อุตสาหกรรมสื่อในโลกนี้ รวมทั้งในประเทศไทย อยู่ในสภาพที่กำลังจะตาย เพราะว่าโครงสร้างของการหารายได้ของสื่อ มันไม่เวิร์คแล้ว เราไม่มีเงินก็เหมือนกับกระแสเลือดมันไม่เดิน โซเชียลมีเดียนั้นเป็นสิ่งที่ทำให้เราไม่ใช่ผู้กำหนดวาระข่าวอีกต่อไป นี่คือสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นทั่วไป สิ่งที่เกิดขึ้นในความเป็นจริงหลายประเทศคือนักข่าวต้องไปทำอะไรแปลกๆมากมายนอกเหนือการทำข่าว เช่นการหาโฆษณาเป็นต้น ผลประโยชน์ทับซ้อนมันจึงเกิด
หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา (www.israenws.org) เมื่อวันที่ 9 ม.ค. ที่สตูดิโอเดอะโบทานิคัล มีการประชุมโครงการความร่วมมือเครือข่ายผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวน โดยตอนหนึ่งของการประชุม น.ส.ปรางทิพย์ ดาวเรือง สมาชิกเครือข่ายผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ - ไอซีไอเจ (International Consortium of Investigative Journalists: ICIJ) ได้กล่าวถึงคำถามว่าปัจจุบันผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนตายหรือยัง กับปรากฎการณ์ปานามา เปเปอร์ส โดยสำนักข่าวอิศรานำเอารายละเอียดมาเรียบเรียงดังนี้
มีคำกล่าวกันว่าเมื่อไรสื่อที่ซื่อตรงและรับใช้สังคมตาย สังคมก็ตายไปด้วย นี่คือสิ่งที่ดิฉันได้เรียนรู้จากผู้สื่อข่าวในประเทศต่างๆ
อยากจะย้อนกลับไปปี 2558 เมื่อมีกรณีปานามา เปเปอร์สเกิดขึ้น ตอนนั้นสื่ออยู่ในจุดที่โลกโซเชียลมีเดียเข้ามาเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง โซเชียลมีเดียให้สิ่งที่สื่อหลักให้ไม่ได้ นั่นก็คือการทำให้ผู้ที่รับสารและผู้ที่ส่งสารกลายเป็นคนๆเดียวกันได้ และการรับสารและส่งสารนั้นทำแบบเดียวกัน และท้ายที่สุดมันก็ไม่มีขอบเขตที่จำกัดทั้งทางด้านหลักจริยธรรมและขอบเขตวิชาชีพ เป็นพื้นที่สำหรับทุกคน
ดังนั้นต้องบอกว่าความเป็นเหตุเป็นผลบนโลกนี้มันเปลี่ยนแปลงไปหมดมาตั้งนานแล้ว ตั้งแต่ก่อน พ.ศ.2558
อุตสาหกรรมสื่อในโลกนี้ รวมทั้งในประเทศไทย อยู่ในสภาพที่กำลังจะตาย เพราะว่าโครงสร้างของการหารายได้ของสื่อ มันไม่เวิร์คแล้ว เราไม่มีเงินก็เหมือนกับกระแสเลือดมันไม่เดิน โซเชียลมีเดียนั้นเป็นสิ่งที่ทำให้เราไม่ใช่ผู้กำหนดวาระข่าวอีกต่อไป นี่คือสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นทั่วไป สิ่งที่เกิดขึ้นในความเป็นจริงหลายประเทศคือนักข่าวต้องไปทำอะไรแปลกๆมากมายนอกเหนือการทำข่าว เช่นการหาโฆษณาเป็นต้น ผลประโยชน์ทับซ้อนมันจึงเกิด
สำหรับคำถามว่าข่าวสืบสวนสอบสวนนั้นตายหรือยัง กรณีนี้ต้องย้อนกลับไปเมื่อปี 2558 เมื่อมีเรื่องปานามา เปเปอร์ส ซึ่งเป็นสิ่งที่กระทบการทำข่าวสืบสวนอย่างรุนแรงเกิดขึ้น
