"...เทสลาเกิดมาในชาติพันธุ์เซิร์บ ปัจจุบันคือประเทศโครเอเชีย พ่อเป็นนักเทศน์อยากให้ลูกชายเพียงคนเดียวจากลูกทั้งหมดห้าคน เดินตามรอยพ่อเป็นนักเทศน์ แต่เทสลากลับมีความสนใจด้านวิศวกรรมมากกว่า เขาได้พิสูจน์ถึงความชาญฉลาดด้านวิทยาศาสตร์ตั้งแต่เด็ก สามารถคำนวณโจทย์เลขยาก ๆ แบบทดในใจได้ เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยได้เพียง 2 ปี ต้องลาออกเพราะเป็นคนที่คิดก้าวไปไกลจากตำราที่เรียน ก่อนเข้าทำงานในบริษัทของเอดิสันที่ตั้งขึ้นในกรุงปารีส ช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพของสถานีไฟฟ้า ก่อนตัดสินใจข้ามน้ำข้ามทะเลตามมาทำงานที่บริษัทเอดิสัน แมชชีน เวิร์ก ในนครนิวยอร์ก ในปี ค.ศ. 1884..."
หากกล่าวว่าในยุคสมัยนี้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นนวัตกรรมที่กำลังเปลี่ยนแปลงโลก ก็คงไม่ผิดที่จะสรุปว่า การกำเนิดไฟฟ้าเป็นวิศวกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในคริสต์ศตวรรษที่ 20 เพราะได้นำมาสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรม พร้อมด้วยนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นตามมาอย่างรวดเร็ว
ในความเป็นจริง มนุษย์รู้จักไฟฟ้ามานานแล้วจากฟ้าร้อง ฟ้าแลบ และการถูผ้าขนสัตว์ที่ทำให้เกิดไฟฟ้าสถิต จนเป็นที่มาของคำว่า electric แต่มนุษย์เพิ่งค้นคิดวิธีเก็บพลังงานไฟฟ้าในช่วงต้นทศวรรษที่ 19 นี่เอง นำมาสู่การประดิษฐ์มอเตอร์ไฟฟ้าตัวแรกจาก ไมเคิล ฟาราเดย์ (Michael Faraday) ในปี ค.ศ. 1821 อย่างไรก็ดี การส่งกระแสไฟฟ้าไปตามบ้านเรือนหรือท้องถนนยังไม่สามารถทำได้ เพราะยังไม่มีผู้ใดสามารถประดิษฐ์หลอดไฟให้มีอายุการใช้งานได้นาน อย่างมาก 4-5 ชั่วโมงก็ต้องเปลี่ยนหลอดใหม่ ดังนั้น การจุดตะเกียงน้ำมันตามถนนและเทียนไขตามบ้านเรือนยังคงเป็นวิธีการเดียวที่ทำให้เกิดแสงสว่างในยามมืด แต่ผู้ที่สามารถค้นหาไส้ตะเกียงสำหรับหลอดไฟฟ้าจากเส้นใยฝ้ายเคลือบคาร์บอนที่ยืดอายุได้นานถึง 15 ชั่วโมง คือ ธอมัส อัลวา เอดิสัน (Thomas Alva Edison) นักประดิษฐ์ผู้ยิ่งใหญ่ ที่หลายคนคิดว่าท่านเป็นผู้บุกเบิกเรื่องไฟฟ้า แต่นวัตกรรมที่เอดิสันค้นคิดมีมากมายได้จดสิทธิบัตรกว่า 1,093 รายการ ตั้งแต่เครื่องบันทึกเสียง ไปจนถึงกล้องถ่ายภาพยนตร์1/
