ผู้ร้องเรียนปริศนา ยื่นเรื่อง ป.ป.ช.สอบ รมว.ยุติธรรม 3 ราย ขรก.ระดับสูง-กลาง อีก 4 ปมออกกฏกระทรวงส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ ปี 2563 ก้าวล่วงอำนาจองค์กรฝ่ายตุลาการ ส่อเอื้อประโยชน์ 'ทักษิณ ชินวัตร' นอนชั้น 14 รพ.ตำรวจ ไม่ต้องติดคุก ชี้จงใจขัดรัฐธรรมนูญฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้มีผู้ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อขอให้สอบสวนการกระทำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมที่ดำรงตำแหน่งในช่วงเวลาต่าง ๆ 3 ราย และข้าราชการระดับสูงระดับกลางอีก 4 ราย รวมเป็น 7 ราย ว่า ได้กระทำความผิดหรือสนับสนุนการกระทำความผิดฐานจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย และฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง รวมทั้งปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือไม่ จากกรณีออกกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 และบังคับใช้กฎกระทรวงดังกล่าวที่อาจเป็นการหลีกเลี่ยงหรือก้าวล่วงอำนาจขององค์กรฝ่ายตุลาการ รวมถึงเป็นการเอื้อประโยชน์ในการส่งตัวนายทักษิณ ชินวัตร ไปรักษาตัวนอกเรือนจำที่โรงพยาบาลตำรวจ ชั้น 14 ไม่ให้ นายทักษิณ ต้องจำคุก ตลอดระยะเวลาที่ถูกลงโทษจำคุก 181 วัน หรือไม่
@ ทักษิณ ชินวัตร
ผู้ยื่นเรื่องอ้างถึงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขว่า รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดได้บัญญัติหลักการพื้นฐานที่สำคัญให้แบ่งอำนาจอธิปไตยออกเป็นสามอำนาจ ได้แก่ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ โดยการใช้อำนาจทั้งสามจะต้องถ่วงดุลและไม่ก้าวล่วงกัน อันเป็นเจตนารมณ์สำคัญของรัฐธรรมนูญที่มุ่งหมายให้องค์กรผู้ทรงอำนาจอธิปไตยทั้งสามอำนาจไม่อาจใช้อำนาจได้อย่างอิสระโดยปราศจากการตรวจสอบโดยองค์กรอื่น
การกระทำที่อาจเป็นความผิดมาจากผู้ปฏิบัติหน้าที่ในองค์กรฝ่ายบริหารซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้ใช้อำนาจของตนดำเนินการเพื่อก้าวล่วงเข้าไปในเขตอำนาจขององค์กรฝ่ายตุลาการ เพื่อให้องค์กรฝ่ายบริหารเป็นฝ่ายใช้อำนาจบางเรื่องแทนองค์กรฝ่ายตุลาการ จากการที่องค์กรฝ่ายบริหารมีอำนาจในการออกกฎหมายในระดับรองลงมาจากพระราชบัญญัติ ได้ออกกฎกระทรวงเพื่อล้มล้างอำนาจขององค์กรฝ่ายตุลาการที่บัญญัติอยู่เดิมในกฎหมายระดับประมวลกฎหมาย ซึ่งออกโดยกระบวนการขององค์กรฝ่ายนิติบัญญัติ โดยกฎกระทรวงที่ออกมาใหม่ได้ตัดอำนาจในการพิจารณาคำร้องที่มีความสำคัญขององค์กรฝ่ายตุลาการหรือศาล ให้เปลี่ยนมาเป็นอำนาจในการอนุญาตขององค์กรฝ่ายบริหารในระดับเพียงหัวหน้าหน่วยงาน เมื่อองค์กรฝ่ายบริหารได้ใช้อำนาจในเรื่องนั้นแทนองค์กรฝ่ายตุลาการแล้ว ส่งผลให้การบังคับตามคำพิพากษาขององค์กรฝ่ายตุลาการเสื่อมประสิทธิภาพ ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ตามคำพิพากษา และไม่เป็นไปตามพระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์
ขณะที่ ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในองค์กรฝ่ายบริหารทั้ง 7 ราย ที่ยื่นเรื่องให้มีการสอบสวน ดำเนินการในแต่ละช่วงเวลาเป็นขั้นตอนมาตามลำดับ โดยเริ่มจาก รมว.ยุติธรรม คนที่ 1 ซึ่งมีความใกล้ชิดและเคยร่วมงานกับบุคคลสำคัญที่ต้องโทษตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกและหลบหนีไปอยู่ต่างประเทศ ได้ออกกฎกระทรวง การส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 ในลักษณะที่อาจจะมีเป้าหมายเพื่อเอื้อประโยชน์แก่บุคคลสำคัญดังกล่าวที่กำลังจะกลับมาเป็นผู้ต้องขังในเวลาอีกไม่นาน โดยออกกฎกระทรวงที่อาจมีเจตนาหลีกเลี่ยงการพิจารณาคำร้องของศาลซึ่งเป็นองค์กรฝ่ายตุลาการ โดยก้าวล่วงเข้าไปเปลี่ยนแปลงไม่ให้มีขั้นตอนการร้องขอต่อศาล เพื่อทำให้อำนาจขององค์กรฝ่ายตุลาการในการพิจารณาคำร้องขอทุเลาการบังคับให้จำคุกผู้ต้องขังที่เจ็บป่วยรุนแรงเพื่อออกไปรักษาตัวนอกเรือนจำ เปลี่ยนมาเป็นอำนาจขององค์กรฝ่ายบริหารโดยเบ็ดเสร็จ โดยไม่ถูกตรวจสอบจากองค์กรฝ่ายตุลาการ ซึ่งขัดต่อหลักการพื้นฐานที่สำคัญของรัฐธรรมนูญ
