยืนยันในข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตในการแทรกแซง ตลาดข้าวของรัฐบาลจากผลการศึกษาวิจัย และเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า ข้อเสนอแนะดังกล่าว จะสามารถช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวให้ประกอบอาชีพได้อย่างมั่นคง ยั่งยืนและเป็นธรรม ส่งผลให้การผลิตและการค้าข้าวดำเนินไปตามกลไกตลาด ก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในภาพรวม
อีกทั้งยังสามารถป้องกันการดำเนินนโยบายอย่างไม่เหมาะสม ซึ่งจะนําไปสู่การทุจริตหรือการแสวงหาผลประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย อันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
3.สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน มีหนังสือ ที่ ตผ 0012/0067 ลงวันที่ 9 ม.ค.2555 แจ้งผู้ฟ้องคดีที่ 1 ว่า การดําเนินงานตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 ตามนโยบายของรัฐบาล ได้ปรากฏเป็นข่าวทางสื่อมวลชนอย่างต่อเนื่อง เกี่ยวกับปัญหาในทางปฏิบัติ ความไม่โปร่งใส ในกระบวนการและขั้นตอนต่างๆของการดําเนินงานตามนโยบาย
ส่วนใหญ่สอดคล้องกับผลการตรวจสอบการดําเนินงานของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2548/49 และปีการผลิต 2549/50 และมีปัญหาเกี่ยวกับการสวมสิทธิเกษตรกร การปฏิบัติงานของตัวแทนประจำโรงสีที่ได้รับแต่งตั้งประจำจุดรับจำนำข้าวเปลือก
องค์การคลังสินค้า ซึ่งเป็นหน่วยงานงานสำคัญในการควบคุมตรวจสอบการดำเนินงานตามโครงการ ยังมีจุดอ่อนหลายประการในทางปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นในกระบวนการต่างๆ ดังกล่าวจะมีผลกระทบสำคัญ ที่ไม่สามารถป้องกันการสวมสิทธิเกษตรกร และทำให้เกิดความไม่โปร่งใสในการดําเนินงานตามโครงการได้
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน มีข้อเสนอแนะให้รัฐบาลพิจารณาใช้ข้อมูลตามรายงานการตรวจสอบการดําเนินงานของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ประกอบการพิจารณาปรับปรุงการดําเนินงานโครงการ ตลอดจนพิจารณาเพิ่มมาตรการเพื่อควบคุม ดูแลและตรวจสอบการดําเนินงานตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือกในทุกขั้นตอนอย่างเคร่งครัดต่อไป จึงขอให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 พิจารณาสั่งการหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามข้อเสนอแนะของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินต่อไป
4.สำนักงาน ป.ป.ช. มีหนังสือ ที่ ปช 0003/0198 ลงวันที่ 30 เม.ย.2555 แจ้งผู้ฟ้องคดีที่ 1 (น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นควร มีข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต กรณีการดำเนินตามนโยบายของรัฐบาลในการรับจำนำข้าวเปลือกต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณา
และมีมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามนัยมาตรา 19(11) แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 ดังนี้
1.การดำเนินการตามนโยบายยกระดับราคาข้าว คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติควรพิจารณา ดังนี้
(1) กำหนดราคารับจำนำข้าวเปลือกแต่ละชนิด ให้เหมาะสมสอดคล้องกับต้นทุนการผลิตที่เกษตรกรรับภาระอยู่ โดยอยู่บนพื้นฐานของความสมเหตุสมผลและไม่บิดเบือนกลไกตลาด (2) ควรมุ่งช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวอย่างเป็นรูปธรรม โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบพิจารณาหาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการลดต้นทุนการผลิตข้าว
2.การดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก
(1) การขึ้นทะเบียนและรับรองเกษตรกร นอกเหนือจากการกําหนดให้มีกระบวนการทำประชาคม และให้ผู้บริหารขององค์กรปกครอง...
(2) การระบายข้าวจากคลังสินค้าของรัฐบาล
1) เพื่อมิให้ข้าวที่ได้มาจากการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 ก่อให้เกิดความสูญเสียงบประมาณของรัฐเป็นจำนวนมาก อันมีผลเนื่องมาจากการเก็บรักษาข้าวเป็นเวลานานส่งผลให้ข้าวเกิดความเสียหายเสื่อมคุณภาพ สูญเสียน้ำหนัก และเป็นการป้องกันการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นได้
จึงสมควรมอบหมายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบหรือที่เกี่ยวข้องกำหนดแผนการบริหารจัดการการระบายข้าวที่เก็บรักษาไว้ในโกดังกลางอย่างเป็นระบบ การปิดบัญชีโครงการ พร้อมทั้งให้รายงานผลการดำเนินการหรือที่ไม่สามารดำเนินการให้เป็นไปตามแผนดังกล่าวได้ ให้คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติพิจารณาโดยเร็วและต่อเนื่อง
2) หลักเกณฑ์ วิธีการ และรายละเอียด ในการดำเนินการระบายหรือจําหน่ายข้าวที่อยู่ในคลังหรือโกดังกลาง ซึ่งอยู่ในความดูแลและรับผิดชอบขององค์การคลังสินค้าหรือองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร ให้ประกาศโดยเปิดเผย เป็นที่ทราบแก่บุคคลทั่วไปและดำเนินการด้วยความโปร่งใส
3.ให้รัฐบาลติดตามและ ประเมินผลโครงการอย่างเป็นรูปธรรม โดยอาจให้องค์กรเอกชนศึกษาถึงผลสัมฤทธิ์ ในการดำเนินโครงการรับจำนำแล้วนํามาพัฒนา ปรับปรุง และแก้ไขให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด...