ในความเป็นจริง นอกเหนือจากเป็นนักประดิษฐ์แล้ว ต้องถือว่าเอดิสันเป็นนักธุรกิจตัวยง ต่อยอดกับสิ่งที่คิดค้นกลายมาเป็นเชิงพาณิชย์ อย่างกรณีของหลอดไฟฟ้า เอดิสันไม่รีรอพัฒนาสถานีไฟฟ้าใจกลางนครนิวยอร์ก ในปี ค.ศ. 1882 ส่งกระแสไฟผ่านหลอดไฟฟ้าตามถนนและบ้านเรือนทำให้ไฟฟ้าเป็นสิ่งที่มีราคาถูก จนมีเพียงเศรษฐีเท่านั้นที่จุดเทียนกัน เริ่มต้นจ่ายไฟฟ้าไป 59 ครัวเรือน มีหลอดไฟทั้งสิ้น 10,164 หลอด และหนึ่งในบ้านพักอาศัยที่ได้รับการจ่ายไฟคือบ้านของ เจพี มอร์แกน (J.P. Morgan) นักการธนาคารผู้ยิ่งใหญ่ที่ร่วมลงทุนในบริษัทของเอดิสัน2/ อย่างไรก็ดี การผลิตกระแสไฟฟ้ามีลักษณะแบบกระแสตรง (DC) สามารถส่งกระแสไฟฟ้าได้เพียงระยะทางใกล้ ทำให้ต้องสร้างสถานีไฟฟ้าถี่ ๆ ส่งกระแสไฟฟ้าไปในเมืองที่มีบ้านเรือนอยู่หนาแน่น แต่ไม่ตอบโจทย์เมืองที่มีบ้านตั้งอยู่ห่างกัน
บุรุษที่ค้นคิดหาคำตอบ ทำให้การส่งกระแสไฟฟ้าไปได้ไกล ไม่จำเป็นต้องตั้งสถานีไฟฟ้าถี่ ๆ ด้วยการประดิษฐ์มอเตอร์ไฟฟ้าที่ส่งกระแสไฟแบบสลับได้ (AC) คือ นิโคลา เทสลา (Nikola Tesla) นักวิศวกรที่พวกเราอาจจะไม่รู้จักท่านมากเท่ากับรถไฟฟ้าเทสลา เรามาทำความรู้จักนิโคลา เทสลา กันครับ
เทสลาเกิดมาในชาติพันธุ์เซิร์บ ปัจจุบันคือประเทศโครเอเชีย พ่อเป็นนักเทศน์อยากให้ลูกชายเพียงคนเดียวจากลูกทั้งหมดห้าคน เดินตามรอยพ่อเป็นนักเทศน์ แต่เทสลากลับมีความสนใจด้านวิศวกรรมมากกว่า เขาได้พิสูจน์ถึงความชาญฉลาดด้านวิทยาศาสตร์ตั้งแต่เด็ก สามารถคำนวณโจทย์เลขยาก ๆ แบบทดในใจได้ เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยได้เพียง 2 ปี ต้องลาออกเพราะเป็นคนที่คิดก้าวไปไกลจากตำราที่เรียน ก่อนเข้าทำงานในบริษัทของเอดิสันที่ตั้งขึ้นในกรุงปารีส ช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพของสถานีไฟฟ้า ก่อนตัดสินใจข้ามน้ำข้ามทะเลตามมาทำงานที่บริษัทเอดิสัน แมชชีน เวิร์ก ในนครนิวยอร์ก ในปี ค.ศ. 1884
ในช่วงเริ่มแรก ทั้งสองเข้ากันได้ดี แต่ด้วยวิธีการทำงานและลักษณะนิสัยส่วนตัวที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนเทสลามีพื้นความรู้ด้านวิศวะที่แน่นกว่า จึงคำนวณทุกปัจจัยและแก้ปัญหาก่อนการลงมือทำจริง ในขณะที่เอดิสันเป็นนักประดิษฐ์ ผ่านการลองผิดลองถูก นอกจากนั้น เทสลาเป็นคนเข้าสังคม พูดได้หลายภาษา แต่เอดิสันกลับเป็นคนเก็บตัว ไม่ค่อยพูดจา จุดแตกหักเกิดขึ้นเมื่อเอดิสันไม่ทำตามสัญญาที่จะให้ค่าจ้าง 50,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หากเทสลาออกแบบไดนาโมไฟฟ้ากระแสตรงให้มีประสิทธิภาพขึ้นได้สำเร็จ โดยได้รับคำตอบว่า “เทสลา นายคงไม่เข้าใจอารมณ์ขันของคนอเมริกันสินะ”3/
