‘พาณิชย์’ เผยตัวเลข ‘เงินเฟ้อทั่วไป’ ธ.ค.67 โต 1.23% จากราคา ‘น้ำมัน-ผลไม้สด’ สูงขึ้น เฉลี่ยทั้งปี 67 ขยายตัวแค่ 0.4% ขณะที่ปี 68 คาดเงินเฟ้อทั่วไป ขยายตัว 0.3-1.3% มองขึ้น 'ค่าแรงขั้นต่ำ' ไม่กระทบเงินเฟ้ออย่างมีนัยสำคัญ
.........................................
เมื่อวันที่ 6 ม.ค. นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีเศรษฐกิจการค้า เดือน ธ.ค.2567 ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) ในเดือน ธ.ค.2567 เท่ากับ 108.28 ขยายตัว 1.23% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีสาเหตุหลักจากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นผลจากฐานราคาต่ำกว่าปีก่อน
รวมทั้งราคาสินค้าในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าในกลุ่มผลไม้สด เครื่องประกอบอาหาร และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สำหรับราคาสินค้าและบริการอื่นๆ ส่งผลต่อภาวะเงินเฟ้อไม่มากนัก
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาเป็นรายหมวดสินค้าในเดือน ธ.ค.2567 พบว่า หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ขยายตัว 1.28% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการสูงขึ้นของสินค้าในกลุ่มผลไม้สด เช่น เงาะ มะม่วง กล้วยน้ำว้า มะพร้าวผลแห้งผลขูด ข้าวสารเจ้า ปลานิล กุ้งขาว ปลาทูนึ่ง และกาแฟผงสำเร็จรูป ขณะที่สินค้าราคาลดลง เช่น เนื้อสุกร ไข่ไก่ น้ำมันพืช และกลุ่มผักสด เช่น พริกสด มะเขือเทศ มะนาว ผักคะน้า และกะหล่ำปลี
ส่วนหมวดอื่นๆที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ขยายตัว 1.21% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันดีเซล แก๊สโซฮอล์ และน้ำมันเบนซิน จากฐานราคาต่ำในปีก่อน รวมถึงค่ากระแสไฟฟ้า ค่าเช่าบ้าน และค่าโดยสารเครื่องบิน เป็นต้น ขณะที่สินค้าราคาลดลง เช่น แชมพู สบู่ถูตัว ผงซักฟอก และน้ำยาล้างห้องน้ำ เป็นต้น
นอกจากนี้ เมื่อเทียบราคาสินค้าและบริการในเดือน ธ.ค.2567 กับช่วงเดียวกันของปีก่อน (ธ.ค.2566) พบว่าสินค้าที่ราคาเพิ่มขึ้นมีจำนวน 267 รายการ จากสินค้าทั้งหมด 430 รายการ ข้าวสารเจ้า ปลานิล แตงกวา กล้วยน้ำว้า มะม่วง เงาะ ขนมหวาน มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) กาแฟผงสำเร็จรูป ค่ากระแสไฟฟ้า ค่าเช่าบ้าน และน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น
สินค้าที่ราคาไม่เปลี่ยนแปลงมี 58 รายการ เช่น รองเท้าผ้าใบสตรี ค่าบริการขนขยะ ค่าเจาะเลือด ค่าน้ำประปา ค่าตัดผมสตรี ค่าโดยสารเรือ ค่าเบี้ยประกันทรัพย์สิน ค่าโดยสารรถไฟ และหนังสือพิมพ์ เป็นต้น ส่วนสินค้าที่ราคาปรับตัวลดลงมีจำนวน 105 รายการ เช่น เนื้อสุกร ไก่ย่าง ไข่ไก่ กะหล่ำปลี มะเขือเทศ พริกสด มะนาว ผักคะน้า หัวหอมแดง กระเทียม สบู่ถูตัว และแชมพู เป็นต้น
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า ในช่วง 12 เดือนของปี 2567 (ม.ค.-ธ.ค.2567) อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยขยายตัว 0.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ในเดือน ธ.ค.2567 เท่ากับ 105.41 ขยายตัว 0.79% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และในช่วง 12 เดือนของปี 2567 (ม.ค.-ธ.ค.2567) อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยขยายตัว 0.56% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