จากข้อเท็จจริงดังกล่าวเห็นว่า เมื่อผู้ฟ้องคดีที่ 1 (น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น จึงมีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 11 วรรคหนึ่ง (1) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 ซึ่งบัญญัติให้นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาล กำกับโดยทั่วไป ซึ่งการบริหารราชการแผ่นดิน
เพื่อการนี้ จะสั่งการให้ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และส่วนราชการ ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมราชการส่วนท้องถิ่น ชี้แจง แสดงความคิดเห็น ทำรายงานเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการ ในกรณีจําเป็นจะยับยั้งการปฏิบัติราชการใดๆ ที่ขัดต่อ นโยบายหรือมติของคณะรัฐมนตรีก็ได้ และมีอำนาจสั่งสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปฏิบัติ ราชการของราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่น
อีกทั้ง ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ยังเป็นประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 153/2554 ลงวันที่ 8 ก.ย.2554 ซึ่งคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่ติดตาม กำกับดูแลการปฏิบัติตามนโยบาย มาตรการ และโครงการที่อนุมัติในส่วนที่เกี่ยวกับการแก้ไข ปัญหาสินค้าข้าว
ดังนั้น การที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และสำนักงาน ป.ป.ช. ได้มีหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบการดำเนินการตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือกในฤดูกาลผลิตที่ผ่านมาต่อผู้ฟ้องคดีที่ 1 สอดคล้องต้องกัน
โดยสรุปว่า โครงการรับจำนำข้าวเปลือกมีปัญหาเกิดขึ้นมากมาย ก่อให้เกิดความสูญเสียงบประมาณแผ่นดินเป็นจำนวนมาก มีการทุจริตเชิงนโยบายเกิดขึ้นในหลายขั้นตอน ขอให้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามข้อเสนอแนะและข้อสังเกตต่อไปด้วย
แต่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 (น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ก็มิได้ดำเนินการใดๆ ทั้งๆที่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นเพื่อทำหน้าที่ดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกตามนโยบายของรัฐบาลแล้ว แต่ก็มิได้ติดตามให้คณะอนุกรรมการรายงานผลการดำเนินการให้ทราบว่า มีปัญหาในการดำเนินการโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ตามที่ได้รับรายงานจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และสำนักงาน ป.ป.ช. หรือไม่
นอกจากนี้ ระหว่างการดำเนินการโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปีการผลิต 2555 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้มีการตั้งกระทู้ถามผู้ฟ้องคดีที่ 1 ในฐานะนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 มี.ค.2555 และมีการเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจผู้ฟ้องคดีที่ 1 ในฐานะนายกรัฐมนตรีและคณะ เมื่อวันที่ 26 พ.ย.2555 เรื่อง ปัญหาโครงการรับจำนำเกี่ยวกับกรณีเกษตรกรถูกโกงความชื้น
และระหว่างการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2555/56 มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ผู้ฟ้องคดีที่ 1 (น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) โดยมีการกล่าวหา และมีข้อสังเกตเกี่ยวกับการทุจริตเกิดขึ้นในการระบายข้าวด้วยวิธีขายแบบรัฐต่อรัฐ (G to G)
ดังนั้น การที่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 (น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเป็นประธาน กรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการตามนโยบายรับจำนำข้าวเปลือกตามนโยบายของรัฐบาลว่า มีปัญหาการทุจริตทุกขั้นตอน ทั้งจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงาน ป.ป.ช. การอภิปรายในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร และการเผยแพร่โดยสื่อมวลชนต่างๆ
แต่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ก็มิได้สั่งการให้คณะอนุกรรมการที่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 แต่งตั้งขึ้น เพื่อให้ทำหน้าที่กำกับดูแลและควบคุมตรวจสอบการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ดำเนินการตรวจสอบการดำเนินการว่า มีปัญหาการทุจริตหรือไม่ และรายงานให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 สั่งการต่อไป
จึงเป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ไม่คำนึงถึงข้อทักท้วงและข้อเสนอของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และสำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการดำเนินการตามโครงการต่างๆ ของรัฐ รวมทั้งการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากที่สุด แต่กลับปล่อยให้การดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2555/56 และปีการผลิต 2556/57 ยังคงดำเนินการต่อไป
