"...ขอไล่เรียงผลการตรวจสอบการกระทำผิดใน 5 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ไต้หวัน ศรีลังกา และ กาน่า ซึ่งผลการตรวจสอบนี้เป็นผลมาจากการทำงานร่วมกันระหว่าง “SFO-The Serious Fraud Office” หน่วยงานปราบคอร์รัปชันของรัฐบาลอังกฤษ ร่วมกับหน่วยงานตรวจสอบของรัฐบาลฝรั่งเศส “PNF-The French Parquet National Financier” และจากเอกสารประกอบคำฟ้องของ SFO รวมทั้งผลการสอบสวนเอกสารหลักฐานจากการตรวจสอบ (1 ก.ค. 2554 -1 มิ.ย. 2558) ให้รายละเอียด “วิธีการติดสินบน” จนเกิด “คู่จิ้นติดสินบน” ของแต่ละประเทศ..."
ในตอนที่แล้ว สัญญาว่าจะกลับมาขยายความ ทำไม “Airbus SE” ถึงโดนปรับจาก 3 ประเทศ (อังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา) สมฐานะคดีคอร์รัปชันที่สูงที่สุดในโลกที่จะต้องจ่ายค่าปรับสูงถึง 1.2 แสนล้านบาท
(อ่านประกอบ : กรณีศึกษา'Airbus SE' โคตรโกง=โคตรโง่ : ถอดบทเรียนค่าปรับคดีคอร์รัปชันสูงที่สุดในโลก (1))
แต่ก่อนจะถึงจุดนั้น จำเป็นต้องลงลึกเพื่อให้เห็นกลไกการจ่ายเงินจาก “บริษัท” สู่ “ตัวกลาง/ตัวแทน” จนเข้ากระเป๋า “คนมีอำนาจอนุมัติ” สั่งซื้อ ที่เกิดขึ้นในแต่ละประเทศว่าเป็นอย่างไร ?
เริ่มที่โดยจะขอไล่เรียงผลการตรวจสอบการกระทำผิดใน 5 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ไต้หวัน ศรีลังกา และ กาน่า ซึ่งผลการตรวจสอบนี้เป็นผลมาจากการทำงานร่วมกันระหว่าง “SFO-The Serious Fraud Office” หน่วยงานปราบคอร์รัปชันของรัฐบาลอังกฤษ ร่วมกับหน่วยงานตรวจสอบของรัฐบาลฝรั่งเศส “PNF-The French Parquet National Financier” และจากเอกสารประกอบคำฟ้องของ SFO รวมทั้งผลการสอบสวนเอกสารหลักฐานจากการตรวจสอบ (1 ก.ค. 2554 -1 มิ.ย. 2558) ให้รายละเอียด “วิธีการติดสินบน” จนเกิด “คู่จิ้นติดสินบน” ของแต่ละประเทศ
โดยสาธยายรายละเอียดวิธีการติดสินบนของแอร์บัสและยังระบุความผิดของบริษัทแอร์บัสที่ล้มเหลวในการป้องกันไม่ให้มีการนำเงินออกจากบริษัทไปติดสินบน ตามมาตรา 7 ของ UK Bribery Act น่าสนใจมาก โดยเรื่องที่นำมาเล่าต่อไปนี้มาจากผลการตรวจสอบของ SFO ที่ปรากฎในเอกสาร Statement of Fact ซึ่งสรุปเหตุการณ์ไว้ดังต่อไปนี้
@ กรณีมาเลเซีย – AirAsia !