ต่อมาอีกช่วงเวลาหนึ่งได้มีการบังคับใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ โดยผู้ที่รักษาราชการแทน รมว.ยุติธรรม หรือเป็น รมว.ยุติธรรม คนที่ 2 ซึ่งมีความใกล้ชิดและเคยร่วมงานกับผู้ต้องขังที่เป็นบุคคลสำคัญ อาจมีลักษณะปล่อยปละละเลยให้เรือนจำแห่งหนึ่งส่งผู้ต้องขังที่เป็นบุคคลสำคัญออกไปรักษาตัวนอกเรือนจำ โดยไม่มีการยื่นร้องขอต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับให้จำคุก ตาม ป.วิ-อาญา มาตรา 246 เสียก่อน ทั้งที่ ป.วิ-อาญา มาตราดังกล่าวยังคงมีผลใช้บังคับอยู่ โดยในวันแรกที่ผู้ต้องขังถูกส่งตัวเข้าไปที่เรือนจำได้ไม่นาน รมว.ยุติธรรม คนที่ 2 ซึ่งรับรู้เหตุการณ์ตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผู้ต้องขังรายนี้เดินทางโดยเครื่องบินส่วนตัวมาถึงประเทศไทยจนถูกส่งตัวไปยังเรือนจำในช่วงเวลาบ่าย ได้เข้าไปที่เรือนจำเพื่อดูแลสถานที่คุมขังและอาจพบกับผู้ต้องขังรายนี้ ซึ่งหลังเที่ยงคืนของวันนั้นเรือนจำได้ส่งตัวผู้ต้องขังออกไปพักอยู่ที่ห้องพิเศษของโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง โดยอ้างกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 และหลังจากนั้นผู้ต้องขังไม่เคยกลับเข้าไปยังเรือนจำอีกเลย
ต่อมาในช่วงเวลาไม่ห่างกัน รมว.ยุติธรรม คนที่ 3 เมื่อเข้ารับตำแหน่งแล้วย่อมทราบเรื่องนี้เป็นอย่างดี เนื่องจากผู้ต้องขังรายดังกล่าวเป็นบุคคลสำคัญที่มีความใกล้ชิดกันมาก่อนและเป็นเรื่องที่ประชาชนทั้งประเทศให้ความสนใจ อีกทั้งเมื่อการรักษาพยาบาลนอกเรือนจำของผู้ต้องขังรายนี้เกินกว่า 120 วัน รมว.ยุติธรรม คนที่ 3 จะได้รับรายงานตามสายบังคับบัญชาอย่างเป็นทางการตามที่กฎกระทรวงกำหนดไว้ ซึ่งวัตถุประสงค์ของการกำหนดให้มีการรับทราบมิใช่เพียงรับทราบแล้วนิ่งเฉย แต่เมื่อผู้รับทราบเห็นว่าเรื่องที่ส่งมาให้รับทราบ เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย จะเกิดเป็นหน้าที่ของผู้รับทราบคือ รมว.ยุติธรรม คนที่ 3 ขึ้นทันที โดยมีหน้าที่จะต้องสั่งการให้มีการยกเลิกการกระทำที่ไม่ครบถ้วนตามขั้นตอนและสั่งให้กระทำขึ้นใหม่ด้วยวิธีการที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่เมื่อมิได้สั่งการหรือดำเนินการใด ๆ ปล่อยให้ผู้ต้องขังที่เป็นบุคคลสำคัญพักอยู่ที่สถานพยาบาลนอกเรือนจำต่อเนื่องตลอดระยะเวลาที่ต้องจำคุก โดยไม่มีการร้องขอต่อศาลเพื่อขอให้ทุเลาการบังคับให้จำคุกแต่อย่างใด จึงเป็นข้อบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ของ รมว.ยุติธรรม คนที่ 3 ที่อาจเกิดขึ้นจากความจงใจให้มีการปฏิบัติที่ขัดต่อกฎหมาย
ผู้ร้องเรียนยังระบุด้วยว่า นอกจากรัฐมนตรี 3 รายแล้ว ยังมีข้าราชการระดับสูงและระดับกลางเกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องนี้อีก 4 ราย โดยข้าราชการบางรายเป็นผู้กำกับดูแลและเป็นผู้รับทราบการกระทำของหน่วยงานในสังกัด บางรายเป็นผู้มีอำนาจอนุญาต และบางรายเป็นผู้มีอำนาจให้ความเห็นชอบต่อเรื่องที่ขออนุญาตในการบังคับใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ ซึ่งมีการบังคับใช้กฎกระทรวงฉบับนี้เพียงฉบับเดียว แต่ไม่บังคับใช้ ป.วิ-อาญา มาตรา 246 วรรคหนึ่ง ต่อเนื่องไปพร้อมกันโดยการร้องขอต่อศาล มีลักษณะหลีกเลี่ยงหรือก้าวล่วงอำนาจขององค์กรฝ่ายตุลาการ ทำให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน และอาจมีความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ เพื่อเอื้อประโยชน์แก่ผู้ต้องขังบางรายที่มีเป้าหมายไว้แล้ว
