รฟท.-คมนาคม เปิดตัวนโยบาย ‘บ้านเพื่อคนไทย’ เพื่อผู้มีรายได้น้อย ส่อง 3 ทำเลนำร่อง ‘บางซื่อกม.11-เชียงราก-เชียงใหม่’ เตรียมเซต ‘สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์’ เป็นสำนักงานขายปีหน้า ก่อนเปิดแผน 3 เฟส ขยายสู่ ‘กาญจนบุรี-โคราช’ ต่อไป
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า หลังจากจากที่นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงผลงานครบรอบ 90 วันเมื่อวันที่ 12 ธ.ค.2567 โดยกระทรวงคมนาคมได้ให้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินโครงการ”บ้านเพื่อคนไทย”ด้วยการให้พัฒนาที่อยู่อาศัยของที่ดิน รฟท. สามารถผ่อนได้นานถึง 30 ปี อยู่อาศัยได้ 99 ปี โดยพิจารณา 4 พื้นที่ที่มีศักยภาพเบื้องต้นนำร่อง ประกอบด้วยโครงการสถานีธนบุรี, บางซื่อ กม. 11,สถานีเชียงราก และ ย่านสถานีเชียงใหม่นั้น
แหล่งข่าวเปิดเผยว่า สำหรับโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยดังกล่าว ปัจจุบันได้ตัดสถานีธนบุรีออกไปก่อน เนื่องจากยังไม่เรียบร้อย เพราะมีบ้านพักคนงานรฟท.อยู่เยอะ ทำให้มีพื้นที่สำหรับพัฒนานำร่องเพียง 3 จุดคือ บางซื่อ, เชียงราก และจ.เชียงใหม่
สำหรับความชัดเจนของแผนการพัฒนา ปัจจุบันมี 2 จุด คือ บริเวณสถานีนิคมรถไฟ กม. 11 เขตจตุจักร กรุงเทพมหานครนคร มีที่ดินที่จะนำมาพัฒนาประมาณ 15 ไร่ ( 24,445.75 ตารางเมตร)แบ่งเป็น 2 แปลง โดยแปลงที่ 1 เนื้อที่ 2 ไร่ 2 งาน 54.6 89 ตารางวา ( 4,218.756 ตารางเมตร) แปลงที่ 2 เนื้อที่ 12 ไร่ 2 งาน 56.8 ตารางวา ( 22,227 ตารางเมตร) โดย ออกแบบเป็นโครงการคอนโดมิเนียมสูง 8 ชั้น 3 อาคาร จำนวนประมาณ 1,232 ยูนิต โดยมีขนาดห้องแบ่งเป็น ขนาด 30 ตร.ม.ขนาด 40 ตร.ม. ขนาด 45 ตร.ม. และ ขนาด 50 ตร.ม. ต่อมาโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยรอบสถานีรถไฟเชียงใหม่ มีพื้นที่พัฒนาประมาณ 7 ไร่ 1 งาน 26 ตารางวาหรือ 2,926 ตารางวา( 11,705 ตารางเมตร) รูปแบบการพัฒนา เป็นที่อยู่อาศัยแนวราบ บ้านเดี่ยวขนาดที่ดิน 50 ตารางวา จำนวนทั้งสิ้น 35 หลัง
ทั้งนี้ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRTA) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของรฟท.ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยรอบพื้นที่สถานีรถไฟที่มีศักยภาพ โดยใช้งบประมาณ ปรับปรุงพื้นที่ภายในอาคารสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ทำเป็นสำนักงานขายและแสดงห้องตัวอย่าง จำนวน 4.998 ล้านบาท
แหล่งข่าวจากกล่าวต่อไปว่า จากการสำรวจที่ดินที่มีศักยภาพของรฟท. เพื่อพิจารณาดำเนินการพัฒนาที่อยู่อาศัยแก่ประชาชน พบว่า มีที่ดินที่ไม่ได้ใช้เพื่อการเดินรถ (Non-Core Asset) ประมาณ 38,000 ไร่ ทั้งในกทม.ปริมณฑล และกระจายตัวทุกภูมิภาคทั่วประเทศ โดยใช้เกณฑ์การพิจารณาในการคัดเลือกพื้นที่ศักยภาพ ประกอบด้วย
1. พื้นที่มีตำแหน่งที่ตั้งใกล้กับสถานีรถไฟของการรถไฟแห่งประเทศไทย
2. พื้นที่อยู่ในจังหวัดหลักที่เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจหรือศูนย์กลางภูมิภาค
3. พื้นที่มีตำแหน่งที่ตั้งอยู่บริเวณศูนย์กลางชุมชน
4. ความพร้อมในการพัฒนาพื้นที่
5. ความพร้อมของระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน
6. ความเป็นไปได้ในการจองสิทธิโครงการ
7. พื้นที่มีตำแหน่งที่ตั้งใกล้กับมหาวิทยาลัยภูมิภาค
8. อัตราความหนาแน่นของประชากรรอบพื้นที่
9. ราคาประเมินที่ดิน
@ผ่า 3 ระยะ บ้านเพื่อคนไทย
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า จากเกณฑ์พัฒนาข้างต้นพบว่า มีพื้นที่มีศักยภาพจำนวน 112 พื้นที่ และได้ประเมินเพื่อคัดเลือกพื้นที่ ที่มีศักยภาพสูงจำนวน 25 พื้นที่ รวมพื้นที่ประมาณ 700.14 ไร่ เพื่อศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นในการดำเนินการโครงการ
โดยแบ่งการพัฒนาโครงการบ้านเพื่อคนไทยเป็น 3 ระยะ ดังนี้
ระยะเร่งด่วน (พ.ศ.2567 - 2568) โครงการบ้านเพื่อคนไทยสำหรับโครงการนำร่อง แบ่งออกเป็น 2 ระยะ
-ระยะที่ 1 การดำเนินการโครงการอาคารชุด 3 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่เชียงใหม่ พื้นที่เชียงราก พื้นที่บางซื่อ กม.11
-ระยะที่ 2 การดำเนินการโครงการบ้านพัก 3 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่เชียงใหม่ พื้นที่กาญจนบุรี และพื้นที่นครราชสีมา
ระยะสั้น (พ.ศ. 2569 - 2571) โครงการบ้านเพื่อคนไทย สำหรับโครงการตามแผนงานเบื้องต้น จำนวน 22 โครงการ
ระยะกลาง (พ.ศ. 2572 - 2576) โครงการบ้านเพื่อคนไทย สำหรับพื้นที่ที่มีศักยภาพ จำนวน 87 โครงการ
ก่อนหน้านี้ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า โครงการบ้านเพื่อคนไทยได้ โดยจะใช้ที่ดินของการรถไฟฯ ในการก่อสร้าง ซึ่งสามารถผ่อนได้นานถึง 30 ปี อาศัยได้ 99 ปี และผ่อนเดือนละ 4,000 บาท โดยจะเปิดตัวบ้านตัวอย่างในวันที่ 20 มกราคม 2568 ที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ (สถานีกลางบางซื่อ) จากนั้นจะเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนจับจองได้ เริ่มต้น 3- 4 แห่ง อย่างไรก็ตาม หากจะโอนกรรมสิทธิ์ให้ผู้อื่นอาศัยต่อ เจ้าของผู้จับจองต้องอาศัยอย่างน้อย 5 ปี