เทสลาตัดสินใจลาออกมาตั้งบริษัทตนเอง ประสบความสำเร็จในการคิดมอเตอร์ไฟฟ้าที่สามารถส่งไฟฟ้ากระแสสลับ สามารถไหลกลับไปกลับมาได้ ช่วยส่งกระแสไฟได้ในระยะทางไกล ไม่จำเป็นต้องตั้งสถานีส่งไฟฟ้าถี่ จนนำมาสู่กการขอใช้สิทธิบัตรจากบริษัท เวสติงเฮาส์ อิเล็กทริก ของ จอร์จ เวสติงเฮาส์ (George Westinghouse) สร้างโรงงานไฟฟ้าสลับ แข่งกับบริษัทเอดิสัน เจเนอรัล อิเล็กทริก ของเอดิสันที่ใช้ระบบไฟฟ้ากระแสตรง ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญทำให้เมืองต่าง ๆ ในสหรัฐฯ ตัดสินใจใช้ไฟฟ้ากระแสสลับมากขึ้น
เอดิสันทราบดีว่า เขากำลังเพลี่ยงพล้ำ และเมื่อมีข่าวว่าคนงานที่ทำงานเกี่ยวกับสายส่งไฟฟ้ากระแสสลับแรงสูงเสียชีวิต เอดิสันจึงอาศัยจุดอ่อนนี้ประโคมข่าวถึงอันตรายของกระแสสลับ มีการเอาไฟฟ้ากระแสสลับช็อตสัตว์ใหญ่ ตั้งแต่ม้าไปจนถึงช้างเสียชีวิตต่อหน้าสื่อมวลชน และเมื่อมีแนวคิดใช้เก้าอี้ไฟฟ้าในการประหารชีวิตนักโทษ เอดิสันเป็นผู้เสนอวิธีการด้วยการให้ใช้กระแสไฟฟ้าสลับสร้างความสะพรึงกลัวให้กับสาธารณชนได้พอสมควร ร้อนไปถึงเทสลาต้องสาธิตด้วยการเอาไฟฟ้าถึง 250,000 โวลต์วิ่งผ่านตัวเอง ในการบรรยายที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ถือเป็นช่วงที่เรียกว่า สงครามกระแสไฟฟ้า (The Current War) ที่ดุเดือด3/
จุดจบของสงครามกระแสไฟฟ้าเกิดขึ้นเมื่อเวสติงเฮาส์ชนะการประมูล ในงานแสดงเวิลด์โคลัมเบียน หรือชิคาโกเวิลด์แฟร์ ในปี ค.ศ. 1893 เพื่อฉลองครบรอบ 400 ปี การค้นพบทวีปอเมริกาเหนือ ทำให้การส่งไฟฟ้ากระแสสลับเป็นที่ยอมรับว่าเป็นวิธีการที่ดีกว่า จนในที่สุดบริษัทเจเนอรัลอิเล็กทริก (เอดิสันเจเนอรัลอิเล็กทริกเดิม) ได้เปลี่ยนการส่งไฟฟ้าจากแบบตรงมาเป็นแบบสลับเช่นกัน ซึ่งปัจจุบันการส่งกระแสไฟฟ้าแบบตรงยังคงมีอยู่บ้าง เช่น ในแบตเตอรีมือถือ โซลาร์เซลล์ หรือหลอดไฟยูวี
เทสลาถือเป็นวิศวกรที่สร้างนวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เป็นบิดาแห่งวงการวิศวกรรมศาสตร์ไฟฟ้าที่โด่งดังทัดเทียมเอดิสัน แต่ทั้งสองท่านกลับไม่เคยได้รับรางวัลโนเบล โดยมีการกล่าวกันว่า ทั้งสองปฏิเสธที่จะรับรางวัลร่วมกัน เล่าลือกันว่า เอดิสันไม่ต้องการให้เทสลาได้เงินรางวัลไปต่อยอดการค้นคิดสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ
เทสลามีอัตลักษณ์ของตนเอง ระมัดระวังเรื่องความสะอาดอย่างมาก เขาไม่แตะเนื้อต้องตัวหรือจับมือกับใคร มักทำสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันซ้ำ ๆ หลายครั้ง จนกว่าจำนวนครั้งสามารถหารด้วย 3 ได้ลงตัว ใช้ชีวิตอยู่ในโรงแรมกลางนครนิวยอร์ก (แม้แต่หมายเลขห้องพักยังต้องหารด้วย 3 ลงตัว) ในช่วงบั้นปลายชีวิต เขาหลงใหลนกพิราบเป็นอย่างมาก ออกไปสวนสาธารณะเพื่อให้อาหารนกพิราบที่บินตามนับพัน ๆ ตัว เทสลาได้สิ้นชีวิตลงในห้องพักภายในโรงแรมด้วยวัย 86 ปี ในปี ค.ศ. 1943 ด้วยภาวะหลอดเลือดหัวใจมีลิ่มเลือด
เทสลาอาจจะเป็นนักประดิษฐ์ที่โลกลืม แต่ท่านถือเป็นนักประดิษฐ์ นักฟิสิกส์ วิศวกรเครื่องกล และวิศวกรไฟฟ้าที่เปี่ยมด้วยอัจฉริยภาพ4/
รณดล นุ่มนนท์
4 มิถุนายน 2568
แหล่งที่มา:
1/ ดร.ริชาร์ด กุนเดอร์แมน เขียน ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ แปล, เทสลา: อัจฉริยะผู้ถูกลืม, จัดพิมพ์โดย บริษัทยิปซี กรุ๊ป จำกัด, 2563 หน้า 28-31
2/ ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน, สงครามกระแสไฟฟ้า ไฟขัดแย้งสองนวัตกร Edison-Tesla (Part 1/2) | 8 Minute History EP.234,THE STANDARD PODCAST, October 9, 2023
https://www.bing.com/videos/riverview/relatedvideo?q=%e0%b8%aa%e0%b8%87%e0%b8%84%e0%b8%a3%e0%b8%b2%e0%b8%a1%e0%b8%81%e0%b8%a3%e0%b8%b0%e0%b9%81%e0%b8%aa%e0%b9%84%e0%b8%9f%e0%b9%89%e0%b8%9f%e0%b9%89%e0%b8%b2+%e0%b8%94%e0%b8%a3+%e0%b8%a7%e0%b8%b4%e0%b8%97%e0%b8%a2%e0%b9%8c+part+1%2f2&&mid=AC1B8064CF9BFEB26831AC1B8064CF9BFEB26831&FORM=VCGVRP
3/ ธนกฤต ก้องเวหา และ พันธวัช นาคสุข, เอดิสัน VS เทสลา เรื่องจริงในสงครามทฤษฎีกระแสไฟฟ้า The Current War สู่ Tesla...,วารสารศิลปะวัฒนาธรรม, วันอาทิตย์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2567
https://www.silpa-mag.com/history/article_35596
4/ วิว, สงครามกระแสไฟฟ้า เทสลา vs เอดิสัน, Point of View https://www.youtube.com/watch?v=mA1oEoZ1FX8
หมายเหตุ :
ขอขอบคุณ คุณชุตินธร ปักเข็ม เพื่อนร่วมรุ่นโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ที่แนะนำให้นำเรื่องสงครามกระแสไฟฟ้ามาเขียนใน Weekly Mail ฉบับนี้