จึงเป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 (น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ปล่อยปละละเลย ไม่ใช้อำนาจหน้าที่ของตน เพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาการทุจริต จึงเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่ในระดับปฏิบัติการกระทำการทุจริตได้โดยง่าย อันถือได้ว่าผู้ฟ้องคดี กระทำละเมิดต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 (กระทรวงการคลัง) ให้ได้รับความเสียหายตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
@ชี้‘ยิ่งลักษณ์’ต้องชดใช้ค่าสินไหมฯกรณีทุจริตขาย‘ข้าวจีทูจี’
กรณีมีปัญหาจะต้องพิจารณาต่อไปว่า ผู้ฟ้องคดีที่ 1 (น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 (กระทรวงการคลัง) เพียงใด
เห็นว่า เมื่อความเสียหายจากการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2555/56 และปีการผลิต 2556/57 เป็นจำนวนเงิน 178,586,365,141.17 บาท เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นในขั้นตอนการรับจำนำข้าวเปลือก
ได้แก่ (1) การตรวจสอบ คุณสมบัติและรับรองเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ (2) การนําข้าวเปลือกไปจำนําและเก็บรักษาข้าวเปลือก (3) การสีแปรสภาพข้าวเปลือกและเก็บรักษาข้าวสาร และขั้นตอนการระบายข้าวด้วยวิธีขายแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) ซึ่งความเสียหายในขั้นตอนการจำนำข้าวเปลือกนั้น เห็นว่า เป็นความเสียหาย อันเกิดจากการทุจริตของเจ้าหน้าที่ในระดับปฏิบัติการ
โดยผู้ฟ้องคดีที่ 1 (น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ในฐานะนายกรัฐมนตรี และประธาน กขช. รวมทั้งคณะอนุกรรมการต่างๆ ที่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 แต่งตั้งขึ้น เพื่อดำเนินการตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ได้มีการออกมาตรการเพื่อป้องกันความเสียหายในระดับหนึ่งแล้ว
แม้จะฟังได้ว่ามาตรการต่างๆ ที่กำหนดขึ้น ยังไม่เพียงพอที่จะป้องกันปัญหาการทุจริตของเจ้าหน้าที่ในระดับปฏิบัติการได้อย่างเพียงพอก็ตาม แต่พฤติการณ์ แห่งการกระทำของผู้ฟ้องคดีที่ 1 ยังไม่ถึงขนาดเป็นความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ที่จะทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 ได้รับความเสียหาย
ผู้ฟ้องคดีที่ 1 (น.ส.ยิ่งลักษณ์) จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหาย อันเกิดจากการทุจริตในขั้นตอนการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2555/56 และปีการผลิต 2556/57 ให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 (กระทรวงการคลัง) ตามมาตรา 10 วรรคหนึ่ง ประกอบกับมาตรา 8 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539
ส่วนความเสียหายในขั้นตอนการระบายข้าวด้วยวิธีขายแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) นั้น เห็นว่า เมื่อผู้ฟ้องคดีที่ 1 (น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ได้รับทราบปัญหากรณีการทุจริตที่เกิดขึ้นของการดาเนินงานโครงการรับจำนำข้าวเปลือกแล้ว แต่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ไม่ได้มีการติดตามกำกับดูแลการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกให้มีประสิทธิภาพตามนโยบายที่ได้กำหนดไว้อย่างเต็มความสามารถ
โดยเฉพาะในการติดตามดูแลหรือตรวจสอบการทุจริตการระบายข้าวตามสัญญาซื้อขาย กรณีการระบายข้าวด้วยวิธีขายแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) อย่างใกล้ชิด เช่นเดียวกันกับในกรณีที่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์พิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงจากการที่มีการร้องเรียนเรื่องการระบายข้าวด้วยวิธีขายในราคาถูกให้ อคส. เพื่อนําไปปรับปรุงบรรจุถุง จําหน่ายแก่ประชาชน
ซึ่งหากผู้ฟ้องคดีที่ 1 ให้ความใส่ใจในการติดตามแก้ปัญหาตามอำนาจ หน้าที่ของประธาน กขช. ซึ่งมีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการควบคุมตรวจสอบกำกับดูแล การปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายการรับจำนำข้าวเปลือก
โดยการวางมาตรการแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการทุจริตของเจ้าหน้าที่ระดับผู้ควบคุมการดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายและเจ้าหน้าที่ในระดับปฏิบัติการแล้ว ก็จะเป็นการช่วยแก้ไขหรือบรรเทาความเสียหาย ที่อาจเกิดแก่งบประมาณของแผ่นดินอย่างร้ายแรงได้
ประกอบกับในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ฟ้องคดีที่ 1 (น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ในฐานะประธาน กขช. ปรากฏว่า ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ได้เข้าร่วมประชุม กขช. ครั้งที่ 1/2554 เมื่อวันที่ 9 ก.ย.2554 เพียงครั้งเดียว หลังจากนั้น ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ได้มอบหมายให้ รองประธาน กขช. ดำเนินการเป็นประธาน กขช. ในการประชุมครั้งต่อๆ ไป
จากพฤติการณ์ดังกล่าวของผู้ฟ้องคดีที่ 1 จึงเห็นได้ว่า ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ในฐานะนายกรัฐมนตรี และในฐานะ ประธาน กขช. ซึ่งมีหน้าที่ติดตามกำกับดูแลการปฏิบัติตามนโยบาย ยังคงละเว้น เพิกเฉย ละเลยไม่ติดตามหรือสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานผลการดําเนินงานตรวจสอบให้ได้ความชัดเจนเกี่ยวกับปัญหาที่หน่วยตรวจสอบแจ้งให้ทราบ เพื่อที่จะได้ทราบข้อเท็จจริงที่ชัดเจน
