บิ๊กเล็ก-พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รมช.กลาโหม เผย สำนักข่าวอิศรา “ขอตรวจก่อน” กรณีเพจเฟซบุ๊กขายยุทโธปกรณ์ทางด้านการทหารประกาศขาย เฮลิคอปเตอร์ Huey ปลดประจำการ ลำละ 1.8 - 2.8 ล้าน แหล่งข่าวกองทัพบกเผย ต้องแจ้งสหรัฐฯทราบ ขณะที่ อดีต ขรก.จี้ ดีเอสไอ - ป.ป.ช.ร่วมสอบ อาจมีขบวนการนำทรัพย์สินราชการไปขาย
สืบเนื่องจากกรณีมีการร้องเรียนจากข้าราชการกระทรวงกลาโหมมายังสำนักข่าวอิศรา กรณีเพจเฟซบุ๊กขายยุทโธปกรณ์ทางด้านการทหารรายหนึ่งเผยแพร่ประกาศขาย เฮลิคอปเตอร์เก่าของกองทัพ ระบุว่า “ขายเฮลิคอปเตอร์ Huey ปลดประจำการ บินไม่ได้ แต่งบ้าน แต่งร้าน แต่งสวน ทำแลนด์มาร์ค ราคา 1,850,000 บาท” พร้อมรูปประกอบ
อ่านประกอบ : กังขา! ประกาศขายเฮลิคอปเตอร์เก่ากองทัพ ลำละ 1.8 ล. – เจ้าของเพจแจงประมูลมาถูกต้อง
ต่อมาเพจเฟซบุ๊กขายยุทโธปกรณ์ทางด้านการทหารอีกเพจหนึ่ง เผยแพร่คลิปประกาศขาย เฮลิคอปเตอร์เก่าของกองทัพเป็นซาก ฮท-1 หมายเลข 6789 กองบินปีกหมุนที่ 1 ลำละ 2,800,000 บาท อ้างว่ามีจำนวน 6 ลำ โดยเจ้าของเพจอ้างว่าที่ไปที่มาของเฮลิคอปเตอร์เก่าดังกล่าวนั้นได้มาจากผู้ที่ประมูลมาจากจัสแม็กไทย (คณะที่ปรึกษาทางการทหารสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย)
@ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รมช.กลาโหม @ (ที่มาภาพ : เว็บไซต์ https://www.thaigov.go.th/)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 10 มิถุนายน 2568 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รมช.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าวว่า ขอตรวจสอบก่อน
แหล่งข่าวจากกองทัพบกเปิดเผยว่า การขาย ฮ.ปลดระวาง ไม่ต้องเข้าครม.เพื่ออนุมัติ เป็นอำนาจของ รมว.กลาโหม อย่างไรก็ตามต้องดูเงื่อนไขอาวุธยุทโธปกรณ์แต่ละชนิดด้วยว่าต้องเข้าครม.หรือไม่ เช่น เรื่องวงเงิน ส่วนจะขายในราคาเท่าไหร่นั้น ต้องตั้งคณะกรรมการตรวจสภาพขึ้นเพื่อตั้งราคา ส่วนการซื้อเฮลิคอปเตอร์ Huey ไปตกแต่งร้านอาหารนั้น ไม่น่าจะทำได้ เพราะเป็นยุทโธปกรณ์ของสหรัฐฯ หากจะนำไปทำอะไรต้องแจ้งให้สหรัฐฯทราบ
“เฮลิคอปเตอร์ Huey อาจถูกตีความว่าเป็น Utility Helicopters หรือ UH1 เฮลิคอปเตอร์ใช้ง่ายทั่วไป หรือไม่ ต้องดูในระเบียบอีกครั้งว่าทำได้หรือไม่ แต่ถ้าเป็นเครื่องบินรบ Attack Helicopters หรือ AH ห้ามขายเด็ดขาด”แหล่งข่าวกล่าว
ขณะที่แหล่งข่าวจากอดีตข้าราชการกระทรวงกลาโหมเปิดเผยกับสำนักข่าวอิศราว่า หากการตรวจสอบพบว่า เฮลิคอปเตอร์ จำนวน 1 ลำที่ถูกประกาศขาย ยังอยูในบัญชีควบคุมของกระทรวงกลาโหม ซึ่งยังไม่ได้ขออนุมัติจำหน่าย แต่ไฉนไปอยู่ในมือของพ่อค้า ส่อแสดงว่ามีขบวนการลักลอบขายทรัพย์สินของทางราชการหรือไม่ ในเรื่องนี้นอกจากกระทรวงกลาโหมที่ต้องตรวจสอบแล้ว กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ควรเข้ามาตรวจสอบด้วย
การปฏิบัติต่อซาก มี 2 แนวทาง คือ สหรัฐส่งมอบให้ประเทศที่สาม หรือ ทำลายโดยการทิ้งทะเล ส่วนที่เอกชนอ้างว่าซื้อมาจากจัสแมกไทยนั้น ในข้อเท็จจริง จัสแมกไทยมีหน้่าที่ประสาน ให้คำแนะนำ อำนวยความสะดวกในการสนับสนุนชิ้นส่วน อะไหล่ ซ่อมบำรุง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการอนุมัติประมูลซาก ตามที่เอกชนกล่าวอ้าง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องประกอบ :