กลายเป็นข่าวดังขึ้นมาหลังผู้บริหารสูงสุดของสายการบินแอร์เอเชียเบอร์ฮัด (AirAsia Group Berhad :AAGB) ซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ก้าวลงจากตำแหน่งชั่วคราว เมื่อพบข้อมูลว่าตัวแทนบริษัทแอร์บัสจ่ายเงินให้แก่ผู้บริหารระดับสูงสุดของ “แอร์เอเชียเบอร์ฮัด” และสายการบิน “แอร์เอเซีย เอ๊กซ์” โดยจ่ายผ่านช่องทางสปอนเซอร์สนับสนุนทีมกีฬาที่ “สองผู้บริหาร” ดังกล่าวเป็นเจ้าของร่วมกัน (สื่อมวลชนคาดกันว่าเป็นทีมแข่งรถฟอร์มูล่า) มูลค่ารวม 105 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อตอบแทนคำสั่งซื้อเครื่องบินแอร์บัส 180 ลำ แม้โดยนิติสัมพันธ์ระหว่างทีมกีฬา กับสายการบินแอร์เอเชียไม่ได้เกี่ยวข้องกัน
ก้อนแรกจ่ายไปแล้ว 50 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนก้อนที่สอง จำนวน 55 ล้านเหรียญสหรัฐ ถูกระงับไว้เนื่องจากผู้ตรวจสอบอิสระของแอร์บัสตรวจพบธุรกรรมต้องสงสัย โดย SFO พบหลักฐานปรากฎชัดว่าตัวแทนแอร์บัสมีการเสนอหรือสัญญาว่าจะให้ไปเรียบร้อย โดย SFO ไล่เรียงข้อมูลติดต่อระหว่างกันของทั้งสองฝ่ายตั้งแต่ บทสนทนาในอีเมล์ บันทึกข้อตกลงที่ระบุเงื่อนไขตามที่เจรจาขอส่วนแบ่งจากคำสั่งซื้อเครื่องบินทั้งหมดและสัญญาให้เงินสปอนเซอร์สนับสนุนทีมกีฬา โดยเปิดราคาตั้งต้นว่าจะให้เงินสันบสนุนทีมกีฬา 10 ล้านเหรียญสหรัฐเป็นเวลา 4 ปี พอเจรจาต่อรองไปๆมาๆ มีการขอเพิ่มค่าน้ำหมึกลงนาม 10 ล้าน อีก 20 ล้าน รวมเป็น 30 ล้านเหรียญสหรัฐ ! เมื่อตกลงกันได้วันที่ 12 ธ.ค.2556 อีก 4 วันถัดมาแอร์บัสก็จ่ายมัดจำล่วงหน้า 15 ล้านเข้าทีมกีฬา และถัดอีก 2 วัน บริษัทก็แถลงข่าวการสั่งซื้อเครื่องบิน
เนื่องจากเอกสารประกอบคำฟ้องของ SFO ไม่ได้ระบุชื่อผู้รับสินบน แต่ใช้คำแทนว่า AirAsia Executive 1 และ AirAsia Executive 2 ต่อมาปรากฎข่าวในสื่อต่างๆระบุว่า นายโทนี่ เฟอร์นันเดส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มสายการบินแอร์เอเชียและ ดาโต๊ะกามารุดิน เมรานัน ประธานกรรมการบริหารแอร์เอเชีย แถลงข่าวปฎิเสธส่วนเกี่ยวข้องและขอลงจากตำแหน่งชั่วคราวเป็นเวลา 2 เดือนเพื่อเปิดทางให้สำนักงานปปช.มาเลเซีย (MACC) และสำนักงาน ก.ล.ต.มาเลเซียเข้าตรวจสอบทั้งทางแพ่งและอาญา ในระหว่างนี้ ทั้งสองคนจะดำรงตำแหน่งเป็นเพียงกรรมการบริษัทมีหน้าที่ให้คำปรึกษาเท่านั้น
ช่วงนั้น ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ให้สัมภาษณ์ความเห็นกับ “เอเชียไทมส์” เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2563 ต่อเงินที่แอร์บัสจ่ายให้แอร์เอเชียเป็นถือเป็นสินบนหรือไม่ ท่านตอบว่า ยังไม่แน่ชัดว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร “โดยปกติแล้วถ้าหน่วยรัฐจัดซื้อมักจะถามว่ามี ข้อแลกเปลี่ยน (Offset) อะไรให้บ้าง ถ้าในกรณีที่เงินไม่ได้เข้ากระเป๋าส่วนตัว และมีวัตถุประสงค์การให้ที่แน่ชัด ก็ไม่น่าจะเป็นการติดสินบน”
ส่วนบทสรุปในฝั่งผู้รับสินบนที่ถูกสื่อคาดการณ์ว่าจะเป็นสองผู้บริหารแอร์เอเชียนั้นจะรับสินบนจากแอร์บัสจริงหรือไม่และมีใครเกี่ยวข้องบ้างนั้น คงต้องรอติดตามผลสอบสวนของสำนักงาน ปปช.มาเลเซีย ว่าจะใช้เวลาสอบสวนแสวงหาข้อเท็จจริงนานขนาดไหน
@ กรณีศรีลังกา – SLA Airlines !
