"...ช่างบอลได้มีโอกาสไปดูตามสถานที่จริงทั่วถิ่นอีสาน ได้เห็นความเสื่อมโทรม บางแห่งไม่เคยได้รับการดูแลรักษา จึงรวบรวมเพื่อนที่ต้องการอนุรักษ์ภูมิปัญญาบรรพบุรุษ ช่วยกันบูรณะสิมกลับมาดั่งเดิม จนเกิดเป็นสิมแห่งบ้านวังไฮขึ้น กลายเป็นทั้งต้นแบบ แรงบันดาลใจ แหล่งเรียนรู้และพื้นที่บ่มเพาะช่างแขนงต่าง ๆ เพื่อช่วยธำรงไว้ซึ่งสถาปัตยกรรมพื้นบ้านที่งดงามนี้ไว้คู่แผ่นดินอีสาน..."
สวัสดีครับ
ด้วยความศรัทธาต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จึงกลายเป็นแรงบันดาลใจให้คุณณัฎฐ์วสุ จตุรพิธอมร (คุณขวัญ) พร้อมครอบครัวตัดสินใจสร้างศาลา “จตุวรโพธิ” ศาลาธรรมภายในบริเวณบ้านพักส่วนตัว จนทำให้ชาวบ้านในหมู่บ้านเสนานิคมต่างพากันคิดว่า มีวัดมาตั้งอยู่ภายในหมู่บ้าน ซึ่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมได้เล่าถึงความเป็นมาของศาลาแห่งนี้ และในสัปดาห์นี้ผมอาสาพาพวกเราเข้าไปชมภายในศาลาฯ กันครับ
ศาลาธรรม “จตุวรโพธิ”
ถ่ายภาพร่วมกับช่างเสก คุณขวัญ และช่างบอล
ศาลาจตุวรโพธิเป็นงานศิลปะล้านนาร่วมสมัย ภายในมีความเรียบง่าย เวลามองเข้าไปจะเห็นเป็นรูปทรงที่มีความสมถะ และเมื่อย่างก้าวเข้าไปจะรับรู้ถึงความสงบ มีพระพุทธสิงห์หรือพระพุทธสิหิงค์ เป็นพระประธานประดิษฐานอยู่ ซึ่งเกิดจากคุณขวัญได้มีโอกาสไปนั่งสมาธิต่อหน้าพระพุทธสิงห์ และมีความรู้สึกว่า พระพุทธองค์นี้ช่างงามเหลือเกิน จึงขออนุญาตพระเทพสิงหวราจารย์ เจ้าอาวาสวัดพระสิงห์ หล่อพระพุทธสิงห์เพื่อนำลงมาประดิษฐานที่บ้าน จนได้ฤกษ์ทำพิธีบวงสรวงและขึ้นไปทำพิธีหล่อพระสิงห์เนื้อสำริดขนาด 32 นิ้ว บนวัดพระธาตุดอยสุเทพ เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2566 โดยมีพระธรรมเสนาบดีเจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยสุเทพ เป็นประธาน พร้อมกันนี้ ยังได้รับพระเมตตาจากสมเด็จพระสังฆราช และพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่มอบแผ่นเงินและแผ่นทองคำมาเป็นชนวนหล่อพระ คุณขวัญกล่าวว่า สำหรับพุทธศาสนิกชนชาวล้านนามีจิตศรัทธากราบไหว้พระพุทธเจ้าเสมือนท่านยังมีพระชนม์ชีพอยู่ ดังนั้น จึงมีการทำพิธีเหมือนชาวล้านนา พร้อมนำสัตภัณฑ์ไว้ภายในองค์พระสิงห์อีกด้วย