และกำหนดมาตรการในการดำเนินการป้องกันปัญหา เพื่อมิให้เกิดความเสียหาย ซึ่งโดยวิสัยของผู้ฟ้องคดีที่ 1 ย่อมเล็งเห็นได้ว่า การดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกในกรณีดังกล่าว มีความเสียหายเกิดขึ้นชัดเจนแล้ว จึงควรที่จะพิจารณาข้อเท็จจริงและรายละเอียด ที่ปรากฏตามหนังสือทักท้วงของหน่วยตรวจสอบว่า มีความเสียหายเกิดขึ้นตามที่ได้รับรายงานหรือไม่ หรือติดตามดูแลการดำเนินโครงการการระบายข้าวด้วยวิธีขายแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) อย่างใส่ใจ
แต่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 (น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) กลับเพิกเฉยหรือละเลย จนเกิดการทุจริตขึ้นในขั้นตอนการระบายข้าวด้วยวิธีขายแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) ส่งผลให้มีปัญหาการระบายข้าวไม่ทัน ต้องเก็บรักษาข้าวในคลังเป็นเวลานาน จนข้าวเสื่อมคุณภาพและสูญเสีย
อีกทั้งไม่คำนึงถึงข้อทักท้วงและข้อเสนอของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และสำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งเป็นองค์กร ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการดำเนินการตามโครงการต่างๆ ของรัฐ รวมทั้งการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากที่สุด
พฤติการณ์แห่งการกระทำของผู้ฟ้องคดีที่ 1 (น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เป็นเหตุให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 (กระทรวงการคลัง) ได้รับความเสียหาย ผู้ฟ้องคดีที่ 1 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 ตามมาตรา 10 วรรคหนึ่ง ประกอบกับมาตรา 8 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539
@มูลค่าความเสียหายทุจริตขายข้าว‘รัฐต่อรัฐ’กว่า 2 หมื่นล้าน
สำหรับจำนวนความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการทุจริตในขั้นตอนการระบายข้าว โดยวิธีขายแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) ที่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 (น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 (กระทรวงการคลัง) นั้น
เมื่อความเสียหายที่เกิดจากกระบวนการทุจริตในกรณีการระบายข้าว โดยวิธีขายแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) ที่มีการแอบอ้างนํา บริษัท กว่างตง จํากัด และ บริษัท ห่ายหนาน จํากัด เข้ามาทำสัญญาซื้อขายข้าวในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด แล้วมีการหาประโยชน์ที่ทับซ้อน โดยทุจริตได้ข้าวส่วนต่างจากราคาข้าวตามสัญญาซื้อขาย จำนวน 4 ฉบับ
โดยอาจแบ่งแยกความเสียหายออกเป็น 2 กรณี คือ
กรณีที่ 1 ความเสียหายจากราคาขายตามสัญญา โดยนํามูลค่าข้าวที่ตกลงขายตามสัญญา มาเปรียบเทียบกับมูลค่าข้าวหลังหักค่าเสื่อมสภาพข้าว ณ วันทำสัญญา (ราคาข้าวเฉลี่ยระหว่างราคาข้าวภายในประเทศของกรมการค้าภายในกับราคาของสมาคมโรงสีข้าวไทย ณ วันที่ทำสัญญา) ผลต่างมูลค่าข้าวจะเป็นค่าเสียหาย
โดยแยกความเสียหายเป็นแต่ละสัญญาได้ ดังนี้
สัญญาฉบับที่ 1 ระหว่างกรมการค้าต่างประเทศ กับ บริษัท กว่างตง จํากัด มูลค่าความเสียหายจำนวน 10,991,736,179.90 บาท (มูลค่าข้าวหลังหักค่าเสื่อมสภาพข้าวบาท 29,199,892,766.26 – มูลค่าตามสัญญา 18,208,156,586.36)
สัญญาฉบับที่ 2 ระหว่างกรมการค้าต่างประเทศ กับบริษัท กว่างตง จํากัด มูลค่าความเสียหายจำนวน 2,135,632,483.87 (มูลค่าข้าวหลักหักค่าเสื่อมสภาพข้าว 31,123,744,136.75 – มูลค่าตามสัญญา 28,988,111,652.88 บาท)
สัญญาฉบับที่ 3 ระหว่างกรมการค้าต่างประเทศ กับบริษัท กว่างตง จํากัด มูลค่าความเสียหายจำนวน 6,687,419,994.09 บาท (มูลค่าข้าวหลังหักค่าเสื่อมสภาพข้าว 29,193,285,363.25 บาท – มูลค่าตามสัญญา 22,505,865,369.16 บาท)
สัญญาฉบับที่ 4 ระหว่างกรมการค้าต่างประเทศ กับบริษัท ห่ายหนาน จํากัด มูลค่าความเสียหายจำนวน 199,495,495.30 บาท (มูลค่าข้าวหลังหักค่าเสื่อมสภาพข้าว 1,046,583,901 บาท – มูลค่าตามสัญญา 847,088,405.70 บาท)
คิดเป็นผลต่างมูลค่าข้าวเป็นค่าเสียหายในกรณีที่ 1 เท่ากับจำนวน 20,014,284,113.16 บาท
กรณีที่ 2 ความเสียหายจากการชําระราคาข้าวตามสัญญาน้อยกว่ามูลค่าข้าวที่มีการรับมอบจริง โดยพิจารณาจากมูลค่าที่มีการชําระราคาตามปริมาณข้าวที่รับมอบจริง แต่ละชนิดข้าวที่ตกลงขายตามสัญญา ซึ่งแยกตามความเสียหายเป็นแต่ละสัญญาได้ ดังนี้
สัญญาฉบับที่ 1 มูลค่าความเสียหายจำนวน 113.64 บาท (มูลค่าข้าวที่มีการรับมอบจริง 18,208,156,700 บาท – มูลค่าตามสัญญา 18,208,156,586.36 บาท)
สัญญาฉบับที่ 2 มูลค่าความเสียหายจำนวน 43,438,123.92 บาท (มูลค่าข้าวที่มีการรับมอบจริง 29,031,549,776.80 บาท – มูลค่าตามสัญญา 28,988,111,652.88)
สัญญาฉบับที่ 3 มูลค่าความเสียหายจำนวน 1,380.64 บาท (มูลค่าข้าวที่มีการรับมอบจริง 22,505,866,749.80 บาท - มูลค่าตามสัญญา 22,505,865,369.16 บาท)
สัญญาฉบับที่ 4 มูลค่าความเสียหายจำนวน 30.30 บาท (มูลค่าข้าวที่มีการรับมอบจริง 847,088,436 บาท - มูลค่าตามสัญญา 847,088,405.70 บาท)
คิดเป็นค่าเสียหายในกรณีที่ 2 จำนวน 43,439,648.50 บาท
