คณะกรรมการกำกับฯโครงการคลินิกแก้หนี้ ไฟเขียวขยายมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในโครงการฯถึงสิ้นปี 64 พร้อมปรับปรุงหลักเกณฑ์ช่วยเหลือลูกหนี้ โดยให้ส่วนลดดอกเบี้ยเพิ่มอีก 1-2%
......................
เมื่อวันที่ 7 ก.ค. นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์โควิดระลอกที่ 3 ยังคงน่าเป็นห่วง และส่งผลกระทบในวงกว้าง คณะกรรมการกำกับดูแลโครงการคลินิกแก้หนี้ จึงมีมติเห็นชอบให้ขยายมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ต่อไปอีกจนถึง ธ.ค.2564 พร้อมทั้งปรับปรุง หลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ และให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2564 เป็นต้นไป ได้แก่
1.รายที่จ่ายค่างวดเฉลี่ยตั้งแต่ร้อยละ 80 ขึ้นไป จะได้รับส่วนลดดอกเบี้ย 2%
2.รายที่จ่ายค่างวดเฉลี่ยตั้งแต่ร้อยละ 40 แต่ไม่ถึงร้อยละ 80 จะได้รับส่วนลดดอกเบี้ย 1%
สำหรับส่วนลดดอกเบี้ยที่คำนวณได้จะถูกนำไปตัดเงินต้นในเดือน ม.ค.2565 ซึ่งจะทำให้หมดหนี้เร็วขึ้น
“มาตรการช่วยเหลือในช่วง 6 เดือนข้างหน้านี้ จะมีผลอัตโนมัติกับลูกหนี้ทุกรายและลูกหนี้ใหม่ในโครงการโดยไม่ต้องลงทะเบียนโดยที่ลูกหนี้ต้องชำระหนี้ต่อเนื่อง สำหรับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ในช่วงนี้ สามารถขอผ่อนผันการชำระหนี้ได้ตามเงื่อนไขของโครงการ ซึ่งคนที่อยู่ในกลุ่มนี้ขอให้ติดต่อโครงการฯเพื่อสอบถามรายละเอียด โดยผลการพิจารณาผ่อนผันขึ้นกับดุลพินิจของโครงการ” นางธัญญนิตย์ กล่าว
นอกจากนี้ คณะกรรมการกำกับดูแลโครงการคลินิกแก้หนี้ ยังมีมติเห็นชอบให้ผ่อนปรนหลักเกณฑ์การสมัครเข้าโครงการ 2 ประการ คือ ประการแรก เกณฑ์ด้านอายุ จากเดิมที่กำหนดไม่เกิน 65 ปี เป็นไม่เกิน 70 ปี (เมื่อรวมระยะเวลาการปรับโครงสร้างหนี้) และประการที่ 2 ปรับอัตราดอกเบี้ยจากเดิมร้อยละ 4-7 เป็นอัตราเดียวกันที่อัตราร้อยละ 5 ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยของอัตราดอกเบี้ยในโครงการฯ
นางธัญญนิตย์ กล่าวว่า คณะกรรมการกำกับดูแลโครงการคลินิกแก้หนี้ได้ประชุมเพื่อประเมินผลมาตรการช่วยเหลือในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา (ต.ค.2563-มิ.ย.2564) พบว่า ณ สิ้นเดือน มิ.ย.2564 ลูกหนี้เข้าโครงการ รวม 60,578 บัญชี ภาระหนี้เงินต้น 4,670 ล้านบาท โดยเฉลี่ยลูกหนี้ 1 ราย มีเจ้าหนี้ 3 ราย เฉลี่ยเงินต้น 244,444 บาท
ส่วนผลการดำเนินมาตรการยา 2 สูตร เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ของโครงการคลินิกแก้หนี้ในช่วงเดือน ต.ค.2563-มิ.ย. 2564 พบว่า