“สายการบินแห่งชาติศรีลังกา” หรือ SLA Airlines (SLA) ชื่อก็บอกว่ามีรัฐบาลศรีลังกาเป็นเจ้าของ
ย้อนปี 2556 ตัวแทนบริษัทแอร์บัส ดอดเข้าหาภรรยาผู้บริหาร SLA ซึ่งมีอำนาจพิจารณาสั่งซื้อเครื่องบินโดยอาศัยการตั้งบริษัทตัวแทน สมมติชื่อ “บริษัทหุ่นไล่กา” ขึ้น เพื่อเป็นตัวแทนส่งเสริมการขายเครื่องบินคล้ายเป็นคู่ค้าทางธุรกิจว่างั้นเถอะ
“คนของแอร์บัส” สัญญาว่าจะจ่ายเงินตอบแทน (สินบน) ให้บริษัทหุ่นไล่กา จำนวน 16.84 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อได้รับคำสั่งซื้อจาก SLA 10 ลำ และเช่า 4 ลำ แต่เรื่องมาแดงเพราะไม่เป็นไปตามข้อตกลงเมื่อบริษัทหุ่นไล่กาได้รับเงินตอบแทนแค่ 2 ล้านเหรียญสหรัฐ !
ไม่เพียงเท่านั้น “คนของแอร์บัส” ยังรายงานเท็จไปยัง UK Export Finance (UKEF) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลอังกฤษที่ดูแลการรับ-จ่ายเงินออกนอกประเทศให้แก่บริษัทเอกชนอังกฤษ โดยปกปิดตัวบุคคลที่รับผลประโยชน์จริงของบริษัทหุ่นไล่กา ทำให้ UKEF เกิดสงสัย จึงตั้งคำถามกลับแอร์บัสเป็นชุด เช่น ทำไมจึงเลือกบุคคลนี้เป็นตัวแทน ? ทั้งๆ ที่ในประวัติการทำงานของตัวแทนมีประสบการณ์น้อยนิดในธุรกิจการบินพาณิชย์ เพราะเหตุใดตัวแทนรายนี้ของแอร์บัสมีภูมิลำเนาอาศัยในศรีลังกา แต่กลับให้จ่ายเงินไปยังบัญชีที่อยู่นอกประเทศ ?
หัวใจการตั้งคำถามที่ดีย่อมพาไปสู่คำตอบที่ใช่ แม้คำตอบที่แอร์บัสให้แก่ UKEF ไม่สามารถไขข้อข้องใจได้กระจ่าง UKEF จึงส่งเรื่องทั้งหมดไปให้ SFO สอบสวนไขข้อสงสัยจนกระจ่างจนนำไปสู่การเอาผิดแอร์บัสได้
@ กรณีไต้หวัน - TransAsia Airway”
สายการบิน TransAsia Airway (TNA) เป็นสายการบินเอกชนรายแรกในไต้หวัน อนิจจา สายการบินแห่งนี้หยุดให้บริการไปตั้งแต่ปี 2559
วิธีการของแอร์บัสเริ่มจากเข้าไปติดต่อกับบริษัทตัวแทน “บริษัท A” ซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งในฮ่องกง และ “บริษัท B” ซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งใน UAE ให้ทำหน้าที่เป็นตัวแทน (Business Partner) ขายเครื่องบินให้แก่ TNA โดยบริษัทตัวแทน A ได้รับเงิน 2.4 ล้านเหรียญสหรัฐ และบริษัทตัวแทน B ได้รับเงิน 11.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อตอบแทนความสำเร็จที่ TNA ลงนามสั่งซื้อเครื่องบินรุ่น A330 จำนวน 2 ลำ และรุ่น A321 จำนวน 6 ลำ ต่อมามีคำสั่งซื้อเครื่องรุ่น A321 Neo อีก 12 ลำ รวม 20 ลำ