การกระทำดังกล่าวอาจทำให้เกิดความเสียหายแก่กระบวนการยุติธรรม โดยผู้เกี่ยวข้องทั้งเจ็ดรายมีหน้าที่ต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ต้องบริหารราชการแผ่นดินตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 53 และมาตรา 164 และผู้ที่เป็น รมว.ยุติธรรม มีหน้าที่รักษาการตาม พรบ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 แต่ได้ออกและบังคับใช้กฎกระทรวงโดยขัดต่อ ป.วิ-อาญา มาตรา 246 และ พรบ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 มาตรา 6 ซึ่งทำให้ก้าวล่วงเข้าไปในเขตอำนาจขององค์กรฝ่ายตุลาการ โดยจงใจกระทำขัดต่อหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญในเรื่องการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตย ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคหนึ่ง และขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่มุ่งหมายให้การใช้อำนาจอธิปไตยของแต่ละองค์กรมีการถ่วงดุลและไม่ก้าวล่วงกัน
การกระทำดังกล่าว ยังอาจเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 ได้แก่ มาตรฐานทางจริยธรรมฯ ข้อ 5 ที่กำหนดไว้ว่า “ ต้องยึดมั่นและธำรงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ” แต่ รมว.ยุติธรรมซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้ออกกฎหมายระดับรองและนำไปบังคับใช้ โดยใช้อำนาจฝ่ายบริหารในตำแหน่ง รมว.ยุติธรรมของตน ในลักษณะที่มีเจตนาก้าวล่วงและบั่นทอนทำลายอำนาจขององค์กรฝ่ายตุลาการ เพื่อให้อำนาจในการทุเลาการบังคับให้จำคุกผู้ต้องขังที่เจ็บป่วยรุนแรงถึงขั้นจะเป็นอันตรายแก่ชีวิตให้ออกไปรักษาตัวนอกเรือนจำ ที่เดิมกฎหมายในระดับประมวลกฎหมายบัญญัติให้เป็นอำนาจขององค์กรฝ่ายตุลาการ เปลี่ยนมาเป็นอำนาจขององค์กรฝ่ายบริหารของตนโดยไม่ต้องถูกตรวจสอบจากศาล ขัดต่อหลักการพื้นฐานที่สำคัญของรัฐธรรมนูญ ซึ่งอำนาจอธิปไตยทั้งสามอำนาจจะต้องถ่วงดุลและไม่ก้าวล่วงกัน อันเป็นหลักการสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทำให้ไม่เป็นผู้ยึดมั่นและธำรงไว้ซึ่งระบอบการปกครองของประเทศ จึงฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงข้อนี้ และยังอาจเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ข้อ 12 ที่กำหนดไว้ว่า “ ต้องยึดมั่นหลักนิติธรรม.....” ข้อ 13 ที่กำหนดไว้ว่า “ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความยุติธรรม เป็นอิสระ เป็นกลาง และปราศจากอคติ.....โดยคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของประชาชน.....” ข้อ 21 ที่กำหนดไว้ว่า “ ปฏิบัติหน้าที่ราชการอย่างเต็มกำลังความสามารถ.....และปฏิบัติตามกฎหมาย ” และข้อ 23 ที่กำหนดไว้ว่า “ ปฏิบัติต่อประชาชนด้วยความเต็มใจ...และเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ”
การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมข้อ 5 ประกอบข้อ 12 ข้อ 13 ข้อ 21 และข้อ 23 รวมกันแล้วถือว่ามีลักษณะร้ายแรง
