ควันหลงการลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการ “โคบาลชายแดนใต้” ที่ จ.ปัตตานี ของ นายไชยา พรหมา รมช.เกษตรและสหกรณ์ ซึ่งกำกับดูแลกรมปศุสัตว์
แนวทางการแก้ไขปัญหาของรัฐมนตรีไชยา หลังได้รู้ ได้เห็นสภาพปัญหาจริงๆ มีมากกว่าแค่การปรับปรุงสัญญา และให้อำนาจกลุ่มเกษตรกรเลือกซื้อโคจากผู้ประกอบการรายใดได้เอง
โดย รัฐมนตรีไชยา ให้สัมภาษณ์อีกครั้งหนึ่งหลังกลับจากชายแดนใต้
“โครงการนี้มีปัญหาเป็นบางจุด ซึ่งพื้นที่ที่เกษตรกรยังมีข้อข้องใจ ผมก็พร้อมรับนำไปปรับปรุงแก้ไข ซึ่งในการลงพื้นที่ ได้มีการพูดคุยกับ ศอ.บต.แล้ว และในวัน 31 มกราคม หรือ 1 กุมภาพันธ์นี้ จะมีการประชุมร่วมกันอีกครั้ง โดยมีตัวแทนเกษตรกรร่วมประชุมด้วยผ่านระบบทางไกล เพื่อหาข้อยุติว่า โครงการมีข้อบกพร่องอย่างไร และเกษตรกรต้องการให้มีการปรับปรุงเรื่องใดบ้าง”
@@ ชั่งน้ำหนักโคหน้าฟาร์มก่อนส่งมอบ!
แนวทางการป้องกันปัญหาเพิ่มเติม รัฐมนตรีกำหนดอีกหลายประการ...
“เงื่อนไขในการส่งมอบแม่วัวนั้น จะต้องมีมาตรการการชั่งน้ำหนักหน้าฟาร์ม หลังจากที่มีการส่งมอบแล้ว การตรวจสุขภาพ การดูรูปพรรณของสัตว์ ก็ต้องดำเนินการต่อเนื่อง เพื่อให้เกษตรกรมั่นใจว่าโคที่ได้รับ พร้อมที่จะตกลูกได้”
“ส่วนวัวที่มีปัญหา ตามเงื่อนไขผู้ประกอบการต้องรับเคลม และจากนี้หากโครงการจะเดินหน้าต่อ ผู้ประกอบการต้องรับเคลมทั้งหมด และวัวที่จะส่งมอบต้องพร้อมที่จะให้ลูกแล้ว เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่เกษตรกร ซึ่งวัวที่เกิดปัญหา ผู้ประกอบการพร้อมรับคืนแล้วตามขั้นตอน และกรอบระยะเวลาการกักกันเพื่อให้ปลอดโรค”
@@ เลิกมัดมือชก ให้เกษตรกรเลือกเอง
“อีกข้อเสนอหนึ่งของเกษตรกรหากจะดำเนินโครงการต่อไป คือจะต้องปรับรูปแบบ เช่น ควรให้เกษตรกรได้มีสิทธิในการเลือกซื้อวัวจากผู้ประกอบการที่มีความหลากหลาย โดยโอนเงินกู้จากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรไปให้เกษตรกรดำเนินการจัดซื้อในราคาตลาด แต่จะต้องปลอดโรค ปลอดภัย เป็นแม่พันธุ์ที่มีคุณภาพ”
“ผมเชื่อว่า พื้นที่ภาคใต้ตั้งแต่เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และชุมพร ซึ่งเป็นแหล่งผลิตวัว และมีศูนย์กักกันโรคที่เป็นมาตรฐานของกรมปศุสัตว์ จะสามารถสนับสนุนความต้องการในพื้นที่ชายแดนใต้ได้ และควรนำมาเป็นทางเลือกให้เกษตรกร”
“กรณีที่มีผู้ประกอบการค้าพันธุ์วัวเข้ามาเป็นตัวเลือกเดียวให้กับเกษตรกร ถือเป็นอีกปัญหาหนึ่ง แต่ก็ไม่สามารถไปโทษผู้ประกอบการได้ เพราะผู้ประกอบการแต่ละรายอาจมีเทคนิกการขายแตกต่างกัน แต่หลักทางราชการจะต้องเปิดกว้างให้มีการแข่งขัน มีทางเลือกมากขึ้น แต่โครงการนี้ต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก ทำให้กระทบต่อกำลังของผู้ประกอบการ ซึ่งแม้โครงการนี้จะเป็นเงินนอกงบประมาณ แต่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างก็จำเป็นจะต้องเป็นไปตามระเบียบวิธีการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ”
@@ ห้ามขู่เกษตรกรเซ็นรับโค