เมื่อความเสียหายในกรณีนี้ เป็นผลโดยตรงมาจากการทุจริตในขั้นตอนการระบายข้าวด้วยวิธีขายแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) โดยเกิดจากผลต่างของมูลค่าข้าวตามกรณีที่ 1 และจากความเสียหาย อันเนื่องจากการได้รับชําระราคาข้าวตามสัญญาน้อยกว่ามูลค่าข้าวที่มีการรับมอบจริงในกรณีที่ 2 ประกอบกัน
ดังนั้น มูลค่าความเสียหายจากการกระทำละเมิด กรณีทุจริตในขั้นตอนการระบายข้าวด้วยวิธีขายแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) รวมทั้ง 2 กรณีจึงเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 20,057,723,761.66 (20,014,284,113.16 บาท + 43,439,648.50 บาท)
@สั่ง‘ยิ่งลักษณ์’ชดใช้สินไหมฯความรับผิดทางละเมิดฯ 10,028 ล้าน
กรณีมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า ผู้ฟ้องคดีที่ 1 (น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 (กระทรวงการคลัง) เต็มจำนวนความเสียหายหรือไม่ เพียงใด
เห็นว่า พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 8 วรรคสอง บัญญัติว่า สิทธิเรียกให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามวรรคหนึ่ง จะมีได้เพียงใดให้คำนึงถึงระดับความร้ายแรงแห่งการกระทำ และความเป็นธรรมในแต่ละกรณีเป็นเกณฑ์ โดยมิต้องให้ใช้เต็มจำนวนตามความเสียหายก็ได้
วรรคสาม บัญญัติว่า ถ้าการละหน่วยงานของรัฐบัญญัติว่า ในกรณีที่การละเมิดเกิดจากเจ้าหน้าที่หลายคน มิให้นําหลักเรื่องลูกหนี้ร่วม มาใช้บังคับและเจ้าหน้าที่แต่ละคนต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเฉพาะส่วนของตนเท่านั้น
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ได้รับทราบปัญหากรณีการทุจริตในการดําเนินงานโครงการรับจำนําข้าวเปลือก ทั้งจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน
ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ตามกฎหมายในการตรวจสอบการทุจริตและการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งหน่วยงานทั้งสองได้มีหนังสือรายงานแจ้งเตือน ตลอดจนเสนอแนะเกี่ยวกับการนําเอานโยบายรับจำนำข้าวไปดำเนินการปฏิบัติ จะมีผลกระทบต่องบประมาณแผ่นดิน และการทุจริตในหลายโอกาสด้วยกัน
ทั้งในการอภิปรายในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้มีการตั้งกระทู้ถาม ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ในฐานะนายกรัฐมนตรี เรื่อง ปัญหาโครงการรับจำนําเกี่ยวกับกรณีเกษตรกร ถูกโกงความชื้น และในระหว่างการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2555/56
มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจผู้ฟ้องคดีที่ 1 โดยมีการกล่าวหาและมีข้อสังเกตเกี่ยวกับการทุจริตเกิดขึ้นในการระบายข้าวด้วยวิธีขายแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) อันเป็นการตรวจสอบถ่วงดุล ตามกลไกที่กฎหมายกำหนดเพื่อป้องกันการทุจริต อีกทั้งสื่อมวลชนต่างๆ ได้มีการเสนอข่าวการทุจริตในการดำเนินโครงการดังกล่าว
แต่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 (น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ในฐานะนายกรัฐมนตรีและหัวหน้ารัฐบาล ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการควบคุมตรวจสอบ กำกับดูแลการปฏิบัติตามนโยบาย วางมาตรการโครงการที่อนุมัติไปแล้ว ทั้งมีอำนาจสั่งการข้าราชการทุกกระทรวง ทบวง กรม ในการกำกับดูแล การระงับยับยั้ง หรือแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการทุจริตในขั้นตอนการระบายข้าว ตามมาตรา 11 วรรคหนึ่ง (1) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534
และในฐานะประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 153/2554 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ลงวันที่ 8 ก.ย.2554 ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ติดตาม กำกับดูแลการปฏิบัติตามนโยบาย มาตรการ และโครงการรับจำนำ ข้าวเปลือก
กลับไม่ดำเนินการตรวจสอบ ติดตาม หรือสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานผลการดําเนินงานตรวจสอบให้ได้ข้อเท็จจริงที่ชัดเจนเกี่ยวกับปัญหาที่หน่วยตรวจสอบแจ้งให้ทราบ แต่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 เพียงแจ้งให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทราบและดำเนินการต่อไป แล้วรอรายงาน จากเจ้าหน้าที่ดังกล่าว
เมื่อได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ว่าไม่มีการทุจริต ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ก็เชื่อรายงานดังกล่าว ทั้งที่แตกต่างจากผลการตรวจสอบของหน่วยงานตรวจสอบข้างต้น อย่างมีนัยสําคัญ หลังจากนั้น ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ก็มิได้ดำเนินการอย่างใดต่อไป
เมื่อพิจารณาพฤติการณ์ของผู้ฟ้องคดีที่ 1 ดังกล่าว จึงไม่อาจถือได้ว่า ความเสียหายจากการกระทำละเมิด ในกรณีนี้เกิดจากความผิดหรือความบกพร่องของหน่วยงานของรัฐ หรือระบบการดําเนินงานส่วนรวมแต่อย่างใด หากแต่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ของผู้ฟ้องคดีที่ 1 เอง
กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะหักส่วนแห่งความรับผิดในกรณีดังกล่าว ตามมาตรา 8 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539