1.ลูกหนี้ที่ใช้ยา “สูตรจ่ายเท่าที่ไหว” ซึ่งเป็นการผ่อนปรนและจูงใจให้ลูกหนี้ชำระหนี้ตามความสามารถ ยิ่งชำระมาก จะได้ส่วนลดดอกเบี้ยมากขึ้นนั้น ผลของยาสูตรดังกล่าวนั้น ในภาพรวมลูกหนี้ร้อยละ 99 ยังคงชำระค่างวดได้ โดยลูกหนี้จำนวน 14,044 ราย (ร้อยละ 77) ชำระหนี้เฉลี่ยร้อยละ 80 ขึ้นไป ของค่างวด โดยได้ส่วนลดดอกเบี้ย 2% และลูกหนี้จำนวน 2,467 ราย (ร้อยละ 14) ชำระหนี้เฉลี่ยร้อยละ 40-79.99 ของค่างวด โดยได้ส่วนลดดอกเบี้ย 1%
ส่วนลูกหนี้จำนวน 1,520 ราย (ร้อยละ 8) ชำระค่าหนี้น้อยกว่าร้อยละ 40 ของค่างวด ซึ่งกลุ่มนี้จะไม่ได้รับส่วนลดดอกเบี้ย
2.ลูกหนี้ที่ใช้ยา “สูตรจ่ายไม่ไหว” หรือกลุ่มที่ไม่ชำระค่างวดเลย พบว่ามีจำนวนเพียง 192 รายเท่านั้น หรือคิดเป็นร้อยละ 1 ของลูกหนี้ในโครงการ
“ผลโดยรวมของโครงการถือว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจมาก โดยลูกหนี้ของคลินิกแก้หนี้ 99% ยังสามารถชำระค่างวดได้ ส่วนที่พักชำระหนี้โดยสิ้นเชิงมีเพียง 1%” นางธัญญนิตย์ ระบุ
นางธัญญนิตย์ ย้ำว่า จุดเด่นของมาตรการยา 2 สูตรที่ดำเนินการมาแล้ว เป็นมาตรการที่ยึดความต้องการของลูกหนี้เป็นศูนย์กลาง (debtor’s choice) ทำให้ช่วยเหลือและตอบโจทย์ลูกหนี้ได้ตรงกับความต้องการ ควบคู่กับการใช้แรงจูงใจและกลไกตลาดในการแยกคน 2 กลุ่มออกจากกัน ทำให้คลินิกแก้หนี้ลดภาระงานที่จะต้องประเมินลูกหนี้เป็นรายบุคคลไปมาก หากสถาบันการเงินนำกรอบความช่วยเหลือยา 2 สูตรไปใช้ จะเป็นประโยชน์ในการช่วยเหลือลูกหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นางธัญญนิตย์ ระบุว่า ประชาชนที่มีปัญหาหนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสดที่เป็นหนี้เสีย สามารถสมัครเข้าโครงการคลินิกแก้หนี้ โดยผู้ที่สมัครในช่วงนี้ถึงสิ้นปี 2564
ทั้งนี้ ขอย้ำว่าหากมีผู้แอบอ้างว่าเป็นตัวแทน ธปท. สามารถช่วยเจรจาปรับโครงสร้างหนี้หรือเรื่องใดๆ และมีการเรียกเก็บค่าดำเนินการ กรณีดังกล่าวไม่เป็นความจริง หรือหากมีข้อสงสัยจากการถูกสอบถามข้อมูลส่วนตัวและภาระหนี้สิน สามารถแจ้งเรื่องหรือสอบถามได้ที่ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) โทร. 1213 รวมทั้งสามารถติดตามการเปิดรับสมัคร และข่าวสารของโครงการคลินิกแก้หนี้ผ่านทาง Website LINE Facebook ของคลินิกแก้หนี้ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Call Center คลินิกแก้หนี้ 0 2610 2266 หรือ 1443 เปิดให้บริการทุกวัน เวลา 9.00-19.00 น.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/