เมื่อหล่อแล้วเสร็จ จึงได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่บ้าน ก่อนอัญเชิญท่านมาประดิษฐานที่ศาลาจตุวรโพธิ พร้อมพระพุทธรูปศิลปะเชียงแสนอีก 2 องค์ได้แก่ พระเขี้ยวแก้ว และพระบรมธาตุดอยสุเทพ
สำหรับฐานพระพุทธรูปทั้งสามองค์ กระบวยสรงน้ำ และเครื่องบูชา เป็นผลงานของคุณสาธิต ผาแก้ว (ช่างเสก) ช่างศิลป์รุ่นใหม่ คุณขวัญรู้จักช่างเสกระหว่างนั่งปฏิบัติธรรมภายในอุโบสถวัดพระสิงห์ ช่างเสกชื่นชอบงานพุทธศิลป์ตั้งแต่เด็ก จนได้เรียนงานช่างพุทธศิลป์กับพระอาจารย์ที่จังหวัดน่าน และได้ศึกษาต่อจนจบที่คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผลงานที่ภูมิใจที่สุดคือ เมื่อครั้งได้รับความเมตตาจากพระเทพสิงหวราจารย์ เจ้าอาวาสวัดพระสิงห์ ให้เป็นช่างสร้างราชรถน้อยศรีนครพิงค์ยานสิหิงคปฏิมา และรถพระนำ เพื่อใช้อัญเชิญพระพุทธสิงห์ ในงานประเพณีสงกรานต์
ผลงานของคุณสาธิต ผาแก้ว (ช่างเสก)
เมื่อมองลงมาที่ฐานพระพุทธรูป เป็นปูนขาว ปิดทองคำเปลว ประดับด้วยแก้วจีนและกระจกเกรียบ ลวดลายเป็นลายดอกเครือเถา และปั้น 12 นักษัตรรอบฐาน แก้วสีที่ใช้ในการประดับตกแต่งมี 2 ชนิด แยกเป็นกระจกเกรียบ คือการหุงกระจกตามกรรมวิธีโบราณซึ่งตกทอดมาจากบรรพบุรุษ ผลงานของ ดร.รัชพล เต๋จ๊ะยา และกระจกจีนหรือแก้วจีนเป็นกระจกโบราณของล้านนา โดยคุณรชต ชาญเชี่ยว ถือเป็นท่านเดียวที่ประดิษฐ์กระจกลักษณะนี้
สำหรับจิตรกรรมภายในศาลาจตุวรโพธิ วาดแล้วเสร็จ 4 ห้อง เป็นผลงานของคุณวีรยุทธ ไมตรี (ช่างบอล) สองห้องแรกเป็นเรื่องราวเกี่ยวข้องกับคุณขวัญและครอบครัว และความเป็นมาในการก่อสร้างเล่ามูลเหตุในการหล่อพระสิงห์ พร้อมพิธีวางศิลาฤกษ์และปลูกต้นไม้รอบ ๆ ศาลาแห่งนี้ ทั้งนี้ ช่างบอลเล่าว่า เรื่องราวอาจจะดูเหนือความจริงเพราะตั้งใจให้ดูแล้วเพลิดเพลิน ในขณะที่อีกสองห้องเป็นเรื่องราวของดาวดึงส์ สะท้อนถึงการกระทำความดีและผลแห่งบุญที่ได้สร้างไว้
ผนังในส่วนที่เหลือตั้งใจจะเขียนถึงตำนานพระเจ้าเลียบโลกของล้านนา ปาฏิหาริย์ที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาล้านนา สอดแทรกด้วยคำสอนคติเตือนใจจากนิทานพื้นบ้าน เพราะเป็นบ้านส่วนบุคคลมิใช่อุโบสถจึงต้องการให้ผู้ที่เข้ามาเยือนศาลาแห่งนี้มีจิตใจที่สงบและสำรวม สำหรับสีที่ใช้ในงานเขียนผนังเป็นสีที่ได้มาจากธรรมชาติ จากดิน หิน และพืชคราม นำมาต้มสกัดเอาฟองที่ได้ไปตากแห้งจนกลายเป็นผงสี