และโดยที่ผลจากการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้ฟ้องคดีที่ 1 (น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ทำให้เจ้าหน้าที่และเอกชนที่เกี่ยวข้อง มีโอกาสแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย โดยมีการขายข้าวที่รัฐรับจำนํามาจากเกษตรกรตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือกให้แก่เอกชนในราคาต่ำกว่าท้องตลาด
ก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบการเงินการคลังของประเทศ และเกิดผลกระทบต่องบประมาณแผ่นดินเป็นเหตุให้ราชการเสียหายอย่างร้ายแรง เป็นจำนวนเงินถึง 20,059,723,761.66 บาท ดังนั้น เมื่อได้คำนึงถึงระดับความร้ายแรงแห่งการกระทำและความเป็นธรรมในแต่ละกรณีแล้ว จึงไม่มีเหตุอันสมควรที่จะหักส่วน แห่งความรับผิดในกรณีดังกล่าว ตามมาตรา 8 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม โดยที่ความเสียหายจากการระบายข้าวด้วยวิธีขายแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) เกิดจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องหลายคน และเจ้าหน้าที่แต่ละคน ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเฉพาะส่วนของตนเท่านั้น
เมื่อผู้ฟ้องคดีที่ 1 ในฐานะนายกรัฐมนตรี และประธาน กขช. ซึ่งมีอำนาจหน้าที่โดยตรง ในการควบคุมตรวจสอบกำกับดูแลการปฏิบัติตามนโยบายการรับจำนำข้าวเปลือกที่ได้แถลงต่อรัฐสภา ทั้งมีอำนาจตามกฎหมายในการระงับยับยั้งหรือแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการทุจริตในขั้นตอนการระบายข้าว
แต่มิได้ดำเนินการดังกล่าว อันเนื่องมาจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้ฟ้องคดีที่ 1 เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ
จึงสมควรกำหนดสัดส่วนความรับผิดของผู้ฟ้องคดีที่ 1 (น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ตามมาตรา 8 วรรคสี่ แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยให้รับผิดในอัตราร้อยละ 50 ของความเสียหาย จากการระบายข้าวด้วยวิธีขายแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) ตามสัญญาทั้ง 4 ฉบับ ดังกล่าว จำนวน 20,059,723,761.66 บาท คิดเป็นเงินที่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ต้องรับผิดจำนวน 10,028,861,880.83 บาท
ดังนั้น คำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 1351/2559 ลงวันที่ 13 ต.ค.2559 เฉพาะส่วนที่เรียก ให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 (น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเกินกว่าจำนวน 10,028,861,880.83 บาท จึงเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ส่วนที่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 กล่าวอ้างมาในคําแก้อุทธรณ์ว่า คำสั่งกระทรวงการคลัง ลับ ที่ 448/2558 ลงวันที่ 3 เม.ย.2558 และคำสั่งกระทรวงการคลัง ลับ ที่ 1824/2558 ลงวันที่ 30 ธ.ค.2558 ที่แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดและแก้ไขเพิ่มเติม
เป็นผลสืบเนื่องมาจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลและส่งเรื่องให้ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 (กระทรวงพาณิชย์) และกระทรวงพาณิชย์ ตามมาตรา 73/1 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554
แต่การชี้มูลความผิดทางอาญากับผู้ฟ้องคดีที่ 1 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็ไม่ได้เรียกให้ชดใช้ค่าเสียหาย ซึ่งต่างจากกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดและเรียกให้ ชดใช้ค่าเสียหาย กรณีจึงไม่อาจนําคําพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองกลาง) คดีหมายเลขแดงที่ 377-381/2564 มาใช้เทียบเคียงกับคดีนี้ได้ นั้น
เห็นว่า ในการเรียกให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายเป็นการอาศัยอำนาจตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมาย ว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ซึ่งก่อนออกคำสั่งได้มีการสอบปากคําผู้กล่าวหาว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดจากคํากลุ่มผู้แทนส่วนราชการหรือฝ่ายปกครอง และยังได้มีการเปิดโอกาสแก่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ได้ชี้แจงข้อเท็จจริง และโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานของตนในประเด็นที่ถูกกล่าวหาอย่างเพียงพอแล้ว
กรณีจึงเป็นการนําข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น จากพฤติการณ์การกระทำของผู้ฟ้องคดีที่ 1 มาพิจารณา เพื่อออกคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่เกิดขึ้นได้ โดยไม่ได้ขึ้นอยู่กับการชี้มูลความผิดทางอาญา ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่อย่างใด จึงไม่จําต้องผูกพันกับคําพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองกลาง) ในคดีที่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 อ้างถึง ข้อกล่าวอ้างดังกล่าวของผู้ฟ้องคดีที่ 1 จึงไม่อาจรับฟังได้
@‘อายัด-ขายทอดตลาด’ทรัพย์สิน‘ยิ่งลักษณ์’เป็นไปตามกฎหมาย
