พรรคก้าวไกลอภิปรายงบประมาณ มาตรา 21 จวกรัฐบาลจัดสรรงบไม่เป็นไปตามที่ใช้งานจริง-โครงการพัฒนาผู้ต้องขังหลักสูตรเศรษฐกิจพอเพียงไม่สอดคล้องตลาดแรงงาน เสนอตัดงบกรมราชทัณฑ์ 5%
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2567 ที่ประชุสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 วาระที่ 2 และ 3 วันที่สอง ในการพิจารณา มาตรา 21 กระทรวงยุติธรรม จำนวน 13,325,833,500 บาท โดยสภาเห็นชอบผ่านมาตรา 21 ตามที่กรรมาธิการงบฯเสียงข้างมากแก้ไข ด้วยมติ 272 ต่อ 151
น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว สส.ปทุมธานี พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ขอพูดถึงโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ต้องขังเพื่อคืนคนดีสู่สังคม ที่แบ่งเป็น 2 หลักสูตร 1.หลักสูตรทั่วไป งบประมาณ 12 ล้านบาท 2.หลักสูตรปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง งบประมาณ 13.083 ล้านบาท พบว่าจากการคำนวนงบประมาณกิจกรรมตามหลักสูตรปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามที่กรมราชทัณฑ์ยื่นเอกสารมาได้ประมาณ 18 ล้านบาท ซึ่งต่างจากงบที่ขอมาประมาณ 5 ล้านบาท จะสามารถดำเนินโครงการได้ตามเป้าหมายที่วางไว้อย่างไร โดยหลักสูตรปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงใช้งบประมาณมากกว่าหลักสูตรทั่วไป แต่มีกลุ่มเป้าหมายน้อยกว่าหลักสูตรทั่วไป
"คำถาม คือ ทำไมต้องเสียเงินไปมากแต่ได้ผลลัพธ์น้อยกว่า อีกทั้งหลักสูตรปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้ช่วยเตรียมความพร้อมให้กับผู้ต้องขังมีทักษะสอดคล้องกับตลาดแรงงาน และการดำเนินการของหลักสูตรนี้ไม่ได้คำนึงถึงศักยภาพและความต้องการของผู้ต้องขังอีกด้วย ปัญหาหลักของหลักสูตรปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือ โครงการดังกล่าวเป็นกลไกพัฒนาพฤตินิสัยของผู้ต้องขังไม่สอดคล้อง ไม่สอดรับกับตลาดแรงงานภายนอก ไม่นำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ ที่สำคัญคือไม่ยึดถือศักยภาพของผู้ต้องขังในการออกแบบหลักสูตร เท่าที่ทราบมาเรือนจำบางแห่งยังให้ผู้ต้องขังปั้นบ้านดินในการดำเนินโครงการ คำถาม คือ จะให้ผู้ต้องขังเหล่านี้กลับสู่สังคมแล้วไปปั้นบ้านดินเพื่อเลี้ยงชีพตนเองอย่างไร" น.ส.ชลธิชา กล่าว
น.ส.ชลธิชา กล่าวว่าา นอกจากนี้โครงการที่ลดการกระทำความผิดซ้ำแต่ไม่เชื่อมโยงกับการแก้ปัญหาแต่อย่างใด คือ โครงการกำลังใจ ใช้เงินประมาณ 20 ล้านบาท แบ่งเงินเป็นค่าใช้จ่ายในการผลิตนิตยสาร ฯลฯ 4.77 ล้านบาท ค่าการแปล 6.13 ล้านบาท การใช้เงินไปกับ 2 ส่วนข้างต้นทำให้เกิดคำถามว่า งบประมาณเหล่านี้จะมีส่วนช่วยผู้ต้องขังให้มีความพร้อมที่จะออกไปใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพในสังคมภายนอกได้อย่างไร ควรลดงบประมาณในการดำเนินโครงการทั้ง 2 ที่กล่าวมา อยากเห็นกรมราชทัณฑ์ออกแบบงบประมาณใหม่ที่สอดรับกับพันธกิจของกรมอย่างมีประสิทธิภาพ
น.ส.วรรณิดา นพสิทธิ์ สส.ชลบุรี พรรคก้าวไกล กล่าวว่า งบในส่วนของกรมราชทัณฑ์นั้น ตั้งข้อสังเกตเรื่องบพื้นฐานของราชทัณฑ์พบว่ามีการประเมินเป้าหมายนักโทษสูงเกินจริง แม้จะตั้งเป้าหมายนักโทษสูงเกินจริง แต่กรมราชทัณฑ์ไม่เคยได้รับงบประมาณตามที่ขอเป็นเช่นนี้ติดต่อหลายปี ทำให้หลายปีกรมราชทัณฑ์ต้องพึ่งงบกลางในการจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ ค่าอาหาร ที่กรมราชทัณฑ์ค้างจ่าย ยกตัวอย่างในปี 2564 มีผู้ประกอบการมาทวงเงินค่าอาหารนักโทษ จำนวนเงิน 3,000 ล้านบาท สุดท้ายต้องมีมติครม.ในเดือนก.ย. 2564 อนุมัติงบประมาณมาจ่าย ส่วนปี 2566 ก็มีปัญหาเช่นเดิม แล้วก็มีการอนุมัติงบกลาง 3 รายการ ในเดือนมี.ค. 2566 เพื่อชำระค่าใช้จ่ายดังกล่าว จำนวนเงิน 148 ล้านบาท เดือนก.ย. 2566 อนุมัติงบกลาง 674 ล้านบาท ชำระค่าวัสดุอาหาร และอีก 149 ล้านจ่ายค่าเวรรักษาการณ์ที่ตั้งงบมาไม่พอ
“ที่ผ่านมารัฐบาลจัดสรรงบประมาณไม่เป็นไปตามที่ใช้งานจริง ไม่ควรให้เกิดปัญหาซ้ำซาก ขอเสนอตัดงบประมาณ 5%” น.ส.วรรณิดา กล่าว
นายเอกราช อุดมอำนวย สส.เขตดอนเมือง พรรคก้าวไกล กล่าวว่า มาตรา 21 ถูกปรับลดไปแล้ว 107 ล้านบาท ขออภิปรายในส่วนของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ตั้งงบประมาณขอมา 677 ล้านบาท แต่ไม่ได้ถูกปรับลดแต่อย่างใด ในส่วนแผนงานพื้นฐานด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ ทำงบขอมาประมาณ 2 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ขับเคลื่อนการดำเนินงานตามพ.ร.บ.ป้องกันการซ้อมทรมาน มีข้อสังเกตว่าปี 2565 มีการจัดสรรและใช้งบประมาณในส่วนนี้ประมาณ 440,000 บาท ปี 2566 ใช้ประมาณ 8 แสนกว่าบาท แต่ในส่วนการของบประมาณในปี 2567 ทำคำขอมาประมาณ 2 ล้านบาท แต่เหลือเวลาใช้งบประมาณไม่กี่เดือน หน่วยงานไม่น่าใช้ได้ทัน ควรตัดงบส่วนนี้ไปก่อน หน่วยงานค่อยทำคำขอมาใหม่ในปีถัดไป
หลังจากนั้นมีการลงมติเห็นด้วยตามที่กรรมาธิการฯเสียงข้างมากแก้ไข เห็นด้วย 272 ไม่เห็นด้วย 151 งดออกเสียง 1 ไม่ลงคะแนน 1