เรื่องนี้เกิดมาจากบุคคลนิรนามใช้ชื่อว่า จอห์นโด ปัจจุบันก็ยังไม่ทราบว่าเป็นใคร แต่เขาส่งข้อความสั้นๆว่าชื่อจอห์นโดที่เอาไว้ใช้เป็นชื่อนิรนาม เขาติดต่อสื่อเยอรมนีถามว่าอยากได้ข้อมูลหรือไม่ นักข่าวเยอรมันสองคนก็ตกลงที่จะรับข้อมูลมา ปรากฏข้อมูลที่เขาได้มาก็คือข้อมูลเกี่ยวกับมอสแซ็คฟอนเซกา สำนักกฎหมายที่ประเทศปานามา โดยสำนักกฎหมายนี้มีรายได้หลักมาจากการรับจ้างบริษัทออฟชอร์ หรือบริษัทนอกอาณาเขตให้กับใครก็ได้ ได้ทั้งหมดทั่วโลก บริษัทสำนักกฎหมายมอสแซ็คฟอนเซกามีบริษัทเคยมีสาขาอยู่ทั่วโลก รวมถึงเคยมีสาขาที่ประเทศไทยด้วย
บริการของบริษัทนี้ก็คือการช่วยเหลือจัดตั้งบริษัทเพื่อเป็นที่เก็บทรัพย์สินที่ไม่สามารถตามได้ โดยจะจัดตั้งบริษัทในประเทศที่มีการปกปิดความลับลูกค้า อัตราภาษีต่ำ ซึ่งลูกค้าของบริษัทที่ใช้บริการทำนองนี้ก็จะเป็นลูกค้าที่อยากจะเสียภาษีต่ำ หรือไม่อยากจะเสียภาษี โดยบริษัทที่มีอัตราเสียภาษีต่ำมักจะถูกจัดตั้งกันที่ดินแดนนอกอาณาเขตก็อย่างเช่นประเทศสวิตเซอร์แลนด์ หมู่เกาะเคย์แมนที่มีกฎหมายการเสียภาษีที่น้อย มีกฎหมายเรื่องการรักษาความลับลูกค้าเป็นต้น การทำงานของมอสแซ็คฟอนเซกา รวมไปถึงสำนักกฎหมายอื่นๆนั้น ยังรวมถึงการหานอมินีเพื่อบังหน้าเจ้าของบริษัทที่แท้จริงด้วย ซึ่งนี่ทำให้เจ้าของที่แท้จริงบริษัทสามารถย้ายเงินได้อย่างอิสระ และสามารถเป็นใช้ชื่อบริษัทออฟชอร์ที่ว่านี้เป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ เช่นที่ประเทศอังกฤษได้ด้วย ซึ่งนี่ก็ทำให้มอสแซ็คฟอนเซกา เป็นบริษัทที่ทำกำไรมาอย่างยาวนาน
สำหรับข้อมูลของจอห์นโดก็คือข้อมูลเอกสารปานามา เปเปอร์สขนาด 2.6 เทอราไบต์ ถ้าคิดเป็นเอกสารก็คิดว่ามี 11.5 ล้านชิ้น เก็บข้อมูลกันตั้งแต่ปี ค.ศ. 1977 มีผู้ใช้บริการบริษัทนอกอาณาเขตตามข้อมูลเอกสาร 1.4 หมื่นคน ในเบื้องต้นพบว่ามี 12 คนเป็นระดับผู้นำหรือนักการเมืองระดับสูง ดังนั้นนี่ก็คือสิ่งแรกที่ทำให้ปานามา เปเปอร์สมีความเป็นประวัติศาสตร์ ก็คือข้อมูลขนาดใหญ่มาก
สำหรับนักข่าวเยอรมันสองคนเมื่อได้ข้อมูลนี้ก็รู้ว่าตัวเองไม่สามารถจะจัดการข้อมูลนี้ได้ทั้งหมดก็ไปหาทางไอซีไอเจหรือสมาคมผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ ไอซีไอเจเมื่อสืบทราบข้อมูลที่ว่านี้ก็รู้ว่ามันกว้างไปทั่วโลก ซึ่งนี่ถือว่าเป็นความท้าทายในการจัดการข้อมูลเป็นอย่างยิ่ง ไอซีไอเจจึงได้ทำในสิ่งที่ผู้สื่อข่าวสืบสวนไม่คิดจะทำก็คือการแชร์ข้อมูลต่างๆ โดยได้มีการติดต่อไปยังผู้สื่อข่าวต่างๆที่เคยทำงานร่วมกับไอซีไอเจ ติดต่อเป็นรายคน 376 คน จาก 78 ประเทศทั่วโลก โดยมีข้อตกลงว่า 1.ต้องยินยอมในการแชร์ข้อมูลต่างๆ 2. ห้ามพูดภายในระยะเวลาหนึ่งปีหลังจากได้รับข้อมูล