ประเด็นที่สอง คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ 9 (กรมบังคับคดี ที่ 7 อธิบดีกรมบังคับคดี ที่ 8 และเจ้าพนักงานบังคับคดีสำนักงานบังคับคดีแพ่งกรุงเทพมหานคร 6 ที่ 9) ที่ให้ดำเนินการยึด อายัดทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีที่ 1 (น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) เพื่อขายทอดตลาด อันเป็นการบังคับตามมาตรการบังคับทางปกครองตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ที่สืบเนื่องมาจากคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 1351/2559 ลงวันที่ 13 ต.ค.2559 เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพียงใด
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ... เมื่อได้วินิจฉัยในประเด็นที่หนึ่งแล้วว่า คำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 1351/2559 ลงวันที่ 13 ต.ค.2559 เฉพาะส่วนที่เรียกให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 (น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเกินกว่า จำนวน 10,028,861,880.83 บาท เป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ดังนั้น คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ 9 ที่ให้ดำเนินการยึด อายัดทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีที่ 1 เพื่อขายทอดตลาดในส่วนที่เกินกว่าจำนวน 10,028,861,880.83 บาท อันเป็นการใช้ มาตรการบังคับทางปกครองตามมาตรา 57 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ที่ใช้บังคับในขณะนั้น ที่สืบเนื่องจากคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 1351/2559 ลงวันที่ 13 ต.ค.2559 เรื่อง ให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่มีคำสั่งเป็นต้นไป นั้น จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งเก้า จึงฟังขึ้นบางส่วน
สำหรับข้อต่อสู้ของผู้ฟ้องคดีที่ 1 ที่โต้แย้งมาในคําแก้อุทธรณ์ว่า การดำเนินการบังคับคดีโดยการยึด อายัด และประกาศขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีที่ 1 นั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ 9 ไม่ได้ร้องขอต่อศาล เพื่อขอให้ศาลออกคําบังคับ หรือตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีตามภารกิจและหน้าที่ในกฎกระทรวงการแบ่งส่วนราชการ กรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม ซึ่งการบังคับคดี ต้องทำตามคำสั่งศาล หรือคําพิพากษาของศาลเท่านั้น การยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีที่ 1 จึงเป็นไปโดยไม่มีอำนาจและไม่ชอบด้วยกฎหมาย นั้น
เห็นว่า ในการดำเนินการบังคับคดีโดยการยึด อายัด และประกาศ ขายทอดตลาดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ 9 เป็นการใช้มาตรการบังคับทางปกครอง ตามหลักเกณฑ์ที่ พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ให้อำนาจไว้
โดยในส่วนของวิธีการยึด การอายัด และการขายทอดตลาดทรัพย์สิน ให้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความแพ่งโดยอนุโลม ทั้งนี้ ตามมาตรา 57 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ใช้ในขณะที่มีการเริ่มใช้มาตรการบังคับทางปกครองในคดีนี้ ข้อต่อสู้ของผู้ฟ้องคดีที่ 1 จึงฟังไม่ขึ้น
@ศาลฯสั่งคืนทรัพย์สินที่ถูกอายัดให้‘อนุสรณ์’รวม 37 รายการ
ประเด็นที่สาม การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 (กระทรวงการคลัง) โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 (ปลัดกระทรวงการคลัง) มีหนังสือ ลับ ด่วนที่สุด ที่ กค 0206/ล 2174 ลงวันที่ 30 ส.ค.2562 ปฏิเสธการขอกันส่วน ในฐานะเจ้าของรวมซึ่งทรัพย์สินที่ถูกยึดและอายัดมาจากผู้ฟ้องคดีที่ 1 จำนวน 32 รายการ
ตามที่ผู้ฟ้องคดีที่ 2 (นายอนุสรณ์ อมรฉัตร) มีหนังสือลงวันที่ 24 มิ.ย.2562 ร้องขอให้กันส่วน เป็นการกระทำ ละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีที่ 2 หรือไม่ หากเป็นการกระทำละเมิด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 และผู้ถูกฟ้องคดี ที่ 6 จะต้องดำเนินการตามคําขอท้ายฟ้องของผู้ฟ้องคดีที่ 2 เพียงใด
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า .... จากเหตุผลดังที่กล่าวมานั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 มีหนังสือ ลับ ด่วนที่สุด ที่ กค 0206/ล 2174 ลงวันที่ 30 ส.ค.2562 ที่ปฏิเสธการขอกันส่วน ในฐานะเจ้าของรวมซึ่งทรัพย์สินที่ถูกยึดและอายัดมาจากผู้ฟ้องคดีที่ 1 จำนวน 32 รายการ ตามที่ผู้ฟ้องคดีที่ 2 มีหนังสือลงวันที่ 24 มิ.ย.2562 ร้องขอให้กันส่วน เฉพาะในส่วนของทรัพย์สินทั้ง 37 รายการ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น การกระทำดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีที่ 2
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 ต้องกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อแก้ไขความเดือดร้อนหรือ โดยดำเนินการสั่งการเกี่ยวกับการขอกันส่วนทรัพย์สินที่ถูกยึดเพื่อนํามาขายทอดตลาด ตามสิทธิของผู้ฟ้องคดีที่ 2 (นายอนุสรณ์ อมรฉัตร) ตามที่ศาลได้วินิจฉัยจําแนกเป็น จำนวน 37 รายการ และแจ้งผลการดำเนินการดังกล่าวให้แก่ผู้ฟ้องคดีที่ 2 ทราบ
ส่วนที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งเก้าอุทธรณ์ว่า ทรัพย์สินที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 9 ได้ทำการยึดไว้และประกาศเจ้าพนักงาน บังคับคดี ลงวันที่ 4 ก.พ.2561 ยึดทรัพย์จำนวน 32 รายการ และได้มีการตรวจสอบกรรมสิทธิ์ ซึ่งมีเจ้าพนักงานที่ดินรับรองความถูกต้อง พบว่าในหน้าสารบัญการจดทะเบียนอสังหาริมทรัพย์ระบุชื่อผู้ฟ้องคดีที่ 1 เพียงผู้เดียว เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีที่ 2 จึงไม่มีสิทธิร้องขอกันส่วน นั้น