คุณขวัญได้พบกับช่างบอลด้วยความบังเอิญเช่นกัน ในขณะที่ช่างบอลกำลังวาดรูปจิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถวัดบ้านวังไฮ จังหวัดนครพนม ซึ่งช่างบอลเรียนวิชาศิลปะจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีความสนใจศิลปะพื้นบ้าน เรียนรู้เรื่องสิมหรืออุโบสถ ศิลปะอีสานจากสีมาหรือเสมาที่ปักโดยรอบเขตของพระสงฆ์ในการทำสังฆกรรม
ช่างบอลได้มีโอกาสไปดูตามสถานที่จริงทั่วถิ่นอีสาน ได้เห็นความเสื่อมโทรม บางแห่งไม่เคยได้รับการดูแลรักษา จึงรวบรวมเพื่อนที่ต้องการอนุรักษ์ภูมิปัญญาบรรพบุรุษ ช่วยกันบูรณะสิมกลับมาดั่งเดิม จนเกิดเป็นสิมแห่งบ้านวังไฮขึ้น กลายเป็นทั้งต้นแบบ แรงบันดาลใจ แหล่งเรียนรู้และพื้นที่บ่มเพาะช่างแขนงต่าง ๆ เพื่อช่วยธำรงไว้ซึ่งสถาปัตยกรรมพื้นบ้านที่งดงามนี้ไว้คู่แผ่นดินอีสาน
ผลงานของคุณวีรยุทธ ไมตรี (ช่างบอล)
ท้ายสุด คุณขวัญกล่าวด้วยใบหน้าที่อิ่มเอิบว่า ศาลาจตุวรโพธิยังคงต้องมีการตกแต่งต่อไปเรื่อย ๆ โดยเฉพาะชั้น 2 และจิตรกรรมฝาผนังในส่วนที่เหลือ แต่ที่สำคัญที่สุดคือ คุณขวัญได้ทำในสิ่งที่ตนตั้งใจไว้ ได้ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการเรียนรู้ธรรมะแก่นหลักของพุทธศาสนา พร้อมนั่งปฏิบัติธรรมทุกเช้าเย็น เรียกว่า กลับมาจากที่ทำงานโยนกระเป๋าเอกสารไว้ในบ้าน เดินตรงดิ่งเข้ามายังศาลาหลังนี้ ทำให้ตนรู้สึกได้ถึงความเงียบสงบ และจิตใจที่อยู่กับปัจจุบัน
ศาลาจตุวรโพธิ ถือเป็นความศรัทธาของคนรุ่นใหม่ที่มีต่อพระพุทธศาสนา พร้อมสืบสานและอนุรักษ์งานศิลปะวัฒนธรรมไทยจากรุ่นสู่รุ่นสืบไป
รณดล นุ่มนนท์
9 เมษายน 2568
หมายเหตุ :
1. นอกเหนือจากช่างศิลป์ที่ได้กล่าวนามแล้ว ยังมีงานประติมากรรมปูนปั้น ผลงานของช่างธนาพัฒ รื่นเที่ยงที่ประดับตกแต่งฐานพระสิงห์ และลายปูนปั้นซุ้มโขงประตูหน้า และประดับลายปูนปั้นผนังด้านหน้า เป็นงานปั้นสด ใช้ปูนปั้นแบบโบราณ และงานฉลุลายปิดทอง สร้างสรรค์ผลงานโดยช่างเคน คำศิริ เทคนิคงานฉลุลายปิดทองผนังหลังพระสิงห์ ดาวเพดาน และงานแกะสลักเครื่องไม้ต่าง ๆ ลวดลายพันธุ์ไม้เครือเถา เมฆไหล ที่นำต้นแบบจำลองมาจากวิหารลายคำ วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่
2. ขอขอบคุณ คุณปิยะจิต ดอนศรีแก้ว (คุณเอม) และคุณอาจารีย์ ธนะชานันท์ (คุณปลา) ที่ร่วมสัมภาษณ์ และถ่ายภาพประกอบ Weekly Mail ฉบับนี้