มีประเด็นจากเกษตรกรที่อ้างว่า เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ที่เป็นคณะกรรมการตรวจรับโค มีพฤติการณ์ขู่เกษตรกรว่า หากไม่เซ็นรับโคจากผู้ประกอบการรายนี้ จะไม่ผ่านการตรวจโรคนั้น เรื่องนี้ รัฐมนตรีไชยา ยอมรับว่า มีเกษตรกรให้ข้อมูลจริง และต้องแก้ไขปัญหาต่อไป
“ได้รับทราบข้อมูลในพื้นที่ ซึ่งถือเป็นนโยบายสำคัญที่จะต้องไม่บังคับชาวบ้าน และภาครัฐก็มีหน้าที่สนับสนุน ไม่มีหน้าที่กำหนดกฎเกณฑ์และบังคับเกษตรกร เพราะงบประมาณที่ใช้เป็นเงินของเกษตรกรที่ต้องแบกรับภาระต้นทุนและดอกเบี้ย รวมถึงต้องแบกรับความเสี่ยงด้วยหากวัวไม่สามารถตั้งท้องได้ ดังนั้นหลังจากนี้ผมก็จะเข้มงวดกับเจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ด้วย และยึดประโยชน์สูงสุดของเกษตรกร”
@@ เดินหน้าโครงการต่อ - ตั้งอดีตผู้ว่า สตง.ช่วยสอบ
อย่างไรก็ดี รัฐมนตรีไชยา ยืนยันว่า โครงการนี้มีวัตถุประสงค์ที่ดี จึงควรเดินหน้าต่อไป โดยแก้ไขปัญหาที่เป็นจุดอ่อน เพื่อให้เกษตรกรได้ประโยชน์อย่างแท้จริง
“ภาพรวมโครงการนี้เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร และพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เป็นพื้นที่เป้าหมายของรัฐบาลในการผลักดันเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษสินค้าด้านฮาลาล แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นถือว่ามีนัยสำคัญที่น้อย จึงต้องดูภาพรวมที่น่าจะเกิดประโยชน์ต่อประชาชน และเนื่องจากระยะแรกเป็นเพียงโครงการนำร่อง ซึ่งการจะเดินหน้าต่อจะต้องมีความรอบคอบมากยิ่งขึ้น โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเกษตรกรให้มากขึ้นด้วย”
“เราได้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบคู่ขนานกับ ศอ.บต.ที่มีการตั้งคณะกรรมการสอบเช่นเดียวกัน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แต่งตั้งให้หัวหน้าผู้ตรวจราชการของกระทรวงฯ เป็นหัวหน้าคณะในการติดตามตรวจสอบ และผมเองที่กำกับดูแลกรมปศุสัตว์ก็ได้ตั้งให้เลขานุการรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าคณะ และมีบุคคลภายนอกเข้ามาร่วมด้วย ได้แก่ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่า สตง. ที่มาพิจารณาความเสี่ยง และความไม่รอบคอบในสัญญาให้มีความเข้มงวดมากขึ้น”
@@ ยังคาใจ...โคไทยจริงหรือ?
รัฐมนตรีไชยา ยังตั้งข้อสงสัยเรื่องแหล่งที่มาของโค ว่ามาจากพื้นที่ภาคกลางจริงหรือไม่
“เอกสารยืนยันบริเวณหู และรูปพรรณสัญฐานจะเป็นตัวบอกที่มาของวัว ซึ่งนโยบายของกรมปศุสัตว์ ห้ามนำเข้าสัตว์ จึงเกรงว่าผู้ประกอบการจะลักลอบนำเข้ามาจำหน่าย เพราะหากมีวัวที่ติดโรคเล็ดลอดเข้ามา ก็จะเกิดปัญหา รวมถึงการแข่งขันราคาที่จะต้องเป็นธรรมมากขึ้น เพราะการเลือกผู้ประกอบการมาเป็นคู่สัญญาแบบเฉพาะเจาะจงในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ถือเป็นจุดอ่อนทำให้เกิดการทุจริต จึงจะต้องมีการปรับ”
อนึ่ง ข้อมูลที่หน่วยงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้สรุปรายงานรัฐมนตรี พบว่าพื้นที่เป็นปัญหาเรื่องแม่พันธุ์วัวไม่ตรงปก มี 2 พื้นที่ คือ อำเภอเมืองปัตตานี จำนวน 20 ตัว และอำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานี จำนวน 50 ตัว เกษตรกรได้ส่งคืนวัวทั้งหมด เพื่อรอเกษตรกรจัดหาเองจากผู้ประกอบการรายใหม่