เห็นว่า การพิจารณาหลักเกณฑ์ในกรณีที่มีผู้ยื่นคําร้องขอกันส่วน ไม่อาจพิจารณาเพียงแค่ชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์แต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ในแต่ละกรณีประกอบการพิจารณาด้วย ตามที่ศาลได้วินิจฉัยในข้างต้น อุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งเก้าฟังไม่ขึ้น
“การที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคําพิพากษา
1.ให้เพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 1351/2559 ลงวันที่ 13 ต.คง2559 เรื่อง ให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่มีคำสั่งเป็นต้นไป
2.ให้เพิกถอนคำสั่ง ประกาศ และการดำเนินการใดๆ ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ 9 ที่มีคำสั่ง ประกาศหรือการดำเนินการใดๆ ในการยึด อายัดทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีที่ 1 (น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) เพื่อดำเนินการขายทอดตลาด อันเป็นการบังคับตามมาตรการบังคับทางปกครอง ตามมาตรา 57 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ที่สืบเนื่องจากคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 1351/2559 ลงวันที่ 13 ต.ค.2559 เรื่อง ให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ตั้งแต่วันที่มีคำสั่งเป็นต้นไป
3.ให้เพิกถอนคำสั่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 ตามหนังสือ ลับ ด่วนที่สุด ที่ กค 0206/ล 2174 ลงวันที่ 30 ส.ค.2562 เรื่อง คําร้องขอกันส่วนในฐานะเจ้าของรวม ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่มีคำสั่งเป็นต้นไป
คําขออื่นนอกจากนี้ให้ยก นั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วยบางส่วน
พิพากษาแก้คําพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น เป็น
1.ให้เพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 1351/2559 ลงวันที่ 13 ต.ค.2559 เรื่อง ให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เฉพาะส่วนที่ให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 (น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เกินกว่าจำนวน 10,028,861,880.83 บาท ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่มีคำสั่งเป็นต้นไป
2.ให้เพิกถอนคำสั่ง ประกาศ และการดำเนินการใดๆ ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ 9 ที่มีคำสั่ง ประกาศหรือการดำเนินการใดๆ ในการยึด อายัดทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีที่ 1 เพื่อดำเนินการขายทอดตลาด อันเป็นการบังคับตามมาตรการบังคับทางปกครองตามมาตรา 57 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ที่สืบเนื่องจากคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 1351/2559 ลงวันที่ 13 ต.ค.2559 เรื่อง ให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เฉพาะในส่วนที่เกินกว่าจำนวน 10,028,861,880.83 บาท ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่มีคำสั่งเป็นต้นไป
3.ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 ดำเนินการสั่งการเกี่ยวกับการขอกันส่วนทรัพย์สินที่ถูกยึดเพื่อนํามาขายทอดตลาดตามสิทธิของผู้ฟ้องคดีที่ 2 (นายอนุสรณ์ อมรฉัตร) จำนวน 37 รายการ (รายการตามคําฟ้องข้อ 2.2.1 ถึงข้อ 2.2.30 ข้อ 2.3.3 ถึงข้อ 2.3.7 ข้อ 2.5 และข้อ 2.7)
และแจ้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 จัดทำบัญชีรับ-จ่าย เพื่อกันส่วนที่ผู้ฟ้องคดีที่ 2 ในฐานะเจ้าของรวม รวมทั้งแจ้งผลการดำเนินการดังกล่าว ให้แก่ผู้ฟ้องคดีที่ 2 ทราบ ทั้งนี้ ให้ดำเนินาการภายใน 60 วัน นับจากวันที่ศาลมีคำพิพากษา” คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ อผ. 163-166/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อผ.160-163/2568 ลงวันที่ 20 พ.ค.2568 ระหว่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กับผู้ถูกฟ้องคดีทั้งเก้า ระบุ
เหล่านี้เป็นคำพิพากษาของ ‘ศาลปกครองสูงสุด’ โดย 'ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด' ที่มีคำพิพากษาให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะนายกฯ และประธาน กขช. ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนฯ 10,028 ล้านบาทเศษ กรณีปฏิบัติหน้าที่ด้วยความ ‘ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง’ ทำให้เจ้าหน้าที่และเอกชนที่เกี่ยวข้อง มีโอกาสแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย จากขายข้าวแบบ ‘รัฐต่อรัฐ’!
อ่านเพิ่มเติม :
ไขเหตุผล ‘ที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปค.สูงสุด’ พิพากษา ยิ่งลักษณ์ ชดใช้จำนำข้าว 10,028 ล.
ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร : ถูกกระทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า ยุติธรรมแล้วหรือ? บทสรุปที่เจ็บปวดที่สุด
‘ศาลปค.สูงสุด’นัดตัดสินคดี‘ยิ่งลักษณ์’ฟ้องเพิกถอนคำสั่งชดใช้‘จำนำข้าว’3.5 หมื่นล.22 พ.ค.