การจ่ายเงินสินบนเคสนี้ ใช้วิธี “ทำสัญญาให้มีผลย้อนหลัง” โดยข้อเท็จจริงปรากฎว่า เมื่อ TNA ลงนามสัญญาสั่งซื้อเมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2553 คล้อยหลังไปสักพัก แอร์บัสก็ไปทำสัญญาจ้างปรึกษากับบริษัทตัวแทน A และ B ในวันที่ 2 ธ.ค. 2553 แต่ในสัญญาระบุให้มีผลบังคับย้อนหลังไปถึง 1 ก.ย. 2553 ซึ่งครอบคลุมช่วงเวลาที่ TNA ลงนามสัญญาสั่งซื้อ จากการแกะรอยเส้นทางการเงินที่จ่ายไปบริษัทตัวแทน A พบว่าสุดท้ายเงินก้อนนี้ไปเข้ากระเป๋าผู้ปกครองของผู้บริหาร TNA รายหนึ่ง ช่างกตัญญูเสียจริงๆ
นอกจากนี้การตรวจสอบของ SFO ยังพบวิธีการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้บริหารและพนักงานที่สมรู้ร่วมคิดผ่านอีเมล์ โดยใช้นามแฝงเรียกตัวแทนของแอร์บัสว่า “ดร.ฟู” เรียกชื่อผู้บริหารแอร์บัสระดับอาวุโสที่สั่งการด้วยนามแฝง ว่า “ดร.บราวน์” ส่วนข้อมูลวันสั่งจ่ายยาใช้แทนวันที่จ่ายเงินและใช้จำนวนโดสแทนจำนวนเงินสินบน พร้อมตั้งนามแฝงให้พ่อแม่ผู้บริหารที่รับเงินสินบน ว่า “แวนโก๊ะ”
ในสำนวน Statement of Fact นำข้อความบางช่วงบางตอนมาทาบให้ดูว่าคนพวกนี้คุยกันอย่างไร เช่น ดร.ฟู ส่งข้อความแจ้ง ดร.บราวน์ ว่า “เพื่อประกันความต่อเนื่องของการใช้ยาตามใบสั่งแพทย์ให้กับผู้ป่วยแวนโก๊ะในวันที่ 25 มิถุนายน ดร.ฟูได้สั่งจ่ายยา 25.9 มก. ตามขั้นตอนที่ดร. บราวน์กำหนดไว้สั่งยาให้ แวนโก๊ะและต่อไปนี้ การจ่ายยาในกรณีนี้และทุกกรณีก่อนหน้านี้ดร. ฟูควรปฏิบัติตามกฎ 70/30”
SFO จับไต๋ได้ว่าวิธีการจ่ายเงินที่ใช้ตัวเลขและวันที่สั่งจ่ายยา ตรงกับยอดเงิน 25,000 เหรียญสหรัฐ ในใบแจ้งหนี้ซึ่งลงวันที่เดียวกันใบแจ้งหนี้ของบริษัทตัวแทนที่ส่งถึงแอร์บัส ส่วน 70/30 คือส่วนแบ่งเงินสินบนที่จะส่งให้ผู้ปกครองของผู้บริหาร TNA
@ กรณีอินโดนีเซีย – การุนดาและซิตี้ลิ้งค์
ทั้งสองมีรัฐบาลอินโดนีเซียถือหุ้นมากกว่า 60 % และ “ซิตี้ ลิ้งค์” เป็นสายการบินโลว์คอสต์ของการุนดา
ช่วงพ.ศ. 2554 -2557 พบข้อมูลว่าตัวแทนบริษัทแอร์บัสจ่ายเงิน 3.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้แก่ผู้บริหารระดับสูง 3 คนของการุนดาและซิตี้ลิ้งค์ที่มีอำนาจตัดสินใจสั่งซื้อเครื่องบิน และยังจ่ายให้บรรดาเครือญาติผู้บริหารทั้งสามคนนี้ด้วย และไม่น่าแปลกใจเลยว่าสายการบินการุนดาและซิตี้ลิ้งค์ ถึงสั่งซื้อเครื่องกับแอร์บัส 55 ลำ ในเวลา 4 ปี
การสืบสวนเงินสินบนที่จ่ายไปให้ผู้บริหารการุนดาแต่ละคน มีหลายแบบ ตั้งแต่การจ่ายไปที่ทนายส่วนตัวของผู้บริหารและนำไปซื้อคอนโดหรูใจกลางกรุงจาการ์ต้า หรือให้จ่ายเงินเข้าบัญชีของภรรยาที่เกาะบริติช เวอร์จิ้นและบัญชีที่สิงคโปร์