ผู้ร้องเรียนยังชี้ว่า "การกระทำของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้ง 7 ราย จึงมีทั้งการไม่ทำหน้าที่ของรัฐในการดูแลให้มีการปฏิบัติตามหรือบังคับใช้กฎหมายให้ครบทุกฉบับอย่างเคร่งครัด ที่ขัดต่อหน้าที่ของรัฐ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 53 และการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่ขัดต่อหลักการเรื่องสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 ซึ่งทั้งสองเรื่องเป็นกลไกสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงได้มีการบัญญัติไว้โดยชัดเจนในรัฐธรรมนูญ การกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญดังกล่าว เป็นผลมาจากเจตนาเริ่มต้นของผู้ปฏิบัติหน้าที่ในองค์กรฝ่ายบริหารที่ต้องการจะหลีกเลี่ยงหรือก้าวล่วงอำนาจขององค์กรฝ่ายตุลากรการออกกฎหมายในระดับรองและการบังคับใช้กฎหมายของผู้ใช้อำนาจขององค์กรฝ่ายบริหารเพื่อล้มล้างอำนาจขององค์กรฝ่ายตุลาการเช่นนี้ อาจเป็นตัวอย่างให้มีการก้าวล่วงอำนาจอธิปไตยของแต่ละองค์กรเกิดขึ้นอีก ซึ่งจะทำให้สูญเสียหลักการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตย ที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ หมวด 1 บททั่วไป มาตรา 3 อีกทั้งกรณีนี้เป็นการล้มล้างอำนาจขององค์กรผู้ทรงอำนาจอธิปไตยฝ่ายตุลาการ ที่มีศาลเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ในการพิจารณาพิพากษาคดีโดยอิสระในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ ซึ่งอาจเป็นการก้าวล่วงพระราชอำนาจ ไม่เคารพสักการะ และละเมิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ หมวด 2 พระมหากษัตริย์ มาตรา 6 อีกด้วย"
ทั้งนี้ ผู้ยื่นเรื่อง ยังได้ขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาไต่สวนการกระทำของ 3 รัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในความผิดฐานจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย และฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง รวมทั้งความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ส่วนข้าราชการประจำอีก 4 ราย ที่ปฏิบัติหน้าที่ในช่วงเวลาที่มีการบังคับใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ ขอให้พิจารณาว่าเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาด้วย หรือไม่
"หากพบว่าเป็นความผิดฐานจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย และ/หรือความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ส่งเรื่องไปยังอัยการสูงสุดเพื่อยื่นฟ้องบุคคลทั้งเจ็ดต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยมีรัฐมนตรีทั้ง 3 รายเป็นตัวการ และข้าราชการอีก 4 รายเป็นผู้สนับสนุน รวมทั้งขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.เสนอเรื่องโดยตรงต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัยการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง เพื่อเพิกถอนสิทธิทางการเมืองของรัฐมนตรีทั้งสาม และหากพบว่าการกระทำทั้งหมดที่เกิดขึ้นมีบุคคลใดให้ประโยชน์เพื่อจูงใจให้กระทำความผิด ก็ให้ดำเนินการกับบุคคลนั้นด้วย และเฉพาะข้าราชการประจำในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ขอให้เสนอต่ออัยการสูงสุดเพื่อยื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบด้วย ซึ่งเป็นอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่จะดำเนินการ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 235 และ พ.ร.บ.ป.ป.ช.มาตรา 28" หนังสือยื่นเรื่อง ป.ป.ช.สอบสวนคดีนี้ระบุ
***********
อนึ่งสำหรับรายละเอียดกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 สำนักข่าวอิศรา เคยนำเสนอข้อมูลเจาะลึกไปแล้ว ในรายงานเรื่อง เปิดกฎกระทรวงฯ ปี 63 ไขปมเตรียมการเอื้อ'ทักษิณ' นอนชั้น 14 ไม่ต้องติดคุก จริงหรือ?