ผู้อำนวยการไอซีไอเจในขณะนั้นกล่าวว่าการทำปานามา เปเปอร์ส หลักการสำคัญก็คือเรื่องความไว้วางใจในเรื่องการแชร์ข้อมูลต่างๆ แต่ก็มีความท้าทายก็คือเรื่องความปลอดภัย การป้องกันการแฮ็คข้อมูลจากหน่วยงานหรือแฮ็คเกอร์ต่างๆ จึงต้องมีการรักษาระบบ เข้ารหัสยูอาร์แอล แต่ก็มีกรณีที่มีผู้เปิดเผยข้อมูลรายหนึ่ง ทำให้ต้องเปลี่ยนระบบทั้งหมด
ความท้าทายอีกประการหนึ่งก็คือการเก็บความลับ ในช่วง 1-2 สัปดาห์ก่อนที่จะมีการตีพิมพ์ ไอซีไอเจเขียนจดหมายไปถึงคนสนิทของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ซึ่งรัฐบาลรัสเซียไม่ตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้แต่ใช้วิธีการแถลงข่าวแทน ซึ่งทางกองบรรณาธิการทั่วโลกมีความปั่นป่วนในเรื่องนี้มากเพราะกลัวข่าวหลุด แต่ทางรัสเซียนึกว่าเป็นเรื่องของเขาแค่คนเดียว ไอซีไอเจก็ต้องมีการเตือนกันว่าอย่าแพร่งพรายข้อมูล ต้องระวังกันมาก ดังนั้นนี่ก็เป็นภาระของผู้ที่ทำหน้าที่ประสานงานกับนักข่าวต่างๆ
ดังนั้นคำถามที่ว่า ปานานาเปเปอร์สเป็นประวัติศาสตร์ได้อย่างไร ก็เพราะความสามารถของนักข่าว และความสามารถในการเคลื่อนย้ายข้อมูลขนาดใหญ่มาก นักข่าว 376 คน และเพิ่มเป็น 400 กว่าคนในเวลาต่อมา ใช้เวลาสืบค้นนานกว่า 1 ปี และหลังจากนั้นก็มีกรณีแพนดอร่าเปเปอร์ส ที่ข้อมูลใหญ่กว่าปานามา เปเปอร์สมาก มีรายชื่อนักการเมือง นักกีฬา และนักร้องอยู่ในเอกสารนี้
ซึ่งสิ่งที่ได้เรียนรู้จากปานามา เปเปอร์สก็คือ เครือข่าวของบริษัทนอกอาณาเขต คำว่าทุนในโลกนั้นมีเครื่องมือที่ซับซ้อนมาก ใหญ่โตเกินกว่านักข่าวแค่ไม่กี่คนจะเข้าใจได้ แม้แต่เจ้าของบริษัทนอกอาณาเขตบางคนก็ยังไม่เข้าใจเลย ดังนั้นการทำข่าวก็ต้องอาศัยการสนับสนุนทางด้านนี้ด้วย และอีกประการที่ได้รับรู้ก็คือการทุจริตที่เกิดขึ้นนั้น ในไทยกับในต่างประเทศมีความแตกต่างกันมาก ในต่างประเทศ อาทิ เช่นผู้นำไอซ์แลนด์ต้องลาออก หลังพบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับปานามา เปเปอร์ส แต่ของประเทศไทยกลับไม่เกิดอะไรขึ้น คำตอบที่ได้ก็คือการทุจริตนั้นวัฒนธรรมที่มีอยู่
ดังนั้นผู้สื่อข่าวที่ทำข่าวสืบสวนนี้ก็คือการต้องต่อสู้กับวัฒนธรรมไทยที่มีอยู่ หน้าที่ของผู้สื่อข่าวก็คือว่าต้องอธิบายว่าทำไมมันถึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงวัฒธรรมนี้
สิ่งที่ต้องอธิบายคือว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องผิดกฎหมายหรือว่าไม่ผิดกฎหมาย เพราะแม้แต่ในกรณีปานามา เปเปอร์สก็ยังมีการเถียงกันเรื่องความถูกกฎหมายเลยในประเทศเยอรมนี แต่ว่าสิ่งที่ทำให้บริษัทนอกอาณาเขตนั้นน่ากลัวก็คือเพราะว่ามันถูกกฎหมาย ความซับซ้อนว่าทำไมการมีบริษัทนอกอาณาเขต การเลี่ยงภาษี ไม่ใช่แค่ประเด็นว่าถ้ามันไม่ผิดกฎหมายแล้วจะไปว่าเขาทำไม แต่ว่าถ้าเรามองในเรื่องของการทุจริตเป็นเรื่องวัฒนธรรม เราก็อาจจะมองได้ว่าแม้มันจะไม่ผิดกฎหมาย แต่ว่าเรื่องนี้ก็จะมีเรื่องประเด็นจริยธรรมตามมา และมีผู้ที่เดือดร้อนจากการกระทำนี้