@ "กาน่า – เสนาพาณิชย์”
เคสนี้ต่างจากทุกเคสที่กล่าวมาแล้วตรงที่เป็นการขายเครื่องบินลำเลียงสำหรับใช้ทางการทหาร 3 ลำ
เริ่มจากที่ “ตัวแทนแอร์บัสกาน่า” วิ่งเต้นผ่าน “เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกองทัพ” ที่สนิทสนมกับ “บิ๊ก” ในกองทัพกาน่าผู้มีอำนาจสั่งซื้อเครื่องบินได้ โดยแอร์บัสเสนอเงินก้อนโตพร้อมจ่าย Success Fee based commission ทันที 3 ล้านยูโรหากดีลสำเร็จ
สุดท้ายเงินดังกล่าวถูกระงับไว้ตอนที่แอร์บัสเตรียมจะโอนเงินเกิน 3 ล้านยูโร เนื่องจากจะต้องแจ้งข้อมูลขออนุมัติไปยังคณะกรรมการตรวจสอบบัญชีของบริษัทแอร์บัสตรวจสอบก่อนจะอนุมัติ ตามข้อตกลง OECD ว่าด้วยการป้องการติดสินบนในภาคเอกชนที่ทำธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งกฎหมายตัวนี้ถือเป็นเครื่องมือต่อต้านการคอร์รัปชันแห่งแรกและแห่งเดียวในโลกเวลานี้ที่มุ่งเน้นไปที่การป้องกัน 'อุปทาน' หรือฝั่งคนจ่ายสินบน
เรื่องไม่จบเพียงเท่านี้ คณะกรรมการตรวจสอบบัญชีส่งเรื่องต่อให้ฝ่าย Compliance ของแอร์บัส ตรวจสอบประวัติบริษัทตัวแทนรายนี้เพิ่มเติม พบว่าตัวแทนแอร์บัสคนเดียวกันนี้พร้อมเพื่อนอีก 2 คน (ถือสัญชาติอังกฤษ) โดยทั้งสามคน ไม่เคยมีประสบการณ์หรือความเชี่ยวชาญในด้านอุตสาหกรรมการบินเลยและยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทตัวแทนของแอร์บัสในประเทศกาน่า จากนั้น ฝ่าย Compliance จึงแจ้งผลตรวจสอบและสอบถามไปยังเจ้าหน้าที่แอร์บัสที่รับผิดชอบแต่งตั้งบริษัทแห่งนี้เป็นตัวแทนว่าจะทำอย่างไรต่อไป เพราะข้อมูลที่ตรวจพบดูจะละเมิดกฎหมายหลายเรื่อง
คำตอบที่ได้คือ “อ้อ ไม่มีอะไร ทำธุรกิจต่อไปได้ตามที่ดีลเลย ส่วนที่เลือกเป็นตัวแทนเพราะบริษัทนี้หน้าใหม่ไม่เคยทำธุรกิจในประเทศกาน่า”
เท่านั้นละ คณะกรรมการตรวจสอบของแอร์บัสจึงเชื่อว่า การกระทำครั้งนี้มีเจตนาจะหลบเลี่ยงไม่ปฎิบัติตามกฎของบริษัท และเมื่อ SFO เข้าตรวจสอบข้อมูลเหล่านี้ก็ปรากฎหลักฐานชัดเจนว่า แม้กรณีกาน่า ตัวแทนบริษัทจะยังติดสินบนไม่สำเร็จแต่เจตนากระทำผิดสำเร็จเรียบร้อย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ากลไกควบคุมภายในของบริษัทขนาดใหญ่แห่งนี้ยังพอมีประสิทธิภาพหลงเหลืออยู่บ้างจึงตรวจเจอและน่าจะเป็นข้อโบนัสช่วยลดค่าปรับ