นายพูนพงษ์ กล่าวด้วยว่า สนค.คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2568 จะขยายตัว 0.3-1.3% ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปี 2567 ภายใต้สมมติฐานว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) 2.3-3.3% ,ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปี 70-80 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยทั้งปี 34-35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้้ ปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น ได้แก่ 1.เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากปี 2567 ทั้งการขยายตัวของการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชน รวมถึงแนวโน้มนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 2.ราคาน้ำมันดีเซลภายในประเทศที่กำหนดเพดานไม่เกิน 33 บาท/ลิตร ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในไตรมาสที่ 1 และ 2 ของปี 2567
ขณะที่ปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลง ได้แก่ 1.ภาครัฐมีแนวโน้มดำเนินมาตรการช่วยเหลือลดภาระค่าครองชีพอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปรับลดค่าไฟฟ้าและการตรึงราคาก๊าซ LPG 2.ฐานที่อยู่ระดับสูงของราคาผักและผลไม้สด และ 3.การชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์และการจำหน่ายรถยนต์ภายในประเทศ
ส่วนปัจจัยอื่นที่อาจทำให้เงินเฟ้อไม่เป็นไปตามคาด ได้แก่ ความเสี่ยงจากการดำเนินนโยบายการกีดกันทางการค้าของประเทศสำคัญและสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และการเปลี่ยนแปลงนโยบายการส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญของประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ เช่น ข้าว และปาล์มน้ำมัน ทำให้ราคาภายในประเทศของไทยได้รับผลกระทบไปได้
“ปี 2568 เงินเฟ้อทั่วไป ไตรมาสแรก คาดว่าจะสูงกว่า 1% เดือน ม.ค.2568 ค่ากลางน่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.25% แล้วไตรมาสที่ 2 และ 3 อาจลดลง อาจไม่ถึง 1% แต่ก็ยังสูงอยู่ และน่าจะกลับมาสูงขึ้นในระดับ 1% ขึ้นไปในช่วงไตรมาสสุดท้าย” นายพูนพงษ์ กล่าว พร้อมทั้งระบุว่า การปรับเพิ่มขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำที่มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2568 เป็นต้นไปนั้น จะไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่ออัตราเงินเฟ้อในปี 2568
“ตอนปี 2566 ค่าจ้างเพิ่มขึ้น 3.72% ตอนนั้นเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีเราอยู่ที่ 1.23% ส่วนปี 2567 อัตราค่าจ้างเพิ่มขึ้น 2.42% เงินเฟ้ออยู่ที่ 0.4% และปีนี้เราเพิ่ม 2.9% ดังนั้น คาดว่าเรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะไม่ส่งผลกระทบกับเงินเฟ้ออย่างมีนัยสำคัญ” นายพูนพงษ์ กล่าว
อ่านประกอบ :
'พาณิชย์'เผย'เงินเฟ้อทั่วไป' พ.ย.67 ขยายตัว 0.95%-ทั้งปีไม่เกิน 0.5%-มองปีหน้า 0.3-1.3%
เงินเฟ้อทั่วไป ต.ค.67 ขยายตัว 0.83%-เฉลี่ย 10 เดือน 0.26% 'สนค.'คาดทั้งปีโตไม่เกิน 0.5%
เงินเฟ้อทั่วไป ก.ย.67 โต 0.61% หั่นเป้าทั้งปี 0.2-0.8% เผยแจก‘หมื่น’ไม่กระทบราคาสินค้า
ราคา'ผัก-อาหาร'เพิ่มขึ้น ดันเงินเฟ้อทั่วไป ส.ค.67 ขยายตัว 0.35%-เฉลี่ย 8 เดือนโต 0.15%
เงินเฟ้อทั่วไป ก.ค.67 ขยายตัว 0.83%-‘พาณิชย์’เชื่อ‘ดิจิทัลวอลเลต’ไม่ทำราคาสินค้าขยับขึ้น
‘พาณิชย์’เผย‘เงินเฟ้อทั่วไป’พ.ค.67 ขยายตัว 1.54% สูงสุดในรอบ 13 เดือน-คงเป้าทั้งปี 0-1%
‘พาณิชย์’เผย‘อัตราเงินเฟ้อทั่วไป’ เม.ย.67 ขยายตัว 0.19% พลิกบวกครั้งแรกในรอบ 7 เดือน
‘พาณิชย์’ เผยเงินเฟ้อทั่วไป มี.ค.67 ติดลบ 0.47%-ปรับคาดการณ์ทั้งปีเป็นขยายตัว 0-1%
‘พาณิชย์’เผยเงินเฟ้อทั่วไป ก.พ.67 ติดลบ 0.77% หดตัวเป็นเดือนที่ 5-'Core CPI'ยังโต 0.43%
หดตัวต่อเนื่อง 4 เดือน! ‘พาณิชย์’เผยเงินเฟ้อทั่วไป ม.ค.67 ติดลบ 1.11%-Core CPI บวก 0.52%
หดตัวเดือนที่ 3! เงินเฟ้อทั่วไป ธ.ค.66 ลบ 0.83%-‘พาณิชย์’ย้ำยังไม่ถึงจุดเป็นภาวะเงินฝืด
ต่ำสุดรอบ 33 เดือน! เงินเฟ้อทั่วไป พ.ย.66 หด 0.44%-ธ.ค.ส่อลบอีก แต่ไม่เข้านิยาม‘เงินฝืด’
ยันไม่ใช่เงินฝืด! เงินเฟ้อ พ.ย. ลบ 0.31% หดตัวครั้งแรกรอบ 25 เดือน รับอานิสงส์มาตรการรัฐ