จากข้อมูลการตรวจสอบของ SFO สะท้อนให้เห็นชัดว่าความเข้มข้นของกฎหมายเอาผิด “ผู้ให้สินบน-แอร์บัส” ซึ่งครอบคลุมถึงการติดสินบนระหว่างบริษัทเอกชนกับเอกชนด้วย เช่นตัวอย่างกรณี มาเลเซียและไต้หวัน เพราะมุมมองเรื่องนี้ถือเป็นการประกอบธุรกิจไม่เป็นธรรมและพยายามกีดกันการแข่งขัน ผูกขาดตลาดขายเครื่องบิน ส่วนกรณีการให้สินบนรัฐวิสาหกิจในประเทศอินโดนีเซีย และกองทัพในกรณีของกาน่า ข้อนี้ชัดเจนว่าเป็น คอร์รัปชัน
ส่วนในด้านเอาผิดคนรับสินบนของแต่ละประเทศนั้น SFO ไม่ได้ชี้ว่าใคร (แต่มีข้อมูลในมือ) การสอบสวนเอาผิดคนรับสินบนขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของหน่วยงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตของทั้ง 5 ประเทศจะรับลูกไปดำเนินคดี “คนรับ” ได้เร็วแค่ไหน และ สภาพบังคับของกฎหมายแต่ละประเทศครอบคลุมฐานความผิดในเรื่องลักษณะนี้ไว้อย่างไร เพราะกฎหมายบางประเทศนิยามสินบนเฉพาะคนรับเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ได้รวมถึงเอกชน เช่นกรณีกฎหมายบ้านเราหากเกิดกรณีเอกชนกับเอกชนจ่ายเงินให้กัน แบบนี้กฎหมายไทยยังไม่มองเป็นการติดสินบนคอร์รัปชัน แต่ถ้าคนรับเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ถึงจะเอาผิดฐานรับสินบนได้ เป็นต้น
ในด้านวิธีการติดสินบนทุกเคสเกิดขึ้นในแบบเดียวกันกล่าวคือตัวแทนของแอร์บัสมักติดต่อไปที่บุคคลใกล้ชิดคนมีอำนาจลงนามสั่งซื้อ เพื่อเสนอสินบนให้ ดังจะเห็นได้ว่ามีทั้ง ภรรยา พ่อแม่ ก็เข้ามาเกี่ยวข้องและชวนกันพาไปสู่สิ่งที่ผิดในท้ายที่สุด
ในตอนต่อไป จะเล่าถึงรายละเอียดของเงื่อนไขของ SFO กำหนดให้บริษัทแอร์บัสต้องแก้ไขปรับปรุงระบบควบคุมภายในเพื่อป้องกันการติดสินบน และ กลไกการบังคับใช้ DPA จะส่งผลอะไรแก่บริษัทแห่งนี้ในอนาคต
.......................................................................
อ้างอิง
Airbus - Approved Judgment, SFO, 31.1.20
Airbus - Statement of Facts, SFO, 31.1.20
Deferred Prosecution Agreement Airbus 31.01.20
PNF-France-CJIP AIRBUS, PNF, 2020
https://www.airbus.com/newsroom/press-releases/en/2020/02/airbus-reports-full-year-2019-results.html
Financial Times, AirAsia chief denies any involvement in Airbus bribery scandal ,https://www.ft.com/content/8eaac87c-4712-11ea-aeb3-955839e06441
Asia Times, How scandal-hit AirAsia could fall even further , 11 FEB 2020: https://asiatimes.com/2020/02/how-scandal-hit-airasia-could-fall-even-further/
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/